วันพุธที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2552

หากหัวใจคล้ายห้องว่าง


คำว่าชีวิตประกอบขึ้นมาจาก "กาย" กับ "ใจ" เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "กาย" กับ "นาม" องค์ประกอบทั้งสองของชีวิตนี้

"ใจ" มีความสำคัญมากกว่า "กาย" เพราะ "ใจ" เป็นอย่างไร "กาย" จะเป็นอย่างนั้น

เรื่อง ว.วชิรเมธี

ความสำคัญของใจที่มีผลเหนือกายนั้นมีตัวอย่างมากมาย อภิปรายกันไม่รู้จบ เช่นวันหนึ่งเมื่อมีนักข่าวสัมภาษณ์ว่า ไทเกอร์ วู้ด มีเคล็ดลับในการตีกอล์ฟอย่างไร จึงตีได้แม่นเหมือนจับวางทุกครั้ง เขาตอบสั้นๆ ว่า ผมจินตนาการเห็นลูกกอล์ฟลอยละลิ่วลงหลุมก่อนที่ผมจะเริ่มตีมันเสียอีก" คำตอบของนักกอล์ฟอัจฉริยะสะท้อนว่าใจของเขานั้นไม่ได้สั่งได้เฉพาะกายคือมือของเขาเท่านั้น แม้แต่ไม้ตีกอล์ฟเอง ก็หลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายเขา เข้าทำนอง กระบี่อยู่ที่ใจ ใจอยู่ในกระบี่ โดยแท้

ครั้งหนึ่งมีการทดลองกันในทางจิตวิทยาว่า ใจสำคัญต่อกายจริงหรือไม่ นักจิตวิทยาร่วมมือกับนายแพทย์ท่านหนึ่ง ไปตรวจร่างกายของนักกีฬายกน้ำหนักถึงโรงยิม เมื่อไปถึง นายแพทย์ก็ตรวจวัดร่างกายของนักกีฬายกน้ำหนักคนหนึ่ง ซึ่งมีร่างกายที่แข็งแรงมาก เขากำลังฝึกยกน้ำหนักอยู่พอดี เมื่อไปถึงนายแพทย์ใช้ปรอทวัดไข้อยู่สักพักหนึ่ง รอไม่กี่นาที ท่านก็รายงานด้วยสีหน้าเป็นกังวลว่า นักกีฬาคนนี้กำลังมีปัญหาใหญ่ เพราะตรวจพบ บางอย่าง ในร่างกาย ขอให้งดการฝึกซ้อม เอาไว้ก่อน พอนายแพทย์พูดจบ นักกีฬาร่างล่ำบึ้กมีสีหน้าเครียดขึ้นมาทันที เขายกน้ำหนักต่อไปไม่ไหว ยกอย่างไรก็ไม่เป็นที่พอใจ อ่อนเปลี้ยเพลียแรงไปหมด เขาจึงขออนุญาตลากลับไปพักหลายวัน

ต่อมานายแพทย์และนักจิตวิทยา จึงขอโทษนักกีฬาคนนั้น พร้อมทั้งบอกความจริงว่า ผลการตรวจสุขภาพไม่เป็นอันตรายอย่างที่เป็นกังวลสักนิด ที่แจ้งผลไป ก่อนหน้านั้น เป็นเพียงการทดลองอย่างหนึ่งเท่านั้น ซึ่งทั้งครูฝึก นักจิตวิทยา และนายแพทย์ร่วมมือกันและรู้กันมาแต่ต้นอยู่แล้ว ทันทีที่ทราบผลว่า ตนไม่เป็นอะไร วันรุ่งขึ้นนักกีฬาคนนั้นก็มาฝึกซ้อมต่อและคราวนี้เขาสดชื่นรื่นเริงอย่างเห็นได้ชัด การทดลองคราวนี้ ก็สะท้อนหลักการที่ว่า ใจเป็นอย่างไร ร่างกายเป็นอย่างนั้น จริงๆ

ความจริง ในชีวิตของคนเรานั้น หากสังเกตให้ดีเราจะพบว่า พฤติกรรมต่างๆ ที่แสดงผลออกมาทางกายนั้น ล้วนได้รับอิทธิพลของใจทั้งสิ้น

-คนที่มีสีหน้าสดชื่น ผ่องใส ใจเย็นโดยธรรมชาติ (ไม่ใช่ใสเพราะฝีมือหมอ) ก็เพราะลึกๆ แล้ว เขาไม่มีความเครียดเจือปนอยู่ในใจ

-คนที่หงุดหงิดงุ่นง่าน ก็เพราะในใจเขาเต็มไปด้วยความกังวล

-คนที่มีพฤติกรรมฉ้อฉล คอรัปชั่น ก็เพราะใจเขามี ไถยจิต ซึ่งแปลว่า จิตที่มีธาตุแห่งความเป็น หัวขโมย แฝงอยู่

-คนที่สู้ชีวิต ก็เพราะใจเขาเปี่ยมด้วย ปรักกมธาตุ ซึ่งแปลว่า ใจนักสู้ อยู่ข้างใน

-ส่วนคนที่เต็มไปด้วยความอิจฉาตาร้อน ก็เพราะข้างในของเขา หมักหมมอยู่ด้วยไฟริษยานั่นเอง นอกเป็นอย่างไร ก็สะท้อนว่าใจเป็นอย่างนั้น กาย จึงเป็นเหมือนเงาสะท้อนของใจ

ใจ ของเรานั้น ไม่ต่างอะไรกับห้องที่ว่างเปล่า เมื่อเราใส่อะไรเข้าไปในห้องที่ว่างเปล่านั้น สถานภาพของห้องก็จะเปลี่ยนไปทันที เป็นต้นว่า เรามีห้องว่างเปล่าอยู่ห้องหนึ่ง เมื่อ - -

เราใส่น้ำเข้าไป ก็จะกลายเป็นห้องน้ำ
เราใส่พระพุทธรูปเข้าไป ก็จะกลายเป็นห้องพระ
เราใส่เครื่องมือปรุงอาหารเข้าไป ก็จะกลายเป็นห้องครัว
เราใส่เครื่องนอนเข้าไป ก็จะกลายเป็นห้องนอน
เราใส่ชุดรับแขกเข้าไป ก็จะกลายเป็นห้องรับแขก
เราใส่บุคคลสำคัญเข้าไป ก็จะกลายเป็นห้องวีไอพี

ห้องแห่งหัวใจของเราก็ไม่ต่างอะไรกับห้องว่างเปล่าที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเลย ทุกครั้งที่เราบรรจุอะไรเข้าไปในใจ ใจของเราก็จะเปลี่ยนสถานภาพเหมือนกัน

เราใส่ความเมตตาเข้าไป ก็จะกลายเป็นคนใจดี
เราใส่ธรรมะเข้าไป ก็จะกลายเป็นคนใจบุญ
เราใส่ความโกรธเข้าไป ก็จะกลายเป็นคนใจร้อน
เราใส่ความเลวเข้าไป ก็จะกลายเป็นคนใจทราม
เราใส่ความกลัวเข้าไป ก็จะกลายเป็นคนใจเสาะ
เราใส่ความเป็นนักสู้เข้าไป ก็จะกลายเป็นคนใจสู้
เราใส่ความขาดสติเข้าไป ก็จะกลายเป็นคนใจลอย

เห็นด้วยกับผู้เขียนหรือไม่ว่า ใจของเรานั้นเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลเหนือกาย เป็นสิ่งที่คอยออกแบบชีวิตของเราให้เป็นไปอย่างไรก็ได้

พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า ใจเป็นนาย ใจเป็นผู้นำ ใจเป็นผู้สร้างสรรค์...หรือบางทีก็ตรัสว่า จิตฺเตน นียติ โลโก แปลว่า โลกหมุนไปตามใจสั่งการ โลกในที่นี้ หมายถึง ชีวิตของเรานั่นเอง โลกคือชีวิต จะหมุนซ้าย หมุนขวา หมุนตรงหรือหมุนเอียง หมุนไปข้างหน้า หรือว่าหมุนไปข้างหลัง ทั้งหลายทั้งปวงนั้นขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของใจทั้งหมดทั้งสิ้น

ใจของเราไม่ต่างอะไรกับห้องที่ว่างเปล่า เราบรรจุอะไรลงไป ชีวิตของเราก็เป็นไปตามสิ่งที่บรรจุนั้น ทุกวันนี้ เราเคยถามตัวเองบ้างไหมว่า เราบรรจุอะไร ลงไปในห้องแห่งหัวใจของเราบ้าง ความรู้ ความงมงาย ความรัก ความโกรธ ความเกลียด ความโลภ ความดี ความชั่ว ความริษยา ความหน้าด้าน ความสะอาด สว่าง สงบ หรือความตื่นรู้ ชีวิตจะเป็นอย่างไร รุ่งโรจน์หรือร่วงโรย ขึ้นสูงหรือลงต่ำ สำคัญที่เราบรรจุอะไรลงไปในใจของเราเอง

ที่มาข้อมูล : นิตยสาร Living etc ฉบับภาษาไทย

วันอังคารที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ออกกำลังกายตามกรุ๊ปเลือด

วันพฤหัสบดี ที่ 26 พฤศจิกายน 2552 เวลา 0:00 น

เริ่มจากเลือดกรุ๊ปเอ ควรออกกำลังกายแบบช้า ๆ ออกแรงไม่มาก เช่น โยคะ ไท้เก๊ก ชี่กง เพราะมีโครงกระดูกเล็ก หักง่าย สืบเนื่องจากอาหารที่เหมาะสมของคนเลือดกรุ๊ปเอ คือ อาหารประเภทมังสวิรัติ หรือรับประทานเนื้อสัตว์เพียงเล็กน้อย

ส่วนเลือดกรุ๊ปบี ที่รับประทานอาหารทั้งผักทั้งเนื้อสัตว์ได้ในสัดส่วนที่เท่ากัน จึงมีความว่องไว ให้ออกกำลังกายอย่างสมดุล ไม่หักโหมหรือเชื่องช้าเกินไป เช่น ว่ายน้ำ เดินเร็ว วิ่งเหยาะๆ กอล์ฟ ปิงปอง

สำหรับผู้ที่มีเลือดกรุ๊ปเอบี เปรียบเสมือนส่วนผสมของกรุ๊ปเอและบี ให้สังเกตตนเองว่ามักเลือกรับประทานอาหารของกรุ๊ปเอ หรือกรุ๊ปบีมากกว่ากัน เมื่อทราบแล้วก็ให้ออกกำลังกายตามลักษณะของเลือดกรุ๊ปนั้น แต่ก็ควรเพิ่มการออกกำลังกายในแบบที่เหมาะกับเลือดอีกกรุ๊ปด้วย เช่น มักรับประทานผักและผลไม้อย่างคนเลือดกรุ๊ปเอ ก็ให้ออกกำลังกายแบบช้า ๆ เป็นหลัก และเสริมด้วยการออกกำลังกายของคนเลือดกรุ๊ปบีบ้าง

ขณะที่คนเลือดกรุ๊ปโอ เหมาะสมกับการออกกำลังกายชนิดที่ต้องออกแรงมาก เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล วิ่งทางไกล ชกมวย เนื่องจากสภาพร่างกายสามารถบริโภคเนื้อสัตว์ที่มีไขมันสูงและผักได้ในปริมาณมาก ทำให้มีโครงกระดูกที่แข็งแรง กล้ามเนื้อกระชับแน่น

ไม่ว่าคุณจะมีเลือดอยู่ในกรุ๊ปใด ต้องไม่ลืมการเดินเร็ว 10 นาที หลังจากออกกำลังกายตามกรุ๊ปเลือดทุกครั้ง นอกจากนี้ยังควรออกมายืดเส้นยืดสายเคลื่อนไหวร่างกายให้ผิวหนังถูกแสงแดดราว 20 – 30 นาที ในช่วงเวลา 11.00 – 14.00 น. เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวมีรังสียูวีในระดับเข้มข้น ช่วยให้ร่างกายได้รับวิตามินดี 3 เพื่อช่วยลำเลียงแคลเซียมและแร่ธาตุต่าง ๆ ไปยังกระดูก โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นมะเร็งผิวหนัง หากไม่ได้ออกมารับแสงแดดด้วยการนอนอาบแดดอยู่เฉย ๆ กับที่ซึ่งเป็นอันตรายต่อผิวหนัง.

takecareDD@gmail.com

Source: http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=33941&categoryID=457

‘เม็ดบัวแปะก้วยน้ำเต้าหู้’ บำรุงหัวใจ


เดลินิวส์ วันศุกร์ ที่ 04 ธันวาคม 2552 เวลา 0:00 น

บัว ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘ราชินีแห่งไม้น้ำ’ พืชสารพัดประโยชน์ที่ผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทยมาช้านาน เราปลูกบัวประดับบ้านหรือสถานที่ต่างๆ เพื่อความสวยงาม ใช้ดอกบัวไหว้พระ หรือแม้กระทั่งนำมาประกอบอาหาร ดังนั้น ‘กินดี’ วันนี้มีเมนูอาหารว่างเพื่อสุขภาพอย่าง ‘เม็ดบัวแปะก้วยน้ำเต้าหู้’ รสอร่อยมากคุณค่าสารอาหารช่วยบำรุงหัวใจมาฝากกัน

สำหรับ ‘เม็ดบัว’ พืชสมุนไพรที่ชาวจีนนิยมนำมารับประทาน เนื่องจากอุดมไปด้วยโปรตีนสูงเทียบเท่าถั่วเหลือง ลูกเดือย และข้าวฟ่าง ทั้งยังมีแคลเซียม ฟอสฟอรัส และเหล็ก มีสรรพคุณช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงเลือด บำรุงกำลัง ม้าม ไต และลำไส้ ช่วยให้ใจสงบ ทำให้นอนหลับได้ดี และช่วยในเรื่องความจำ

ที่สำคัญในเม็ดบัวยังมี ‘ดีบัว’ แม้รสชาติจะขม แต่สารอัลคาลอยด์ (Alkaloids) หลายชนิดที่มีอยู่ในดีบัวมีฤทธิ์ต่อการขยายเส้นเลือดที่เลี้ยงหัวใจ ลดความดันโลหิต บำรุงสายตา หัวใจ ปอด ไต แก้อาการอสุจิหลั่งเร็วในชายสูงวัยที่อวัยวะเพศเสื่อม

เมนูเม็ดบัวแปะก้วยน้ำเต้าหู้ มีส่วนผสมให้ต้องเตรียมดังต่อไปนี้
-เม็ดบัวต้มสุก 1 ถ้วย
-นมถั่วเหลืองชนิดจืด 1 กล่อง
-น้ำตาลกรวด 1 ช้อนโต๊ะ
-แปะก้วยต้มน้ำตาล 1/4 ถ้วย

ส่วนขั้นตอนในการปรุงนั้นเริ่มจากต้มเม็ดบัวนาน 30 นาทีจนเปื่อย จึงนำไปปั่นพร้อมกับนมถั่วเหลืองพอหยาบให้มีลักษณะเป็นชิ้นเล็ก เคี้ยวกรุบ ๆ แล้วเทใส่หม้อ เมื่อตั้งไฟจนเดือดก็ให้เติมน้ำตาลกรวด คนให้ละลาย ตักใส่ชาม แต่งหน้าด้วยแปะก้วยต้มน้ำตาล หรือจะใส่แปะก้วยลงไปต้มกับเม็ดบัวด้วยก็ได้ และหากไม่ต้องการให้เม็ดบัวเป็นสีดำคล้ำ ไม่ควรปรุงอาหารในภาชนะที่ทำจากเหล็ก.

