วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2553
หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท
ข้อมูลโดย : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ , Updated: 22/12/2009
สารพันวันละโรค วันนี้จึงขอเริ่มจากการแนะนำให้คุณผู้อ่านรู้จัก หมอนรองกระดูก อวัยวะรูปร่างคล้ายหมอนหนุนศีรษะ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 1 นิ้วเศษๆ และหนาราว 1 เซนติเมตร เชื่อมต่อระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อ ตั้งแต่คอไปจนถึงก้นกบ ทำหน้าที่รองรับแรงกดจากกระดูกสันหลังทั้งหมด
หมองรองกระดูก ยังมีไส้ด้านในอ่อนนุ่มอยู่ตรงกลาง เรียกว่า นิวเคลียส พัลโพสุส ในวัยเด็กไส้นุ่ม ๆ นี้จะมีลักษณะคล้ายเจล แต่จะแห้งลงเรื่อย ๆ ส่งผลให้คุณสมบัติการยืดหยุ่นลดลงและปริแตกฉีกง่ายตามวัยที่มากขึ้น เป็นสาเหตุของการเกิดโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
ด้วยความที่อวัยวะส่วนนี้อยู่ใกล้เส้นประสาท เมื่อหมอนรองกระดูกสันหลังแตกเคลื่อนจึงทำให้ นิวเคลียส พัลโพสุส ถอยหลังออกมากดทับเส้นประสาท เกิดอาการปวดร้าวตามเส้นประสาทที่ถูกกดทับ รู้สึกปวดหลัง ขา หรือแขน
โอกาสที่หมอนรองกระดูกสันหลังจะเคลื่อนทับเส้นประสาทนั้นเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ หากคุณเคลื่อนไหวร่างกายผิดวิธี ตกจากที่สูง ลื่นล้มหลังกระแทกพื้น มีน้ำหนักตัวมากจนทำให้กระดูกสันหลังต้องแบกรับน้ำหนักมากเกินไป อายุที่มากขึ้นทำให้เกิดความเสื่อม ขาดการออกกำลังกาย หรือการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างจำกัด เช่น นั่งทำงานเป็นเวลานานโดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ รวมทั้งภาวะตึงเครียด
สำหรับความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจะรุนแรงมากขณะไอหรือจาม โดยผู้ป่วยจะรู้สึกผ่อนคลายเมื่อได้นอนราบ แต่ถ้ามีอาการปวดหลังเจ็บร้างลงขา (ต่ำกว่าเข่า) เพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง ร่วมกับอาการชาและอ่อนแรง เกิดความผิดปกติกับระบบขับถ่าย เช่น ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ หรือท้องผูก แม้จะใช้ยาแก้ปวดหลังนานกว่า 1 สัปดาห์ก็ยังไม่หาย จำเป็นต้องรีบพบแพทย์โดยด่วน
ทั้งนี้ นายแพทย์วีระพันธ์ ควรทรงธรรม ผู้อำนวยการศูนย์ศัลยกรรมกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ยังกล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาการปวดดังกล่าวว่า เป็นหมู่โรคเกี่ยวกับหลังและคอ ในการวินิจฉัยของแพทย์จะพบว่า อาการปวดนั้นจะเกิดขึ้นกับ 2 บริเวณ ประกอบด้วย ช่วงเอว-ก้นกบ จะลามลงไปที่ขา และช่วงคอ-สะบัก-หัวไหล่ ซึ่งความเจ็บปวดจะแผ่ซ่านไปที่แขน
ส่วนการรักษาโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทจะเป็นอย่างไรนั้น พรุ่งนี้ตามอ่านกันต่อใน ภาษาหมอ.
takecareDD@gmail.com
ที่มาข้อมูล : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น