พึ่งตนพึ่งธรรม เรื่องและภาพ โดย มนสิกุล
โอวาทเภสัชช์ เรื่องและภาพ
"ขณะนี้ ใครรู้จักตัวเองทั้งข้างนอกข้างในหมดเลยบ้าง? "
ในยามสายของวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา อุบาสิกาคุณรัญจวน อินทรกำแหง ถาม นักเดินทาง ๔๐ ชีวิตจาก 'เที่ยวทั่วไทย หัวใจถึงธรรม' นำทีมโดย นพ.บัญชา พงษ์พานิช ที่นั่งรถบัสข้ามคืนจากหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ กรุงเทพฯ ไปสุดทางที่วัดป่าหนองไผ่ จ.สกลนคร โดยมีพระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม เป็นเจ้าอาวาส ท่านเป็นศิษย์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ซึ่งหลวงตาก็เป็นศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโตอีกต่อหนึ่ง ทำให้เราสืบสายไปถึงต้นธารอันเป็นตาน้ำแห่งพระธรรมที่องค์พระสัมมาสัมพุทธ เจ้าค้นพบ และนำมาบอกต่อกว่า ๒,๖๐๐ ปีที่มีพุทธบริษัทสืบสายอย่างไม่ขาดตอน และขุมทรัพย์ทางวิปัสสนาปัญญาที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบนี้เองที่สามารถนำมาปลด เปลื้องพันธนาการทางจิตที่มนุษย์ยึดติดกับสังสารวัฏได้ให้หลุดออกไปได้จริง เมื่อปฏิบัติเองแล้ว พบเห็นเองแล้ว ก็ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอันเป็นต้นทางแห่งทุกข์อีกต่อไป
ไม่น่าเชื่อว่าคำถามพื้นๆ ที่อาจารย์ถาม จะเป็นคำถามที่เราเอง และใครๆ อีกหลายคน ตอบไม่ได้ แม้ว่าเราจะอยู่กับตัวเรามาตลอดชีวิตก็ตามที
หลังจากที่ทุกคนเงียบ อาจารย์รัญจวนก็กล่าวขึ้นว่า ในความเห็นส่วนตัว ธรรมะที่เราควรจะศึกษามากที่สุด คือตัวเราเอง
"ถ้าเราไม่ศึกษาตัวเอง แต่วิ่งเข้าวัด ไปเพื่ออะไร เคยถามตัวเองไหมว่ามาวัดทำไม ตอบตัวเองได้ไหม...การปฏิบัติธรรมคือการรู้จักตัวเอง ศึกษาตัวเอง ข้างนอก ชื่ออะไร ทำอะไรไม่ยาก แต่ข้างในที่มองไม่เห็น เคยรู้จักบ้างไหม ถ้าผู้ใดมองตัวเอง เห็นแต่ทางบวก ไม่มีทางลบเลยคิดว่าตัวเองเป็นคนอย่างไร เป็นคนน่าสงสาร เพราะถ้าหากไม่รู้จักตัวเรา เราจะมาขัดเกลาอะไรเล่า ถ้ามันดีไปทุกอย่างแล้ว "
สิ่งที่ท่านเน้นย้ำก็คือ การปฏิบัติธรรม ไม่ใช่การไปนั่งสมาธิอย่างเดียว สมาธินั้นเป็นเครื่องมือที่จำเป็นและสำคัญก็เพื่อให้มีกำลังจิตที่มั่นคง หนักแน่น และจะได้ใช้พื้นฐานของจิตที่มีพลังเช่นนั้น เป็นฐานในการพิจารณาธรรม หรือที่เรียกว่า วิปัสสนาปัญญาให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น การเข้ามาหาธรรมะ มาปฏิบัติธรรม สิ่งสำคัญที่สุดก็เพื่อมาขัดเกลาตัวเราเอง
ขัดเกลาอะไรเล่า ?
