ASTVผู้จัดการออนไลน์ 8 ธันวาคม 2552 11:12 น.
โดย กุลิสรา กัณหะวัฒนะ
เป็นที่รู้จักกันดี สำหรับนักแสดงสาวใหญ่มากความสามารถ อัจฉราพรรณ ไพบูลย์สุวรรณ ผู้ยินดีเรียกตัวเองว่า ‘ป้าจิ๊’
นอกจากคร่ำหวอดในวงการแสดงมานานนับกว่าสิบปีแล้ว ระยะหลังมานี้ป้าจิ๊เป็นที่รู้จักในบทบาทครูสอนโยคะ พร้อมเผยแพร่ธรรมะทุกครั้งที่มีโอกาส
ยิ่งกว่านั้น เมื่อไม่นานมานี้ เธอก็เริ่มเปิดบ้านผ่านสื่อ ซึ่งทำให้หลายคนตะลึงว่า ป้าจิ๊แอบรวยมีบ้านไม้สักบนเนื้อที่ตั้ง 5 ไร่ แถมอยู่แถวชานเมือง..นครชัยศรี ทำเลทองราคาแพงเชียว
แอบซื้อที่ดินปลูกบ้านไม้สักมาเป็นสิบปีแล้ว
“แอบรวย ก็ยังดีกว่าแอบจน”
ป้าจิ๊ตอบด้วยอารมณ์ขันตามสไตล์ ก่อนย้อนเล่าถึงแรงดลใจซื้อที่ดินผืนนี้
“ซื้อมาสิบปีแล้ว ตั้งแต่หมู่บ้านเค้ามีโครงการ เห็นว่าราคาไม่แพง อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ พี่ๆ อักษรฯ วิศวะฯ ก็มาซื้อกัน”
เรียกว่า เพื่อนบ้านก็ล้วนเป็นพี่ๆ สมัยมหาวิทยาลัย มาซื้อที่ดินจัดสรรในหมู่บ้านสวนขวัญ ทว่าจริงๆ แล้ว หมู่บ้านนี้มีกฎให้ลูกบ้านสร้างบ้านด้วยปูนตามแบบ
“แต่เราไม่ชอบ ชอบบ้านไม้หลังเล็กๆ มากกว่า”
ป้าจิ๊จึงแหกกฎ ให้เพื่อนที่เป็นสถาปนิกรุ่นใหญ่ช่วยออกแบบ ซึ่งปกติสถาปนิกระดับอาจารย์ท่านนี้รับงานแต่ละครั้ง ค่าออกแบบแพงมาก
“บอกเขาว่าอยากได้บ้านไม้หลังเล็กๆ มีสวนรอบ มีลมพัดผ่าน เขาเลยจัดการออกแบบให้โดยไม่คิดเงิน และเราก็ได้เรือนไม้สักเพื่อเป็นสตูดิโอ ห้องน้ำห้องนอนห้องกินข้าวอยู่นี่ เวลาป้าไปคนเดียว กลางคืนเข้าไปอยู่ในห้องนอน ก็ไม่เดินไปไหนแล้ว เพราะมันมืดมาก
ตอนหลังมีเพื่อนมา เลยคิดว่ากระจายดีกว่า ปลูกใหม่เลยเป็นเรือนหมู่ไม้แยกออกไป เพราะบางทีเพื่อนต่างคนต่างมา คงต่างต้องการความเป็นส่วนตัว เราก็ใช้ประโยชน์ได้ด้วย อย่างเวลาปฏิบัติธรรม คนพิเศษมาก็จะได้พักเรือนหลังเล็ก”
มองไปแล้ว บ้านป้าจิ๊เหมือนรีสอร์ตเลยค่ะ นอกจากเรือนหลักซึ่งเป็นลักษณะห้องสตูดิโอขนาดใหญ่ ห้องนอนห้องน้ำห้องกินข้าวพร้อมสรรพในตัวเสร็จ ด้านหลังก็มีอีกเรือนสตูดิโอขนาดเล็กลงมาหน่อย แต่อุปกรณ์เครื่องอำนวยความสะดวกครบครัน ไม่นับเรือนหมู่ไม้ขนาดใหญ่ถัดไปด้านข้าง คล้ายบ้านไทยโบราณที่มีลานตรงกลาง ล้อมรอบด้วยเรือนไม้ห้องเล็กห้องน้อย ซึ่งแต่ละห้องล้วนตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้ของเก่า
