วันอังคารที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

"แบบอย่างแห่งความเป็นพุทธทาส"


โดย อุบาสิกาคุณรัญจวน อินทรกำแหง

เมื่อจะพูดรำลึกถึงเจ้าประคุณ ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ มีสิ่งที่จะกล่าวถึงมากเหลือเกินอย่างที่จะเขียนเป็นหนังสือได้เป็นเล่มๆ แต่ตรงนี้จะขอกล่าวถึงสิ่งที่ประทับใจมาก แต่เพียงเรื่องเดียว คือเรื่องวิธีการสอนและอบรมธรรมะของท่านอาจารย์ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ แบบอย่างแห่งความเป็นพุทธทาสของท่าน

เราเรียกตัวเองว่าเป็นพุทธศาสนิกชน แต่เมื่อย้อนคิดดู เรารู้จักเรื่องของพุทธศาสนาอย่างไรบ้าง นึกดูแล้วก็รู้แต่เพียงว่า ต้องรับศีล ฟังเทศน์ ทำบุญ ทำทานตามกำลัง แล้วก็สวดมนต์ ไหว้พระ คำสวดก็เป็นภาษาบาลี ที่ไม่เคยรู้ความหมายว่ากำลังสวดว่าอะไร หรือแปลว่าอะไร

คำว่า "ธรรมะ" ก็รู้เพียงแต่ว่า คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งกว้างเหลือเกิน อย่างที่ได้ยินมาว่ามีตั้ง ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แล้วจะหยิบตรงไหนมาเป็นความหมายที่ชัดเจนของคำว่า "ธรรมะ" แต่ด้วยความเป็น "พุทธทาส" คือทาสผู้ซื่อสัตย์ และซื่อตรงต่อพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของท่านอาจารย์ ท่านจึงได้เสาะแสวงหาขุดค้นจากพระไตรปิฎกฉบับบาลี เพื่อประมวลและสรุปคำสอนของสมเด็จพระศาสดาออกมาให้เข้าใจกันได้ง่ายๆ ว่า

ธรรมะ คือ ธรรมชาติ
ธรรมะ คือ กฎของธรรมชาติ เช่น กฎแห่งความไม่เที่ยง (อนิจจัง) ความตั้งอยู่ไม่ได้ (ทุกขัง) ความมิใช่ตัวตน (อนัตตา) ที่เยกว่า กฎไตรลักษณ์ เป็นต้น
ธรรมะคือ หน้าที่ที่มนุษย์จะต้องประพฤติปฏิบัติ
ธรรมะ คือ ผลที่เกิดขึ้นตามหน้าที่ที่ได้ประพฤติปฏิบัติ

กล่าวสรุปโดยย่อ ธรรมะ ก็คือ หน้าที่

ผู้ใดปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องเพื่อประโยชน์สุขของตนเองและเพื่อนมนุษย์อย่างเห็นแก่ผู้อื่น มิใช่เห็นแต่แก่ตนเอง ผู้นั้น ก็คือ ผู้มีธรรม

เมื่อฟังแล้ว นำมาพิจารณาก็รู้สึกเห็นจริง เมื่อได้นำมาลองประพฤติปฏิบัติตามก็เห็นผลเป็นสันทิฎฐิโก ว่า อ้อ การทำหน้าที่ให้ถูกต้องเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นด้วย เป็นความสุข ความสบายใจอย่างนี้ ทำให้ชีวิตได้ปลอดจากปัญหาที่ไม่จำเป็นหรือไม่ควรที่จะเกิดขึ้นนี้ได้ บังเกิดเป็นความชัดเจนและกระจ่างแจ้งในความหมายของคำว่าธรรมะ กระทั่งกลายเป็นความรู้ความเข้าใจตามมาว่า ธรรมะทั้ง ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ก็คือข้อธรรมที่ช่วยส่งเสริมให้ได้เข้าใจความหมายของคำว่าธรรมะชัดเจนแจ่มแจ้งยิ่งขึ้น ทั้งยังมองเห็นวิธีที่ควรนำมาพิจารณาตรึกตรองเพื่อนำไปสู่การประพฤติปฏิบัติต่อไป ซึ่งการที่พอจะสามารถกระทำได้เช่นนี้ก็เนื่องมาจากการได้รับฟังคำสอนและการอบรมธรรมจากท่านอาจารย์อยู่ตลอดเวลานั้นเอง

เป็นการยากที่จะอธิบายออกมาเป็นคำพูดว่า ความรู้สึกซาบซึ้งในคุณค่าของการศึกษาอบรมที่ได้รับจากท่านอาจารย์นั้น มีความหมายที่ใหญ่หลวงมหาศาลต่อชีวิตของตนอย่างไรและเพียงใด แต่พูดได้ว่าที่เป็นเนื้อเป็นตัวอยู่ได้ทุกวันนี้ ก็ด้วยการได้รับคำสอนและการอบรมจากท่านอาจารย์นี้เอง แม้จะยังเป็นเพียงผู้ทีเดินอยู่ แต่ก็จะมุ่งหน้าพยายามเดินต่อไปจนสุดกำลังความสามารถ จนกว่าเกวียนเล่มนี้จะแตกหักทำลายไป