บุษยมาส รักไทย
takecareDD@gmail.com

Source:http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=35477&categoryID=457

วันอาทิตย์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ล่องเรือไหว้พระ เสน่ห์วัฒนธรรมริมฝั่งน้ำ


โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ความงดงามของสถาปัตยกรรม และฝีมือช่างศิลป์ที่สะท้อนผ่าน วัด หลายแห่งซึ่งตั้งอยู่ บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นความงามอันทรงคุณค่า

ที่ควรหาโอกาสไปสัมผัสสักครั้ง กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี (ขน.) จึงเชิญชวนเดินทางท่องเที่ยวทางน้ำ ยลเสน่ห์ความงามของวัดสำคัญ 9 วัดในหนึ่งวัน

เริ่มที่ วัดบุคคโล วัดเก่าแก่อายุกว่า 237 ปี สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา และได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 โดยเจ้าฟ้าหญิงอุบลวรรณา วัดแห่งนี้ เป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อแพ” ซึ่งเล่ากันว่าเป็นพระพุทธรูปที่ลอยมากับแพ วนมาอยู่หน้าวัดหลายวัน ชาวบ้านจึงได้ทำพิธีอันเชิญขึ้นมาประดิษฐานไว้ที่วัด และเป็นที่นิยมกราบไหว้ขอพรเพื่อให้การทำมาค้าขายมีความเจริญรุ่งเรืองสมปรารถนา

วัดยานนาวา พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดมหานิกาย เป็นวัดโบราณที่มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ "วัดคอกควาย" ตามชื่อหมู่บ้าน ในสมัยกรุงธนบุรีได้รับการยกฐานะให้เป็นพระอารามหลวง เรียกชื่อใหม่ว่า "วัดคอกกระบือ" ครั้นถึงรัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และสร้างเรือสำเภาพระเจดีย์แทนพระสถูปเจดีย์ทั่วไป และได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดยานนาวา"

วัดราชสิงขร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในช่วงระหว่างปลายรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ.2275 - 2310) ภายในวัดประดิษฐาน "หลวงพ่อแดง" ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเนื้อสำริดแกมทองคำปางมารวิชัย มีความงดงามมาก โดยเฉพาะพระพักตร์ ได้รับการขนานนามว่า "หลวงพ่อพระพุทธสุโขทัย" กิตติศัพท์เรื่องความศักดิ์สิทธิ์ร่ำลือกันว่าผู้ใดได้บนบานศาลกล่าว มักได้สมปรารถนาเสมอ

วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ทรงสร้างพระวิหารหลวงและพระประธานพระราชทาน เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ชื่อ พระพุทธไตรรัตนนายก หรือ "หลวงพ่อโต" เป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงโดยเฉพาะในหมู่ชาวจีน เรียกว่า "ซำปอฮุดกง" หรือ "ซำปอกง" วัดนี้เป็นวัดเดียวในประเทศไทยที่มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงพุทธประวัติ และแสดงชีวิตชาวบ้านในสมัยรัชกาลที่ 3 และยังมีหอพระธรรมมณเฑียร เป็นที่เก็บพระไตรปิฎกสมัยรัชกาลที่ 4

วัดอรุณราชวราราม หรือ “วัดแจ้ง” เป็นอีกวัดหนึ่งที่สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เดิมชื่อ "วัดมะกอก" พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นวังหน้าในรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์และยังได้ทรงลงมือปั้นหุ่นพระพักตร์ "พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก" พระประธานในพระอุโบสถด้วยพระองค์เอง สถาปัตยกรรมที่โดดเด่นและเปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ ได้แก่ พระปรางค์ใหญ่ เป็นพระเจดีย์ทรงปรางค์ก่ออิฐถือปูน ประดับกระเบื้องเคลือบสีต่างๆ อย่างงดงาม

วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร เดิมเรียกว่า วัดบางหว้าใหญ่ เป็นวัดโบราณครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ได้มีการขุดพบระฆังลูกหนึ่งซึ่งมีเสียงไพเราะมาก ซึ่งต่อมารัชกาลที่ 1 ได้นำระฆังดังกล่าวไปไว้ที่วัดพระแก้ว และโปรดให้สร้างหอระฆัง พร้อมทั้งระฆังอีก 5 ลูกไว้ให้แทน จึงเป็นที่มาของชื่อวัดภายในพระอุโบสถประดิษฐาน "พระประธานยิ้มรับฟ้า" เป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสำริด ปางสมาธิ ได้รับการยกย่องว่างดงามมาก

วัดอมรินทราราม วัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ “วัดบางหว้าน้อย” ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงโปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งหมด และทรงพระราชทานนามใหม่ ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานศักดิ์สิทธิ์ คือ “หลวงพ่อโบสถ์น้อย” ซึ่งมีเรื่องเล่าถึงปาฏิหาริย์และความศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวบ้านจึงเลื่อมใสอย่างมาก

วัดคฤหบดี ในสมัยรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ได้โปรดพระราชทานนามวัด และพระราชทาน “พระแซกคำ” ไว้เป็นพระประธานในพระอุโบสถ หลวงพ่อแซกคำ เป็นพระพุทธรูปทองคำปางมารวิชัย สมัยเชียงแสน ภายในองค์หลวงพ่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ 9 องค์ นับเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่กับพระแก้วมรกต ซึ่งรัชกาลที่ 3 ทรงโปรดให้อัญเชิญมากจากเวียงจันทน์ ในปี พ.ศ. 2369

ปิดท้ายด้วย วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร เดิมเป็นวัดราษฎร์ สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ชาวบ้านเรียกว่า "วัดสมอแครง" ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงรับวัดแห่งนี้เป็นพระอารามหลวง ภายในพระอุโบสถประดิษฐาน “พระพุทธเทวราชปฏิมากร” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปโลหะหล่อลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย ฝีมือช่างสมัยทวารวดีผสมอู่ทอง ภายในวัดมีพิพิธภัณฑ์ไม้สักทองซึ่งเพิ่งเปิดให้ชมความสวยงามกันอย่างใกล้ชิดด้วย

สำหรับผู้ที่สนใจชมความงาม และสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของวัดทั้ง 9 แห่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา สามารถเลือกใช้บริการจากผู้ประกอบการที่มีให้เลือกมากมายหรือสอบถามที่โทร 02-682-9880

Source: http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/travel/20091205/88632/ล่องเรือไหว้พระ-เสน่ห์วัฒนธรรมริมฝั่งน้ำ.html

วันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

มองมุมใหม่ด้วยใจรัก:จิตวิญญาณในสังคมไทย

โดย ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์ 19 พฤศจิกายน 2552 12:57 น.
ท่านดาไลลามะ เคยกล่าวไว้ว่า ปัญหาของมนุษย์ทุกวันนี้คือความพร่องจิตวิญญาณ และการแก้ไขปัญหาของมนุษยชาติคือการปฏิวัติทางจิตวิญญาณ (Spiritual Revolution)

คำว่า 'จิตวิญญาณ' ใช้ทั่วไปในสังคมไทยมาก่อน หมายถึงสิ่งอะไรก็ตามที่มีคุณค่าสูงทางจิตใจ

เราจึงนำคำที่ใช้ในสังคมไทยมาใช้ เรียกว่า 'สุขภาวะทางจิตวิญญาณ' ต่อมาได้มีการได้ปรับเปลี่ยนมาใช้คำว่า 'สุขภาวะทางปัญญา' ทั้งนี้ คำว่า 'จิต' หมายถึง ความรู้สึกนึกคิด ในทางพุทธคือเบญจขันธ์ ประกอบด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จิตมีลักษณะสมมติ คือ มีความรู้สึกสุขทุกข์ได้ มีความจำได้ มีความคิดปรุงแต่งได้ มีการรับรู้ทางวิญญาณได้ ส่วนคำว่า 'วิญญาณ' ในทางพุทธศาสนา หมายถึง การรู้เวลามีผัสสะโดยมีอายตนะทั้ง 6 เป็นเครื่องรับ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ

คำว่า Spiritual หมายถึง มิติที่เหนือวัตถุ ในทางพุทธเรียก 'โลกุตตระ' หรือ เหนือโลก สมัยกรุงรัตนโกสินทร์จงใจไม่ใช้คำนี้จนกระทั่งท่านอาจารย์พุทธทาสมาฟื้นกลับมาใช้ ซึ่งโลกในที่นี้ หมายถึง เนื้อหนังมังสาในร่างกาย ทั้งนี้ ท่านอาจารย์พุทธทาสฝากปณิธาณไว้ 3 ข้อ คือขอให้ศาสนิกของศาสนาต่างๆเข้าถึงหัวใจของศาสนาของตน เพราะหัวใจของทุกศาสนาคือ Spiritual หรือ โลกุตตระ ซึ่งไม่รู้จะมีศาสนาไปทำไมถ้ามันเป็นเรื่องพื้นๆในระนาบเดียวกัน แต่ตรงนี้มันเหนือขึ้นไป ทุกศาสนาจะมีเรื่องที่ไม่ใช่หัวใจแล้วจะไปทะเลาะกันที่ตรงนั้น ประการที่สอง ท่านพุทธทาสขอให้มีความร่วมมือกันระหว่างศาสนา และประการสุดท้ายคือขอให้มนุษย์ถอนตัวออกจากวัตถุนิยม ซึ่งก็คือมุ่งไปสู่ระนาบของจิตวิญญาณ หรือ Spiritual หรือ โลกุตตระ นั่นเอง ท่านอาจารย์พุทธทาสใช้ตลอดชีวิตทำโลกุตรโอสถให้เป็นยาสามัญประจำบ้านคือทำให้เป็นเรื่องชีวิตประจำวันเพราะคนไทยพุทธมักถือว่าโลกุตตระเป็นเรื่องห่างไกล แต่จะบอกว่าทางพุทธไม่ได้คิดอย่างนี้ก็คงไม่ได้เพียงแต่อาจใช้คำอื่น เช่น ความดีงาม กุศล จิตสูง ความเป็นมนุษย์ฯลฯ

ทางพุทธศาสนา มีหลักที่เรียกว่า 'ไตรสิกขา' ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งคำว่า 'ปัญญา' ในทางพุทธมีความหมายพิเศษ เพราะพระพุทธเจ้าถือว่าความทุกข์ของมนุษย์เกิดจากอวิชชาหรือความไม่รู้ เพราะฉะนั้นปัญญาจะทำให้หมดทุกข์และเกิดสุขตามมา สุขภาวะจึงเกิดจากปัญญา และปัญญาในทางพุทธหมายถึงการลดความเห็นแก่ตัวลง ที่สุดแล้วเราจะถึง อนัตตา คือความไม่มีตัวตน ดังนั้น ปัญญาที่ใช้ในที่นี้ก็คือ 'สุขภาวะทางปัญญา'

พุทธศาสนายังเน้นเรื่องความเมตตากรุณา (Compasstion) คือ ถ้ามีเมตตากรุณาก็ถือว่ามีปัญญา แต่ถ้าเห็นแก่ตัวก็ไม่ถือว่ามีปัญญาเพราะไม่ถือว่ามีคุณค่าทางจิตวิญญาณ การมีเมตตากรุณาถือว่าเริ่มต้นในทิศทางของจิตวิญญาณ ในพระไตรปิฎกก็บอกว่าถ้าเผื่อแผ่เมตตาไปทุกทิศทุกทางอย่างไม่มีที่สิ้นสุดก็สามารถบรรลุธรรมได้ ท่านอาจารย์พุทธทาสเองก็เคยกล่าวว่า ทุกคนเคยเจอนิพพานชิมลองมาแล้วทั้งสิ้น ยามใดเราไม่เห็นแก่ตัว เราจะมีความสุขลึกๆ นั่นคือนิพพาน แต่เป็นนิพานชั่วคราวหรือนิพพานชิมลอง ดังนั้นทำอย่างไรให้รู้ ให้มันเกิดบ่อยขึ้น ให้มันอยู่นานขึ้นนั่นเป็นภาคปฏิบัติ นั่นคือ 'สุขภาวะทางจิตวิญญาณ'

ทั้งนี้ หากหันมาดูการแพทย์แผนปัจจุบันกับการแพทย์แผนโบราณหรือแผนไทยไทยบ้าง เราจะเห็นชัดว่าการแพทย์แผนปัจจุบัน คือ การให้ยากับผ่าตัด หรือใช้อยู่ในระนาบของวัตถุ แต่การแพทย์แผนโบราณหรือแผนไทยจะใช้ร้อยแปด ทั้งความเชื่อ น้ำใจ เรื่องศักดิ์สิทธิ์ การช่วยเหลือกัน หรือความเป็นชุมชน เช่น ครั้งหนึ่งมีผู้ป่วยหนักใกล้เสียชีวิต หมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ถามว่าอยากให้ทำอะไร ผู้ป่วยบอกว่าอยากดูรำผีฟ้า หมอจึงไปจัดมาให้ แกก็ลุกขึ้นมานั่งได้เพราะแกเชื่อรำผีฟ้าทำให้มีสุขภาพดี

หรือในกรณีหมู่บ้านโรแซสโต้ เพนซีวาเนีย สหรัฐอเมริกา มีหมอคนหนึ่งสังเกตว่าทำไมคนจากหมู่บ้านนี้ไม่ค่อยเป็นโรคหัวใจหรือมะเร็งเหมือนที่อื่นและมักมีอายุยืน ทั้งที่เมื่อลงไปดูพื้นที่คนก็กินเหล้า สูบบุหรี่ เหมือนที่อื่น แต่สิ่งที่แตกต่างคือที่หมู่บ้านนี้อบอุ่นมาก คนเป็นกันเองและดูแลกัน นี่เป็นบ่อเกิดของสุขภาพที่สำคัญ เป็นหัวใจของความเข้มแข็ง เป็นเรื่องของความเป็นชุมชน และเป็นสุขภาวะทางจิตวิญญาณ

การแพทย์แผนปัจจุบันติดอยู่ในการกักขังให้ใช้แต่ทางวัตถุ แต่ขณะนี้เรื่องสุขภาพได้ขยายออกไปอย่างกว้างขวางทั้งทางกาย จิต สังคม และปัญญา เกิดการปฏิรูประบบสุขภาพที่เคลื่อนไหวในสังคมไทย นั่นคือ 'การปฏิรูปมโนทัศน์' การคิดว่า สุขภาพดีคือการไม่มีโรค นั่นคือ การติดมโนทัศทัศน์ เพราะจะมีแต่หมอเท่านั้นที่เข้าใจเรื่องโรคซึ่งไปจำกัดเรื่องสุขภาพเฉพาะเรื่องของหยูกยาหรือโรงพยาบาล มันจึงถูกกักขังไว้อยู่ในที่แคบ แต่เราได้เปิดทำนบแล้วว่า สุขภาพดีคือการไม่มีโรคนั้นไม่จริง การมีโรคก็สุขภาพดีได้ถ้ามีดุลยภาพ อย่างถ้าเป็นเบาหวานซึ่งมันก็ยังเป็นโรคอยู่ แต่ถ้าทำให้ได้ดุลยภาพก็สุขภาพดีได้ มะเร็งก็เช่นกัน สุขภาพดีคือดุลยภาพทั้งทางกาย จิต สังคม และปัญญา ซึ่งอะไรก็ตามที่ทำให้มีดุลยภาพก็เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นไทเก็ก ศิลปะ ดนตรี การสวดมนต์ หรือโยคะ เราเรียกว่าโอสถประยุกต์ซึ่งไม่ใช่เรื่องหมอ หรือหยูกยา อีกต่อไป นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

เราจะเห็นเรื่องการแพทย์ทางเลือก โยคะ ไทเก็ก หรือการเจริญสติที่กำลังเกิดขึ้นเรื่อยๆ ที่มหาวิทยาลัยเมสซาซูเซต เมื่อเปิดหลักสูตรการเจริญสติแบบพุทธก็มีคนมาสมัครถึง 87,000 คน เพราะเจริญสติแล้วทุกอย่างดีขึ้น สุขภาพดีขึ้น การเรียนรู้ดีขึ้น ความสัมพันธ์ก็ดีขึ้น ขณะนี้จึงกำลังแพร่หลายและโลกกำลังจะเปลี่ยน มนุษย์นั้นโหยหามิติทางจิตวิญญาณเพื่อทำให้เกิดความสมบูรณ์ในตัวเอง แต่เมื่อมนุษย์พัฒนาทางวัตถุเท่านั้นก็ขาดความสมบูรณ์ในตัวเอง เมื่อไปหาสิ่งที่มาเติมก็จะหา 3 อย่าง คือ ยาเสพติด ความฟุ่มเฟือย และความรุนแรง ซึ่งเป็นไปทั่วโลก

นักปราชญ์ฝรั่งบอกว่า Western Civilization ซึ่งเป็นวัตถุนิยม บริโภคนิยมไปต่อไม่ได้แล้วและทำให้เกิดวิกฤติ มีทางเดียวที่จะรอดได้ต้องปฏิวัติจิตสำนึก ท่านดาไลลามมะเรียกว่า การปฏิวัติทางจิตวิญญาณ หรือแม้แต่ไอน์สไตน์ก็พูดไว้ว่ามนุษย์จะต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่โดยสิ้นเชิงถ้ามนุษยชาติจะอยู่รอดได้

การพัฒนาจิตกับสุขภาพเป็นเรื่องที่กว้างใหญ่ไพศาลและเป็นการปฏิวัติ น่าดีใจที่กระแสปฏิวัติกำลังเกิดขึ้นแน่นอน ทั้งขยายใหญ่และแรงจูงใจสูงมาก แรงจูงใจนั่นคือความสุข เพราะถ้าทำอะไรแล้วสุขก็จะอยากทำสิ่งนั้นอีก ซึ่งสุขภาวะทางจิตวิญาณหรือการพัฒนาจิตเป็นสิ่งที่นุ่มและปราณีตมาก มันลึกซึ้งและเป็นความสุขที่ราคาถูก เป็นความสุขแท้จริง เป็นความสงบ มีอิสระ เห็นความงามทั้งหมด เกิดความรักอันไพศาลต่อเพื่อนมนุษยและธรรมชาติทั้งหลาย เพราะฉะนั้นนี่ก็คือการปฏิวัติแล้ว

ที่มา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

Source: http://www.managerweekly.com/

วันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

กมลา สุโกศล อยู่ที่เรียนรู้ อยู่ที่ยอมรับ


นักธุรกิจหญิงแถวหน้า สาวสังคมชั้นนำ นักร้องเสียงเลิศ รวมถึงคุณแม่ที่แสนดี ทั้งหมดคือคุณสมบัติที่มีอยู่ในเธอคนเดียว กมลา สุโกศล เอ่ยด้วยรอยยิ้มว่า “เวลามีใครถามว่า ทำไมถึงไม่เครียด ทำไมไม่แก่ ทำไมถึงเก่ง ดิฉันอยากบอกเคล็ดลับเหมือนกัน แต่ตอบยาก เพราะเกิดมาก็เป็นคนแบบนี้ แต่ถ้าจะให้คิดจริงๆ คงจะแยกออกเป็นส่วนๆ ได้แบบนี้”...

