วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

สูงวัยอย่างไร้โรค


สูงวัยอย่างไร้โรค
รู้จักและเข้าใจโรคที่มาพร้อมกับวัยที่เพิ่มขึ้นเพื่อชีวิตที่ยืนยาวอย่างมีคุณภาพ

การเพิ่มขึ้นของจำนวน สัดส่วนประชากรสูงอายุ และอายุเฉลี่ยของประชากรนั้นเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก ประเทศไทยเองก็เช่นกัน จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปีพ.ศ. 2553 พบว่ามีเรามีประชากรที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไปมากถึง 11% ของจำนวนประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 8 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้น จากปี พ.ศ. 2550 ถึงเกือบ 1 ล้านคน ขณะเดียวกัน สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ได้เปิดเผยงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าอายุเฉลี่ยของคนไทยนั้นเพิ่มขึ้นจาก เดิมคือ 60 ปี เป็น 73 ปี และมีแนวโน้มจะถึง 80 ปีในอีกไม่ถึงสิบปีข้างหน้า

การมีชีวิตที่ยืนยาวอาจเป็นเรื่องน่ายินดี แต่เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าช่วงเวลาที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นช่วงชีวิตที่มี คุณภาพ ปราศจากโรคร้ายรุมเร้า และไม่มีอาการเสื่อมสุขภาพใด ๆ ที่รังแต่จะทำให้ชีวิตที่ยืนยาวนั้นหมดความสุข 

Better Health ฉบับนี้มีคำตอบจาก พญ. ลิลลี่ ชัยสมพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ซึ่งจะมาให้คำแนะนำในการป้องกันและดูแลโรคที่มักมาพร้อมกับวัยที่มากขึ้น เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงวัย 

เริ่มสูงวัยเมื่อไหร่กัน?

โดยทั่วไปแล้ว ผู้สูงวัยหมายถึงผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป แต่สำหรับแพทย์ การสูงวัยกลับหมายถึงสภาพความแข็งแรงสมบูรณ์ของร่างกาย 

“ร่างกายคนเราชราลงไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นจะดูที่อายุอย่างเดียวคงไม่ได้ ส่วนใหญ่การเสื่อมถอยของร่างกายมักจะเริ่มเมื่ออายุย่างเข้า 40 แต่แน่นอนว่าความเร็วช้าของการเสื่อมถอยในแต่ละคนย่อมต่างกัน ยิ่งเราดูแลตัวเองดีแค่ไหน ความสึกหรอที่มาพร้อมกับวัยก็จะยิ่งช้าลงไปเท่านั้น” พญ. ลิลลี่กล่าว

ทั้งนี้ โรคภัยไข้เจ็บดูจะเป็นความเสื่อมถอยที่เห็นได้ชัดที่สุด ซึ่งพญ. ลิลลี่อธิบายว่าเราสามารถแบ่งกลุ่มของโรคในผู้สูงวัยออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ นั่นคือ กลุ่มของโรคที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น เช่น โรคที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือด และกลุ่มของโรคที่เกิดเฉพาะในผู้สูงวัยเท่านั้น เช่น โรคกระดูกพรุน และภาวะสมองเสื่อม

โรคในหลอดเลือด

กลุ่มโรคที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือด เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดในสมองนั้น ไม่ได้มีสาเหตุมาจากอายุโดยตรง แต่เป็นผลมาจากการละเลยการดูแลสุขภาพเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสมหรือการขาดการออกกำลังกาย จนทำให้เกิดการสั่งสมของน้ำตาลและคอเลสเตอรอลในกระแสเลือด ซึ่งการลดความเสี่ยงของโรคกลุ่มนี้สามารถทำได้โดยการไม่รับประทานอาหารจำพวก แป้งหรือไขมันมากเกินไปและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

อย่างไรก็ตาม พญ. ลิลลี่แนะนำว่าไม่ควรละเลิกไขมันหรืออาหารจำพวกเนื้อสัตว์ไปเสียหมด เพราะนอกจาก ไขมันจะเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของร่างกายแล้ว โปรตีนที่ได้จากเนื้อสัตว์ยังเป็นสารอาหารสำคัญที่ช่วยในการซ่อมแซมส่วนที่ สึกหรอของร่างกายในวัยที่ล่วงเลยได้เป็นอย่างดี

