พลังหยาง (阳气) คือพลังของชีวิต ในวัยเด็กพลังหยางค่อยๆ สะสมตัว เด็กเจริญเติบโตมีพละกำลังคล่องแคล่วว่องไว ไม่เหนื่อยง่าย จนพลังหยางสูงสุดในวัยหนุ่มสาว และเข้าสู่วัยกลางคน พลังหยางก็เริ่มถดถอยลดน้อยลง ร่างกายก็ไม่กระฉับกระเฉง ความคิดอ่าน ความจำ ความว่องไวทางประสาท สมอง ก็ลดลงเรื่อยๆ ถึงวัยชราภาพ พลังหยางน้อยลงไปอีกและหมดไปในที่สุดพร้อมกับการดับลงของชีวิต เป็นวัฏจักรของการเกิด พัฒนา เสื่อมถอย และการตาย
การบำรุงพลังหยางจึงมีความสำคัญต่อชีวิต เพราะเป็นตัวกำหนดการเกิด พัฒนาและการเสื่อมถอยของร่างกาย ยังรวมถึงโอกาสการเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ของร่างกายและจิตใจด้วย
ก่อนจะไปศึกษาค้นคว้าหาสิ่งภายนอกมาบำรุงรักษาพลังหยาง ควรกลับมาพิจารณาวิธีการที่เป็นธรรมชาติและประหยัดที่สุด ที่เราสามารถกำหนดและปฏิบัติได้เอง คือ การนอนหลับช่วงเวลาจื่อสือ (子时觉) ระหว่างเวลา ๒๓.๐๐-๐๑.๐๐ น.
การเกิดของพลังหยาง เริ่มต้นที่เวลา ๒๓.๐๐-๐๑.๐๐ น.ช่วงพลังลมปราณไหลผ่านเส้นลมปราณถุงน้ำดี
กลางคืนพลังยินมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงเที่ยงคืน ระหว่างเวลา ๒๓.๐๐-๐๑.๐๐ น. คือช่วงเปลี่ยนผ่านจากพลังยินสูงสุด และการก่อเกิดพลังหยาง พลังหยางจะเก็บสะสมได้มากในภาวะที่สงบที่สุด การตื่นนอนหรือยังไม่หลับ เป็นการใช้พลังหยางทำให้การเกิดสะสมตัวของพลังหยางถูกรบกวน ไม่สามารถสะสมได้อย่างเต็มที่ ซึ่งหมายถึงสต็อกพลังหยางที่จะถูกนำไปใช้ในวันใหม่จะน้อยลง ส่งผลเสียต่อการทำงานในช่วงกลางวันของวันใหม่ ทำให้เหนื่อยง่าย ง่วงนอน หมดพลังเร็ว งานไม่มีประสิทธิภาพ
การนอนตื่นสายจนไปถึง ๑๐.๐๐ น. หรือเที่ยงวัน จะเป็นการทำลายร่างกายซ้ำเติมอีกทางหนึ่ง เพราะช่วงที่พลังหยางของธรรมชาติกำลังโตเต็มที่ พลังหยางของร่างกายก็ออกสู่ภายนอกของร่างกาย แต่การนอนหลับเป็นความพยายามเก็บหยางไว้ในตัวต่อไป ภาวะเช่นนี้จึงฝืนกับกฎของธรรมชาติ จะทำให้เกิดโรคระยะยาว
พลังหยางพร่อง ถูกทำลายด้วยหลายปัจจัย
- การดื่มเครื่องดื่มเย็นๆ น้ำแข็ง
- การหยุดนิ่งมากเกินไป ไม่เคลื่อนไหว
- การถูกความเย็นจากเครื่องปรับความเย็นนานเกินไป
- การนอนบนพื้นปูนที่เย็น
- การทำงานที่ตรากตรำเหนื่อยล้าเกินไป
- ความเครียดสะสม
- การนอนไม่หลับตอนกลางคืน นอนดึก ทำงานตอนกลางคืน
การนอนหลับในช่วงพลังหยางเริ่มเกิด (๒๓.๐๐-๐๑.๐๐ น.) จะทำให้ไม่รบกวนการเกิดและสะสมตัวของพลังหยาง
คนที่นอนดึกเลยเวลาช่วงนี้นานๆ จะเกิดความเคยชิน รู้สึกไม่ค่อยง่วงนอน และการนอนหลับจะยากขึ้น เพราะพลังหยางเริ่มเกิดมากขึ้นแล้ว ในที่สุดจะเกิดโรคนอนไม่หลับตามมา
นอนดึกเกิดโรคอ้วน