ความเป็น "พุทธทาส" ของท่านอาจารย์ที่เด่นชัดอยู่ตลอดเวลา คือการสอนธรรมและบรรยายธรรมที่ลัด ตัด ตรงสู่แก่น หรือหัวใจของคำสอนตามพระพุทธโอวาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเรื่องของความทุกข์และการดับทุกข์

ท่านอาจารย์จะชี้ชัดอย่างตรงประเด็นทีเดียวว่า รากเหง้าของความทุกข์ของมนุษย์คือความหลงยึดมั่นในอัตตา หรือความเป็นตัวตน อย่างไม่ยอมรับหรือไม่ยอมศึกษาให้รู้จักว่าแท้จริงแล้วมันเป็นเพียงสักแต่ว่าขันธ์ห้าหรือเบญจขันธ์เท่านั้น เพื่อให้เห็นชัด ท่านอาจารย์จึงกระแทกลงไปให้ชัดดังๆ ว่า ความทุกข์เกิดขึ้นก็เพราะหลงยึดมั่นถือมั่นอยู่ที่ "ตัวกู-ของกู" นี้เอง

ถ้าลดละความยึดถือใน "ตัวกู-ของกู" ลงได้เท่าใด ทุกข์ก็ลดน้อยลงได้เท่านั้น ถ้าหมดความยึดมั่นถือมั่นใน "ตัวกู-ของกู" ได้เมื่อใด ความทุกข์ก็หมดเมื่อนั้น

ได้ยินคำ "ตัวกู-ของกู" ครั้งแรก ก็รู้สึกเหมือนเป็นคำหยาบ ไม่น่าฟัง แต่ก็ลองคิดดูเถิดเมื่อคนเรามีอารมณ์แรงเกิดขึ้นเมื่อใด คำเรียกตัวเองที่ไพเราะ เช่น น้อง ผม ดิฉัน มันเปลี่ยนเป็น "กู" ขึ้นมา เพื่อให้สาสมกับความรุนแรงของอารมณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อแสดงอารมณ์ของ "กู" ให้เห็นชัดใช่หรือไม่ แสดงว่า กูโกรธ กูไม่ยอม กูจะเอา ฯลฯ เป็นกิริยาท่าทางที่ชวนให้น่ารังเกียจน่าดูถูก ไม่น่าคบค้าสมาคม

แต่ "ตัวกู" ขณะนั้น หาได้สำนึกไม่ อาจจะนึกไปอีกอย่างว่า กูกำลังแสดงอำนาจของตัวกูที่จะข่มใครๆ ให้ต้องยอมกลัว ยอมแพ้ ก้มหัวให้ หารู้ไม่ว่า หากเขายอม เขาก็ยอมด้วยความเยาะหยัน ด้วยความชิงชัง และอาจตามมาด้วยความอาฆาตแค้นพยาบาท แต่ที่ซ้ำร้ายกว่านั้น ก็คือ ตัวกูหาได้สำนึกไม่ว่า ตัวกูเองกำลังถูกเผาไหม้อยู่ด้วยไฟปะทุของอารมณ์ที่แรงและร้อนอันเป็นความทุกข์อย่างยิ่ง

นี้แหละ ถ้าลดละ "ตัวกู" เสียได้ ไม่มี "ตัวกู" เสียได้ ความทุกข์ก็ไม่มี ความทุกข์ก็ดับ ดับ "ตัวกู" เสียได้ ก็ดับ "ความทุกข์" ได้

สูตรหรือทฤษฎีการดับทุกข์ที่ท่านอาจารย์ได้นำมาบอกสอนนี้เป็นสูตรที่ไม่ซับซ้อนเลย เข้าใจได้ง่ายมาก เพียงแต่สนใจศึกษาและทำความเข้าใจเรื่องของ "ตัวกู" ไปทีละน้อย พร้อมกับฝึกหัดขัดเกลาสนิม "ตัวกู" ไปเรื่อยๆ ตามกำลังจนเบาบางลง แล้วจะค่อยๆ อัศจรรย์ใจว่า ความทุกข์มันเบาบางลงไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ แต่ก็ต้องเชื่อ เพราะว่าเป็นไปได้จริง

การลดละ "ตัวกู" ไม่ใช่สิ่งที่ง่าย แต่ก็ไม่เหลือวิสัย โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่เข็ดหลาบกับความทุกข์