อาจารย์รัญจวนอธิบายว่า เมื่อมองเข้าไปข้างในใจแล้วเห็นว่ามันโสโครก มันน่าละอาย นี่แหละเป็นสิ่งที่ต้องขัดเกลา
"อะไรที่เรารู้สึกว่าขลุกขลักอยู่ข้างในก็สิ่งนั้นแหละ เป็นอุปสรรคให้ก้าวไปไม่ได้ เพราะมันมองเห็นแต่ส่วนดีไปซะหมด ฉะนั้น มองดูที่ตรงนี้ แม้ว่าอยู่กับคนหมู่มาก แต่ถ้าไม่พูดไม่คุย ก็เหมือนกับอยู่คนเดียว อยู่กับข้างในของเรา ในนาทีนั้น มองดูไปข้างในใจว่า เราเป็นคนใจดี ดูเมตตา มีไหม ลองถามแค่นี้ ในส่วนตัวของดิฉันเอง ชอบถามคำถามนี้กับตัวเองเสมอ แล้วก็ต้องลงท้ายด้วยว่า จริงไหม ที่เราคิดว่า เราเป็นอย่างนั้น เป็นการย้ำ เพื่อไม่หลอกตัวเอง
"ถ้าเรามองเห็นว่ามันไม่จริง ที่ว่ามีเมตตา แต่ต้องกับคนที่รู้จักมักคุ้น ญาติพี่น้อง พรรคพวกเดียวกัน ถ้าไม่ใช่ ถ้าแปลกหน้ามาจากไหน ต้องคิดก่อนว่าจะเมตตาดี ไม่เมตตาดี หรือผ่านไปเลย อืมม์ อย่างนี้เป็นเมตตาในพรหมวิหารสี่หรือเปล่า เขาเรียกว่า เมตตาหลอกๆ อย่าประมาทนะ ความเมตตา ขอให้ออกมาจากใจ จะน้อยจะมากก็ขอให้ออกมาจากใจ ไม่ต้องบอกว่าจะได้อะไรตอบแทน แล้วพอเมตตากรุณาเสร็จแล้ว ใครชื่นใจ เราเองชื่นใจ เราทำอะไรในสิ่งที่ดีงาม ถึงไม่มีคนเห็น แต่อย่างน้อยมีคนหนึ่งเห็น คือตัวเรา
"ฉะนั้น การดูตัวเอง เป็นองค์ประกอบที่สำคัญมาก ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ทำหรับผู้มุ่งมั่นปฏิบัติธรรมจริงๆ และเป็นการปฏิบัติบูชา ไม่ใช่ปฏิบัติเพื่อให้คนอื่นดู หรือให้คนอื่นรู้ว่ากำลังปฏิบัติธรรม"
อีกคำถามหนึ่งที่อาจารย์รัญจวนให้เราถามกับตัวเองอีกก็คือ ถ้าเราเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าคนหนึ่ง เรามีองค์ประกอบในตัวพร้อมแล้วหรือยัง
"คำว่า พร้อม ก็คือ รู้จักหรือเปล่าว่าพระพุทธเจ้าคือใคร เคยมีความรู้สึกบ้างไหมว่า เกิดมาชาตินี้มีบุญแค่ไหน ที่ได้มารู้จักพระพุทธศาสนา ได้มีโอกาสมารู้จักพระธรรมอันประเสริฐที่พระพุทธเจ้าค้นพบ"
โดยส่วนตัวอาจารย์รัญจวน เล่าว่า ก่อนที่จะมารู้จักพระธรรม รู้สึกว่าอยู่กับความร้อนมามากกว่าครึ่งชีวิต
"แต่ก็ยังโชคดีที่ได้มารู้จักในตอนสุดท้าย มิฉะนั้น จะต้องเป็นผู้ไปมืดเป็นแน่นอน เพราะจะไม่สามารถจัดจิตใจที่ตกหลุมอยู่ในความมัวเมาโดยไม่รู้ตัว ทำให้นึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สมัยที่ท่านเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ท่านทรงมีสิ่งที่เป็นอุปกรณ์ในการบำรุงบำเรอความสุข ทุกอย่างอย่างเพียบพร้อม และยังเกินพอด้วย เป็นสุขที่เรากระเสือกกระสนกันอยู่ทุกวันนี้ ยังไม่หยุด แล้วทำไมเจ้าชายสิทธัตถะจึงสลัดทิ้งทุกอย่างที่เป็นความสุขที่มนุษย์แสวงหา หันพระพักตร์เข้าสู่ป่า โดยไม่มีอะไรเลย ทำไมพระองค์จึงได้กล้าหาญเด็ดเดี่ยวขนาดนั้นในการแสวงหาสัจธรรมเพื่อที่จะ ทราบว่า ทุกข์ คืออะไร เหตุของทุกข์มาจากไหน และการดับทุกข์นี้จะต้องทำอย่างไร ต้องดับมันให้ได้ ต้องมีความแจ้ง และยังได้แสดงวิธีที่จะเดิน ให้เจริญในหนทางการปฏิบัติเพื่อถึงซึ่งความสิ้นทุกข์ ที่เราเรียกว่า อริยมรรคมีองค์ ๘