ส่วนแรก : การใช้ชีวิต
ดิฉันยึดหลักใช้ชีวิตอย่างขวนขวายการขวนขวายเป็นสิ่งสำคัญ เพราะช่วยให้ชีวิตสนุก มีสีสัน มีคุณค่า ถ้าเรานิ่งๆ อยู่ ชีวิตก็จบแค่นั้น ฝรั่งเรียก richer ไม่ใช่ร่ำรวยเงินทอง?แต่หมายถึงใช้ชีวิตอย่างมีสีสัน??มีคุณค่าอย่างที่บอก

เริ่มตั้งแต่เล็กๆ คุณแม่ของดิฉันอยากให้ลูกเก่ง เห็นลูกมีพรสวรรค์ด้านดนตรีก็จับให้เรียนเปียโน พอเราเล่นได้ดีก็ให้เล่นให้คนโน้นคนนี้ฟัง แล้วคุณแม่ก็จะยิ้มกริ่มภูมิใจว่า "ลูกฉันเก่ง"

คุณแม่เห็นว่าสมัยก่อนบ้านเรายังไม่มีสิ่งส่งเสริมการเรียนรู้เหมือนสมัยนี้ และอยากให้ลูกพูดภาษาอังกฤษเก่ง จึงส่งดิฉันไปเมืองนอกตั้งแต่สิบขวบ ดิฉันเองเป็นนักผจญภัย ชอบขวนขวายหาความรู้ ชอบไปรู้ไปเห็นอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ อยู่แล้ว ดังนั้นถึงแม้การติดต่อระหว่างบ้านกับอังกฤษจะลำบาก ต้องช่วยเหลือตัวเองทุกอย่าง แต่ก็เป็นเด็กที่ไม่เคยเศร้า ไม่เคยมีปัญหา

อาจบอกได้ว่า ทุกสิ่งที่ทำมาในชีวิต ดิฉันไม่เคยวางแผนมาก่อนบางวันสมองสั่งบ้าง...หัวใจสั่งบ้าง ถึงได้เป็นคนไม่เครียด เครียดเป็นอย่างไรชีวิตนี้ไม่เคยรู้จัก ทำอะไรแม้จะไม่สำเร็จบ้างก็ไม่เป็นไร

ขอเพียงแต่ทุกวันต้องได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ?อย่างทุกวันนี้ถ้าวันไหนไม่ได้อ่าน?บางกอกโพสต์?กับ?เดอะเนชั่น?จะรู้สึกว่าตัวเองโง่เหลือเกิน?และอ่านแมกกาซีนเช่น?ไทม์?หรือ?นิวสวีค?เสริมบ้าง?เปิดทีวี?ดูข่าวและรายการต่างๆ?เช่น?บีบีซี?ซีเอ็นเอ็น?เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก?หรือฮิสทรี่แชนเนล?ฯลฯ?ได้ความรู้ดีๆ?ทั้งนั้นเกิดอะไรขึ้นก็รู้ก่อนคนอื่น

ส่วนที่สอง : การงาน
ดิฉันยึดหลัก Put the right manin the right job. คือ บริหารพนักงานด้วยการเลือกสิ่งที่เขาชอบให้เขาทำ แล้วเขาจะทำได้ดี?ดิฉันบอกได้เลยว่า สาเหตที่ธุรกิจการงานเจริญมาได้อย่างทุกวันนี้ เพราะเรามีผู้จัดการและสต๊าฟที่ทั้งเก่งและดีเยอะมาก ดิฉันเชื่อว่า ไม่มีใครประสบความสำเร็จได้ถ้าไม่มีทีมเวิร์คที่ดี นอกจากนั้น ลูกสาวสองคน คือ มาริสากับดารณี(คุณมาริสา สุโกศล หนุนภักดี และคุณดารณี สุโกศล แคลปป์)ก็มาช่วยดูแลทั้งในส่วนของมาร์เก็ตติ้งและการเงิน ซึ่งถ้าเปรียบบริษัทเป็นเหมือนช้างหนึ่งเชือก มาร์เก็ตติ้งก็เปรียบได้กับเท้าคู่หน้าการเงินเปรียบได้กับเท้าคู่หลัง ถ้าจะให้ธุรกิจยืนอยู่ได้ ก็ต้องทำให้ทั้งสองส่วนนี้แข็งแกร่ง

ส่วนที่สาม : เลี้ยงดูลูก
ดิฉันใช้วิธีให้อิสระกับลูกปล่อยให้เขาเรียนรู้และยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น สมัยที่มาริสายังเล็กดิฉันเคยบังคับให้เรียนเปียโน ขี่ม้า ว่ายน้ำ และอีกสารพัด ซึ่งเขาทำได้ดีมากแต่การปล่อยให้ลูกๆ ทำอะไรก็ได้ที่อยากทำต่างหากที่ทำให้เขามีความสุขมากกว่า พอเลี้ยงคนที่สองดิฉันจึงเลิกบังคับ เวลาลูกคนไหนมาปรึกษาว่าอยากทำโน่นอยากทำนี่ ดิฉันจะบอกว่า "ทำได้ แต่ขอให้เรานับถือคุณได้จากสิ่งที่คุณทำ" จากนั้นก็ทั้งช่วยทั้งเชียร์เต็มที่อีกอย่าง ดิฉันจะหาเวลาทานข้าวกับลูกๆ อย่างน้อยวันละหนึ่งมื้อ เพื่อสร้างความอบอุ่นในครอบครัว

แต่การที่ลูกจะเป็นคนดีหรือเปล่าไม่ได้อยู่ที่พ่อแม่เท่านั้น เพื่อนฝูงก็สำคัญมาก สมัยก่อนบ้านดิฉันเหมือนสถานีหัวลำโพง ใครหาลูกไม่เจอก็มาหาที่นี่ บางวันมีเด็กอยู่ในบ้าน 30 – 40 คน เพราะลูกเรียนโรงเรียนนานาชาติ วัฒนธรรมของฝรั่งเขาจะชอบไปนอนค้างตามบ้านเพื่อน แล้วที่บ้านก็มีสระว่ายน้ำ มีที่ให้วิ่งเล่น สุกี้กับน้อย (คุณกมล สุโกศลและคุณกฤษดา สุโกศล แคลปป์) จะชอบพาเพื่อนมาค้างบ่อยๆ ซึ่งก็เป็นข้อดีที่ว่า เราจะได้รู้จักเพื่อนของลูกด้วย

สุกี้เป็นคนที่เด็กแล้วแก่เลย คือเขาจะมีแต่เพื่อนที่แก่กว่า ตอนเขาอายุ 14 ก็คบกับเพื่อนอายุ 17 – 18 บางคนเป็นเด็กเกเรบางคนครอบครัวมีปัญหา มีอยู่คนหนึ่งหน้าตาท่าทางดีมาก แต่เป็นเด็กซึมเศร้า พยายามฆ่าตัวตายหลายครั้ง เพื่อนเหล่านี้พอได้มารู้จักกับสุกี้ก็จะเห็นเขาเป็นที่พึ่ง มีเรื่องมาให้ช่วยสารพัด ดิฉันไม่เคยห้ามลูกเรื่องการคบเพื่อน เพราะจริงๆ แล้วเราห้ามเขาไม่ได้ และดิฉันไม่กลัวว่าเพื่อนจะพาเสีย เพราะเชื่อว่าไม่มีใครมีความสุขกับเรื่องไม่ดีเด็กส่วนใหญ่เกเรเพราะขาดความรักความอบอุ่น

สิ่งที่ดิฉันขอจากลูกมีอย่างเดียวคือ เรียนให้จบมหาวิทยาลัย แล้วจะหกคะเมนตีลังกาอย่างไรก็เชิญ มหาวิทยาลัยไม่ได้ทำให้เป็นคนเก่ง เป็นคนดี หรือทำงานเก่ง แต่ การเรียนทำให้มีความรู้ ซึ่งเป็นรากฐานที่ดีให้ต่อยอดไปได้

สิ่งที่ลูกทุกคนมีเหมือนกันคือ ความเฉลียวฉลาด พวกเขาไม่เคยก้าวร้าว และตัดสินใจเป็น คนตัดสินใจไม่เป็นจะไม่ก้าวหน้า เขาอาจจะตัดสินใจไม่เร็วเท่าดิฉัน แต่ในที่สุดเขาต้องกล้าที่จะตัดสินใจบางทีผิด บางทีถูก ก็ไม่เป็นไร

“เรามีเวลาเรียนรู้ชั่วชีวิต เพียงแต่ต้องรู้จักยอมรับผลของการกระทำด้วยเท่านั้นเอง”

*** เคล็ดลับสู่ความสุขและความสำเร็จแบบกมลา สุโกศล

สนุกกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดชีวิต
ใช้คนให้เหมาะกับงาน
สอนลูกให้เรียนรู้ชีวิต ให้อิสระในการคิดและทำสิ่งในที่ชอบพร้อมทั้งให้คำแนะนำและอยู่เคียงข้างเสมอ

Source: http://kbeautifullife.com/health_wellness/detail.php?id=12&type=impress
Live and Learn (Acoustic)
http://www.imeem.com/magotta/music/KEAuwZJP/live-and-learn-acoustic/

ชีวิตสองเส้นทางของ...กมลา สุโกศล


กมลา สุโกศล’ ผู้หญิงวัย 60 กว่า เจ้าของเสียงร้องที่มีเอกลักษณ์กับเพลงไทยสากลสุดฮิต ‘live and learn’ เธอบอกว่า ทุกวันนี้เธอมีสองอาชีพนั่นก็คือ ‘นักธุรกิจ’ และ ‘นักร้อง’ ซึ่งเป็นสองบทบาทที่รักและมีความสุขที่ได้ทำ สองบทบาทนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร สีสันของชีวิตสองเส้นทางนี้สร้างความสนุก...สร้างความสุข และทำให้ชีวิตสวยงามอย่างไร เรื่องราวเหล่านี้ ได้ถูกบันทึกไว้... เพื่อรอการเปิดอ่าน...

ทราบว่า คุณกมลาเกิดมาในครอบครัวที่ทำธุรกิจ
ค่ะ ทำมาตั้งแต่สมัยคุณพ่อ คุณพ่อทำหลายอย่างค่ะ ทำเครื่องไฟฟ้า ทำเครื่องเสียง...คุณพ่อจะชอบซื้อบริษัทซึ่งมันล้มเหลวมาไว้ ตอนท่านเสียก็มีอยู่สิบกว่าบริษัท ครึ่งหนึ่งทำเงินต่อได้ ที่เหลือไม่ได้เรื่อง พอคุณพ่อเสียชีวิตไปแล้วดิฉันก็ดูว่าตัวเองทำได้แค่ไหน ก็เอามาทำเฉพาะที่ทำได้แค่นั้น น้องสาวเอากิจการรถยนต์ไปทำ ดิฉันมาทำโรงแรม มี 3 โรงแรม ก็คือ โรงแรมสยามเบย์วิว โรงแรมสยามเบย์ชอว์ รีสอร์ท แอนด์ สปา ที่พัทยา แล้วก็โรงแรมสยามซิตี กรุงเทพฯ

ตอนที่คุณกมลาอายุแค่สิบกว่าขวบก็ไปเรียนที่อังกฤษแล้ว
ค่ะ อยากไปอยู่ ดิ้นรนที่จะไป คิดว่ายังไงก็จะไปให้ได้ ดิฉันอยากเห็นโลกที่กว้างใหญ่ไพศาลเพราะรู้ว่าต้องมีอะไรให้เราเรียนรู้อีกเยอะ เมืองไทยเราสมัยก่อนทีวีก็ไม่มีดู ดิฉันชอบค้นคว้าค่ะ อยากรู้อยากเห็น เดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นอยู่

คุณใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศกี่ปีคะ
ยี่สิบกว่าปีค่ะ

อะไรทำให้คุณกมลากลับมาเมืองไทยคะ
ก็คุณพ่อไม่มีลูกชาย ไม่มีใครทำกิจการต่อ คุณพ่อก็ไปตื๊อ ๆ จนกลับมาจนได้ ...ตอนแรกคุณพ่อบอกให้ไปทำธุรกิจรถยนต์ ดิฉันก็ไม่รู้เรื่อง วันดีคืนดีคุณพ่อก็บอกไปสร้างโรงแรมให้ทีสิ ฉันไปซื้อที่ดินไว้ที่พัทยา ดิฉันก็ไปขวนขวายหาวิธีไปกู้เงินเอง ก็ไปสร้างโรงแรมสยามเบย์ชอว์ รีสอร์ท (ชื่อเดิม) เสร็จแล้วพ่อก็ไปซื้อที่บนชายหาดเดียวกันอีก ดิฉันก็สร้างโรงแรมสยามเบย์วิวขึ้นมา คุณพ่อก็ไปซื้อตึกด้านข้างโรงแรมสยามซิตีมาอีกตึกหนึ่ง คุณพ่อบอกแกไปทำให้ฉันทีสิ ปัจจุบันเป็นส่วนของโรงแรมของสยามซิตีอยู่ขณะนี้

มีโรงแรมที่ต้องดูแลถึง 3 โรงแรม คุณกมลาเรียนรู้งานได้จากไหนคะ
ทำแล้วก็จะรู้ไปเอง แรก ๆ ก็ถูลู่ถูกังไปก่อน ก็ live and learn นั่นแหละ แต่ก็เหนื่อย แต่พอทำไปแล้วประสบความสำเร็จก็มีความพอใจเกิดขึ้น จะสำเร็จได้ต้องมีลูกน้อง ดี ๆ มีฝ่ายบริหารเก่ง ๆ ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป งานโรงแรมต้องมีทีมเวิร์คที่ดี ...แต่งานโรงแรมมันไม่มีจุดจบ มันไม่สมบูรณ์ ไปทุกอย่าง คุณต้องชอบเหนื่อย ต้องครีเอทีฟตลอดเวลาถึงจะทำงานโรงแรมได้

ความสนใจเรื่องการร้องเพลงมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่คะ
ของแบบนี้มันเรียนไม่ได้นะ มันเป็นพรสวรรค์ที่ตัวเองมีมาตั้งแต่ยังเล็ก ๆ พอได้ยินเพลงก็จะร้องได้ทันที ได้ยินอะไรปั๊บก็เล่นเปียโนได้โดยที่ไม่เคยหัดเล่น พอคุณแม่เห็นว่ามีหัวดนตรีคุณแม่เลยจับไปเรียนเปียโนเพราะมัน ไม่มีอย่างอื่นเรียน ก็เรียนเพลงคลาสสิก แต่พอไปอังกฤษก็ไม่เล่นเพลงคลาสสิก เหนื่อย ขี้เกียจซ้อม เพราะเพลงคลาสสิกถ้าจะเล่นให้ดีต้องมีความพยายามจริง ๆ ก็เลยเล่น เพลงแจ๊สเพลงอะไรไป ตรงนี้เลยทำให้เราป๊อปปูล่าในโรงเรียนเพราะเราแต่งเพลงให้โรงเรียนด้วย

ตอนกลับมาเมืองไทยแล้ว ทราบว่าคุณเริ่มร้องเพลงจริง ๆ จัง ๆ ก็ตอนอายุได้ 40 ปีแล้ว
ใช่ค่ะ เรียกว่าเป็นการร้องที่เป็นเรื่องเป็นราว เพราะแหม่มอเมริกันชื่อ Caroline Queener บอกให้ช่วยเด็กโรคหัวใจหน่อย ยูช่วยทำประชาสัมพันธ์ให้ที ให้คนรู้จักมูลนิธิฯของเรา เขาบอกให้ทำอย่างตอนที่ดิฉันทำที่โรงเรียน ISB ของลูกน่ะ เป็นการแสดงของพ่อแม่ เขาบอกยูเก่งจะตาย ทำอย่างนั้นละ ทำคอนเสิร์ต คนจะได้รู้ว่ามูลนิธิเด็ก โรคหัวใจคืออะไร ก็เลยเริ่มต้นจากงานนั้น แล้วก็ไม่รู้ว่าเราเก่งแค่ไหน รู้แต่ว่าคนฟังบอกว่าเราเก่ง ก็เลยรู้สึกว่าเก่งกระมัง

