วันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

นิทานเซน

มีวัดเซนแห่งหนึ่งที่ขึ้นชื่อในการทำขนมเปี๊ยะอย่างมาก ขนมเปี๊ยะที่ทำออกมานอกจากขนาดใหญ่แล้วยังหอมหวานชวนรับประทาน ดึงดูดให้ผู้คนทั่วทุกสารทิศขึ้นเขามายังวัดแห่งนี้เพื่อขอซื้อขนมเปี๊ยะมาลิ้มลอง

วันหนึ่ง มีขอทานผู้หนึ่งเดินทางมาจากแดนไกลเพราะได้ยินกิตติศัพท์ร่ำลือถึงความอร่อยของขนมที่วัดแห่งนี้ เมื่อมาถึงวัดจึงได้เอ่ยปากต่อพระลูกวัดเพื่อขอลิ้มลองรสชาติขนมเปี๊ยะอันเลื่องชื่อ ทว่าบรรดาพระลูกวัดเมื่อเห็นท่าทางสกปรกโกโรโกโสของขอทานผู้นี้ก็นึกรังเกียจ จึงไม่ยอมให้ขอทานเข้าไปยังครัวของวัดเพื่อรับขนมเปี๊ยะ จนเกิดการฉุด ลาก ผลัก ดึง กันอยู่ในบริเวณวัด

ในตอนนั้น เจ้าอาวาสได้มาพบเห็นเหตุการณ์ จึงได้กล่าวปรามพระลูกวัดว่า "บรรพชิตต้องมีเมตตาธรรม เหตุใดพวกเจ้าจึงปฏิบัติตนเช่นนี้" จากนั้นเจ้าอาวาสจึงคัดเลือกขนมเปี๊ยะชิ้นใหญ่ด้วยตัวเอง และนำมามอบให้กับขอทานด้วยความนบนอบ โดยไม่คิดเงิน

เมื่อขอทานเห็นดังนั้นก็รู้สึกตื้นตันใจเป็นอันมาก และรับประทานขนมเปี๊ยะรสเลิศจนหมด ก่อนจากไป ขอทานได้ควักเงินทั้งหมดที่มีอยู่น้อยนิดออกมามอบให้กับเจ้าอาวาสเป็นค่าขนมเปี๊ยะ พลางกล่าวว่า "นี่เป็นเงินทั้งหมดที่ข้าขอทานมาได้ หวังว่าท่านเจ้าอาวาสจะรับไว้" เจ้าอาวาสรับเงินค่าขนมเปี๊ยะมาจริงๆ จากนั้นจึงประนมมือพลางกล่าวอวยพรขอทานว่า "ขอให้ท่านเดินทางโดยสวัสดี"

เหล่าพระลูกวัดเห็นดังนั้นก็เกิดความกังขายิ่งนัก และเอ่ยถามเจ้าอาวาสว่า "ในเมื่อท่านบริจาคขนมเปี๊ยะให้เป็นทานแล้ว ไยจึงรับเงินมา?" เจ้าอาวาสจึงกล่าวตอบว่า "ขอทานเดินทางมาไกลแสนไกลเพียงเพื่อลิ้มลองรสชาติขนมเปี๊ยะของวัดเรา ดังนั้นเราจึงมอบขนมเปี๊ยะให้เขาโดยไม่คิดเงิน ส่วนการที่เขาจ่ายค่าตอบแทนก็แสดงว่าขอทานผู้นี้มีความดีงามในจิตใจ รู้จักวิถีการปฏิบัติตัวในสังคม ด้วยเหตุนี้เราจึงรับเงินนั้นไว้เพื่อเติมเต็มความเคารพในตนเองของเขา ซึ่งจะเป็นแรงขับให้เขามีความสำเร็จยิ่งขึ้นไปในอนาคต"


ปัญญาเซน เจ้าอาวาสบริจาคขนมเปี๊ยะให้เป็นทาน สามารถดับความทุกข์จากความหิวโหยของขอทาน ส่วนการรับเงินค่าตอบแทนกลับมาถือเป็นการเติมเต็มความเคารพในตนเองให้กับขอทาน เนื่องเพราะท้องอิ่มเป็นเพียงการตอบสนองความต้องการทางร่างกายเพียงชั่วครั้งคราว แต่การเติมเต็มความเคารพในตนเองให้กับจิตวิญญาณของคนคนหนึ่ง จะเป็นแรงผลักดันเกื้อหนุนให้คนผู้นั้นไปตลอดทั้งชีวิต


ที่มา : หนังสือ 《禅的故事精华版》, 慕云居 เรียบเรียง, สำนักพิมพ์ 地震出版社, 2006.12, ISBN 7-5028- 2995-4

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น