การสอนให้พุทธบริษัทได้สำนึกในพิษสงที่ร้ายกาจของ "ตัวกู-ของกู" ท่านอาจารย์ได้เน้นการสอนอธิบายในเรื่องของไตรลักษณ์ โดยเฉพาะ "อนัตตา" ซึ่งหมายถึงความมิใช่ตัวตน ถ้าบุคคลไม่สนใจศึกษาหาความรู้ ทำความเข้าใจกับเรื่องอนัตตา ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่ผู้นั้นย่อมจะยึดมั่นถือมั่นอยู่ใน "อัตตา-ตัวตน" ซึ่งก็คือ "ตัวกู-ของกู" อยู่อย่างเหนียวแน่น แล้วก็ตกจมอยู่ในกองของความทุกข์ทั้งกลางวันกลางคืน จนกว่าจะได้ซึมซาบถึงเรื่องของอนัตตานั่นแหละ ความยึดมั่นในอัตตา-ตัวตน จะจางคลายลง แล้วความทุกข์ก็ย่อมจางคลายลงด้วยตามลำดับ

ทั้งนี้ ก็ย่อมต้องเริ่มต้นการศึกษาพิจารณาไตรลักษณ์ตั้งแต่ อนิจจัง คือ ความไม่เที่ยงแปรปรวนอยู่เป็นธรรมดา แล้วจะค่อยๆ เห็นทุกขัง คือสภาพที่อะไรๆ ก็คงทนอยู่ไม่ได้ ดำรงอยู่ไม่ได้ ในที่สุดก็จะค่อยๆ ซึมซาบและซาบซึ้งในสภาวะของความเป็นอนัตตา คือ ความที่ต้องแปรปรวน เสื่อมสลายไป จนดับสิ้นไป

แหละเพื่อให้เห็นได้ชัดเจนถึงความที่มิได้มีสิ่งใดเป็นตัวตน ให้เกี่ยวเกาะหรือยึดมั่นถือมั่น ท่านอาจารย์จึงได้นำเรื่องอิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาทมาอธิบายให้ฟัง เพื่อให้พุทธบริษัทได้กระจ่างใจว่า แท้ที่จริงแล้ว ชีวิตนี้เป็นเพียงกระแสที่ไหลทยอยกันมาตามเหตุตามปัจจัยเช่นนั้นเอง

สิ่งที่กำหนด ก็คือ เหตุปัจจัยที่กระทำ หากกระทำเหตุปัจจัยที่ถูกต้อง ผลก็คือ ความสุข สงบเย็น หากกระทำเหตุปัจจัยที่ไม่ถูกต้อง (ด้วยความเห็นแก่ตัวของตัวกู) ผลก็คือความทุกข์อย่างแน่นอน

ดังนั้น การได้มีโอกาสได้ศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของ อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท กระทำให้ได้เห็นหนทางของการพิจารณาไตร่ตรองได้ลึกซึ้งถึงความสิ้นสุดแห่งทุกข์ว่าเป็นได้อย่างนี้

การที่ท่านอาจารย์ได้นำเรื่องของอนัตตา อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท มาพูดมาสอนก็ได้มีคำวิพากษ์วิจารณ์ตามมาว่า ท่านอาจารย์นำธรรมะชั้นสูงมาสอนอย่างนี้ สูงเกินไป เกินความรู้ความเข้าใจของพุทธบริษัท ถึงพูดให้ฟัง ก็ฟังไม่เข้าใจ จะเอามาปฏิบัติก็คงทำไม่ได้ อะไรทำนองนี้

แต่ในความรู้สึกส่วนตัวกลับมีความเห็นว่า ท่านอาจารย์ใจกว้าง แล้วก็ซื่อตรงต่อพวกเราที่เป็นพุทธบริษัท ไม่ว่าจะเป็นลูกศิษย์หรือไม่ใช่ลูกศิษย์ ท่านได้รู้เห็นสิ่งใดหรือธรรมะข้อใดที่สมเด็จพระบรมศาสดา ได้ทรงนำมาบอกมาสอนแก่มวลมนุษย์ ท่านอาจารย์ก็เห็นเป็นหน้าที่ของท่านในฐานะ "พุทธทาส" ที่จะต้องนำมาบอกต่อ มาสอนต่อ ให้ถูกต้องตรงตามพระพุทธประสงค์ เพราะสิ่งใดที่พระพุทธองค์ตรัสสอน สิ่งนั้นย่อมเป็นสิ่งจริง และเป็นสิ่งที่ปฏิบัติตามได้ ถ้าหากท่านอาจารย์ไม่นำมาพูดมาสอนนั่นสิ ก็จะเป็นเสมือนหนึ่งว่าท่านมิใช่ครูอาจารย์ที่ "ตรง" ต่อศิษย์ และ "ไม่ตรง" ต่อพระพุทธองค์ในฐานะที่ท่านเป็น "พุทธทาส"

