วันอาทิตย์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2553
รู้จักกับโรคหลอดเลือดสมอง
โรคหลอดเลือดสมอง เป็นความผิดปกติของหลอดเลือดที่ทำหน้าที่ส่งผ่านเลือดไปเลี้ยงสมอง แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
หลอดเลือดสมองตีบ หรืออุดตัน ภาวะสมองขาดเลือด หรือ Ischemic stroke อันเนื่องมาจากหลอดเลือดอุดตันนั้นเป็นสาเหตุใหญ่ของโรคหลอดเลือดสมอง โดยร้อยละ 80 มีสาเหตุมาจากการอุดตันของลิ่มเลือด อันที่จริง การสร้างลิ่มเลือดนั้นเป็นกลไกที่สำคัญในการห้ามเลือด และซ่อมแซมหลอดเลือดที่เสียหาย แต่ลิ่มเลือดที่ก่อตัวขึ้นในหลอดเลือดหรือที่หนึ่งที่ใดอย่างผิดที่ผิดทาง นั้น สร้างความเสียหายอย่างมากเมื่อลิ่มเลือดนั้นไปกีดขวางไม่ให้เลือดไหลเวียน ผ่านหลอดเลือดได้อย่างสะดวก
ภาวะสมองขาดเลือดจากการอุดตันของลิ่มเลือด เกิดขึ้นได้ 2 กรณี
กรณี แรก คือเกิดลิ่มเลือดขึ้นในบริเวณอื่น ๆ และไหลไปตามกระแสเลือดจนไปอุดตันที่หลอดเลือดสมอง ส่วนอีกกรณีหนึ่ง คือมีลิ่มเลือดก่อตัวอยู่ในหลอดเลือดสมอง เวลาผ่านไป ลิ่มเลือดจะมีขนาดใหญ่ขึ้นจนอุดตันหลอดเลือดสมองในที่สุด นอกจากลิ่มเลือดแล้ว หลอดเลือดยังอาจตีบแคบได้เนื่องจากการสะสมตัวของไขมันในหลอดเลือดจนส่งผลให้ หลอดเลือดตีบลง มีความยืดหยุ่นน้อยลง และลดประสิทธิภาพในการลำเลียงเลือดลงไป
หลอดเลือดสมองปริแตก หรือฉีกขาด ส่งผลให้ปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองลดลงอย่างฉันพลัน ทั้งยังก่อให้เกิดเลือดออกในสมอง ส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมองอย่างร้ายแรง โรคหลอดเลือดสมองที่เกิดจากหลอดเลือดสมองแตกนั้น คิดเป็นประมาณร้อยละ 20 ของโรคหลอดเลือดสมองที่เกิดขึ้นทั้งหมด
สาเหตุที่นำไปสู่การปริแตกของหลอดเลือด เป็นไปได้ 2 กรณี คือ
การ ที่หลอดเลือดมีความเปราะบาง ณ บริเวณใดบริเวณหนึ่ง ประกอบกับผู้ป่วยมีภาวะความดันโลหิตสูง ส่งผลให้บริเวณที่เปราะบางนั้นโป่งพอง และแตกออก ส่วนอีกกรณีหนึ่ง ได้แก่การที่หลอดเลือดนั้นสูญเสียความยืดหยุ่นจากการสะสมของไขมันในหลอด เลือด ทำให้หลอดเลือดปริแตกได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ป่วยมีภาวะความดันโลหิตสูง
อาการของโรค
เมื่อ เลือดที่จะไปเลี้ยงสมองมีปริมาณลดลง หรือถูกจำกัด สมองส่วนนั้นจะไม่สามารถทำงานได้ตามปกติซึ่งจะมีอาการแสดงต่าง ๆ แต่จะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรง และตำแหน่งของสมองที่ขาดเลือด
อาการที่สำคัญของโรคหลอดเลือดสมองมีดังนี้ คือ
* ชาบริเวณแขน ขา ใบหน้า หรือบริเวณข้างใดข้างหนึ่งของร่างกาย
* สับสน มีปัญหาทางการสื่อสาร พูดไม่เข้าใจ
* เห็นภาพซ้อน ตามัว (เพียงข้างเดียว)
* เวียนศีรษะ หรือปวดศีรษะอย่างรุนแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ
* วิงเวียน ทรงตัวไม่อยู่ บางรายอาจเป็นลมหมดสติ
หาก คุณ หรือคนใกล้ชิดมีอาการดังที่กล่าวข้างต้น ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเป็นอาการของโรคหลอดเลือดสมอง และรีบจัดการส่งตัวผู้ป่วยให้ถึงมือแพทย์โดยทันที เนื่องจากอาการของโรคหลอดเลือดสมองนั้นเป็นอาการร้ายแรงซึ่งเป็นอันตรายถึง ชีวิต หรืออาจไม่ถึงชีวิต แต่ก็ส่งผลให้ผู้ป่วยกลายเป็นผู้พิการ ป่วยเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต และต้องใช้เวลาฟื้นฟูสุขภาพต่อไปอีกนาน
ปัจจัยเสี่ยง1
ปัจจัย ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองมีหลายประการประกอบกัน และส่วนมากมาจากสุขภาพโดยรวมและรูปแบบการดำเนินชีวิต ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง มีดังนี้
ความดันโลหิตสูง จัดว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ที่มีปัญหาความดันโลหิตสูง มีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นประมาณ 4 ถึง 6 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ที่มีความดันปกติ (120/80 มิลลิเมตรปรอท)
