โดย : ทวีศักดิ์ สุวรรณชะนะ ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
นักวิจัยศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ถ่ายทอดแง่คิดความรู้จากเวทีเสวนาจิตตปัญญาศึกษา สะท้อนความเป็นจริงของ "เบ้าหลอมเยาวชนไทย"
การศึกษาส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ต่างมุ่งเน้นความสำเร็จเฉพาะตัวของผู้เรียนมากจนเกินไป ทำให้ในห้องเรียนมีการแข่งขันสูงมาก ส่งผลให้ผู้เรียนขาดน้ำใจต่อกัน นานวันเข้าก็กลายเป็นคนที่ขาดความรักความเมตตาต่อผู้อื่น
ชีวิตของมนุษย์ยุคปัจจุบันซึ่งเป็นผลงานของการศึกษาเช่นนี้ จึงเต็มไปด้วยความแห้งแล้ง ขาดชีวิตชีวา และไม่มีเวลาที่จะชื่นชมความงามของชีวิต... นี่คือเป้าหมายที่แท้จริงของการศึกษาแล้วหรือ
การจัดกระบวนการเรียนรู้ในปัจจุบันมักมุ่งเน้นการพัฒนาสมองซีกซ้ายเป็น หลัก คือเน้นที่ตรรกะ เหตุผล และความรู้ โดยละเลยสมองซีกขวา ซึ่งเป็นเรื่องอารมณ์ความรู้สึก ดังที่โอโช นักปรัชญาอินเดียที่มีอิทธิพลสูงยิ่งต่อโลกตะวันตกในปลายศตวรรษที่ผ่านมากล่าวว่า คนเรามีความคิด 2 แบบ แบ่งตามการทำงานสมอง
สมองซีกซ้ายเป็นความคิดเกี่ยวกับความสามารถทางด้านเทคนิค จักรกล เหตุและผล ตรรกศาสตร์ คณิตศาสตร์ ความเฉลียวฉลาด และความมีระเบียบวินัย สมองซีกนี้สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ทันทีหลังจากผ่านการเรียนรู้แล้ว และทำได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง มีความสมบูรณ์แบบ
ส่วนสมองซีกขวามีคุณสมบัติตรงกันข้าม เป็นสมองแห่งความไร้ระเบียบ ไร้รูปแบบ เป็นสมองแห่งบทกวีก็ มิใช่ร้อยแก้ว เป็นสมองแห่งความรัก มิใช่เหตุผล สมองส่วนนี้จึงไวต่อความรู้สึก ความสวยงาม เป็นสมองที่มองเห็นสิ่งที่เป็นต้นแบบ มิใช่ประสิทธิภาพ นักสร้างสรรค์ไม่สามารถมีประสิทธิภาพสูงได้ แต่พวกเขาจักต้องทดลองสิ่งนั้นสิ่งนี้ไปเรื่อยๆ
การศึกษาดัง ที่เป็นอยู่ จึงส่งเสริมให้เกิดความยึดถือในเหตุผล (ของฉัน) และความรู้ (ของฉัน) ซึ่งก็คือความยึดถือในตัวตน (ของฉัน) อย่างเลี่ยงไม่ได้ และตามมุมมองของพุทธศาสนา ความยึดถือในตัวตนนี่เองคือบ่อเกิดสำคัญของความทุกข์ โดยท่านแบ่งไว้เป็น 4 แบบ แบบแรกคือ ความยึดมั่นในกามสุข คื การเสพติดกับความอยากหรือตัณหา เมื่อไหร่ที่ความอยากได้รับการตอบสนอง เราก็จะสร้างความอยากอย่างใหม่ขึ้นมาทันที สิ่งสำคัญที่สุดที่เราแสวงหามิใช่วัตถุที่เราอยากได้ แต่เราแสวงหาเพื่อคงความอยากเอาไว้ตลอดเวลา
แบบที่สอง ความยึดมั่นเกี่ยวกับ “ฉัน” หรืออัตตา หรือภาพของตัวเองที่เราวาดไว้ในใจ สำหรับทุกคนนั้น “ฉัน” คือคนสำคัญที่สุดในโลก เราพยายามทำทุกอย่างให้โลกเป็นอย่างที่เราต้องการ แบบที่สาม ความยึดมั่นในความคิด ความเชื่อของเราว่าดีที่สุด และไม่สบอารมณ์หากมีคนมาวิพากษ์วิจารณ์ แบบที่สี่ ความยึดมั่นในรูปแบบของศาสนาและพิธีกรรมต่างๆ โดยเน้นที่เปลือกนอกมากกว่าสาระอันแท้จริงของศาสนา และเฝ้าแต่คิดว่าผู้ที่ไม่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาไม่ใช่ศาสนานิกที่แท้
จางจื้อ นักปราชญ์ชาวจีน ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการละวางตัวตน ว่าเป็นหนทางนำไปสู่การเข้าถึงความเป็นธรรมชาติ หรือหนทางแห่งเต๋า ซึ่งเป็นหนทางที่นำพามนุษย์เข้าถึงความจริง ดังนั้นมรรควิถีในการฝึกฝนตนเองเพื่อนำไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่แท้ตามแนวทาง ของจางจื้อก็คือ การละวางความยึดถือในตัวตน โดยการไม่ยึดติดกับศาสตร์หรือความรู้ ประสบการณ์ ความคิด ความเชื่อ หรือแม้กระทั่งสถานภาพทางสังคม ซึ่งทำให้มนุษย์สามารถดำเนินชีวิตอย่างอิสระ สามารถเปิดรับสิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตโดยไม่รู้สึกหวั่นพรั่นพรึงแม้กระทั่งความตาย
ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อเราพร้อมเผชิญหน้ากับสิ่งต่างๆ ด้วยความสงบ ผ่อนคลาย และใจที่เป็นกลาง นั่นก็คือสภาวะที่เปิดรับและพร้อมเรียนรู้สิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง จนสามารถเข้าใจความจริงของกฎธรรมชาติที่ว่า โลกและสรรพสิ่งล้วนแปรเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัย ซึ่งจะช่วยให้มนุษย์สามารถลดความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนลงได้
ท่านพุทธทาสภิกขุ กล่าวถึงต้นกำเนิดของ “ตัวกู-ของกู” ว่าคือ “อวิชชา” เหมือนกับสัตว์โลกทั้งหลายที่อยู่ใต้กะลาครอบ ถูกปิดบังลูกตาไม่ให้เห็นหรือรู้จักสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง อวิชชานั้นไม่ได้หมายถึงไม่รู้อะไรเลย แม้จะมีความรู้มากมายและก้าวหน้ามากเพียงไร แต่ในที่สุดก็เข้าทำนอง “ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด” และจมน้ำแห่งความรู้ตาย โดยความรู้ชนิดนั้นจะกลายเป็นเครื่องกีดขวางและครอบงำตัวเราเอง ไม่ให้เปิดรับการเรียนรู้ใหม่ๆ จนไม่สามารถเข้าถึง “ปัญญา” หรือการเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง และเข้าถึงความจริง ความดี ความงาม ของชีวิตได้
สภาวะการยึดติดในตัวตน จะทำให้เกิดแข็งขืน ต่อต้าน และปฏิเสธสิ่งต่างๆ รอบตัว เมื่อต้องต่อสู้และต่อต้านมากๆเข้า ก็จะกลายมาเป็นความโกรธ หงุดหงิด ขุ่นเคือง ซึ่งก็คืออาการปกป้องตัวตน และยิ่งปกป้องตัวเองมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเครียดมากขึ้นเป็นเงาตามตัว เหมือนกับเราค่อยๆ สร้างกำแพงบางๆ ขึ้นพอกตัวตนของเราทีละชั้น นานวันเข้า มันก็ยิ่งหนามากขึ้น จนกลายกำแพงที่ใหญ่โตจนยากที่จะทลายออกได้
ท่านพุทธทาสภิกขุกล่าวว่า มนุษย์ทั่วโลกล้วนมีปัญหาอย่างเดียวกัน มีหัวอกเดียวกัน ราวกับว่าเป็นมนุษย์คนเดียวกัน และมีศัตรูที่จะต้องกำจัดร่วมกันเพียงสิ่งเดียวคือ สิ่งที่เรียกว่า “ตัวกู-ของกู” หรือในศัพท์ของพุทธศาสนาเรียกว่า “อัสมิมานะ” คำว่า อัสมิ แปลว่า “ข้าพเจ้ามีอยู่” มานะ แปลว่า “ความสำคัญมั่นหมายในทางจิตใจ” รวมแล้วแปลว่า “ความสำคัญว่าตัวฉันมีอยู่” ซึ่งตรงกับคำว่า “Egolism” และ “อหังการ” ซึ่งมีตัวตนของตนเองอยู่ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางหรือประธานของความรู้สึก ต่างๆ ทั้งหมดทั้งสิ้น
การฝึกฝนพัฒนาจนสามารถละวางหรือไม่ยึดติดในตัวตน จึงเป็นหนทางที่ทำให้เกิดการพัฒนาสมองซีกขวาตามทัศนะของโอโช และสอดคล้องกับมรรควิธีในการฝึกฝนตนเพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่แท้ ตามทัศนะของจางจื้อ และเป็นทางสู่นิพพานตามทัศนะของท่านพุทธทาส ดังนั้นเป้าหมายในการจัดกระบวนการเรียนรู้หรือฝึกฝนตัวเองตามหลักศาสนธรรม ทางตะวันออก จึงเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือเพื่อ “การละวางความยึดถือในตัวตน” ซึ่งแตกต่างอย่างชัดเจนกับเป้าหมายในการจัดกระบวนการเรียนรู้ของสถาบันการศึกษาทั่วไปในปัจจุบัน ที่มุ่งเสริมเสริมให้เกิด “ความยึดถือในตัวตน”