"อริยสัจทั้ง๔ ข้อนี้ กว่าที่พระองค์จะแสวงหาได้ ก็เกือบจะสิ้นพระชนม์หลายครั้ง เมื่อใครได้ไปอ่านในพระไตรปิฎกถึงพระประวัติของพระพุทธเจ้า ในขณะที่ทรงแสวงหาสัจธรรมอยู่ ๖ ปีในป่านั้นก็จะเข้าใจ จะให้ง่ายก็ไปอ่านพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ ที่ท่านอาจารย์พุทธทาสท่านรวบรวม เป็นคำตรัสของพระองค์เองก็จะรู้ว่ากว่าจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั้นยากลำบากเพียงใด ตลอดพระชนม์ชีพ ๘๐ พรรษา ๔๕ พรรษาที่พระองค์ใช้เวลาสั่งสอนเพื่อนมนุษย์ เสด็จพระราชดำเนินไปที่นั่นที่นี่ด้วยพระบาทเปล่า ไม่หยุดเลย ทั้งที่พระองค์ไม่จำเป็นต้องอย่างนั้น แต่ก็ทรงเสียสละเช่นนี้เพื่ออะไร"
ถ้าไม่ใช่เพื่อความสงบเย็นของมนุษยชาติ แล้วเพื่ออะไรเล่า
"การรู้จักตัวเองก็เป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้เรารู้ว่า เราจะขัดเกลาสิ่งที่ยังขลุกขลักอยู่ภายในให้เกลี้ยงเกลาได้อย่างไร ยิ่งเกลี้ยงเกลาเท่าไหร่ ธรรมะก็จะเจริญแค่นั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงให้เรากลับมาศึกษาตัวเอง แต่ไม่ใช่เพ่งโทษตัวเอง แล้วเราจะพบความจริงในตัวเรา "
นั่นคือคำแนะนำจากอุบาสิกาคุณรัญจวน ในวัย ๙๑ ปี และวันพระนี้ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๕ คือวันเกิดของท่าน หนึ่งในครูบาอาจารย์ผู้ทำให้ดำริของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุเป็นจริง ในการสร้างธรรมาศรมธรรมมาตา สวนโมกขพลาราม จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อเป็นของขวัญให้ลูกผู้หญิงได้ปฏิบัติธรรมอย่างเข้มข้น เฉกเช่นนักบวช โดยไม่ต้องบวช
Source: http://www.komchadluek.net/detail/20120528/131357/'ธรรมะที่ควรศึกษามากสุดคือตัวเรา'อุบาสิการัญจวน.html#.UN6Asaz75BM
ในยามสายของวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา อุบาสิกาคุณรัญจวน อินทรกำแหง ถาม นักเดินทาง ๔๐ ชีวิตจาก 'เที่ยวทั่วไทย หัวใจถึงธรรม' นำทีมโดย นพ.บัญชา พงษ์พานิช ที่นั่งรถบัสข้ามคืนจากหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ กรุงเทพฯ ไปสุดทางที่วัดป่าหนองไผ่ จ.สกลนคร โดยมีพระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม เป็นเจ้าอาวาส ท่านเป็นศิษย์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ซึ่งหลวงตาก็เป็นศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโตอีกต่อหนึ่ง ทำให้เราสืบสายไปถึงต้นธารอันเป็นตาน้ำแห่งพระธรรมที่องค์พระสัมมาสัมพุทธ เจ้าค้นพบ และนำมาบอกต่อกว่า ๒,๖๐๐ ปีที่มีพุทธบริษัทสืบสายอย่างไม่ขาดตอน และขุมทรัพย์ทางวิปัสสนาปัญญาที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบนี้เองที่สามารถนำมาปลด เปลื้องพันธนาการทางจิตที่มนุษย์ยึดติดกับสังสารวัฏได้ให้หลุดออกไปได้จริง เมื่อปฏิบัติเองแล้ว พบเห็นเองแล้ว ก็ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอันเป็นต้นทางแห่งทุกข์อีกต่อไป