การที่ท่านอาจารย์ได้นำเรื่องของอนัตตา อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท ตลอดถึงสุญญตา นิพพาน มาบอกกล่าวแก่พวกเรา จึงเท่ากับเป็นการเปิดหนทางให้พวกเราได้รู้และเข้าใจถึงจุดหมายปลายทางของการประพฤติปฏิบัติธรรม ว่ามีหนทางดำเนินอย่างไร และไปสู่จุดหมายสูงสุดคืออะไร ส่วนบุคคลใดปารถนาจะประพฤติปฏิบัติมากน้อย หรือใกล้ไกลเพียงใด ก็เป็นสิทธิและความพอใจของแต่ละบุคคล แต่ถ้าหากพวกเราไม่ได้มีความรู้ในข้อธรรมะเหล่านี้เลย ก็ย่อมเป็นการน่าเสียดายอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่มีศรัทธาและศักยภาพที่สามารถจะปฏิบัติไปได้ไกลหรืออาจถึงที่สุด แต่เพราะไม่เคยได้ยินได้ฟัง ก็ไม่รู้หนทาง ถ้าต้องเสียเวลาไปค้นคว้าเสาะหาทางเอง ก็อาจไม่ทันแก่กาลเวลาแห่งชีวิตของตน ซึ่งย่อมเป็นสิ่งที่น่าเสียดายอย่างที่สุดที่โอกาสแห่งชีวิตนี้ได้ถูกปิด เพียงเพราะครูบาอาจารย์บางท่านคิดไปเสียว่า ยากเกินกว่าที่ศิษย์จะเรียนรู้ได้

ในส่วนตัว จึงมีความรู้สึกสำนึกในพระคุณของท่านอาจารย์อย่างล้นเหลือที่ท่านได้กรุณาสอนและบอกกล่าวให้ฟังอย่างหมดจดสิ้นเชิง ส่วนการจะประพฤติปฏิบัติไปได้เพียงใด ย่อมสุดแล้วแต่ความอุตสาหะบากบั่นอดทนและสติปัญญาแห่งตนเอง เพราะเรื่องของการปฏิบัติเป็นเรื่องเฉพาะตน มิใช่สิ่งที่ผู้ใดจะมาทำให้แก่ใครได้

อาจจะเป็นด้วยเหตุที่ท่านอาจารย์ได้นำข้อธรรมะในทุกระดับมาบรรยายอธิบายอย่างละเอียด เพื่อความเข้าใจที่แจ่มแจ้งแก่พุทธบริษัท ท่านอาจารย์จึงมักจะถูกมองไปว่า ท่านเป็นแต่นักปริยัติ มิใช่นักปฏิบัติ แต่ความจริงที่ประจักษ์แก่ใจของตนเองก็คือ ในวันแรกที่มาถึงสวนโมกข์ ได้กราบท่านอาจารย์แล้ว สิ่งที่ท่านอาจารย์สั่งให้ทำเป็นสิ่งแรก คือนับแต่นี้ให้ "อ่านหนังสือเล่มใน" หยุดอ่านหนังสือข้างนอกได้แล้ว

นั่นก็คือ ให้ฝึกปฏิบัติด้วยการหมั่น "ดูจิต" ของตนเพื่อให้รู้จักลักษณะของจิต และให้รู้เท่าทันจิตว่ามีสภาพเป็นอย่างไร จะได้รู้จักแก้ไขพัฒนาจิตเถื่อนนั้นให้เป็นจิตที่เจริญ คือเป็นจิตที่นิ่ง มั่นคง และสงบเย็น พร้อมอยู่ด้วยสติ สมาธิ และปัญญา

แล้วท่านอาจารย์ยังไม่สั่งอีกว่า "ให้หามุมสงบท่ามกลางธรรมชาติ แล้วก็อ่านหนังสือเล่มในให้แตกฉาน ขณะนั้นนึกพูดกับตัวเองว่า ใครๆ ว่าท่านอาจารย์เป็นนักปริยัติ แต่นี่สิ่งแรกที่ท่านบอก คือ เน้นลงไปที่การปฏิบัติ ทั้งท่านยังห้ามไม่ให้เราพูดถึงหนังสือธรรมะที่ได้นำไปเพื่อจะอ่านศึกษา แต่ให้ลงมือปฏิบัติทันที แท้ที่จริงแล้วท่านอาจารย์เป็นทั้งนักปริยัติและนักปฏิบัติต่างหาก ตรงตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ทีเดียวว่า จะต้องมีทั้งปริยัติ ปฏิบัติ แล้วจึงจะได้มีปฏิเวธ