โรคเบาหวาน เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นอีก 3 เท่า นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานยังมีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาเรื่องอื่น ๆ อาทิ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และโรคหัวใจ ซึ่งเมื่อปัจจัยทั้งหมดนี้รวมกัน ความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองย่อมเพิ่มขึ้นไปด้วย
ไขมันในเลือดสูง คนส่วนมากทราบกันดีว่า ภาวะไขมันในเลือดสูงนั้นเป็นความเสี่ยงที่สำคัญของโรคหัวใจ หรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องก็คือ โรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเกิดจากภาวะไขมันสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือด กีดขวางการลำเลียงเลือด ลักษณะเช่นนี้ เป็นความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองเช่นเดียวกัน
การสูบบุหรี่และดื่มสุรา การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอีกประการหนึ่ง หากไม่คิดรวมปัจจัยเสี่ยงประการอื่น ๆ การสูบบุหรี่เพียงอย่างเดียว เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองขึ้นถึงร้อยละ 3.5 และความเสี่ยงดังกล่าวนี้จะลดลงทันทีเมื่อเลิกสูบบุหรี่
สำหรับ การดื่มสุราซึ่งส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ก็เป็นความเสี่ยงประการหนึ่งของหลอดเลือดสมองอยู่แล้ว การดื่มสุราในปริมาณมาก ๆ นั้นส่งผลให้เลือด “อ่อนตัว” เลือดออกง่าย แต่หยุดยาก เมื่อเกิดการปริแตกของหลอดเลือดในสมอง ประกอบกับความดันโลหิตสูง และภาวะเลือดออกง่ายจากการดื่มสุรา ความเสียหายต่อเนื้อเยื่อสมองย่อมต้องมากขึ้น2
นอก จากปัจจัยเสี่ยงหลัก ๆ ที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ได้แก่ การไม่ออกกำลังกาย ความอ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจ ความผิดปกติของลิ้นหัวใจ ประวัติครอบครัว และปัจจัยเรื่องอายุ
โรคหลอดเลือดสมอง ป้องกันได้
ปัจจัย เสี่ยงต่อโรคหลาย ๆ ประการ อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในหลอดเลือด การดื่มสุรา การสูบบุหรี่หรือการออกกำลังกายล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ด้วยการ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งสิ้น งดสูบบุหรี่ ลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ ควบคุมน้ำหนัก ปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหารให้เหมาะสม และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ย่อมจะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคลงไปได้มาก
ข้อมูล:
1 US National Institute of Neurological Disorders and Stroke
2 Medical University of South Carolina
มีอาการ อย่ารอช้า
อาการ ของโรคหลอดเลือดสมองเกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันที แต่ส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรง ผู้ป่วย หรือคนใกล้ชิดจำเป็นต้องตระหนักถึงอาการ และพาผู้ป่วยพบแพทย์ให้ได้อย่างทันท่วงที เมื่อพบเห็นผู้ป่วย หรือสงสัยว่ามีอาการของโรค ให้ผู้ป่วยหรือญาติสังเกตอาการดังต่อไปนี้
ยิ้ม และสังเกตว่าปากเบี้ยว หรือมุมปากตกหรือไม่
ยกแขนขึ้นทั้งสองข้าง ปล่อยค้างประมาณ 10 วินาที ดูว่ามีข้างใดข้างหนึ่งตก หรือยกไม่ขึ้นหรือไม่
ชวนพูด สังเกตว่าพูดไม่ชัด และมีปัญหาในการสื่อสารหรือไม่
อย่าเสียเวลา หากมีอาการดังกล่าวข้างต้น
Source: http://www.bumrungrad.com/BetterHealth/BrainHealthy/Stroke/Stroke1t.asp
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น