ดังนั้น การละวางความยึดถือในตัวตน จึงเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานที่สำคัญซึ่งเกิดจากภายในของตัว มนุษย์ เพราะเป็นภาวะที่เราหลุดพ้นไปจากมุมมองที่คับแคบที่ไม่ได้ยึดเอาตัวเองเป็น ศูนย์กลางของโลกสรรพสิ่ง ทำให้จิตหลุดพ้นจากความคับแคบในตัวเองไปเชื่อมโยงกับธรรมชาติซึ่งเป็นอนันต์ เป็นอิสระ และมีความสุขเป็นอย่างยิ่ง
ประชา หุตานุวัตร ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ทางเลือกในสังคมไทยมายาวนาน โดยใช้กระบวนทัศน์พุทธธรรมเป็นตัวตั้งของชีวิต กล่าวว่า เป้าหมายหลักของการศึกษาต้อง เป็นเป้าหมายเดียวกับพุทธธรรม คือผลิตคนให้รู้จักตนเอง รู้แผนที่และทักษะที่จะพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้นไป โดยมีหลักการคือ วิถีชีวิตและการทำงานคือการศึกษา การตัดสินใจคือการศึกษา สัมพันธภาพคือการศึกษา การฝึกฝนจิตเพื่อลดตัวตนคือการศึกษา การยับยั้งตนเองไม่ให้ทำร้ายชีวิตตนและผู้อื่นคือการศึกษา จึงเป็นการศึกษาแบบองค์รวมที่เกี่ยวข้องกับความคิด ร่างกาย และจิตวิญญาณ โดยผสมผสานอย่างกลมกลืนระหว่างการทำงาน การเล่น และการเรียน
ส่วนโอโชมองว่า ต้องเติมบทกวี ความรัก และความสับสนอลหม่านลงไปในห้องเรียน การจัดกระบวนการเรียนรู้จึงต้องมีความหลากหลาย และประกอบด้วยปัจจัยเงื่อนไขทั้งภายในภายนอก เพราะชีวิตของมนุษย์เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังของความรักและความผูกพัน ที่โยงใยกันด้วยความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนสวยงาม จึงควรเพิ่มกิจกรรมที่ทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงของตนเอง โดยเฉพาะการเรียนรู้เรื่องอารมณ์ ความรู้สึก หรือการบ่มเพาะความงดงาม ความรัก และความเมตตา ไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยการบอกเล่าจากผู้อื่น การท่องจำ หรือการคิดเชิงเหตุผล แต่เกิดจากการที่ผู้เรียนมีประสบการณ์ตรงที่ช่วยเปิดให้พื้นที่ความงดงามได้ ออกมาโลดแล่น
การออกแบบกระบวนการเรียนรู้เช่นนี้ทำได้หลายวิธี เช่น จัดกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนไปพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้ป่วยใกล้ตาย ไปเยี่ยมคนทุกข์ยากในชนบท ไปทำงานอาสาสมัคร ทำงานรับใช้ผู้อื่น กิจกรรมเหล่านี้ล้วนเปิดพื้นที่ให้เมล็ดพันธุ์ที่มีความงดงามในจิตใจขอผู้ เรียนได้โผล่ปรากฎ ซึ่งเป็นศักยภาพภายในที่มีอยู่แล้ว แต่เขาอาจไม่เคยสัมผัสแง่มุมเหล่านี้ของตัวเองมาก่อน
เมื่อผู้เรียนมองเห็นศักยภาพของความเป็นมนุษย์ที่มีในตัวเอง ก็จะสามารมองเห็นความงามที่อยู่ในบุคคลอื่นๆ และสามารถมองเห็นว่า จริงๆ แล้วมนุษย์คือสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่งดงาม เมล็ดพันธ์แห่งความรัก ความเมตตา ต่อเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติแวดล้อม ก็จะหยั่งรากฝังลึกลง และสามารถเติบโตจนกลายเป็นความสุขที่แท้จริง เมื่อมนุษย์สามารถพัฒนาศักยภาพภายในของตนเอง จนนำไปสู่การละวางความยึดถือในตัวตนลงได้
(ดัดแปลงจากบทความวิชาการที่จะนำเสนอในการประชุมวิชาการประจำปีจิตตปัญญา ศึกษา ครั้งที่ 3 “ความสุขกับการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานของมนุษย์” วันที่ 1-3 ธ.ค. 2553 โรงแรมรามาการ์เด้นท์ ดูรายละเอียดการประชุมเพิ่มเติมที่ www.ce.mahidol.ac.th หรือ โทร. 02-441 5000 ต่อ 4303-5, 085-331 6482 )
http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/health/20101127/364914/“การละวางตัวตน”-เรียนรู้เพื่อเป็นมนุษย์ที่แท้.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น