เพื่อให้การปฏิบัติปรากฏผลแก่ใจของผู้ปฏิบัติธรรม ท่านอาจารย์ได้สอนเน้นการดึงจิตให้อยู่กับปัจจุบันขณะ ให้เข้าใจทุกข์สุข ปัจจุบัน, สวรรค์-นรก ปัจจุบัน, บุญ-บาป ปัจจุบัน แม้ที่เราเคยได้ยินพูดกันว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แต่ท่านอาจารย์จะพูดว่า "ทำดี-ดี / ทำชั่ว-ชั่ว" คือเมื่อทำดี ก็ดีแล้วในทันที ที่เป็นความรู้สึกพอใจ อิ่มใจ หรือปีติยินดีที่ได้ทำสิ่งที่ดี ใจรู้สึกเองโดยไม่ต้องให้ผู้ใดบอก

"ทำชั่ว-ชั่ว" ก็รู้สึกได้เองที่ใจอีกเหมือนกัน ที่เป็นความรู้สึกหม่นหมอง เศร้าใจที่ได้ทำชั่วอย่างนั้น แม้ยังไม่มีใครติฉินนินทา ยกเว้นบางคนที่อาจมีจิตใจหนากระด้างผิดธรรมดาที่จะไม่สำนึกเสียเลย แต่ผลแห่งความชั่วก็ปรากฏแก่ผู้ที่ได้รู้จักพบเห็น ถ้าเป็นความชั่วที่เบียดเบียนผู้อื่นก็มีตัวบทกฎหมายลงโทษหนักเบาตามแต่กรณี

ท่านอาจารย์ได้พยายามที่จะโน้มน้าวใจของพุทธบริษัทให้หาให้พบซึ่งความสุขในชีวิตประจำวัน ด้วยประโยคที่ว่า "การทำงาน คือการปฏิบัติธรรม" หรือ "ทำงานให้สนุก เป็นสุขในการทำงาน" หรือ "การทำงานทุกชนิด ด้วยจิตว่าง" (ว่างจาก "ตัวกู-ของกู")

ที่ท่านอาจารย์เน้นในเรื่องนี้ เพราะทุกชีวิตต้องทำงาน แล้วคนส่วนใหญ่ก็มักจะหน้าดำคร่ำเครียดด้วยความทุกข์อันเกิดจากการทำงานของตน แต่จะหยุดทำงานก็ไม่ได้ เพราะจำเป็นต้องทำงานเพื่อเลี้ยงชีพและด้วยเหตุผลความจำเป็นอื่นๆ อีกนานาประการ จึงเป็นที่น่าสมเพชเวทนาแก่ชีวิตเช่นนี้ยิ่งนักที่ต้องทำงานไป คร่ำครวญไป ดูไม่คุ้มเลยกับการที่ทำงาน

ทั้งนี้ก็เป็นเพราะทำงานด้วยจิตที่วุ่นอยู่ด้วย เรื่อง "ตัวกู-ของกู" นั้นเอง การทำงานนั้นจึงไม่สนุก ไม่เป็นสุข แต่เร่าร้อนไหม้เกรียมด้วยความที่ต้องการให้ได้อย่างที่ใจ "ของกู" ต้องการ การงานนั้นจึงกลายเป็นความทุกข์ เพราะจิตมิได้อยู่กับปัจจุบัน แต่กังวลวุ่นวายอยู่กับเรื่อง "ของกู" จิตจึงไม่สามารถจดจ่ออยู่กับงานที่กระทำในปัจจุบันขณะนั้น

ท่านอาจารย์จึงได้พูดให้สติแก่พุทธบริษัทว่า "อันการงานนั้นน่ารัก การงานเป็นสิ่งมีค่า การงานคือค่าของมนุษย์" ถ้ามองเห็นคุณประโยชน์และความงดงามของการงานในลักษณะเช่นนี้ ผู้ทำงานก็ย่อมมีความสนุก ความสุขเบิกบานใจในการทำงาน ชีวิตการทำงานนั้นก็อยู่เหนือความทุกข์

ถ้าพูดอีกอย่างหนึ่ง ก็กล่าวได้ว่าท่านอาจารย์พยายามหาศิลปะที่จะพูดปลอบประโลมใจให้แง่คิดแก่พุทธบริษัทได้เกิดความฉลาด มีสติปัญญาที่จะแก้ไขความทุกข์และดับทุกข์ในชีวิตประจำวันได้ในทุกแง่มุม

เมื่อย้อนนึกถึงคำสอนของท่านอาจารย์ที่ว่า ธรรมะ คือ หน้าที่ มีความรู้สึกประทับใจในคุณค่าของประโยคนี้เป็นที่ยิ่ง เป็นประโยคที่บอกถึงรากฐานความสำคัญของความเป็นมนุษย์ ถ้ามนุษย์เกิดมาโดยไม่ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นแล้ว เกียรติศักดิ์ของความเป็นมนุษย์ย่อมล่มสลาย