คอนเสิร์ตทุกครั้งของคุณจะเพื่อการกุศลหมดเลย เป็นความตั้งใจส่วนตัวด้วยใช่ไหมคะ
ค่ะ อยากทำ ...ดิฉันมีความรู้สึกว่า เรามาได้ถึงแค่นี้ ลูกเต้า 4 คนก็ดีหมด หลาน ๆ ก็น่ารักน่าเอ็นดูหมด เราก็ต้องปันไปให้คนอื่นเขาบ้าง ถ้าดิฉันไม่ได้ให้กลุ้มใจตาย เงินนี่ตายไปเอาไปไม่ได้นะ เงินเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกสบายก็จริง ใคร ๆ ก็ชอบ แต่มันก็ชั่วคราว ดิฉันรู้สึกว่าเรามีโชคมาถึงขนาดนี้ เราก็น่าจะแบ่งปันให้คนอื่นบ้าง ยิ่งคนที่ประสบภัยโดยไม่รู้ตัว ยิ่งควรจะช่วยเหลือ
รายได้จากเทป ซีดี ทุกอันที่ ขายได้ก็ให้หมดนะ อะไรที่ออกมาจากการร้องเพลงเป็นส่วนตัวดิฉันจะให้หมด ไม่เคยไว้เลย

คุณกมลาในฐานะเป็นแม่ มีวิธีเลี้ยงลูกอย่างไรให้ประสบความสำเร็จคะ
คนถามบ่อยนะ ก็ไม่รู้เหมือนกัน คิดว่าเขารู้ว่าเรารักเขานะ ไม่ว่าจะอะไรก็ตามแต่ เราจะยืนหยัดอยู่ตรงนั้นเพื่อเขา เขาต้องการเราเขาก็จะมาหาเรา ดิฉันจะเลี้ยงลูกแบบให้เขาเรียนรู้ด้วยตัวเอง จะปล่อย แต่ต้องให้เขารู้นะว่าเวลาเขาต้องการเราเราจะอยู่ตรงนั้น ไม่ใช่เขาเกิดต้องการเราแล้วเราหายไป...ดิฉันไม่มีการเรียกร้องว่าลูกต้องมาอยู่กับแม่อาทิตย์ละครั้งนะ ไม่มี เขาจะอิสระ ความรักตัวเดียวเลย ให้เขารู้ว่าเรารักเขา

คุณกมลามองชีวิตตัวเองอย่างไรคะ
มีวันนี้ กับก้าวไปข้างหน้าให้ดีที่สุด มองสิ่งที่ผ่านไปให้เป็นประสบการณ์ อย่ามัวแต่ไปพูด ถึงว่า “รู้อย่างนี้ ทำอย่างนั้นดีกว่า” คิดไปให้เสียใจเปล่า ๆ โลกนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบหรอก


ชีวิตไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบอย่างที่เธอว่า ทิ้งอดีตที่ผ่านมาให้เป็นประสบการณ์...ทำวันนี้และวันพรุ่งนี้ให้ดีที่สุดเพื่อที่วันหนึ่งคุณอาจจะได้พบความสุขอย่างกมลา สุโกศล... กับชีวิตสองเส้นทางที่เธอเลือกทำ

Source: http://women.sanook.com/work/worklife/life_09260.php

วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2552

สวดมนต์บำบัดโรค.. ?

เชื่อหรือไม่ ว่าหากเราสวดมนต์(ไม่ว่าศาสนาใดก็ตาม) เพื่อให้ใครสักคนหายป่วย แม้จะอยู่ห่างกันคนละซีกโลก แต่พลังแห่งบทสวดนั้นจะเดินทางไปเยียวยาความเจ็บป่วยของเขาได้ ??? เพราะการสวดมนต์บำบัดทำให้เกิดทั้งคลื่นเสียงที่สามารถเดินทางลึกเข้าไปในสมอง และคลื่นไฟฟ้าที่ส่งกระจายไปในชั้นบรรยากาศไกลๆได้

การสวดมนต์บำบัด คือ หลักการหนึ่งของ Vibrational Therapy หรือ Vibrational Medicine คือ การใช้คุณสมบัติของคลื่นบางคลื่นมาบำบัดความเจ็บป่วย ซึ่งมีหลากหลายวิธี อาทิ เก้าอี้ไฟฟ้า เครื่องนวดต่างๆ ก็เป็น Vibrational Therapy เช่นกัน แต่เป็นคลื่นไฟฟ้าเชิงฟิสิกส์ ที่เกิดจากสิ่งไม่มีชีวิต ต่างจาก สวดมนต์บำบัดซึ่งเป็นคลื่นที่เกิดจากสิ่งมีชีวิต

ดังนั้นมาดูพลังแห่งการสวดมนต์บำบัดกัน ว่าคืออะไรและมีประโยชน์อย่างไร ???

คลื่นแห่งการเยียวยา

การสวดมนต์ใช้หลักการทำให้เกิดคลื่นเสียงที่มีความสม่ำเสมอ เพื่อเข้าไปกระตุ้นร่างกายให้เกิดการเยียวยา ซึ่งหากคลื่นเสียงที่มากระทบดังแบบไร้ระเบียบ คือประกอบด้วยเสียงที่มีความถี่ต่างๆกัน ก็ไม่เกิดประโยชน์ต่อการบำบัดกลไกดังกล่าวเริ่มต้นเมื่อหูของเราได้ยินเสียงบทสวด ก็จะส่งสัญญาณต่อไปยังศูนย์การได้ยินที่อยู่บริเวณสมองกลีบขมับ ก่อนส่งไปบริเวณก้านสมอง ซึ่งเมื่อได้รับคลื่นเสียงช้าๆ สม่ำเสมอประมาณ 15 นาที ก็จะหลั่งสารสื่อประสาทที่มีประโยชน์มากมาย

เสียงสวดมนต์ด้วยสมาธิ เป็นยา : ให้ผลกับร่างกายเอนกอนันต์

รองศาสตราจารย์ ดร.สมพร กันทรดุษฎี เตรียมชัยศรี หัวหน้าภาควิชาการพยาบาลสาธารสุข คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายเพิ่มเติมดังนี้

“ สมองของเราเมื่อได้รับการกระตุ้นด้วยคลื่นเสียงช้าๆ สม่ำเสมอประมาณ 15 นาทีขึ้นไป จะทำให้เซลล์ประสาทของระบบประสาทสมองสังเคราะห์สารสื่อประสาทหลายๆชนิด

บริเวณก้านสมองจะหลั่งสารสื่อประสาทชื่อ ซีโรโทนิน (serotonin) เพิ่มขึ้น ซึ่งมีฤทธิ์คล้ายยานอนหลับ ช่วยการเรียนรู้ ลดความเครียด ลดอาการซึมเศร้า ลดระดับน้ำตาลในเลือด และเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์สารสื่อประสาทอื่นๆ เช่น เมลาโทนิน ซึ่งเปรียบคล้ายกับยาอายุวัฒนะ เพราะจะช่วยยึดอายุการทำงานของเซลล์ประสาท เซลล์ร่างกาย ให้ชีวิตยืนยาวขึ้น และยังมีคุณสมบัติช่วยให้นอนหลับ เพิ่มภูมิต้านทาน ทำให้เซลล์สดชื่นขึ้น รวมถึง โดปามีน มีฤทธิ์ลดความก้าวร้าวและอาการพาร์กินสัน
นอกจากนี้ปริมาณของซีโรโทนินมีความสัมพันธ์ต่อการกระตุ้นการหลั่งสารสื่อประสาทอื่นๆ เช่น อะเซทิลโคลีน ช่วยในกระบวนการเรียนรู้และความจำ ช่วยขยายเส้นเลือด ทำให้ความดันลดลง และยังช่วยลดปริมาณ อาร์กินิน วาโซเปรสซิน ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมความก้าวร้าว ความสมดุลของน้ำ และซีโรโทนินยังเข้าไปลดปริมาณของสารเคมีชนิดหนึ่งที่เป็นตัวกระตุ้นของการทำงานของต่อมหมวกไตให้ลดลง ส่งผลให้ระบบประสาทส่วนกลางทำงานน้อยลง ร่างกายจึงรู้สึกผ่อนคลาย ปลอดโปร่ง และไม่เครียด ภูมิต้านทานเพิ่มขึ้น

ดังนั้น จุดสำคัญจึงอยู่ที่ร่างกายจะสามารถสร้างสารสื่อประสาทได้หรือไม่ อาจารย์สมพรเสริมว่า

“ หลักการสำคัญอยู่ที่หากมีสิ่งเร้า หลายๆประเภทเข้ามารบกวนกระบวนการทำงานของคลื่นสมองพร้อม ๆ กัน ทำให้สัญญาณคลื่นสมองเปลี่ยนไป การหลั่งสารสื่อประสาทจะสับสน ไม่มีผลในการเยียวยา สิ่งเร้านี้มาจากหลายส่วน ทั้งตัวเอง เช่น บางคนปากสวดมนต์ แต่คิดฟุ้งซ่านไปเรื่องอื่น ก็ไม่ได้ประโยชน์ และการเกิดเสียงดังอื่นๆ เข้ามารบกวนขณะสวดมนต์ เพราะประสาทสัมผัสของมนุษย์รับรู้ได้ไวและอ่อนไหวมาก เรามีตัวประสาทรับสัญญาณมากมาย เรารับสิ่งเร้าได้ทั้งจากทางปาก ตา หู จมูก การเคลื่อนไหว และใจ เหล่านี้ทำให้สัญญาณคลื่นสมองสับสนและเปลี่ยนไป ร่างกายก็จะสร้างซีโรโทนินได้ไม่มากพอ ”

และไม่ใช่เฉพาะสารสื่อประสาทที่มีประโยชน์เท่านั้นที่เราจะได้จากการสวดมนต์ แต่การสวดมนต์ยังทำให้อวัยวะต่างๆได้รับการกระตุ้น คล้ายกับการนวดตัวเองจากการเปล่งเสียงสวดมนต์

สวดมนต์กระตุ้นอวัยวะ

อาจารย์เสถียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต อธิบายหลักการนี้ว่า
“ เวลาเราสวดมนต์นานๆ คำแต่ละคำจะสร้างความสั่นสะเทือนไม่เท่ากันตามฐานที่เกิดของเสียงหรือตามวิธีเปล่งเสียง แม้ว่าเสียงจะออกมาจากปากเหมือนกัน แต่ว่าเสียงบางเสียงออกมาจากริมฝีปาก บางเสียงออกมาจากปุ่มเหงือก บางเสียงออกมาจากไรฟัน บางเสียงออกมาจากคอ ดังนั้น ถ้าเราสวดมนต์ถูกต้องตามฐานกรณ์จึงเกิดพลังของการสั่น ” และเมื่อเกิดพลังของการสั่น

การสั่นนี้จะเข้าไปเยียวยาอาการป่วยได้อย่างไร ? อาจารย์เสถียรพงษ์อธิบายต่อว่า

“ เวลาเราสวดมนต์ เสียงสวดจะไปช่วยกระตุ้นต่อมต่างๆ ซึ่งจะช่วยปราบเชื้อโรคบางชนิด เช่นการวิจัยของฝรั่ง พบว่า อักษร เอ บี ซี ดี จะช่วยกระตุ้นระบบน้ำย่อย ส่วนบทสวดมนต์ในพระพุทธศาสนา เสียงอักขระแต่ละตัวมีคำหนักเบาไม่เท่ากัน บางตัวสั่นสะเทือนมาก บางตัวสั่นสะเทือนน้อย ทำให้ต่อมต่างๆในร่างกายถูกกระตุ้น เมื่อต่อมที่ฝ่อถูกกระตุ้นบ่อยๆเข้า ก็คงคืนสภาพ อาการป่วยก็จะดีขึ้น ”


นอกจากนี้ยังมีบทความที่อธิบายเกี่ยวกับการฝึกเปล่งเสียงเพื่อรักษาโรคจากเสียงต่างๆ เช่น

โอม กระตุ้น หน้าผาก , ฮัม กระตุ้น คอ , ยัม กระตุ้น หัวใจ , ราม กระตุ้น ลิ่นปี่ , วัม กระตุ้น สะดือ , ลัม กระตุ้น ก้นกบ เป็นต้น

แต่ที่สำคัญมากไปกว่านั้น การสวดมนต์ให้ประโยชน์ทางใจที่มีคุณค่ากับผู้สวด

รองศาสตราจารย์จุฑาทิพย์ อุมะวิชนี ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สรุปว่ามี 2 ข้อคือ

1. การสวดมนต์เป็นเครื่องช่วยให้เกิดสมาธิ โดยต้องสวดเสียงดัง ให้หูได้ยินเสียงตัวเอง และจิตใจต้องจดจ่ออยู่กับเสียงสวด เมื่อใจไม่ฟุ้งไปที่อื่น ใจอยู่กับเสียงเดียว จึงเกิดสมาธิ

2. ถ้าเข้าใจความหมายของบทสวดนั้นๆ จะทำให้เรามีความเลื่อมใสศรัทธา เพราะบทสวดของทุกศาสนาเป็นเรื่องของความดีงาม จิตใจก็จะสะอาดขึ้น บริสุทธิ์ขึ้น เป็นการยกระดับจิตใจของผู้สวด

เมื่อร่างกายที่รับสารสื่อประสาทที่มีประโยชน์และการกระตุ้นระบบอวัยวะต่างๆให้ทำงานเป็นปกติ เท่ากับว่าเราได้ผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ ย่อมทำให้ภูมิชีวิตดีขึ้นเป็นลำดับ ความป่วยก็จะดีขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยในต่างประเทศที่อาจารย์สมพร สรุปให้ฟังว่า

การสวดมนต์ช่วยบำบัดอาการป่วยและโรคร้าย ดังต่อไปนี้

1. หัวใจ 2. ความดันโลหิตสูง 3. เบาหวาน 4. มะเร็ง 5. อัลไซเมอร์ 6. ซึมเศร้า 7. ไมเกรน 8. ออทิสติก 9. ย้ำคิดย้ำทำ 10. โรคอ้วน 11. นอนไม่หลับ 12. พาร์กินสัน

สวดมนต์อย่างไร ? ให้หายจากโรค

สวดมนต์บำบัดมีวิธีการและจุดประสงค์ที่หลากหลาย สรุปออกมาได้ 3 แบบ

1. การสวดมนต์ด้วยตัวเอง

เป็นการเหนี่ยวนำตัวเอง จึงเป็นที่มาของคำว่า Prayer Therapy ถือเป็นวิธีการที่ดีที่สุด เพราะหากใครสักคนคิดที่จะสวดมนต์ นั่นหมายความว่าเขากำลังมีความปรารถนาดีต่อตนเอง วิธีการที่อาจารย์สมพรแนะนำคือ

- ควรสวดด้วยตัวเอง และไม่ควรสวดมนต์หลังกินอาหารทันที ควรทิ้งช่วงให้ร่างกายเริ่มผ่อนคลาย อาจเป็นเวลาก่อนเข้านอน

- หาสถานที่ที่สงบเงียบ

- สวดบทสั้น ๆ 3-4 พยางค์ โดยใช้เวลาประมาณ 10-15 นาทีขึ้นไป จะทำให้ร่างกายได้หลั่งสารซีโรโทนิน แต่หากสวดมนต์ด้วยบทยาวๆ จะได้ความผ่อนคลายและความศรัทธา

- ขณะสวดมนต์ให้หลับตา สวดให้เกิดเสียงดังเพื่อให้ตัวเองได้ยิน

2. การฟังผู้อื่นสวดมนต์

เป็นการเหนี่ยวนำโดยคลื่นเสียงจากผู้อื่น เช่น การฟังเสียงพระสวดมนต์ เสียงผู้นำสวดในศาสนาต่างๆ หากผู้สวดมีสมาธิ เสียงสวดนั้นจะนุ่ม ทุ้ม ทำให้เกิดคลื่นที่ช่วยเยียวยา( healing) ผู้ฟัง แต่หากผู้สวดไม่มีสมาธิ ไม่มีความเมตตา เสียงสวดที่เกิดขึ้นอาจเป็นคลื่นขึ้นๆลงๆ นอกจากจะไม่ช่วยเยียวยาอาการป่วย อาจทำให้เสียสุขภาพได้


3. การสวดมนต์ให้ผู้อื่น

ปรากฏการณ์มากมายที่เราเห็นในสังคม เมื่อใครสักคนเจ็บป่วย เรามักสวดมนต์อธิษฐานขอให้ความเจ็บป่วยของเขาหายไป บางครั้งอยู่ห่างกันคนละซีกโลก เสียงสวดมนต์เหล่านี้จะมีผลทำให้สุขภาพเขาดีขึ้นจริงหรือไม่ อาจารย์สมพรอธิบายดังนี้