ไม่น่าเชื่อว่าคำถามพื้นๆ ที่อาจารย์ถาม จะเป็นคำถามที่เราเอง และใครๆ อีกหลายคน ตอบไม่ได้ แม้ว่าเราจะอยู่กับตัวเรามาตลอดชีวิตก็ตามที
หลังจากที่ทุกคนเงียบ อาจารย์รัญจวนก็กล่าวขึ้นว่า ในความเห็นส่วนตัว ธรรมะที่เราควรจะศึกษามากที่สุด คือตัวเราเอง
"ถ้าเราไม่ศึกษาตัวเอง แต่วิ่งเข้าวัด ไปเพื่ออะไร เคยถามตัวเองไหมว่ามาวัดทำไม ตอบตัวเองได้ไหม...การปฏิบัติธรรมคือการรู้จักตัวเอง ศึกษาตัวเอง ข้างนอก ชื่ออะไร ทำอะไรไม่ยาก แต่ข้างในที่มองไม่เห็น เคยรู้จักบ้างไหม ถ้าผู้ใดมองตัวเอง เห็นแต่ทางบวก ไม่มีทางลบเลยคิดว่าตัวเองเป็นคนอย่างไร เป็นคนน่าสงสาร เพราะถ้าหากไม่รู้จักตัวเรา เราจะมาขัดเกลาอะไรเล่า ถ้ามันดีไปทุกอย่างแล้ว "
สิ่งที่ท่านเน้นย้ำก็คือ การปฏิบัติธรรม ไม่ใช่การไปนั่งสมาธิอย่างเดียว สมาธินั้นเป็นเครื่องมือที่จำเป็นและสำคัญก็เพื่อให้มีกำลังจิตที่มั่นคง หนักแน่น และจะได้ใช้พื้นฐานของจิตที่มีพลังเช่นนั้น เป็นฐานในการพิจารณาธรรม หรือที่เรียกว่า วิปัสสนาปัญญาให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น การเข้ามาหาธรรมะ มาปฏิบัติธรรม สิ่งสำคัญที่สุดก็เพื่อมาขัดเกลาตัวเราเอง
ขัดเกลาอะไรเล่า ?
อาจารย์รัญจวนอธิบายว่า เมื่อมองเข้าไปข้างในใจแล้วเห็นว่ามันโสโครก มันน่าละอาย นี่แหละเป็นสิ่งที่ต้องขัดเกลา
"อะไรที่เรารู้สึกว่าขลุกขลักอยู่ข้างในก็สิ่งนั้นแหละ เป็นอุปสรรคให้ก้าวไปไม่ได้ เพราะมันมองเห็นแต่ส่วนดีไปซะหมด ฉะนั้น มองดูที่ตรงนี้ แม้ว่าอยู่กับคนหมู่มาก แต่ถ้าไม่พูดไม่คุย ก็เหมือนกับอยู่คนเดียว อยู่กับข้างในของเรา ในนาทีนั้น มองดูไปข้างในใจว่า เราเป็นคนใจดี ดูเมตตา มีไหม ลองถามแค่นี้ ในส่วนตัวของดิฉันเอง ชอบถามคำถามนี้กับตัวเองเสมอ แล้วก็ต้องลงท้ายด้วยว่า จริงไหม ที่เราคิดว่า เราเป็นอย่างนั้น เป็นการย้ำ เพื่อไม่หลอกตัวเอง
"ถ้าเรามองเห็นว่ามันไม่จริง ที่ว่ามีเมตตา แต่ต้องกับคนที่รู้จักมักคุ้น ญาติพี่น้อง พรรคพวกเดียวกัน ถ้าไม่ใช่ ถ้าแปลกหน้ามาจากไหน ต้องคิดก่อนว่าจะเมตตาดี ไม่เมตตาดี หรือผ่านไปเลย อืมม์ อย่างนี้เป็นเมตตาในพรหมวิหารสี่หรือเปล่า เขาเรียกว่า เมตตาหลอกๆ อย่าประมาทนะ ความเมตตา ขอให้ออกมาจากใจ จะน้อยจะมากก็ขอให้ออกมาจากใจ ไม่ต้องบอกว่าจะได้อะไรตอบแทน แล้วพอเมตตากรุณาเสร็จแล้ว ใครชื่นใจ เราเองชื่นใจ เราทำอะไรในสิ่งที่ดีงาม ถึงไม่มีคนเห็น แต่อย่างน้อยมีคนหนึ่งเห็น คือตัวเรา
"ฉะนั้น การดูตัวเอง เป็นองค์ประกอบที่สำคัญมาก ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ทำหรับผู้มุ่งมั่นปฏิบัติธรรมจริงๆ และเป็นการปฏิบัติบูชา ไม่ใช่ปฏิบัติเพื่อให้คนอื่นดู หรือให้คนอื่นรู้ว่ากำลังปฏิบัติธรรม"
อีกคำถามหนึ่งที่อาจารย์รัญจวนให้เราถามกับตัวเองอีกก็คือ ถ้าเราเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าคนหนึ่ง เรามีองค์ประกอบในตัวพร้อมแล้วหรือยัง
"คำว่า พร้อม ก็คือ รู้จักหรือเปล่าว่าพระพุทธเจ้าคือใคร เคยมีความรู้สึกบ้างไหมว่า เกิดมาชาตินี้มีบุญแค่ไหน ที่ได้มารู้จักพระพุทธศาสนา ได้มีโอกาสมารู้จักพระธรรมอันประเสริฐที่พระพุทธเจ้าค้นพบ"