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงวางแบบอย่างและทรงประพฤติเป็นแบบอย่างแห่งการกระทำหน้าที่ของมนุษย์อย่างสมบูรณ์ เป็นที่ประจักษ์ใจแก่มวลมนุษย์ พระองค์ได้ทรงทำหน้าที่ของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่เบื้องต้น จนถึงอวสานกาลอย่างเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ แม้ในนาทีสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ นี้จึงเป็นเสมือนได้ทรงแสดงความหมายของคำ "ธรรมะ" อย่างกระจ่างแจ้งของพระองค์ผู้ทรงธรรม

ถ้าพุทธบริษัททุกคนได้สำนึกในความสำคัญแห่งความหมายของ "ธรรมะ คือ หน้าที่" แล้วนำมาประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันของตนๆ สังคมของเราคงจะอบอวลด้วยบรรยากาศของความรัก ความสามัคคี เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน เพราะเมื่อต่างคนต่างทำหน้าที่ของตนให้ถูกต้องเพื่อประโยชน์และความสุขที่จะเกิดขึ้นทั้งแต่ตนและผู้อื่น การอิจฉาริษยากันก็จะไม่มี การเพ่งโทษกันก็ไม่เกิดขึ้น การเบียดเบียนแก่งแย่งกันก็ไม่มี ศานติสุขย่อมบังเกิดในชุมชนสังคมและชาติบ้านเมือง สมดังความตั้งใจที่ใฝ่หาของมนุษย์

การเข้าใจถึงแก่นความหมายของ "ธรรมะ คือหน้าที่" และการประพฤติปฏิบัติธรรมด้วยการทำหน้าที่อย่างถูกต้องให้เกิดประโยชน์สุขทั้งแก่ตนและผู้อื่นอยู่เนืองนิจ ย่อมเป็นการกระทำที่ส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของการปฏิบัติธรรม และขณะเดียวกันก็เป็นการเสริมสร้างระบอบประชาธิปไตยให้เข้าสู่ความสมบูรณ์ เพราะพลเมืองของชาติต่างขะมักเขม้นทำหน้าที่ของตนให้เกิดคุณประโยชน์ที่สุดแก่สังคมและชาติบ้านเมือง โดยไม่ต้องกังวลอยู่กับการร้องทวงสิทธิ์ โดยละเลยต่อการทำหน้าที่ ที่จะเป็นเหตุให้ประชาธิปไตยล่มสลาย

ในความรู้สึกและความเห็นส่วนตัวที่ได้เคยทำงานอยู่ในแวดวงการศึกษามาตลอดชีวิตจึงมีความเชื่อว่า ถ้าผู้บริหารที่รับผิดชอบจัดการศึกษาของชาติ นำเรื่อง "ธรรมะ คือ หน้าที่" มาเป็นหัวใจคำสอนของพุทธศาสนา และอบรมยุวชนให้ประพฤติปฏิบัติตามด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องชัดเจน นี้ย่อมเป็นการจัดการศึกษาที่พัฒนาคนสู่ความเป็นมนุษย์ เกิดประโยชน์ทั้งฝ่ายโลกและฝ่ายธรรมได้อย่างกลมกลืน

ผู้ใดที่ได้เข้าไปเยี่ยมหรือไปพักที่สวนโมกข์จะสังเกตได้ว่า ในสวนโมกข์มีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่ายในทุกเรื่อง ทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายอุบาสกอุบาสิกา ไม่มีการเรียกร้องหรือขอร้องสิ่งใดเพื่อความสะดวกสบายแห่งตน เพราะมีคำขวัญที่ประทับใจชาวสวนโมกข์ให้รำลึกไว้เสมอว่า "เป็นอยู่อย่างต่ำ แต่มีการกระทำอย่างสูง" อันเป็นการกระทำที่ให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนและผู้อื่น

ดังนั้น ในการแสดงธรรมก็ดี หรือการสนทนาธรรมก็ดี ท่านอาจารย์มักจะย้ำแล้วย้ำอีกในเรื่องของความไม่เห็นแก่ตัว ให้เห็นแก่ผู้อื่นให้มาก อันจะนำมาซึ่งความเป็นผู้มีชีวิตที่สงบเย็นและเป็นประโยชน์

การกระทำที่เห็นแก่ผู้อื่นได้มากเพียงใด ก็เท่ากับเป็นการลืม "ตัวกู-ของกู" ได้มากเพียงนั้น ซึ่งเป็นการแน่นอนที่ความทุกข์ย่อมลดลง แล้วความสุขก็เพิ่มขึ้น อันเกิดจากความอิ่มใจภูมิใจในคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ของตน ในขณะเดียวกัน ความกระจ่างแจ้งในความหมายของ "ธรรมะ คือ หน้าที่" ก็ยิ่งสว่างชัดขึ้นในใจ

ในฐานะที่เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง ย่อมเว้นเสียมิได้ที่จะต้องเทิดทูนพระคุณของท่านอาจารย์ที่ได้กรุณาให้เกียรติแก่ผู้หญิงและมีน้ำใจเมตตาที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูลต่อเพศหญิงอย่างหาที่เปรียบและประมาณมิได้ ประจักษ์พยานที่เห็นชัดเจน คือ การที่ท่านอาจารย์ได้ดำริให้จัดตั้ง ธรรมาศรมธรรมมาตา เพื่อ