คลื่นสวดมนต์ เป็นคลื่นบวก เพราะเกิดจากจิตใจที่ดีงาม ปรารถนาดีต่อผู้ป่วย และเมื่อเราคิดจะส่งสัญญาณนี้ออกไปสู่ที่ไกลๆ มันจะเดินทางไปในรูปของคลื่นไฟฟ้า ซึ่งมนุษย์มีเซลล์สมองที่สามารถส่งสัญญาณคลื่นไฟฟ้าและสารเคมีได้ถึง สิบยกกำลังสิบ คลื่นนี้จึงเดินทางไปได้ไกลๆ

บางทีพ่อกำลังป่วยหนักอยู่ที่นี่ แต่ลูกอยู่ต่างประเทศ ก็สามารถรับคลื่นนี้ได้และรู้ว่ามีใครกำลังไม่สบาย ที่เราเรียกว่า ลางสังหรณ์หรือสัมผัสที่หก

“ การรับรู้ได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้รับผู้ส่งด้วย ถ้าคนไหนรับสัญญาณคลื่นแห่งบทสวดมนต์ได้จึงได้ผล เหมือนเราเปิดวิทยุ ถ้าคนฟังปิดหูก็จะไม่ได้ยิน ดังนั้นถ้าต่างฝ่ายต่างเปิดรับคลื่นบวกที่เราส่งไปผู้ป่วยก็จะได้รับ และทำให้อาการป่วยดีขึ้นได้ ไม่ใช่เรื่องของความมหัศจรรย์ แต่เป็นหลักธรรมชาติทั่วไป"

เลือกสวดมนต์อย่างไร ? ถึงจะดี

แล้วบทสวดที่เลือกควรใช้บทไหนดี อาจารย์สมพรแนะนำว่า

“ น่าแปลกที่บทสวดในศาสนาส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีจังหวะขึ้นๆ ลงๆ เหมือนจังหวะเพลง จะมีโทนเสียงแค่ไม้เอกไม้โทเท่านั้น สักสามสี่พยางค์ มาสวดซ้ำไปมาได้ทั้งนั้น พระพุทธศาสนา มีบทสวดมากมายหลายบท ให้เลือกใช้ตามความชอบ ยกตัวอย่างเช่น อิติปิโส หรือนะโมตัสสะ นะโมพุทธายะ หรือสัพเพสัตตา ฯลฯ เลือกท่อนใดท่อนหนึ่งแล้วสวดวนไปวนมา หรือโพชฌงค์ 7 ที่หลายคนนิยมสวดให้ตัวเองหรือคนไข้หายป่วย

“ ข้อที่น่าสังเกตคือ บทสวดโพชฌงค์ 7 จะมีความแตกต่างจากบทสวดอื่นๆคือ คลื่นเสียงของบทสวดจะมีแค่เสียงสระ มีแค่สองจังหวะ คลื่นเสียงจากบทสวดจึงทำให้เกิดคลื่นที่เยียวยาได้ดีที่สุด ”

อยากให้ตัวเองและผู้อื่นมีสุขภาพกายใจเป็นสุขและยังน้อมนำกุศลจิต

เริ่มจากการสวดมนต์เป็นประจำด้วยสมาธิ


จาก นิตยสารชีวจิต ฉบับแรกของเดือนมกราคม 2551
เรื่อง Vibrational Therapy : สวดมนต์บำบัด โดย: ชมนาด

วันพุธที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2552

พร 4 ข้อของท่าน ว.วชิรเมธี

ใครที่ไม่ได้ไปนั่งฟังการบรรยายธรรมะโดยท่าน ว.วชิรเมธี ท่านได้ให้พร 4 ข้อ ดังนี้
1. อย่าเป็นนักจับผิด
คนที่คอยจับผิดคนอื่น แสดงว่า หลงตัวเองว่าเป็นคนดีกว่าคนอื่น ไม่เห็นข้อบกพร่องของตนเอง
" กิเลสฟูท่วมหัว ยังไม่รู้จักตัวอีก "
คนที่ชอบจับผิด จิตใจจะหม่นหมอง ไม่มีโอกาส " จิตประภัสสร " ฉะนั้น จงมองคน มองโลกในแง่ดี
" แม้ในสิ่งที่เป็นทุกข์ ถ้ามองเป็น ก็เป็นสุข "

2. อย่ามัวแต่คิดริษยา
" แข่งกันดี ไม่ดีสักคน ผลัดกันดี ได้ดีทุกคน "
คนเราต้องมีพรหมวิหาร 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
คนที่เราริษยาเป็นการส่วนตัว มีชื่อว่า " เจ้ากรรมนายเวร " ถ้าเขาสุข เราจะทุกข์ ฉะนั้น เราต้อง ถอดถอน
ความริษยาออกจากใจเรา เพราะไฟริษยา เป็น " ไฟสุมขอน " ( ไฟเย็น) เราริษยา 1 คน เราก็มีทุกข์ 1 ก้อน
เราสามารถถอดถอนความริษยาออกจากใจเราโดยใช้วิธี " แผ่เมตตา " หรือ ซื้อโคมมา แล้วเขียนชื่อคนที่เราริษยา แล้วปล่อยให้ลอยไป

3. อย่าเสียเวลากับความหลัง
90% ของคนที่ทุกข์ เกิดจากการย้ำคิดย้ำทำ " ปล่อยไม่ลง ปลงไม่เป็น "
มนุษย์ที่สลัดความหลังไม่ออก เหมือนมนุษย์ที่เดินขึ้นเขาพร้อมแบกเครื่องเคราต่างๆ ไว้ที่หลังขึ้นไปด้วย
ความทุกข์ที่เกิดขึ้นแล้ว จงปล่อยมันซะ " อย่าปล่อยให้คมมีดแห่งอดีต มากรีดปัจจุบัน "
" อยู่กับปัจจุบันให้เป็น " ให้กายอยู่กับจิต จิตอยู่กับกาย คือมี " สติ " กำกับตลอดเวลา

4. อย่าพังเพราะไม่รู้จักพอ
" ตัณหา " ที่มีปัญหา คือ ความโลภ ความอยากที่ เกินพอดี เหมือนทะเลไม่เคยอิ่มด้วย น้ำ ไฟไม่เคยอิ่มด้วย เชื้อ ธรรมชาติของตัณหา คือ " ยิ่งเติมยิ่งไม่เต็ม "
ทุกอย่างต้องดูคุณค่าที่แท้ ไม่ใช่ คุณค่าเทียม เช่น คุณค่าที่แท้ของนาฬิกา คืออะไร คือ ไว้ดูเวลา ไม่ใช่มีไว้ ใส่เพื่อความโก้หรู
คุณค่าที่แท้ของโทรศัพท์มือถือ คืออะไร คือไว้สื่อสาร แต่องค์ประกอบอื่นๆ ที่เสริมมาไม่ใช่ คุณค่าที่แท้ของโทรศัพท์
เราต้องถามตัวเองว่า " เกิดมาทำไม " " คุณค่าที่แท้จริงของการเกิดมาเป็นมนุษย์อยู่ตรงไหน" ตามหา " แก่น " ของชีวิตให้เจอ
คำว่า "พอดี" คือถ้า "พอ" แล้วจะ"ดี" รู้จัก "พอ" จะมีชีวิตอย่างมีความสุข

วันอังคารที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

"แบบอย่างแห่งความเป็นพุทธทาส"


โดย อุบาสิกาคุณรัญจวน อินทรกำแหง

เมื่อจะพูดรำลึกถึงเจ้าประคุณ ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ มีสิ่งที่จะกล่าวถึงมากเหลือเกินอย่างที่จะเขียนเป็นหนังสือได้เป็นเล่มๆ แต่ตรงนี้จะขอกล่าวถึงสิ่งที่ประทับใจมาก แต่เพียงเรื่องเดียว คือเรื่องวิธีการสอนและอบรมธรรมะของท่านอาจารย์ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ แบบอย่างแห่งความเป็นพุทธทาสของท่าน

เราเรียกตัวเองว่าเป็นพุทธศาสนิกชน แต่เมื่อย้อนคิดดู เรารู้จักเรื่องของพุทธศาสนาอย่างไรบ้าง นึกดูแล้วก็รู้แต่เพียงว่า ต้องรับศีล ฟังเทศน์ ทำบุญ ทำทานตามกำลัง แล้วก็สวดมนต์ ไหว้พระ คำสวดก็เป็นภาษาบาลี ที่ไม่เคยรู้ความหมายว่ากำลังสวดว่าอะไร หรือแปลว่าอะไร

คำว่า "ธรรมะ" ก็รู้เพียงแต่ว่า คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งกว้างเหลือเกิน อย่างที่ได้ยินมาว่ามีตั้ง ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แล้วจะหยิบตรงไหนมาเป็นความหมายที่ชัดเจนของคำว่า "ธรรมะ" แต่ด้วยความเป็น "พุทธทาส" คือทาสผู้ซื่อสัตย์ และซื่อตรงต่อพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของท่านอาจารย์ ท่านจึงได้เสาะแสวงหาขุดค้นจากพระไตรปิฎกฉบับบาลี เพื่อประมวลและสรุปคำสอนของสมเด็จพระศาสดาออกมาให้เข้าใจกันได้ง่ายๆ ว่า

ธรรมะ คือ ธรรมชาติ
ธรรมะ คือ กฎของธรรมชาติ เช่น กฎแห่งความไม่เที่ยง (อนิจจัง) ความตั้งอยู่ไม่ได้ (ทุกขัง) ความมิใช่ตัวตน (อนัตตา) ที่เยกว่า กฎไตรลักษณ์ เป็นต้น
ธรรมะคือ หน้าที่ที่มนุษย์จะต้องประพฤติปฏิบัติ
ธรรมะ คือ ผลที่เกิดขึ้นตามหน้าที่ที่ได้ประพฤติปฏิบัติ

กล่าวสรุปโดยย่อ ธรรมะ ก็คือ หน้าที่

ผู้ใดปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องเพื่อประโยชน์สุขของตนเองและเพื่อนมนุษย์อย่างเห็นแก่ผู้อื่น มิใช่เห็นแต่แก่ตนเอง ผู้นั้น ก็คือ ผู้มีธรรม

เมื่อฟังแล้ว นำมาพิจารณาก็รู้สึกเห็นจริง เมื่อได้นำมาลองประพฤติปฏิบัติตามก็เห็นผลเป็นสันทิฎฐิโก ว่า อ้อ การทำหน้าที่ให้ถูกต้องเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นด้วย เป็นความสุข ความสบายใจอย่างนี้ ทำให้ชีวิตได้ปลอดจากปัญหาที่ไม่จำเป็นหรือไม่ควรที่จะเกิดขึ้นนี้ได้ บังเกิดเป็นความชัดเจนและกระจ่างแจ้งในความหมายของคำว่าธรรมะ กระทั่งกลายเป็นความรู้ความเข้าใจตามมาว่า ธรรมะทั้ง ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ก็คือข้อธรรมที่ช่วยส่งเสริมให้ได้เข้าใจความหมายของคำว่าธรรมะชัดเจนแจ่มแจ้งยิ่งขึ้น ทั้งยังมองเห็นวิธีที่ควรนำมาพิจารณาตรึกตรองเพื่อนำไปสู่การประพฤติปฏิบัติต่อไป ซึ่งการที่พอจะสามารถกระทำได้เช่นนี้ก็เนื่องมาจากการได้รับฟังคำสอนและการอบรมธรรมจากท่านอาจารย์อยู่ตลอดเวลานั้นเอง

เป็นการยากที่จะอธิบายออกมาเป็นคำพูดว่า ความรู้สึกซาบซึ้งในคุณค่าของการศึกษาอบรมที่ได้รับจากท่านอาจารย์นั้น มีความหมายที่ใหญ่หลวงมหาศาลต่อชีวิตของตนอย่างไรและเพียงใด แต่พูดได้ว่าที่เป็นเนื้อเป็นตัวอยู่ได้ทุกวันนี้ ก็ด้วยการได้รับคำสอนและการอบรมจากท่านอาจารย์นี้เอง แม้จะยังเป็นเพียงผู้ทีเดินอยู่ แต่ก็จะมุ่งหน้าพยายามเดินต่อไปจนสุดกำลังความสามารถ จนกว่าเกวียนเล่มนี้จะแตกหักทำลายไป

ความเป็น "พุทธทาส" ของท่านอาจารย์ที่เด่นชัดอยู่ตลอดเวลา คือการสอนธรรมและบรรยายธรรมที่ลัด ตัด ตรงสู่แก่น หรือหัวใจของคำสอนตามพระพุทธโอวาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเรื่องของความทุกข์และการดับทุกข์

ท่านอาจารย์จะชี้ชัดอย่างตรงประเด็นทีเดียวว่า รากเหง้าของความทุกข์ของมนุษย์คือความหลงยึดมั่นในอัตตา หรือความเป็นตัวตน อย่างไม่ยอมรับหรือไม่ยอมศึกษาให้รู้จักว่าแท้จริงแล้วมันเป็นเพียงสักแต่ว่าขันธ์ห้าหรือเบญจขันธ์เท่านั้น เพื่อให้เห็นชัด ท่านอาจารย์จึงกระแทกลงไปให้ชัดดังๆ ว่า ความทุกข์เกิดขึ้นก็เพราะหลงยึดมั่นถือมั่นอยู่ที่ "ตัวกู-ของกู" นี้เอง

ถ้าลดละความยึดถือใน "ตัวกู-ของกู" ลงได้เท่าใด ทุกข์ก็ลดน้อยลงได้เท่านั้น ถ้าหมดความยึดมั่นถือมั่นใน "ตัวกู-ของกู" ได้เมื่อใด ความทุกข์ก็หมดเมื่อนั้น

ได้ยินคำ "ตัวกู-ของกู" ครั้งแรก ก็รู้สึกเหมือนเป็นคำหยาบ ไม่น่าฟัง แต่ก็ลองคิดดูเถิดเมื่อคนเรามีอารมณ์แรงเกิดขึ้นเมื่อใด คำเรียกตัวเองที่ไพเราะ เช่น น้อง ผม ดิฉัน มันเปลี่ยนเป็น "กู" ขึ้นมา เพื่อให้สาสมกับความรุนแรงของอารมณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อแสดงอารมณ์ของ "กู" ให้เห็นชัดใช่หรือไม่ แสดงว่า กูโกรธ กูไม่ยอม กูจะเอา ฯลฯ เป็นกิริยาท่าทางที่ชวนให้น่ารังเกียจน่าดูถูก ไม่น่าคบค้าสมาคม

แต่ "ตัวกู" ขณะนั้น หาได้สำนึกไม่ อาจจะนึกไปอีกอย่างว่า กูกำลังแสดงอำนาจของตัวกูที่จะข่มใครๆ ให้ต้องยอมกลัว ยอมแพ้ ก้มหัวให้ หารู้ไม่ว่า หากเขายอม เขาก็ยอมด้วยความเยาะหยัน ด้วยความชิงชัง และอาจตามมาด้วยความอาฆาตแค้นพยาบาท แต่ที่ซ้ำร้ายกว่านั้น ก็คือ ตัวกูหาได้สำนึกไม่ว่า ตัวกูเองกำลังถูกเผาไหม้อยู่ด้วยไฟปะทุของอารมณ์ที่แรงและร้อนอันเป็นความทุกข์อย่างยิ่ง

นี้แหละ ถ้าลดละ "ตัวกู" เสียได้ ไม่มี "ตัวกู" เสียได้ ความทุกข์ก็ไม่มี ความทุกข์ก็ดับ ดับ "ตัวกู" เสียได้ ก็ดับ "ความทุกข์" ได้

สูตรหรือทฤษฎีการดับทุกข์ที่ท่านอาจารย์ได้นำมาบอกสอนนี้เป็นสูตรที่ไม่ซับซ้อนเลย เข้าใจได้ง่ายมาก เพียงแต่สนใจศึกษาและทำความเข้าใจเรื่องของ "ตัวกู" ไปทีละน้อย พร้อมกับฝึกหัดขัดเกลาสนิม "ตัวกู" ไปเรื่อยๆ ตามกำลังจนเบาบางลง แล้วจะค่อยๆ อัศจรรย์ใจว่า ความทุกข์มันเบาบางลงไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ แต่ก็ต้องเชื่อ เพราะว่าเป็นไปได้จริง

การลดละ "ตัวกู" ไม่ใช่สิ่งที่ง่าย แต่ก็ไม่เหลือวิสัย โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่เข็ดหลาบกับความทุกข์