“อาหารที่ผู้สูงอายุมักมองข้ามไปคืออาหารจำพวกโปรตีน เพราะคิดว่าอายุก็มากแล้วไม่อยากรับประทานเนื้อสัตว์ซึ่งเคี้ยวยากย่อยยาก แต่ความจริงคือกล้ามเนื้อหรือเซลล์สมองที่ฝ่อลงนั้นต้องการโปรตีนมาบำรุง หากไม่เพียงพอก็จะทำให้สุขภาพถดถอยเร็วยิ่งขึ้น” พญ. ลิลลี่กล่าว

ทั้งนี้ ผู้สูงอายุที่มีอาการของโรคเหล่านี้ควรเลือกรับประทานโปรตีนจากถั่วหรือปลา แทนที่จะเป็นเนื้อ หมู ไก่ เพราะใยอาหารจากถั่วจะช่วยในเรื่องการขับถ่าย ทำให้ร่างกายระบายคอเลสเตอรอล และจัดระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น ส่วนปลาก็มีไขมันที่เรียกว่าโอเมก้าสาม ซึ่งเป็นไขมันดีที่เชื่อว่าสามารถช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้อีกด้วย 

โรคของกระดูก
อายุที่มากขึ้นส่งผลให้ความหนาแน่นของกระดูกเบาบางลงจนเปราะหักได้ง่าย และกลายเป็นโรคกระดูกพรุนในที่สุด พญ. ลิลลี่แนะนำให้ผู้หญิงระวังโรคนี้เป็นพิเศษ เพราะมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย 

“โดยธรรมชาติแล้วผู้หญิงมีกระดูกที่บางกว่าผู้ชายอยู่แล้ว นอกจากนี้ผู้หญิงยังมีระยะหมดประจำเดือน ซึ่งฮอร์โมนเพศที่เป็นสารช่วยบำรุงกระดูกจะขาดหายไปอย่างกระทันหัน ทำให้กระดูกบางลงอย่างรวดเร็ว ในผู้ชายนั้น ฮอร์โมนเพศจะค่อย ๆ ลดลงอย่างช้า ๆ ตามวัย หรืออาจไม่ลดลงเลยในบางคน” พญ. ลิลลี่ อธิบาย

อันตรายของโรคกระดูกพรุนคือการที่โรคนั้นแทบไม่มีสัญญาณบ่งชี้เลยผู้ป่วย ส่วนใหญ่จึงมักไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคอยู่ทั้ง ๆ ที่กระดูกอาจจะบางไปมากแล้ว จนกระทั่งเกิดหกล้มกระดูกหักขึ้นมา ดังนั้น การบำรุงกระดูกตั้งแต่เนิ่น ๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพราะจะช่วยลดความเสี่ยงและความรุนแรงของโรคได้เป็นอย่าง ดี

ในการเสริมสร้างสุขภาพกระดูกให้แข็งแรงนั้น ผู้สูงอายุควรได้รับแคลเซียมอย่างน้อยประมาณ 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งคนส่วนใหญ่มักได้รับไม่ถึง แม้ว่าจะเน้นรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมอย่าง นม ถั่ว ผักใบเขียว เต้าหู้ ปลา แล้วก็ตาม นั่นเป็นเพราะว่าคนไทยส่วนใหญ่โดยเฉพาะผู้สูงวัยมักไม่นิยมดื่มนมซึ่งเป็น แหล่งแคลเซียมสำคัญ ซึ่งในกรณีนี้ แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานอาหารเสริมแคลเซียมเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม การรับประทานแคลเซียมเสริมอาจมีปัญหาในเรื่องการดูดซึม โดยเฉพาะแคลเซียมคาร์บอเนตซึ่งมีอัตราการดูดซึมเพียงร้อยละ 40 โดยประมาณ ทางที่ดีจึงควรแบ่งรับประทานครั้งละประมาณ 500-600 มิลลิกรัม และรับประทานพร้อมมื้ออาหารซึ่งจะช่วยให้ร่างกายสามารถดูดซึมแคลเซียมได้ดี ขึ้น 

ผู้สูงวัยกับการใช้ยา

นอกเหนือจากโรคที่มาพร้อมกับวัยแล้ว ปริมาณยาที่ผู้สูงวัยส่วนใหญ่รับประทานก็ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นด้วย โดยสาเหตุมักมาจากการรับยาจากหลายแหล่ง เช่น จากแพทย์หลายคนที่รักษาต่างโรคกัน จากญาติพี่น้อง ที่เป็นห่วงเป็นใย และจากการซื้อยามารับประทานเอง ทั้งยารักษาโรค วิตามิน อาหารเสริม ยาไทย ยาจีน ซึ่งผู้สูงวัยส่วนใหญ่มักไม่ทราบว่ายาเหล่านั้นรับประทานด้วยกันได้หรือไม่ เรื่องนี้พญ. ลิลลี่แนะนำว่าโดยหลักการแล้วควรรับประทานยาให้น้อยที่สุด และเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