"ให้เพศหญิงได้มีโอกาสศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรมได้เต็มที่ แล้วเผยแผ่และสืบอายุพระพุทธศาสนาได้สูงสุด ในลักษณะธรรมฑูตหญิง เป็นการเสิรมแทนภิกษุณีบริษัทที่ยังขาดอยู่"

ดังปรากฏในเอกสารฉบับหนึ่ง (ในหลายฉบับที่เกี่ยวกับเรื่องธรรมาตา) ที่เขียนด้วยลายมือของท่านอาจารย์เองดังต่อไปนี้:

ธรรมาตา

๑. เพื่อประโยชน์แก่บุคคล
1. ให้เพศแม่ได้รับประโยชน์ที่สุดโดยไม่อาจบวชภิกษุณี
2. เป็นการกตัญญูกตเวทีตอบแทนเพศมารดาให้สมแก่ความเหน็ดเหนื่อย ยากลำบาก
3. แม่จะสามารถอบรมลูกมีธรรม มาแต่ทารก ไม่มีลักษณะหนีพ่อแม่ตามโจรไปแล้วค่อยกลับมา

๒. เพื่อประโยชน์แก่ศาสนา
1. เสริมแทนภิกษุณีบริษัทที่ยังขาดอยู่
2. เพศแม่มีโอกาส การเรียน-การปฏิบัติ รับผลธรรมได้เต็มที่ แล้วเผยแผ่และสืบอายุพระศาสนาได้สูงสุด
3. เพศหญิงสอนเพศหญิงด้วยกัน, ได้ดีกว่า ผลแนบเนียน สดวกกว่า จึงควรมีธรรมมาตา

๓. เพื่อประโยชน์แก่โลก & มนุษยชาติ
1. ให้โลกมีธรรมเป็นมารดา มีสันติภาพยิ่งขึ้น
2. เป็นการให้สิทธิมนุษยชน แก่เพศมารดาเต็มที่
3. มารดาของโลก จะสร้างโลกได้ดีกว่าเก่า ที่แล้วมา อย่างที่จะเปรียบกันไม่ได้
4. เลิกปมด้อยของเพศมารดาในโลก

นอกจากการให้เกียรติแล้ว ท่านอาจารย์ยังได้ให้ความไว้วางใจแก่เพศหญิงอย่างเต็มที่ด้วยประโยคว่า

"เพศหญิงสอนเพศหญิงด้วยกันได้ดีกว่า สะดวกกว่า ผลแนบเนียนกว่า"

ทั้งนี้ ท่านได้เน้นว่า หลักปฏิบัติของอาศรมธรรมมาตานั้น ต้องให้มีปริยัติสูงสุด ปฏิบัติสูงสุด ปฏิเวธสูงสุด และเผยแผ่สูงสุด

ท่านอาจารย์ได้แสดงความเชื่อมั่นในศักยภาพของผู้หญิงไว้ ในคำกล่าวอนุโมทนาตอนหนึ่ง ในหนังสือ ธรรมโฆษณ์อรรถานุกรรม เล่ม ๑ ที่ท่านได้เขียนไว้ด้วยลายมือของท่านอาจารย์เองว่า

น หิ สพฺเพสุ ฐาเนสุ ปุริโส โหติ ปณฺฑิโต
อิตฺถีปิ ปณฺฑิตา โหติ ตตฺถ ตตถฺ วิจฺกขณา

ซึ่งแปลว่า "ใช่ว่า บุรุษ จะเป็นบัณฑิต ไปเสียในที่ทุกแห่ง ก็หาไม่, แม้สตรี เมื่อใช้วิจักขณญาณ อยู่ในที่นั้นๆ ก็เป็นบัณฑิตได้" ดังนี้.

แม้ว่า ตามที่มานั้น คำกล่าวนี้ เป็นคำกล่าวของพวกเทวดาจำนวนหนึ่ง แต่ถ้าจะทูลขอให้พระพุทธองค์ตรัส ก็จะตรัสอย่างนี้ด้วยเหมือนกัน, ดังนั้น จะจัดว่าเป็นพระพุทธภาสิต ได้อยู่นั่นเอง ข้อนี้ เหมาะสมกับที่สมัยนี้ มีการให้สิทธิต่างๆ แต่สตรีเท่ากับบุรุษ ในโลกแห่งวิทยาศาสตร์หรือโลกแห่งวิทยาการ. ขอให้ตั้งความหวังกันไว้ว่า ในอนาคตกาลข้างหน้านั้น สตรีจะช่วยแบ่งเบาภาระอย่างบุรุษ ของบุรุษแก่บุรุษ ลงไปได้มากอย่างน่าประหลาดใจ ทีเดียว.