“ตอนซื้อก็ไม่ได้คิดอะไร แต่พอเอามาวาง โห มันลงตัวพอดีเลย” ป้าจิ๊เล่าถึงของตกแต่งเครื่องใช้โบราณที่ค่อยๆ ช้อปเข้ามา
ณ เรือนหมู่ไม้นี้แหล่ะที่กลายเป็นลานอเนกประสงค์สำหรับผู้เยี่ยมเยือนได้พักผ่อนนั่งเล่นนั่งกินข้าว ตลอดจนทอดน่องเดินเล่นลงไปยังสระบัวขนาดใหญ่ ที่มีศาลาไทยสวยสงบตั้งอยู่ตรงข้าม
ไม่หวงบ้านไม่ห่วงต้นไม้แล้ว พร้อมเปิดบ้านสนับสนุนกิจกรรมธรรมะ
“เมื่อก่อนป้าจะหวงมาก ไม่อยากให้ใครเข้ามา เดี๋ยวมาเหยียบต้นม้งต้นไม้พัง เดี๋ยวนี้ไม่แล้ว” เพราะป้าจิ๊ได้ข้อคิดมาจาก พระธวัชชัย ธมมทีโป พระอาจารย์ใหญ่ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งป้าจิ๊นับถือมาก
“พระอาจารย์บอกว่า ต้นไม้มันพัง หรือหญ้าถูกเหยียบ มันฟุบไป แต่จิตใจของคนเฟื่องฟู มันยิ่งกว่าคุ้มนะป้าจิ๊ เห็นมั้ยคำของพระดีมั้ย ต้นไม้มันหักเดี๋ยวมันก็แตกใหม่ ถ้าเราเอาใจไปผูก เราก็จะห่วงโน่นห่วงนี่ และห่วงตัวเราเอง ไม่อยากให้ใครเข้ามาใกล้ตัวเรา แต่ตอนนี้สบาย เฉยๆ แล้วทุกครั้งที่มีคนเข้าไปในบ้าน เหมือนลมพัดผ่าน ผ่านมาแล้ววูบเดียวก็ผ่านไป สบายๆ”
ป้าจิ๊เริ่มปฏิบัติธรรมตั้งแต่อายุ 20 กว่าๆ ชนิดว่ามีเวลาว่างเมื่อไรมักไปเข้าคอร์สอบรมปฏิบัติธรรมตลอด
“ปฏิบัติธรรมแล้วรู้สึกดี แต่เรื่องบ้านนี้ตอนแรกไม่ได้คิดเลยนะว่า จะเอามาทำแบบนี้ อยากมีบ้านไว้อยู่เงียบๆ แต่พอสร้างเสร็จกลับมีไอเดียขึ้นมา เรียนพระอาจารย์ว่า ตัวเราอยู่แค่ตัวคนเดียว เราน่าจะเอาบ้านมาทำให้เกิดประโยชน์ พระอาจารย์ท่านก็บอกว่า ดี ทำให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
เลยเปิดให้เป็นที่ปฏิบัติธรรมแต่เฉพาะเพื่อน เฉพาะกรุ๊ปของคนที่เรารู้จัก หรือคนที่ติดต่อมา ไม่ใช่เปิดไว้ให้ใครนึกจะมาก็มา จริงๆ มันมีความเป็นบ้าน ก็ดีได้มาแบ่งปันความสุขความสงบกัน”
ตั้งแต่ปีที่แล้ว มีคนมาติดต่อขอใช้สถานที่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งป้าจิ๊เป็นคนสกรีน รวมทั้งอยู่ต้อนรับด้วยตนเอง
“มาธรรมะอย่างเดียวเท่านั้น ไม่เอาเรื่องบันเทิง มีคนมาขอถ่ายละคร ป้าก็ไม่ให้ หนูเห็นมั้ยเวลาคนมาปฏิบัติธรรม มากันเป็นร้อยแต่ไม่ยุ่งยากเลย มีมุมน้ำชา กาแฟ มุมของว่าง ห้องน้ำก็มี 6 ห้อง ต่างคนต่างเป็นระเบียบ เป็นไปตามระบบกันเอง”
ด้วยความสวยขลังบวกความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านและสวนแห่งนี้ ทำให้ผู้ที่ย่างเท้าเข้ามาล้วนเกรงขาม เกิดความรู้สึกเคารพสถานที่ ไม่กล้าส่งเสียงดัง ทั้งๆ ที่เจ้าภาพจัดงานหรือแม้แต่เจ้าของบ้านไม่ได้เขียนป้ายห้าม หรือกำชับออกกฎอะไรล่วงหน้าเลย
“ทุกวันนี้จ้างคนสวน 2 คนคอยดูแล” ป้าจิ๊หมายถึง สวนต้นไม้อันถูกออกแบบได้อย่างลงตัว พร้อมสระบัวขนาดใหญ่อีก 2 สระ
“มีคนถามเยอะเหมือนกันว่าทำนี่ทั้งหมดเท่าไร ป้าบอกไม่รู้สิไม่เคยรวมเงินเลย ไม่ใช่ไม่อยากตอบ แต่ไม่รู้จริงๆ เพราะทั้งหมดใช้เวลานานมาก”
หลังจากซื้อที่ดิน ไหนจะถมเกลี่ยแต่งที่ดินทำ landscape ขุดสระ ออกแบบทำสวน ปลูกต้นไม้ สร้างบ้านไม้สัก สร้างเรือนไม้เดี่ยว สร้างเรือนไม้หมู่ มิพักต้องเอ่ยถึงทะยอยซื้อโต๊ะเตียงเก้าอี้แอนติกอีก ป้าจิ๊ค่อยๆ สร้างด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง โชคดีเธอเป็นคนไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่สุรุ่ยสุร่าย ไม่มีภาระสามีลูก ยกเว้นเพียงแม่และบ่าวร่วม 10 คน ที่ป้าจิ๊ทำมรดกแบ่งทรัพย์สินเงินทองให้ทุกคนแล้ว ในฐานะอยู่ดูแลกันมานานจนเปรียบเสมือนญาติพี่น้องกันไปแล้ว
ใช้ชีวิตไม่ประมาทตั้งแต่สาว จึงมีทุกดั่งวันนี้
“ป้าจัดสรรเป็นไง และป้าถนอมตัวตั้งแต่อายุน้อยคือ ไม่ประมาท ไม่เที่ยว ไม่กิน ไม่เล่น ไม่สูบ มันก็เคยนะไปเที่ยวกลางคืน แต่กลับมาแล้วไม่มีความสุข สิ่งต่างๆ ที่ลากเราเข้าไปในสังคม มันจะทำให้จิตของเราฟุ้งกระจาย แล้วจิตก็ตก มันไม่เกิดประโยชน์ สู้กลับบ้านไปนั่งเล่นกับแม่ไม่ได้ มีความสุขกว่า ป้าอยู่นิ่งๆ ก็มีความสุขแล้ว”
ฟังแล้ว ช่างเป็นภาพตัดฉับกับงานแสดงในวงการมายาเหลือเกิน
“มันแค่อาชีพหนึ่ง ป้าไม่ยอมให้อาชีพมาครอบงำตัวเอง อยู่วงการมายาก็จะไม่เอามายามาครอบงำชีวิต
การปฏิบัติธรรมต่างหากเป็นทุกลมหายใจของชีวิต ช่วยให้เราทำงานอย่างมีสติ วงการบันเทิงเป็นเรื่องสนุกสนาน พร้อมตีกิเลสของเราให้ฟุ้ง แต่ป้าคงฝึกมานาน ป้าไม่สนใจเรื่องข้าวของ ป้าไม่สนใจแบรนด์เนม”
อีกอาชีพหนึ่งคือ สอนโยคะ ป้าจิ๊แฮปปี้กับงานนี้มากถึงขนาดรับหมายสอนทุกวัน
“เป็นครูสอนโยคะ ทุกวันไม่มีอด ทุกวันต้องได้ส่วยจากนักเรียน แต่ป้าไม่สะสมนะ ตอนนี้เราอยู่ในช่วงเวลาเคลียร์ทุกอย่างออกจากชีวิต เมื่อวันก่อนมีคนเอากระเช้ามาให้ มีเชอรี่ สตอเบอร์รี่ ป้าก็แกะและแบ่งให้คนอื่นหมดเลย เหลือให้ตัวเองแค่สตอเบอร์รี่ 5 ลูก เพราะต้องให้แม่กับเด็กที่บ้านอีก 4 คน แค่นี้พอ มันเป็นการฝึกตัดกิเลส นักเรียนบางคนชอบให้ขนม ชอบให้อะไรเราแบบเยอะๆ ป้าก็แบ่งให้ตัวเองเพียงพอกินนิดหน่อย แล้วแจกคนอื่นต่อ