“ผู้สูงอายุควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญซึ่งอาจเป็นแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อดูยาทั้งหมดว่าชนิดใดจำเป็นหรือไม่ และสามารถรับประทานด้วยกันได้หรือเปล่า นอกจากนี้ ทุกครั้งที่ไปพบแพทย์ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่ารับประทานยาอะไรอยู่ เพื่อไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อน” พญ. ลิลลี่แนะนำ

ทั้งนี้ ผู้สูงอายุควรระมัดระวังการรับประทานยาบางชนิดเป็นพิเศษ เช่น ยาแก้อักเสบจำพวก NSAIDs แอสไพริน หรือไอบูโพรเฟน เนื่องจากมีผลข้างเคียงรุนแรง ทั้งกัดกระเพาะ ทำให้ความดันโลหิตสูง และมีผลต่อตับไต ผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาจึงควรอยู่ในการกำกับดูแลของแพทย์และไม่ควรใช้ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน

ตัวยาอีกกลุ่มหนึ่งที่ควรระวังคือยาจำพวกยาแก้หวัด แก้แพ้ และยานอนหลับบางชนิด ซึ่งมีผลต่อสมอง หากได้รับมากเกินไปก็อาจทำให้เกิดอาการมึนงง หรือง่วงจนหกล้มบาดเจ็บได้ ยิ่งหากเป็นยานอนหลับชนิดออกฤทธิ์รุนแรงอย่างไดอาซีแพมนั้น หากรับประทานติดต่อกันนาน ๆ ก็อาจทำให้สมองฝ่อ หรือมีอาการซึมเศร้าได้

โรคส่วนใหญ่ที่เกิดในผู้สูงวัยนั้น ยากที่แพทย์จะรักษาอย่างมีประสิทธิภาพได้ หากปราศจากความร่วมมือจากผู้ป่วยในการดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัดด้วยการรับ ประทานอาหารให้ถูกต้องเหมาะสม และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้แล้ว การมีสุขภาพจิตที่ดีก็มีส่วนช่วยให้การจัดการดูแลโรคทำได้ง่ายขึ้น ซึ่ง พญ. ลิลลี่ กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า บุตรหลานและผู้ใกล้ชิดต้องหมั่นดูแลเอาใส่ใจผู้ใหญ่ในบ้าน เพื่อให้ผู้สูงวัยมีชีวิตที่ยืนยาวอย่างมีคุณภาพและมีความสุข

ปัสสาวะ เรื่องเล็กที่กลายเป็นเรื่องใหญ่

ปัญหาการปัสสาวะเล็ด หรือปัสสาวะไม่ออก เป็นอีกอาการหนึ่งที่มักเกิดกับผู้สูงอายุโดยในผู้ชายนั้น เกิดจากการที่ต่อมลูกหมากโตขึ้นแล้วไปบีบท่อปัสสาวะ ส่งผลให้มีอาการปัสสาวะไม่ออก ต้องใช้เวลาเบ่งนาน และอาจถึงขั้นปัสสาวะเองไม่ได้เลย ซึ่งอาการนี้สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดขูดต่อมลูกหมากบางส่วนออก แต่หากเป็นไม่มาก แพทย์มักจะใช้วิธีให้ยาคลายกล้ามเนื้อเพื่อช่วยให้ต่อมลูกหมากคลายตัวลงก่อน

ในกรณีของผู้หญิงจะเป็นไปในทางตรงกันข้าม นั่นคือไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้โดยส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากกล้ามเนื้อที่ เริ่มหย่อนยานโดยเฉพาะกล้ามเนื้ออุ้มเชิงกราน ทำให้ไม่สามารถปิดกั้นท่อปัสสาวะได้ วิธีแก้ไขเบื้องต้นอาจทำได้โดยการฝึกขมิบกล้ามเนื้อบริเวณช่องคลอดให้ได้ ประมาณร้อยครั้งต่อวัน ก็จะช่วยให้กล้ามเนื้อกระชับขึ้นและลดอาการปัสสาวะเล็ดลง ในกรณีที่มีอาการมาก แพทย์อาจแนะนำให้แก้ไขด้วยการผ่าตัด

Source: http://www.bumrungrad.com/th/betterhealth/2555/senior-health/healthy?utm_source=newsletter-11-b-2012&utm_medium=newsletter&utm_campaign=Bumrungrad-Thai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น