การสอนให้พุทธบริษัทได้สำนึกในพิษสงที่ร้ายกาจของ "ตัวกู-ของกู" ท่านอาจารย์ได้เน้นการสอนอธิบายในเรื่องของไตรลักษณ์ โดยเฉพาะ "อนัตตา" ซึ่งหมายถึงความมิใช่ตัวตน ถ้าบุคคลไม่สนใจศึกษาหาความรู้ ทำความเข้าใจกับเรื่องอนัตตา ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่ผู้นั้นย่อมจะยึดมั่นถือมั่นอยู่ใน "อัตตา-ตัวตน" ซึ่งก็คือ "ตัวกู-ของกู" อยู่อย่างเหนียวแน่น แล้วก็ตกจมอยู่ในกองของความทุกข์ทั้งกลางวันกลางคืน จนกว่าจะได้ซึมซาบถึงเรื่องของอนัตตานั่นแหละ ความยึดมั่นในอัตตา-ตัวตน จะจางคลายลง แล้วความทุกข์ก็ย่อมจางคลายลงด้วยตามลำดับ

ทั้งนี้ ก็ย่อมต้องเริ่มต้นการศึกษาพิจารณาไตรลักษณ์ตั้งแต่ อนิจจัง คือ ความไม่เที่ยงแปรปรวนอยู่เป็นธรรมดา แล้วจะค่อยๆ เห็นทุกขัง คือสภาพที่อะไรๆ ก็คงทนอยู่ไม่ได้ ดำรงอยู่ไม่ได้ ในที่สุดก็จะค่อยๆ ซึมซาบและซาบซึ้งในสภาวะของความเป็นอนัตตา คือ ความที่ต้องแปรปรวน เสื่อมสลายไป จนดับสิ้นไป

แหละเพื่อให้เห็นได้ชัดเจนถึงความที่มิได้มีสิ่งใดเป็นตัวตน ให้เกี่ยวเกาะหรือยึดมั่นถือมั่น ท่านอาจารย์จึงได้นำเรื่องอิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาทมาอธิบายให้ฟัง เพื่อให้พุทธบริษัทได้กระจ่างใจว่า แท้ที่จริงแล้ว ชีวิตนี้เป็นเพียงกระแสที่ไหลทยอยกันมาตามเหตุตามปัจจัยเช่นนั้นเอง

สิ่งที่กำหนด ก็คือ เหตุปัจจัยที่กระทำ หากกระทำเหตุปัจจัยที่ถูกต้อง ผลก็คือ ความสุข สงบเย็น หากกระทำเหตุปัจจัยที่ไม่ถูกต้อง (ด้วยความเห็นแก่ตัวของตัวกู) ผลก็คือความทุกข์อย่างแน่นอน

ดังนั้น การได้มีโอกาสได้ศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของ อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท กระทำให้ได้เห็นหนทางของการพิจารณาไตร่ตรองได้ลึกซึ้งถึงความสิ้นสุดแห่งทุกข์ว่าเป็นได้อย่างนี้

การที่ท่านอาจารย์ได้นำเรื่องของอนัตตา อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท มาพูดมาสอนก็ได้มีคำวิพากษ์วิจารณ์ตามมาว่า ท่านอาจารย์นำธรรมะชั้นสูงมาสอนอย่างนี้ สูงเกินไป เกินความรู้ความเข้าใจของพุทธบริษัท ถึงพูดให้ฟัง ก็ฟังไม่เข้าใจ จะเอามาปฏิบัติก็คงทำไม่ได้ อะไรทำนองนี้

แต่ในความรู้สึกส่วนตัวกลับมีความเห็นว่า ท่านอาจารย์ใจกว้าง แล้วก็ซื่อตรงต่อพวกเราที่เป็นพุทธบริษัท ไม่ว่าจะเป็นลูกศิษย์หรือไม่ใช่ลูกศิษย์ ท่านได้รู้เห็นสิ่งใดหรือธรรมะข้อใดที่สมเด็จพระบรมศาสดา ได้ทรงนำมาบอกมาสอนแก่มวลมนุษย์ ท่านอาจารย์ก็เห็นเป็นหน้าที่ของท่านในฐานะ "พุทธทาส" ที่จะต้องนำมาบอกต่อ มาสอนต่อ ให้ถูกต้องตรงตามพระพุทธประสงค์ เพราะสิ่งใดที่พระพุทธองค์ตรัสสอน สิ่งนั้นย่อมเป็นสิ่งจริง และเป็นสิ่งที่ปฏิบัติตามได้ ถ้าหากท่านอาจารย์ไม่นำมาพูดมาสอนนั่นสิ ก็จะเป็นเสมือนหนึ่งว่าท่านมิใช่ครูอาจารย์ที่ "ตรง" ต่อศิษย์ และ "ไม่ตรง" ต่อพระพุทธองค์ในฐานะที่ท่านเป็น "พุทธทาส"

การที่ท่านอาจารย์ได้นำเรื่องของอนัตตา อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท ตลอดถึงสุญญตา นิพพาน มาบอกกล่าวแก่พวกเรา จึงเท่ากับเป็นการเปิดหนทางให้พวกเราได้รู้และเข้าใจถึงจุดหมายปลายทางของการประพฤติปฏิบัติธรรม ว่ามีหนทางดำเนินอย่างไร และไปสู่จุดหมายสูงสุดคืออะไร ส่วนบุคคลใดปารถนาจะประพฤติปฏิบัติมากน้อย หรือใกล้ไกลเพียงใด ก็เป็นสิทธิและความพอใจของแต่ละบุคคล แต่ถ้าหากพวกเราไม่ได้มีความรู้ในข้อธรรมะเหล่านี้เลย ก็ย่อมเป็นการน่าเสียดายอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่มีศรัทธาและศักยภาพที่สามารถจะปฏิบัติไปได้ไกลหรืออาจถึงที่สุด แต่เพราะไม่เคยได้ยินได้ฟัง ก็ไม่รู้หนทาง ถ้าต้องเสียเวลาไปค้นคว้าเสาะหาทางเอง ก็อาจไม่ทันแก่กาลเวลาแห่งชีวิตของตน ซึ่งย่อมเป็นสิ่งที่น่าเสียดายอย่างที่สุดที่โอกาสแห่งชีวิตนี้ได้ถูกปิด เพียงเพราะครูบาอาจารย์บางท่านคิดไปเสียว่า ยากเกินกว่าที่ศิษย์จะเรียนรู้ได้

ในส่วนตัว จึงมีความรู้สึกสำนึกในพระคุณของท่านอาจารย์อย่างล้นเหลือที่ท่านได้กรุณาสอนและบอกกล่าวให้ฟังอย่างหมดจดสิ้นเชิง ส่วนการจะประพฤติปฏิบัติไปได้เพียงใด ย่อมสุดแล้วแต่ความอุตสาหะบากบั่นอดทนและสติปัญญาแห่งตนเอง เพราะเรื่องของการปฏิบัติเป็นเรื่องเฉพาะตน มิใช่สิ่งที่ผู้ใดจะมาทำให้แก่ใครได้

อาจจะเป็นด้วยเหตุที่ท่านอาจารย์ได้นำข้อธรรมะในทุกระดับมาบรรยายอธิบายอย่างละเอียด เพื่อความเข้าใจที่แจ่มแจ้งแก่พุทธบริษัท ท่านอาจารย์จึงมักจะถูกมองไปว่า ท่านเป็นแต่นักปริยัติ มิใช่นักปฏิบัติ แต่ความจริงที่ประจักษ์แก่ใจของตนเองก็คือ ในวันแรกที่มาถึงสวนโมกข์ ได้กราบท่านอาจารย์แล้ว สิ่งที่ท่านอาจารย์สั่งให้ทำเป็นสิ่งแรก คือนับแต่นี้ให้ "อ่านหนังสือเล่มใน" หยุดอ่านหนังสือข้างนอกได้แล้ว

นั่นก็คือ ให้ฝึกปฏิบัติด้วยการหมั่น "ดูจิต" ของตนเพื่อให้รู้จักลักษณะของจิต และให้รู้เท่าทันจิตว่ามีสภาพเป็นอย่างไร จะได้รู้จักแก้ไขพัฒนาจิตเถื่อนนั้นให้เป็นจิตที่เจริญ คือเป็นจิตที่นิ่ง มั่นคง และสงบเย็น พร้อมอยู่ด้วยสติ สมาธิ และปัญญา

แล้วท่านอาจารย์ยังไม่สั่งอีกว่า "ให้หามุมสงบท่ามกลางธรรมชาติ แล้วก็อ่านหนังสือเล่มในให้แตกฉาน ขณะนั้นนึกพูดกับตัวเองว่า ใครๆ ว่าท่านอาจารย์เป็นนักปริยัติ แต่นี่สิ่งแรกที่ท่านบอก คือ เน้นลงไปที่การปฏิบัติ ทั้งท่านยังห้ามไม่ให้เราพูดถึงหนังสือธรรมะที่ได้นำไปเพื่อจะอ่านศึกษา แต่ให้ลงมือปฏิบัติทันที แท้ที่จริงแล้วท่านอาจารย์เป็นทั้งนักปริยัติและนักปฏิบัติต่างหาก ตรงตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ทีเดียวว่า จะต้องมีทั้งปริยัติ ปฏิบัติ แล้วจึงจะได้มีปฏิเวธ

เพื่อให้การปฏิบัติปรากฏผลแก่ใจของผู้ปฏิบัติธรรม ท่านอาจารย์ได้สอนเน้นการดึงจิตให้อยู่กับปัจจุบันขณะ ให้เข้าใจทุกข์สุข ปัจจุบัน, สวรรค์-นรก ปัจจุบัน, บุญ-บาป ปัจจุบัน แม้ที่เราเคยได้ยินพูดกันว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แต่ท่านอาจารย์จะพูดว่า "ทำดี-ดี / ทำชั่ว-ชั่ว" คือเมื่อทำดี ก็ดีแล้วในทันที ที่เป็นความรู้สึกพอใจ อิ่มใจ หรือปีติยินดีที่ได้ทำสิ่งที่ดี ใจรู้สึกเองโดยไม่ต้องให้ผู้ใดบอก

"ทำชั่ว-ชั่ว" ก็รู้สึกได้เองที่ใจอีกเหมือนกัน ที่เป็นความรู้สึกหม่นหมอง เศร้าใจที่ได้ทำชั่วอย่างนั้น แม้ยังไม่มีใครติฉินนินทา ยกเว้นบางคนที่อาจมีจิตใจหนากระด้างผิดธรรมดาที่จะไม่สำนึกเสียเลย แต่ผลแห่งความชั่วก็ปรากฏแก่ผู้ที่ได้รู้จักพบเห็น ถ้าเป็นความชั่วที่เบียดเบียนผู้อื่นก็มีตัวบทกฎหมายลงโทษหนักเบาตามแต่กรณี

ท่านอาจารย์ได้พยายามที่จะโน้มน้าวใจของพุทธบริษัทให้หาให้พบซึ่งความสุขในชีวิตประจำวัน ด้วยประโยคที่ว่า "การทำงาน คือการปฏิบัติธรรม" หรือ "ทำงานให้สนุก เป็นสุขในการทำงาน" หรือ "การทำงานทุกชนิด ด้วยจิตว่าง" (ว่างจาก "ตัวกู-ของกู")

ที่ท่านอาจารย์เน้นในเรื่องนี้ เพราะทุกชีวิตต้องทำงาน แล้วคนส่วนใหญ่ก็มักจะหน้าดำคร่ำเครียดด้วยความทุกข์อันเกิดจากการทำงานของตน แต่จะหยุดทำงานก็ไม่ได้ เพราะจำเป็นต้องทำงานเพื่อเลี้ยงชีพและด้วยเหตุผลความจำเป็นอื่นๆ อีกนานาประการ จึงเป็นที่น่าสมเพชเวทนาแก่ชีวิตเช่นนี้ยิ่งนักที่ต้องทำงานไป คร่ำครวญไป ดูไม่คุ้มเลยกับการที่ทำงาน

ทั้งนี้ก็เป็นเพราะทำงานด้วยจิตที่วุ่นอยู่ด้วย เรื่อง "ตัวกู-ของกู" นั้นเอง การทำงานนั้นจึงไม่สนุก ไม่เป็นสุข แต่เร่าร้อนไหม้เกรียมด้วยความที่ต้องการให้ได้อย่างที่ใจ "ของกู" ต้องการ การงานนั้นจึงกลายเป็นความทุกข์ เพราะจิตมิได้อยู่กับปัจจุบัน แต่กังวลวุ่นวายอยู่กับเรื่อง "ของกู" จิตจึงไม่สามารถจดจ่ออยู่กับงานที่กระทำในปัจจุบันขณะนั้น

ท่านอาจารย์จึงได้พูดให้สติแก่พุทธบริษัทว่า "อันการงานนั้นน่ารัก การงานเป็นสิ่งมีค่า การงานคือค่าของมนุษย์" ถ้ามองเห็นคุณประโยชน์และความงดงามของการงานในลักษณะเช่นนี้ ผู้ทำงานก็ย่อมมีความสนุก ความสุขเบิกบานใจในการทำงาน ชีวิตการทำงานนั้นก็อยู่เหนือความทุกข์

ถ้าพูดอีกอย่างหนึ่ง ก็กล่าวได้ว่าท่านอาจารย์พยายามหาศิลปะที่จะพูดปลอบประโลมใจให้แง่คิดแก่พุทธบริษัทได้เกิดความฉลาด มีสติปัญญาที่จะแก้ไขความทุกข์และดับทุกข์ในชีวิตประจำวันได้ในทุกแง่มุม

เมื่อย้อนนึกถึงคำสอนของท่านอาจารย์ที่ว่า ธรรมะ คือ หน้าที่ มีความรู้สึกประทับใจในคุณค่าของประโยคนี้เป็นที่ยิ่ง เป็นประโยคที่บอกถึงรากฐานความสำคัญของความเป็นมนุษย์ ถ้ามนุษย์เกิดมาโดยไม่ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นแล้ว เกียรติศักดิ์ของความเป็นมนุษย์ย่อมล่มสลาย

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงวางแบบอย่างและทรงประพฤติเป็นแบบอย่างแห่งการกระทำหน้าที่ของมนุษย์อย่างสมบูรณ์ เป็นที่ประจักษ์ใจแก่มวลมนุษย์ พระองค์ได้ทรงทำหน้าที่ของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่เบื้องต้น จนถึงอวสานกาลอย่างเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ แม้ในนาทีสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ นี้จึงเป็นเสมือนได้ทรงแสดงความหมายของคำ "ธรรมะ" อย่างกระจ่างแจ้งของพระองค์ผู้ทรงธรรม

ถ้าพุทธบริษัททุกคนได้สำนึกในความสำคัญแห่งความหมายของ "ธรรมะ คือ หน้าที่" แล้วนำมาประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันของตนๆ สังคมของเราคงจะอบอวลด้วยบรรยากาศของความรัก ความสามัคคี เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน เพราะเมื่อต่างคนต่างทำหน้าที่ของตนให้ถูกต้องเพื่อประโยชน์และความสุขที่จะเกิดขึ้นทั้งแต่ตนและผู้อื่น การอิจฉาริษยากันก็จะไม่มี การเพ่งโทษกันก็ไม่เกิดขึ้น การเบียดเบียนแก่งแย่งกันก็ไม่มี ศานติสุขย่อมบังเกิดในชุมชนสังคมและชาติบ้านเมือง สมดังความตั้งใจที่ใฝ่หาของมนุษย์

การเข้าใจถึงแก่นความหมายของ "ธรรมะ คือหน้าที่" และการประพฤติปฏิบัติธรรมด้วยการทำหน้าที่อย่างถูกต้องให้เกิดประโยชน์สุขทั้งแก่ตนและผู้อื่นอยู่เนืองนิจ ย่อมเป็นการกระทำที่ส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของการปฏิบัติธรรม และขณะเดียวกันก็เป็นการเสริมสร้างระบอบประชาธิปไตยให้เข้าสู่ความสมบูรณ์ เพราะพลเมืองของชาติต่างขะมักเขม้นทำหน้าที่ของตนให้เกิดคุณประโยชน์ที่สุดแก่สังคมและชาติบ้านเมือง โดยไม่ต้องกังวลอยู่กับการร้องทวงสิทธิ์ โดยละเลยต่อการทำหน้าที่ ที่จะเป็นเหตุให้ประชาธิปไตยล่มสลาย

ในความรู้สึกและความเห็นส่วนตัวที่ได้เคยทำงานอยู่ในแวดวงการศึกษามาตลอดชีวิตจึงมีความเชื่อว่า ถ้าผู้บริหารที่รับผิดชอบจัดการศึกษาของชาติ นำเรื่อง "ธรรมะ คือ หน้าที่" มาเป็นหัวใจคำสอนของพุทธศาสนา และอบรมยุวชนให้ประพฤติปฏิบัติตามด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องชัดเจน นี้ย่อมเป็นการจัดการศึกษาที่พัฒนาคนสู่ความเป็นมนุษย์ เกิดประโยชน์ทั้งฝ่ายโลกและฝ่ายธรรมได้อย่างกลมกลืน