นอนดึกเลย ๒๓.๐๐ น. จะทำให้รู้สึกหิว (พลังหยางเริ่มเกิด) อยากอาหาร ถ้ากินอาหารมื้อหนักเข้าไปอีก จะยิ่งทำให้พลังหยางไม่สามารถสะสม ต้องถูกนำมาใช้ในการย่อยอาหาร ซึ่งการย่อยก็จะไม่มีประสิทธิภาพ เพราะพลังสำรองยังน้อย และการหลั่งน้ำดีถูกปิดกั้น (ทำงานน้อย)อาหารจึงไม่ถูกย่อย ทำให้เกิดโรคอ้วน ขณะเดียวกันการสะสมพลังสำหรับวันรุ่งขึ้นก็น้อยลงไปด้วย
นอนดึกสมองไม่ปลอดโปร่ง
พลังของถุงน้ำดีที่ดี มีผลต่อการตัดสินใจ ประสิทธิภาพของสมอง (胆为中正之官,主决断) หมายความว่า ถ้าช่วงเวลาจื่อสือ พลังของถุงน้ำดีเสริมสร้างได้ดี ตื่นนอนขึ้นมาสมองจะสดใส (胆有多清,脑有多清) การทำงาน การเรียนรู้ การตัดสินใจจะฉับไว ปลอดโปร่ง
นอนดึกทำให้ระบบการย่อยไม่ปกติ
“การทำงานของอวัยวะภายในชี้ขาดที่ถุงน้ำดี” (凡十一脏,取诀于胆也) ระบบย่อยอาหาร (ม้ามหรือกระเพาะอาหาร) ก็หนีไม่พ้นกฎเกณฑ์ข้อนี้
ตับเป็นโรงงานสร้างน้ำดี ถุงน้ำดีเป็นคลังเก็บน้ำดี การย่อยอาหารที่ดีต้องอาศัยพลังของถุงน้ำดีในการขับเคลื่อนน้ำดีสู่ลำไส้เล็ก ถ้าพลังถุงน้ำดีไม่สมบูรณ์ หรือคนที่ถูกตัดถุงน้ำดี การสำรองน้ำดีและขับน้ำดีไม่ดี น้ำดีจะถูกไหลทิ้ง เมื่อเวลากินอาหารเข้าไป จำนวนน้ำดีที่ขับออกมาช่วยการย่อยก็น้อย ทำให้ระบบการย่อยดูดซึมอาหารมีปัญหา
การหลีกเลี่ยงการกินอาหารตอนดึก และนอนให้หลับสนิทในช่วงเวลา ๒๓.๐๐-๐๑.๐๐ น. จึงเป็นการเสริมสร้างพลังของถุงน้ำดี
วิธีการเสริมสร้างพลังหยางที่ง่ายและประหยัด
๑. เตรียมตัวนอนก่อน ๒๓.๐๐ น. คนที่หลับยากหน่อยอาจเข้านอน ๒๒.๓๐ น. คนที่หลับง่ายอาจนอนเวลา ๒๒.๕๐ น. พยายามให้หลับในช่วงประมาณ ๒๓.๐๐ น. และหลับสนิทในช่วง ๐๑.๐๐-๐๓.๐๐ น.
๒. ไม่ควรกินอาหารหลัง ๒๓.๐๐ น. เพราะถุงน้ำดีจะไม่ทำงาน ในการขับน้ำดีโดยเฉพาะหลัง ๒๓.๐๐ น.ไปแล้ว และมักจะเกิดอาการหิว (หยางเริ่มเกิด) และคนมักจะตาสว่างไม่ค่อยง่วงนอน
๓. ถ้ามีงานมากควรหลับก่อน ๒๓.๐๐ น. แล้วตื่นเช้า ตี ๔-๕ มาทำต่อ จะได้งานที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการนอนตี ๑ ตี ๒
๔. ตื่นนอนแต่เช้า มารับพลังแสงด้วยอาทิตย์ สรรพสิ่งในโลกนี้เติบโตและดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยพลังหยาง ใช้ฝ่ามือทั้งสองข้างรับพลังแสงอาทิตย์เข้าสู่ร่างกาย ไม่ควรนอนตื่นสาย เพราะจะไปกดพลังหยางที่จะเคลื่อนไหวอยู่ภายนอก และไปกดการทำงานของอวัยวะต่างๆ ที่กำลังเริ่มทำงาน
๕. ควรกระตุ้นระบบย่อยอาหาร ด้วยการดื่มน้ำ ๑-๒ แก้ว ตอนตื่นนอน ๐๕.๐๐-๐๗.๐๐ นาฬิกา เพื่อให้ลำไส้เริ่มทำงาน ถุงน้ำดีเริ่มอุ่นเครื่อง และต้องกินอาหารมื้อเช้า
Source: http://www.doctor.or.th/node/11261
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น