เสื้อผ้า 5-6 เดือนต้องเคลียร์เลย เรียกมูลนิธิฯมารับไปเลย ไม่อยากสะสม ทุกวันนี้ใส่ชุดโยคะทั้งวันอยู่แล้ว เพราะงั้นมีเสื้อผ้านิดหน่อยก็พอ ใช้เงินแค่เลี้ยงครอบครัว”
และให้สังคม ดังกิจกรรมมอบทุนการศึกษา ซึ่งเปิดบ้านรองรับนักเรียน 450 คนเมื่อเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา
“ก็มานั่งฟังธรรมในบ้าน ให้ธรรมะกล่อมเกลาจิตใจ เด็กๆ ก็ได้วิ่งเล่นทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นสนาม หรือบนเรือน มาแล้วพวกเด็กๆ ก็มีความสุขกลับไป”
หลายคนอาจอยากเป็นเจ้าของเรือนหมู่ไม้ท่ามกลางธรรมชาติอันงดงามเหมือนป้าจิ๊ ทว่าเธอไม่ยึดติดค่ะ เธอประกาศชัดมอบให้มูลนิธิฯ เพื่อสร้างประโยชน์แก่สังคมมากกว่าเป็นเพียงสมบัติเชยชมส่วนตัว
“มันอยู่ที่ว่าเราจะจัดสรรชีวิตอย่างไร เรามีต้นทุนที่ดีแล้ว วันรุ่งขึ้นจากการมีชีวิตคือ ผลกำไรทั้งหมด แต่ทุกคนแสวงหาความขาดทุนให้ตัวเองตลอด มัวไปเก็บเกี่ยวความทุกข์ ตรงไหนมีทุกข์วิ่งเข้าหาทันที ความจริงความทุกข์มันมีแต่เราแค่มองมันผ่านไป เราทำตัวให้เป็นประโยชน์ มีคุณค่า เราก็จะมีความสุข เพราะกิจกรรมทั้งหมดมันห่อหุ้มเราอยู่ ถ้าเผื่อเราพูดถึงบุญกุศล มันก็ห้อมล้อมตัวเรา แล้วเราจะมีทุกข์ได้ไง”
ท้ายสุด ป้าจิ๊ฝากข้อคิดเพิ่มเติมแก่ท่านผู้อ่านว่า
“การขาดทุนของมนุษย์อีกอย่างคือ ไม่อยู่กับปัจจุบัน ป้าอยู่กับปัจจุบัน และทำปัจจุบันของป้าให้ดี ถ้าเราอยู่กับปัจจุบันเราจะไม่ขาดทุนเลย ใส่ข้อมูลดีๆ ให้กับชีวิต เหมือนกับใส่โปรแกรม เราใส่โปรแกรมไหนเราก็จะเป็นอย่างนั้น เราใส่โปรแกรมบวก เป็นไปไม่ได้ที่เราจะมีความทุกข์ เพราะเราใส่แต่เรื่องบวก เราอยู่ตรงไหน กระแสดีๆ ก็จะออกไปจากตัวเรา ผู้คนที่อยู่รอบตัวเรามีความสุข เราก็จะได้รับความสุขกลับมา”
ความสุขของป้าจิ๊ไม่ใช่การเป็นเจ้าของบ้านไม้สักบนเนื้อที่กว้างขวางใหญ่โต แต่อยู่ที่ว่า บ้านหลังนี้สามารถเป็นสถานที่พัฒนาจิตใจให้ผู้คนที่แวะเวียนเข้ามาได้แบ่งปันความสุขสงบ และนำธรรมะกลับไปใช้ในการดำเนินชีวิตต่างหากค่ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น