ผู้ใดที่ได้เข้าไปเยี่ยมหรือไปพักที่สวนโมกข์จะสังเกตได้ว่า ในสวนโมกข์มีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่ายในทุกเรื่อง ทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายอุบาสกอุบาสิกา ไม่มีการเรียกร้องหรือขอร้องสิ่งใดเพื่อความสะดวกสบายแห่งตน เพราะมีคำขวัญที่ประทับใจชาวสวนโมกข์ให้รำลึกไว้เสมอว่า "เป็นอยู่อย่างต่ำ แต่มีการกระทำอย่างสูง" อันเป็นการกระทำที่ให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนและผู้อื่น

ดังนั้น ในการแสดงธรรมก็ดี หรือการสนทนาธรรมก็ดี ท่านอาจารย์มักจะย้ำแล้วย้ำอีกในเรื่องของความไม่เห็นแก่ตัว ให้เห็นแก่ผู้อื่นให้มาก อันจะนำมาซึ่งความเป็นผู้มีชีวิตที่สงบเย็นและเป็นประโยชน์

การกระทำที่เห็นแก่ผู้อื่นได้มากเพียงใด ก็เท่ากับเป็นการลืม "ตัวกู-ของกู" ได้มากเพียงนั้น ซึ่งเป็นการแน่นอนที่ความทุกข์ย่อมลดลง แล้วความสุขก็เพิ่มขึ้น อันเกิดจากความอิ่มใจภูมิใจในคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ของตน ในขณะเดียวกัน ความกระจ่างแจ้งในความหมายของ "ธรรมะ คือ หน้าที่" ก็ยิ่งสว่างชัดขึ้นในใจ

ในฐานะที่เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง ย่อมเว้นเสียมิได้ที่จะต้องเทิดทูนพระคุณของท่านอาจารย์ที่ได้กรุณาให้เกียรติแก่ผู้หญิงและมีน้ำใจเมตตาที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูลต่อเพศหญิงอย่างหาที่เปรียบและประมาณมิได้ ประจักษ์พยานที่เห็นชัดเจน คือ การที่ท่านอาจารย์ได้ดำริให้จัดตั้ง ธรรมาศรมธรรมมาตา เพื่อ

"ให้เพศหญิงได้มีโอกาสศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรมได้เต็มที่ แล้วเผยแผ่และสืบอายุพระพุทธศาสนาได้สูงสุด ในลักษณะธรรมฑูตหญิง เป็นการเสิรมแทนภิกษุณีบริษัทที่ยังขาดอยู่"

ดังปรากฏในเอกสารฉบับหนึ่ง (ในหลายฉบับที่เกี่ยวกับเรื่องธรรมาตา) ที่เขียนด้วยลายมือของท่านอาจารย์เองดังต่อไปนี้:

ธรรมาตา

๑. เพื่อประโยชน์แก่บุคคล
1. ให้เพศแม่ได้รับประโยชน์ที่สุดโดยไม่อาจบวชภิกษุณี
2. เป็นการกตัญญูกตเวทีตอบแทนเพศมารดาให้สมแก่ความเหน็ดเหนื่อย ยากลำบาก
3. แม่จะสามารถอบรมลูกมีธรรม มาแต่ทารก ไม่มีลักษณะหนีพ่อแม่ตามโจรไปแล้วค่อยกลับมา

๒. เพื่อประโยชน์แก่ศาสนา
1. เสริมแทนภิกษุณีบริษัทที่ยังขาดอยู่
2. เพศแม่มีโอกาส การเรียน-การปฏิบัติ รับผลธรรมได้เต็มที่ แล้วเผยแผ่และสืบอายุพระศาสนาได้สูงสุด
3. เพศหญิงสอนเพศหญิงด้วยกัน, ได้ดีกว่า ผลแนบเนียน สดวกกว่า จึงควรมีธรรมมาตา

๓. เพื่อประโยชน์แก่โลก & มนุษยชาติ
1. ให้โลกมีธรรมเป็นมารดา มีสันติภาพยิ่งขึ้น
2. เป็นการให้สิทธิมนุษยชน แก่เพศมารดาเต็มที่
3. มารดาของโลก จะสร้างโลกได้ดีกว่าเก่า ที่แล้วมา อย่างที่จะเปรียบกันไม่ได้
4. เลิกปมด้อยของเพศมารดาในโลก

นอกจากการให้เกียรติแล้ว ท่านอาจารย์ยังได้ให้ความไว้วางใจแก่เพศหญิงอย่างเต็มที่ด้วยประโยคว่า

"เพศหญิงสอนเพศหญิงด้วยกันได้ดีกว่า สะดวกกว่า ผลแนบเนียนกว่า"

ทั้งนี้ ท่านได้เน้นว่า หลักปฏิบัติของอาศรมธรรมมาตานั้น ต้องให้มีปริยัติสูงสุด ปฏิบัติสูงสุด ปฏิเวธสูงสุด และเผยแผ่สูงสุด

ท่านอาจารย์ได้แสดงความเชื่อมั่นในศักยภาพของผู้หญิงไว้ ในคำกล่าวอนุโมทนาตอนหนึ่ง ในหนังสือ ธรรมโฆษณ์อรรถานุกรรม เล่ม ๑ ที่ท่านได้เขียนไว้ด้วยลายมือของท่านอาจารย์เองว่า

น หิ สพฺเพสุ ฐาเนสุ ปุริโส โหติ ปณฺฑิโต
อิตฺถีปิ ปณฺฑิตา โหติ ตตฺถ ตตถฺ วิจฺกขณา

ซึ่งแปลว่า "ใช่ว่า บุรุษ จะเป็นบัณฑิต ไปเสียในที่ทุกแห่ง ก็หาไม่, แม้สตรี เมื่อใช้วิจักขณญาณ อยู่ในที่นั้นๆ ก็เป็นบัณฑิตได้" ดังนี้.

แม้ว่า ตามที่มานั้น คำกล่าวนี้ เป็นคำกล่าวของพวกเทวดาจำนวนหนึ่ง แต่ถ้าจะทูลขอให้พระพุทธองค์ตรัส ก็จะตรัสอย่างนี้ด้วยเหมือนกัน, ดังนั้น จะจัดว่าเป็นพระพุทธภาสิต ได้อยู่นั่นเอง ข้อนี้ เหมาะสมกับที่สมัยนี้ มีการให้สิทธิต่างๆ แต่สตรีเท่ากับบุรุษ ในโลกแห่งวิทยาศาสตร์หรือโลกแห่งวิทยาการ. ขอให้ตั้งความหวังกันไว้ว่า ในอนาคตกาลข้างหน้านั้น สตรีจะช่วยแบ่งเบาภาระอย่างบุรุษ ของบุรุษแก่บุรุษ ลงไปได้มากอย่างน่าประหลาดใจ ทีเดียว.

โครงการธรรมาศรมธรรมมาตา ได้เริ่มดำเนินงานด้วยการจัดการอบรม โครงการฝึกอบรมตนเพื่อความมีชีวิตพรหมจรรย์ที่หมดจดงดงาม เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้เป็นเสมือนโครงการนำร่องไปสู่โครงการธรรมาศรมธรรมมาตาในกาลต่อไป เนื่องด้วยเหตุปัจจัยในปัจจุบันยังไม่พร้อมที่จะจัดดำเนินงานโครงการธรรมาศรมธรรมมาตาอย่างเต็มรูปแบบได้

ณ ธรรมาศรมธรรมมาตาแห่งนี้ คือ สถานที่ที่ให้โอกาสแก่สตรีได้ประพฤติพรหมจรรย์จนถึงที่สุดตามศักยภาพแห่งตนในขณะเดียวกันยังมีโอกาสที่จะได้รับการฝึกอบรมเป็นธรรมฑูตหญิงเพื่อประกาศธรรมอันประเสริฐขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแก่เพื่อนมนุษย์ ให้ได้ประสบสันติสุขโดยทั่วกัน

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้เป็นการสรุปอย่างย่นย่อที่สุด ถึงความประทับใจในแบบอย่างแห่งความเป็นพุทธทาส ของท่านอาจารย์ ที่ท่านได้ให้การสอนธรรมและอบรมธรรมอย่างฝ่ากระแสคลื่นของความงมงายที่เป็นไสยศาสตร์ สู่ความเป็นพุทธศาสตร์ อย่างอาจหาญ เด็ดเดี่ยว และเด็ดขาดด้วยถ้อยคำภาษาที่ตรง ชัดเจน ไม่เกรงใจผู้ฟัง เพื่อดึงใจของพุทธบริษัทให้เข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนาตามปณิธานของท่าน

ตลอดชีวิตแห่งความเป็น "พุทธทาส" ของท่านอาจารย์ ท่านได้กระทำหน้าที่ "ทาส" ของพระพุทธเจ้าอย่างสมบูรณ์เต็มเปี่ยม ด้วยความซื่อตรงและจงรักภักดีต่อพระพุทธองค์อย่างถวายชีวิต เพื่อนำเพื่อนมนุษย์ให้เดินเข้าสู่แสงสว่างของความพ้นทุกข์ตามพระพุทธประสงค์อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ ให้บังเกิดความสุขสงบทั้งในส่วนบุคคล สังคม ชาติบ้านเมือง ตลอดถึงในโลก

ร้อยปีที่กำลังจะเลยผ่าน ได้ปรากฏผลแห่งความเสียสละอุทิศชีวิตของท่านอาจารย์ ในการนำพระพุทธธรรมขององค์สมเด็จพระบรมศาสดาให้กลับมาสู่การประพฤติปฏิบัติของพุทธบริษัท จนสามารถประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ในสังคมไทย และแม้กระทั่งในสังคมบางส่วนของโลก ประจักษ์พยานที่เป็นรูปธรรม คือ การที่ยูเนสโกได้ประกาศเฉลิมฉลองครบชาตกาลร้อยปีของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘

"ในฐานะที่เป็นบุคคลผู้มีผลงานเป็นแบบอย่างอันดีเลิศในการส่งเสริม ขันติธรรม สันติธรรม วัฒนธรรม.... ด้วยกุศลเจตนาให้สังคมไทยและสังคมโลกประยุกต์หลักธรรมไปใช้ทั้งในระดับส่วนบุคคลและสังคมเพื่อผดุงไว้ซึ่งสันติธรรม ยุติธรรม และให้มนุษย์อยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างกลมกลืน....."

ขออนุญาตปิดการเล่าเชิงสนทนานี้ ด้วยคำอนุโมทนาของท่านอาจารย์ ที่ท่านได้เขียนไว้ในตอนท้ายของ "อนุสสรณียานุโมทนา" ว่า;

ขออนุโมทนาแก่ทุกคน ทั้งที่มีชีวิตอยู่และล่วงลับไป ที่ได้ตั้งตนไว้ชอบแล้ว โดยทุกๆ ประการ ร่ำรวยกันด้วยบุญกุศล ทั้งผู้ที่ยังอยู่และล่วงลับไปแล้ว เทอญ.

พุทธทาส อินฺทปัญฺโญ

โมกข. ๑๘ มิย. ๓๒

รัญจวน อินทรกำแหง
๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙

สัมภาษณ์และประสานงาน: สงวนศรี ตรีเทพประติมา
๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙

คัดจาก หนังสือ ร้อยคนร้อยธรรม๑๐๐ปี พุทธทาส
พิมพ์ ครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๔๙ โดย สำนักพิมพ์สุขภาพใจ

ที่มา:http://www.buddhadasa.com/100dhamma/100dham100year_runjuen.html

หัวใจกับการออกกำลังกาย



ปัจจุบันที่วิถีชีวิตของคนเราเปลี่ยนไปแล้วอย่างสิ้นเชิง เรามีสิ่งอำนวยความสะดวกนานาชนิดที่ทำให้ชีวิตสบายขึ้น มีอาหารให้เลือก รับประทานมากขึ้นตามรสนิยม แต่ผลก็คือ ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจกลับเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งสถิติผู้ป่วยโรคหัวใจที่มากขึ้นทุกปี และหนึ่งในสาเหตุที่สำคัญคือ การขาดการออกกำลังกายนั่นเอง

“เป็นที่ทราบกันดีว่าสาเหตุสำคัญของโรคหัวใจประการหนึ่งนั้นมาจากความผิดปกติของระบบเผาผลาญพลังงานในร่างกาย เป็นผลทำให้เกิดโรคเรื้อรัง อาทิ โรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง ซึ่งจะส่งผลต่อไปยังระบบการไหลเวียนโลหิตในร่างกายที่มีหัวใจเป็นกลจักรสำคัญ” นพ.วัธนพล พิพัฒน์นันท์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ อธิบาย

ภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจที่พบมากที่สุด ทั้งยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ด้วยเช่นกัน “ภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือแม้แต่ภาวะหัวใจวายนั้น ป้องกันและฟื้นฟูให้ดีขึ้นได้ด้วยการออกกำลังอย่างถูกต้องและเหมาะสม” นพ.วัธนพล กล่าว

“หากโลหิตไหลเวียนได้ไม่สะดวก เนื่องจากหลอดเลือดหัวใจตีบ หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของ ร่างกายให้เพียงพอ ขณะที่หัวใจเองก็ต้องการเลือดมาหมุนเวียนในปริมาณที่มากพอเช่นเดียวกัน ดังนั้น ถ้าปล่อยไว้จนหลอดเลือดหัวใจอุดตัน หัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจได้รับความเสียหาย หรือที่เรียกว่าหัวใจวายแล้ว หากรักษาไม่ทันก็เป็นอันตรายถึงชีวิตเลยทีเดียว”

รู้จักกับเป้าหมายของอัตราการเต้นของหัวใจในผู้ที่ออกกำลังกาย (Target Heart Rate Zone)

หากพูดถึงการออกกำลังกาย ส่วนมากเรามักจะจินตนาการถึงการวิ่งบนสายพาน หรือเล่นกีฬาอย่างหนักหน่วง แต่ในความเป็นจริง การออกกำลังกายที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพโดยเฉพาะหัวใจนั้น ไม่จำเป็นต้องหักโหมแต่อย่างใด นพ.วัธนพลเน้นว่า “การเคลื่อนไหวร่างกายที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพสามารถทำได้ด้วยการทำกิจกรรมทางกายที่ใช้แรงปานกลาง จนกระทั่งหายใจเร็วขึ้นเล็กน้อย เช่น เดินเร็ว ๆ หรือทำงานบ้าน เป็นต้น แต่ถ้าต้องการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มสมรรถภาพของปอดและหัวใจ ต้องให้ความสำคัญกับ Heart Rate หรืออัตราการเต้นของหัวใจให้ดี”

อัตราการเต้นของหัวใจในการออกกำลังกายนั้นมี 2 ประเภท ได้แก่ อัตราการเต้นสูงสุดที่หัวใจของคุณจะสามารถเต้นได้ (Maximum Heart Rate) และเป้าหมายอัตราการเต้นของหัวใจที่ผู้ออกกำลังกายควรพยายามทำให้ได้ในการออกกำลังกายแต่ละครั้ง (Target Heart Rate Zone)

“การคำนวณหาอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดนั้นทำได้คร่าว ๆ คือเอาอายุมาลบออกจาก 220 ส่วนเป้าหมายอัตราการเต้นของหัวใจ จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 50 - 75 ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด ตัวอย่างเช่น สมมติคุณอายุ 40 ปี อัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดของคุณจะอยู่ที่ 180 ครั้งต่อนาที เป้าหมายอัตราการเต้นของหัวใจของ 180 คือ 90 - 135 ตัวเลขนี้จะเป็นเป้าหมายในการออกกำลังกายทุก ๆ ครั้งของคุณ” นพ.วัธนพล อธิบาย

เมื่อได้ตัวเลขเป้าหมายในการออกกำลังกายมาแล้ว นพ.วัธนพล แนะนำเพิ่มเติมว่า เมื่อจะเริ่มออกกำลังกาย ช่วงสองสามเดือนแรก ให้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ตัวเลขที่ต่ำสุดก่อน (ร้อยละ 50) โดยให้อัตราการเต้นของหัวใจคงที่อยู่ประมาณ 30 - 45 นาที หรือที่เรียกกันว่าออกกำลังกายแบบแอโรบิคนั่นเอง เมื่อเข้าเดือนที่ 4 หรือ 5 จึงค่อยเพิ่มระดับขึ้นจนไปถึงตัวเลขสูงสุด (ร้อยละ 75) เมื่อคุณแข็งแรงขึ้นแล้ว คุณอาจเพิ่มระดับเองก็ได้หากคุณต้องการ

“การกำหนดเป้าหมายอัตราการเต้นของหัวใจนี้เป็นการกำหนดระดับความหนักหน่วงในการออกกำลังกาย ทั้งนี้เพื่อให้การออกกำลังกายเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่หักโหมจนเกิดการบาดเจ็บ สำหรับบางคนการออกกำลังกายที่ระดับร้อยละ 50 ของเป้าหมายอัตราการเต้นของหัวใจอาจจะรู้สึกว่าหนักเกินไป แต่หมออยากบอกว่า ไม่ต้องเป็นกังวลเพราะเมื่อคุณออกกำลังกายต่อไปอย่างสม่ำเสมอ คุณจะเริ่มชิน มีความทนทานมากขึ้น ออกกำลังกายได้นานขึ้น จนกระทั่งเป้าหมายอัตราการเต้นของหัวใจไม่ได้เป็นปัญหาอีกต่อไป” นพ.วัธนพล กล่าว

สำหรับผู้ที่ออกกำลังกาย นพ. วัธนพล เน้นว่าควรทำการอบอุ่นร่างกายก่อนทุกครั้งประมาณ 5 นาทีเพื่อเป็นการเตรียมร่างกายให้พร้อมกับการเร่งกิจกรรมทางร่างกายที่จะตามมา รวมทั้งก่อนจะเลิกควรมีการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เพื่อคลายความหนักหน่วงของกิจกรรมทางร่างกายอีกประมาณ 5 นาที ซึ่งคุณหมอบอกว่าจะช่วยลดอาการบาดเจ็บลงไปได้มาก

สิ่งสำคัญของการออกกำลังกายอีกประการหนึ่งได้แก่ ความสม่ำเสมอ แม้การขยับเขยื้อนร่างกายมากกว่าปกติจะเป็นเรื่องดี แต่คุณ จะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้มากกว่า หากคุณออกกำลังอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง และเรื่องที่จะลืมไม่ได้สำหรับการออก กำลังกายเพื่อสุขภาพหัวใจ คือ การเร่งจังหวะการออกกำลังกายการรักษาระดับ และการทำอย่างสม่ำเสมอ

การออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มสมรรถภาพของ ปอดและหัวใจ ต้องให้ความ สำคัญกับ Heart Rate หรือ อัตราการเต้นของหัวใจ

อัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด = 220 - อายุของคุณ

เป้าหมายอัตราการเต้นของหัวใจ = (อัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด x 0.5) และ (อัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด x 0.75)

Source:
http://www.bumrungrad.com/BetterHealth/HeartHealth/Exercise/Exercise1t.asp?utm_source=newsletter-4-2009-th&utm_medium=newsletter&utm_campaign=Bumrungrad

วันจันทร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2552

Is swine flu 'the big one' or a flu that fizzles?