โครงการธรรมาศรมธรรมมาตา ได้เริ่มดำเนินงานด้วยการจัดการอบรม โครงการฝึกอบรมตนเพื่อความมีชีวิตพรหมจรรย์ที่หมดจดงดงาม เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้เป็นเสมือนโครงการนำร่องไปสู่โครงการธรรมาศรมธรรมมาตาในกาลต่อไป เนื่องด้วยเหตุปัจจัยในปัจจุบันยังไม่พร้อมที่จะจัดดำเนินงานโครงการธรรมาศรมธรรมมาตาอย่างเต็มรูปแบบได้

ณ ธรรมาศรมธรรมมาตาแห่งนี้ คือ สถานที่ที่ให้โอกาสแก่สตรีได้ประพฤติพรหมจรรย์จนถึงที่สุดตามศักยภาพแห่งตนในขณะเดียวกันยังมีโอกาสที่จะได้รับการฝึกอบรมเป็นธรรมฑูตหญิงเพื่อประกาศธรรมอันประเสริฐขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแก่เพื่อนมนุษย์ ให้ได้ประสบสันติสุขโดยทั่วกัน

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้เป็นการสรุปอย่างย่นย่อที่สุด ถึงความประทับใจในแบบอย่างแห่งความเป็นพุทธทาส ของท่านอาจารย์ ที่ท่านได้ให้การสอนธรรมและอบรมธรรมอย่างฝ่ากระแสคลื่นของความงมงายที่เป็นไสยศาสตร์ สู่ความเป็นพุทธศาสตร์ อย่างอาจหาญ เด็ดเดี่ยว และเด็ดขาดด้วยถ้อยคำภาษาที่ตรง ชัดเจน ไม่เกรงใจผู้ฟัง เพื่อดึงใจของพุทธบริษัทให้เข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนาตามปณิธานของท่าน

ตลอดชีวิตแห่งความเป็น "พุทธทาส" ของท่านอาจารย์ ท่านได้กระทำหน้าที่ "ทาส" ของพระพุทธเจ้าอย่างสมบูรณ์เต็มเปี่ยม ด้วยความซื่อตรงและจงรักภักดีต่อพระพุทธองค์อย่างถวายชีวิต เพื่อนำเพื่อนมนุษย์ให้เดินเข้าสู่แสงสว่างของความพ้นทุกข์ตามพระพุทธประสงค์อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ ให้บังเกิดความสุขสงบทั้งในส่วนบุคคล สังคม ชาติบ้านเมือง ตลอดถึงในโลก

ร้อยปีที่กำลังจะเลยผ่าน ได้ปรากฏผลแห่งความเสียสละอุทิศชีวิตของท่านอาจารย์ ในการนำพระพุทธธรรมขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาให้กลับมาสู่การประพฤติปฏิบัติของพุทธบริษัท จนสามารถประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ในสังคมไทย และแม้กระทั่งในสังคมบางส่วนของโลก ประจักษ์พยานที่เป็นรูปธรรม คือ การที่ยูเนสโกได้ประกาศเฉลิมฉลองครบชาตกาลร้อยปีของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘

"ในฐานะที่เป็นบุคคลผู้มีผลงานเป็นแบบอย่างอันดีเลิศในการส่งเสริม ขันติธรรม สันติธรรม วัฒนธรรม.... ด้วยกุศลเจตนาให้สังคมไทยและสังคมโลกประยุกต์หลักธรรมไปใช้ทั้งในระดับส่วนบุคคลและสังคมเพื่อผดุงไว้ซึ่งสันติธรรม ยุติธรรม และให้มนุษย์อยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างกลมกลืน....."

ขออนุญาตปิดการเล่าเชิงสนทนานี้ ด้วยคำอนุโมทนาของท่านอาจารย์ ที่ท่านได้เขียนไว้ในตอนท้ายของ "อนุสสรณียานุโมทนา" ว่า;

ขออนุโมทนาแก่ทุกคน ทั้งที่มีชีวิตอยู่และล่วงลับไป ที่ได้ตั้งตนไว้ชอบแล้ว โดยทุกๆ ประการ ร่ำรวยกันด้วยบุญกุศล ทั้งผู้ที่ยังอยู่และล่วงลับไปแล้ว เทอญ.

พุทธทาส อินฺทปัญฺโญ

โมกข. ๑๘ มิย. ๓๒

รัญจวน อินทรกำแหง
๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙

สัมภาษณ์และประสานงาน: สงวนศรี ตรีเทพประติมา
๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙

คัดจาก หนังสือ ร้อยคนร้อยธรรม๑๐๐ปี พุทธทาส
พิมพ์ ครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๔๙ โดย สำนักพิมพ์สุขภาพใจ

ที่มา:http://www.buddhadasa.com/100dhamma/100dham100year_runjuen.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น