โดยส่วนตัวอาจารย์รัญจวน เล่าว่า ก่อนที่จะมารู้จักพระธรรม รู้สึกว่าอยู่กับความร้อนมามากกว่าครึ่งชีวิต
"แต่ก็ยังโชคดีที่ได้มารู้จักในตอนสุดท้าย มิฉะนั้น จะต้องเป็นผู้ไปมืดเป็นแน่นอน เพราะจะไม่สามารถจัดจิตใจที่ตกหลุมอยู่ในความมัวเมาโดยไม่รู้ตัว ทำให้นึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สมัยที่ท่านเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ท่านทรงมีสิ่งที่เป็นอุปกรณ์ในการบำรุงบำเรอความสุข ทุกอย่างอย่างเพียบพร้อม และยังเกินพอด้วย เป็นสุขที่เรากระเสือกกระสนกันอยู่ทุกวันนี้ ยังไม่หยุด แล้วทำไมเจ้าชายสิทธัตถะจึงสลัดทิ้งทุกอย่างที่เป็นความสุขที่มนุษย์แสวงหา หันพระพักตร์เข้าสู่ป่า โดยไม่มีอะไรเลย ทำไมพระองค์จึงได้กล้าหาญเด็ดเดี่ยวขนาดนั้นในการแสวงหาสัจธรรมเพื่อที่จะ ทราบว่า ทุกข์ คืออะไร เหตุของทุกข์มาจากไหน และการดับทุกข์นี้จะต้องทำอย่างไร ต้องดับมันให้ได้ ต้องมีความแจ้ง และยังได้แสดงวิธีที่จะเดิน ให้เจริญในหนทางการปฏิบัติเพื่อถึงซึ่งความสิ้นทุกข์ ที่เราเรียกว่า อริยมรรคมีองค์ ๘
"อริยสัจทั้ง๔ ข้อนี้ กว่าที่พระองค์จะแสวงหาได้ ก็เกือบจะสิ้นพระชนม์หลายครั้ง เมื่อใครได้ไปอ่านในพระไตรปิฎกถึงพระประวัติของพระพุทธเจ้า ในขณะที่ทรงแสวงหาสัจธรรมอยู่ ๖ ปีในป่านั้นก็จะเข้าใจ จะให้ง่ายก็ไปอ่านพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ ที่ท่านอาจารย์พุทธทาสท่านรวบรวม เป็นคำตรัสของพระองค์เองก็จะรู้ว่ากว่าจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั้นยากลำบากเพียงใด ตลอดพระชนม์ชีพ ๘๐ พรรษา ๔๕ พรรษาที่พระองค์ใช้เวลาสั่งสอนเพื่อนมนุษย์ เสด็จพระราชดำเนินไปที่นั่นที่นี่ด้วยพระบาทเปล่า ไม่หยุดเลย ทั้งที่พระองค์ไม่จำเป็นต้องอย่างนั้น แต่ก็ทรงเสียสละเช่นนี้เพื่ออะไร"
ถ้าไม่ใช่เพื่อความสงบเย็นของมนุษยชาติ แล้วเพื่ออะไรเล่า
"การรู้จักตัวเองก็เป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้เรารู้ว่า เราจะขัดเกลาสิ่งที่ยังขลุกขลักอยู่ภายในให้เกลี้ยงเกลาได้อย่างไร ยิ่งเกลี้ยงเกลาเท่าไหร่ ธรรมะก็จะเจริญแค่นั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงให้เรากลับมาศึกษาตัวเอง แต่ไม่ใช่เพ่งโทษตัวเอง แล้วเราจะพบความจริงในตัวเรา "
นั่นคือคำแนะนำจากอุบาสิกาคุณรัญจวน ในวัย ๙๑ ปี และวันพระนี้ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๕ คือวันเกิดของท่าน หนึ่งในครูบาอาจารย์ผู้ทำให้ดำริของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุเป็นจริง ในการสร้างธรรมาศรมธรรมมาตา สวนโมกขพลาราม จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อเป็นของขวัญให้ลูกผู้หญิงได้ปฏิบัติธรรมอย่างเข้มข้น เฉกเช่นนักบวช โดยไม่ต้องบวช
Source: http://www.komchadluek.net/detail/20120528/131357/'ธรรมะที่ควรศึกษามากสุดคือตัวเรา'อุบาสิการัญจวน.html#.UN6Asaz75BM
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น