By MIKE STOBBE, AP Medical Writer Mike Stobbe, Ap Medical Writer – Sun Apr 26, 8:03 pm ET AP – People wear surgical masks as a precaution against infection inside a subway in Mexico City, Friday, …

ATLANTA – As reports of a unique form of swine flu erupt around the world, the inevitable question arises: Is this the big one? Is this the next big global flu epidemic that public health experts have long anticipated and worried about? Is this the novel virus that will kill millions around the world, as pandemics did in 1918, 1957 and 1968? The short answer is it's too soon to tell.

"What makes this so difficult is we may be somewhere between an important but yet still uneventful public health occurrence here — with something that could literally die out over the next couple of weeks and never show up again — or this could be the opening act of a full-fledged influenza pandemic," said Michael Osterholm, a prominent expert on global flu outbreaks with the University of Minnesota.

"We have no clue right now where we are between those two extremes. That's the problem," he said.

Health officials want to take every step to prevent an outbreak from spiraling into mass casualties. Predicting influenza is a dicey endeavor, with the U.S. government famously guessing wrong in 1976 about a swine flu pandemic that never materialized.

"The first lesson is anyone who tries to predict influenza often goes down in flames," said Dr. Richard Wenzel, the immediate past president of the International Society for Infectious Diseases. But health officials are being asked to make such predictions, as panic began to set in over the weekend.

The epicenter was Mexico, where the virus is blamed for 86 deaths and an estimated 1,400 cases in the country since April 13. Schools were closed, church services canceled and Mexican President Felipe Calderon assumed new powers to isolate people infected with the swine flu virus.

International concern magnified as health officials across the world on Sunday said they were investigating suspected cases in people who traveled to Mexico and come back with flu-like illnesses. Among the nations reporting confirmed cases or investigations were Canada, France, Israel and New Zealand.

Meanwhile, in the United States, there were no deaths and all patients had either recovered or were recovering. But the confirmed cases around the nation rose from eight on Saturday morning to 20 by Sunday afternoon, including eight high school kids in New York City — a national media center. The New York Post's front page headline on Sunday was "Pig Flu Panic."
The concern level rose even more when federal officials on Sunday declared a public health emergency — a procedural step, they said, to mobilize antiviral medicine and other resources and be ready if the U.S. situation gets worse.

U.S. Centers for Disease Control and Prevention officials say that so far swine flu cases in this country have been mild. But they also say more cases are likely to be reported, at least partly because doctors and health officials across the country are looking intensively for suspicious cases.

And, troublingly, more severe cases are also likely, said Dr. Richard Besser, the CDC's acting director, in a Sunday news conference.

"As we continue to look for cases, we are going to see a broader spectrum of disease," he predicted. "We're going to see more severe disease in this country."

Besser also repeated what health officials have said since the beginning — they don't understand why the illnesses in Mexico have been more numerous and severe than in the United States. In fact, it's not even certain that new infections are occurring. The numbers could be rising simply because everyone's on the lookout. He also said comparison to past pandemics are difficult.
"Every outbreak is unique," Besser said.

The new virus is called a swine flu, though it contains genetic segments from humans and birds viruses as well as from pigs from North America, Europe and Asia. Health officials had seen combinations of bird, pig and human virus before — but never such an intercontinental mix, including more than one pig virus.

More disturbing, this virus seems to spread among people more easily than past swine flus that have sometimes jumped from pigs to people.

There's a historical cause for people to worry. Flu pandemics have been occurring with some regularity since at least the 1500s, but the frame of reference for health officials is the catastrophe of 1918-19. That one killed an estimated 20 to 50 million people worldwide.

Disease testing and tracking were far less sophisticated then, but the virus appeared in humans and pigs at about the same time and it was known as both Spanish flu and swine flu. Experts since then have said the deadly germ actually originated in birds.

But pigs may have made it worse. That pandemic began with a wave of mild illness that hit in the spring of 1918, followed by a far deadlier wave in the fall which was most lethal to young, healthy adults. Scientists have speculated that something happened to the virus after the first wave — one theory held that it infected pigs or other animals and mutated there — before revisiting humans in a deadlier form.

Pigs are considered particularly susceptible to both bird and human viruses and a likely place where the kind of genetic reassortment can take place that might lead to a new form of deadly, easily spread flu, scientists believe. Such concern triggered public health alarm in 1976, when soldiers at Fort Dix, N.J., became sick with an unusual form of swine flu.

Federal officials vaccinated 40 million Americans. The pandemic never materialized, but thousands who got the shots filed injury claims, saying they suffered a paralyzing condition and other side effects from the vaccinations. To this day, health officials don't know why the 1976 virus petered out.

Flu shots have been offered in the United States since the 1940s, but new types of flu viruses have remained a threat. Global outbreaks occurred again in 1957 and 1968, though the main victims were the elderly and chronically ill.

In the last several years, experts have been focused on a form of bird flu that was first reported in Asia. It's a highly deadly strain that has killed more than 250 people worldwide since 2003. Health officials around the world have taken steps to prepare for the possibility of that becoming a global outbreak, but to date that virus has not gained the ability to spread easily from person to person.

Source: http://news.yahoo.com/s/ap/20090427/ap_on_bi_ge/med_swine_flu_reality_check

วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2552

ออกกำลังสมอง ก่อนสมองจะเสื่อม


ออกกำลังสมอง ก่อนสมองจะเสื่อม โดย ศ.พญ.นันทิกา ทวิชาชาติ

สมองก็เหมือนร่างกายที่ต้องการการออกกำลังให้แข็งแรง คล่องแคล่ว ฉับไว โดยเฉพาะเมื่ออายุมากขึ้นยิ่งต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะการทำงานของสมองเสื่อมลงจนอาจเกิดภาวะสมองเสื่อม สูญเสียความทรงจำ หรือเกิดโรคอัลไซเมอร์ ในประเทศไทยพบว่าเมื่อปี 2548 มีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมสูงถึง 229,1000 คน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 450,200 คนในอีก 20 ปีข้างหน้า ดังนั้น เมื่ออายุมากขึ้น โอกาสเสี่ยงของการเกิดภาวะสมองเสื่อมยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การป้องกันที่ดีที่สุดคือการรักษาความดันโลหิตให้ปกติ อย่าให้มีไขมันในเลือดสูง ออกกำลังสมอง ไม่เครียด และเข้าร่วมสังคม จะช่วยกระตุ้นให้สมองทำงาน ไม่เสื่อมสภาพเร็ว

การออกกำลังสมอง หรือ " นิวโรบิกส์ เอ็กเซอร์ไซส์ " (Neurobics Exercise) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยได้ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนันทิกา ทิวชาชาติ จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกเล่าถึงถึงวิธีการออกกำลังสมองว่า การออกกำลังสมองเปรียบเทียบได้กับการออกกำลังของร่างกาย ที่จะต้องเคลื่อนไหวเพื่อใช้กล้ามเนื้อหลาย ๆ ส่วนให้ทำงานเชื่อมโยงกัน ส่งผลให้ร่างกายเราแข็งแรงขึ้น ดังนั้นการออกกำลังสมองจึงเป็นเสมือนการฝึกให้สมองส่วนต่าง ๆ มีการทำงานที่ประสานส ัมพันธ์กัน ทำให้ระบบการทำงานของสมองแข็งแรงและมีพลังขึ้น เพราะเมื่อฝึกออกกำลังสมองบ่อย ๆ สมองจะมีการหลั่งสารที่เรียกว่า นิวโรโทรฟินส์ ( Neurotrophins) ที่เปรียบเหมือน " อาหารสมอง " ที่ทำให้เซลล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของ " เดนไดรต์ " (Dendrite) ที่เชื่อมระหว่างเซลล์ประสาททำงานดีขึ้น จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้เนื้อเซลล์เจริญเติบโต และเซลล์สมองแข็งแรง

" เมื่อเซลล์สมองส่วนใหญ่แข็งแรง ก็จะทำให้เกิด " พุทธิปัญญา " (Cognitive Function) ที่หมายถึงความจำ สมาธิ การรับรู้ ที่ทำให้เกิดพฤติกรรมการแสดงออก รวมไปถึง " การทำงานของสมองระดับสูง " (Executive Function) คือ การคิด แก้ปัญหา การตัดสินใจ และการวางแผนที่ดีขึ้น ทำให้การทำงานของสมองยังคงประสิทธิภาพดี แข็งแรง และชะลอความเสื่อม เรียกง่าย ๆ ว่า " สมองฟิต " เหมือนการออกกำลังให้ร่างกายนั่นแหล่ะ " สำหรับหลักการของการออกกำลังสมอง หรือนิวโรบิกส์ เอ๊กเซอร์ไซส์ ศาสตราจารย์แพทย์หญิงนันทิกา อธิบายว่า เกิดจากการกระตุ้นให้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 (Sensory Orga ns) อันได้แก่ การได้ยิน ได้มองเห็น การได้กลิ่น การลิ้มรส และการสัมผัส รวมไปถึงส่วนสำคัญส่วนที่ 6 คือ ส่วนของ " อารมณ์ " (Emotional Sense) ได้ทำงานเชื่อมโยงกัน โดยใช้กิจกรรมในชีวิตประจำวันเดิมของเราเป็นตัวช่วย เพียงแต่ต้องเปลี่ยนวิธีการไปจากเดิม


" ยกตัวอย่างเช่น จากที่เคยชินกับการใช้มือขวาซึ่งเป็นข้างที่ถนัดหยิบจับทุกอย่าง ก็เปลี่ยนมาใช้มือซ้ายทำแทน เนื่องจากพฤติกรรมและการรับรู้ต่าง ๆ เกิดจากการทำงานประสานกันระหว่างสมองซีกซ้ายและขวา ถ้าเราใช้แต่มือข้างขวาทำทุกอย่าง สมองด้านซ้ายซึ่งบังคับมือขวาจะได้รับการกระตุ้นด้านเดียว แต่สมองส่วนขวาซึ่งบังคับมือซ้ายก็จะไม่ค่อยได้ทำงานและอาจจะเสื่อมไป ดังนั้นเมื่อเราฝึกทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยมือซ้าย ก็ช่วยให้สมองส่วนขวาได้รับการกระตุ้นและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพขึ้นด้วย

" การออกกำลังสมองไม่ยากอย่างที่คิด การออกกำลังสมองสามารถทำได้ด้วยตัวเองได้ มาลองทำดูกันนะคะ ถ้าอยู่บ้าน ลองทำกิจกรรมเหล่านี้ดู

- ปิดตาทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ปิดตาอาบน้ำ ปิดตาดูทีวี เพื่อเปลี่ยนความเคยชินในการรับข้อมูลจากประสาทสัมผัสเดิม ๆ เช่น เมื่อเราปิดตาดูทีวี แทนที่จะ " มองเห็น " เราก็จะ " ฟัง " และกระตุ้นความคิดว่า เรากำลังดูรายการอะไร หรือพิธีกรซึ่งเป็นเจ้าของเสียงนี้คือใคร

- ปิดไฟในห้องแล้วใช้มือคลำ เพื่อกระตุ้นประสาทในส่วน " สัมผัส " เชื่อมโยงกับความจำว่าสวิตซ์ไฟหรือสิ่งของภายในห้องอยู่ตรงไหน

- สลับกับกิจกรรมที่เคยทำตั้งแต่ตื่นนอน

จากที่เคยอาบน้ำก่อนกินข้าว ก็เปลี่ยนเป็นกินข้าวก่อนอาบน้ำ (แต่จะแปรงฟันก่อนก็ได้) เนื่องจากสมองจะใช้พลังในการทำสิ่งใหม่ ๆ มากกว่าตอนที่ทำกิจกรรมเดิม ๆ ซึ่งเคยชิน

ระหว่างเดินทางก็ฝึกสมองได้

- หากเปิดแอร์ระหว่างขับรถทุกวันก็ลองเปิดกระจกขับรถบ้าง แต่ก็ควรเลือกเส้นทางที่มีอากาศบริสุทธิ์หน่อยนะคะ เพื่อเชื่อมโยงประสาทรับกลิ่นและเสียงภายนอกให้ทำงานประสานกันมากขึ้น

- หากคุณต้องขับรถไปทำงานทุกวันก็ลองเปลี่ยนเส้นทางที่ใช้อยู่เดิมบ้าง อาจเป็นเส้นทางที่ใช้อยู่เดิมบ้าง เส้นทางใหม่ที่ทราบอยู่แล้ว หรือเส้นทางทดลองขับก็ได้ เพราะทั้งวิวทิวทัศน์ กลิ่น และเสียงของเส้นทางใหม่จะช่วยกระตุ้นทั้งสมองชั้นนอกและฮิปโปแคมปัสให้สร้างแผนที่เส้นทางชุดใหม่ขึ้นในสมอง

- เปลี่ยนวิธีการเดินทางบ้าง เช่น จากที่เคยขับรถก็อาจนั่งรถเมล์หรือรถไฟฟ้ามาทำงานแทน

ทำงานไปด้วย ฝึกสมองไปด้วยก็ได้

- เปลี่ยนตำแหน่งสิ่งของบนโต๊ะทำงานโดยเฉพาะถังขยะ เพราะความเคยชินจากการรู้ว่าจะหยิบจับอะไรตรงไหน ทำให้สมองเราทำงานน้อยลง พิสูจน์ได้จากเมื่อคุณย้ายตำแหน่งถังขยะในช่วงแรก ๆ คุณก็ยังทิ้งขยะลงที่เดิมซึ่งไม่ลงถังแล้ว นั่นเป็นเพราะสมองเคยชิน

- พูดคุยกับเพื่อนร่วมงานใหม่หรือคนที่ไม่ค่อยคุยด้วย เพื่อเติมข้อมูลใหม่ ๆ ให้กับสมอง ทั้งการจำลักษณะใบหน้า เสียงพูดหรืออุปนิสัยส่วนตัวของเพื่อนร่วมงานคนนั้น

- ชวนเพื่อนร่วมงานถกเถียง อภิปรายหรือพูดคุยในประเด็นที่ไม่เคยพูด เพื่อเปิดรับข้อมูลใหม่ ๆ

ลองฝึกดูนะคะ ค่อย ๆ ทำวันละเล็ก วันละน้อย ก็สามารถจะยืดอายุสมองของคุณให้แข็งแรงนานขึ้นค่ะ

จาก ผู้จัดการออนไลน์ 30 พฤษภาคม 2551 12:51 น.

วันจันทร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2552

Living with bad memories

It would have been nice if our memory was like a drawer, so that when er get up in the morning we can just pull out the drawer and take out a file. But it's not the way things are, so we can't just pick and choose our memories. Sometimes undesirable memories that we want to forget pop up in our mind and, funny enough, we tend to forget whatever we want to remember.

by Chiranan Pitpreecha, poet and writer, Daily Express, April 20, 2009, V. 2, No. 318.