เดลินิวส์ วันพุธ ที่ 20 เมษายน 2554
“คนทั้งหลายคิดหมายไว้อย่างใด ต่อมากาลก็กลับกลายไปเป็นอย่างอื่น.ความพลัดพรากจากกันก็เป็นอย่างนี้แหละ. ดูเถิดกระบวนความเป็นไปของโลก แม้จะมีคนอยู่ได้ถึงร้อยปีหรือเกินกว่านั้น เขาก็ต้องพลัดพรากจากหมู่ญาติ ต้องทิ้งชีวิตไว้ในโลกนี้อยู่ดี.
“เพราะฉะนั้น สาธุชนสดับคำสอนของท่านผู้ไกลกิเลสแล้ว พึงระงับความคร่ำครวญรำพันเสีย. เห็นคนล่วงลับจากไปก็ทำใจได้ว่าผู้ล่วงลับไปแล้ว เราจะขอให้เป็นอยู่อีกย่อมไม่ได้. ธีรชน คนฉลาด มีปัญญาเป็นบัณฑิต พึงระงับความโศกเศร้าที่เกิดขึ้นแล้วได้โดยฉับพลัน เหมือนเอาน้ำดับไฟที่ลุกลาม และเหมือนลมพัดปุยนุ่น”
“ผู้ใฝ่สุขแก่ตัว พึงระงับความคร่ำครวญรำพัน ความโหยหาและโทมนัสเสีย, พึงถอนลูกศรที่เสียบตัวทิ้งไป. ผู้ที่ถอนลูกศรได้แล้วเป็นอิสระ ก็จะประสบความสงบใจ. จะผ่านพ้นความโศกเศร้าไปได้หมด กลายเป็นผู้ไร้โศกเย็นใจ”
“มนุษย์นี้ ตั้งแต่เริ่มเกิดอยู่ในครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นกลางวันหรือกลางคืน เมื่อเริ่มชีวิตขึ้นมาแล้ว ก็มีแต่จะบ่ายหน้าไป ไม่หวนหลังกลับคืน. คนทั้งหลายถึงจะพรั่งพร้อมด้วยกำลังพล จะต่อสู้ให้ไม่แก่ไม่ตาย ก็ไม่ได้, ปวงสัตว์ล้วนถูกชาติและชราย่ำยี, เพราะเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงมีความคิดว่าจะบำเพ็ญธรรม. ราชา
ผู้เป็นรัฏฐาธิบดีอาจเอาชนะกองทัพ ซึ่งมีพลทั้งสี่เหล่า (ช้าง ม้า รถ ราบ) ที่น่าสะพรึงกลัวได้ แต่ไม่สามารถเอาชนะ พญามัจจุราช... ราชาบางพวกแวดล้อมด้วยพลช้างและพลม้า พลรถ และพลราบ แล้วหลุดพ้นเงื้อมมือข้าศึกไปได้ แต่ไม่อาจตีหักให้พ้นพญามัจจุราช...ราชาทั้งหลายผู้แกล้วกล้า สามารถหักค่ายทำลายข้าศึกมากมาย ได้ด้วยพลช้าง พลม้า พลรถ และพลราบ แต่ไม่อาจย่ำยีพญามัจจุราช ฯลฯ มนุษย์ทั้งหลาย ย่อมบวงสรวงทำให้ยักษ์ ปิศาจ หรือเปรตทั้งหลาย แม้ที่เกรี้ยวกราด
แล้วยอมสงบพิโรธได้ แต่จะทำให้พญามัจจุราชยินยอมหาได้ไม่ ฯลฯ ผู้ต้องหา ทำผิดฐานประทุษร้ายต่อองค์ราชา หรือต่อราชสมบัติ ก็ดี ผู้ร้ายที่เบียดเบียนประชาชน ก็ดี ยังมีทางขอให้พระราชาทรงผ่อนปรนพระราชทานอภัยโทษได้ แต่จะทำให้พญามัจจุราชผ่อนผันยอมตามหาได้ไม่... จะเป็นกษัตริย์ก็ตาม พราหมณ์ ก็ตาม จะร่ำรวย มีกำลังอิทธิพล หรือมีเดชศักดาแค่ไหน พญามัจจุราชก็ไม่เห็นแก่ใครเลย เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงมีความคิดว่าจะบำเพ็ญธรรม ฯลฯ ธรรมนั่นแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม, ธรรมที่ประพฤติดีแล้วย่อมนำสุขมาให้, นี้เป็นอานิสงส์ในธรรมที่ประพฤติดีแล้ว. ผู้ประพฤติธรรม ย่อมไม่ไปสู่ทุคติ. ธรรมกับอธรรม สองอย่างนี้ จะมีผลเสมอกันก็หาไม่, อธรรมย่อมนำไปสู่นรก, ธรรมย่อมให้ถึงสุคติ”
“เปรียบเหมือนว่า ภูเขาใหญ่ศิลาล้วนสูงจดท้องฟ้า กลิ้งเข้ามารอบด้าน ทั้งสี่ทิศ บดขยี้สัตว์ทั้งหลายเสีย ฉันใด ความแก่และความตายก็ครอบงำสัตว์ทั้งหลาย ฉันนั้น, ทั้งกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์และศูทร ตลอดจนจัณฑาลและคนเก็บกวาดขยะ ชราและมรณะย่อมย่ำยีทั้งหมด ไม่ละเว้นใครเลย. ณ ที่นั้น ไม่มี ยุทธภูมิสำหรับพลช้าง สำหรับพลรถ หรือสำหรับพลราบ. จะใช้เวทมนตร์ต่อสู้หรือเอาทรัพย์สินจ้าง ก็ไม่อาจเอาชนะได้. เพราะฉะนั้น คนฉลาด (บัณฑิต) เมื่อมองเห็นประโยชน์ (ที่แท้) แก่ตน พึงปลูกฝังศรัทธาในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์. ผู้ใดประพฤติธรรมด้วยกาย วาจา ใจ ผู้นั้นย่อมเป็นที่สรรเสริญในโลกนี้, จากไปแล้ว ก็บันเทิงในสวรรค์”
“ชาวโลกถูกมัจจุราชคอยประหัตประหาร ถูกชราปิดล้อมไว้ ถูกลูกศรแห่งตัณหาทิ่มแทง พล่านไปด้วยความปรารถนาตลอดทุกเวลา. ชาวโลกถูกมัจจุราชห้ำหั่น ถูกชราล้อมไว้ ไม่มีอะไรต้านทานได้ จึงเดือดร้อนอยู่ร่ำไป ราวกะเป็นคนร้ายที่ถูกลงโทษ. ความตายความเจ็บไข้และความแก่ เป็นเหมือนไฟ ๓ กองที่คอยไล่ตาม, กำลังที่จะรับมือได้ก็ไม่มี แรงเร็วที่จะวิ่งหนีก็ไม่พอ (เพราะฉะนั้น) เวลาแต่ละวันอย่าให้ผ่านไปเปล่า จะน้อยหรือมากก็ให้ได้อะไรบ้าง เพราะวันคืนล่วงไป ชีวิตของคนก็พร่องลงไปจากประโยชน์ที่จะทำ. จะเดินอยู่ก็ตาม ยืนอยู่ก็ตาม นั่งหรือนอนอยู่ก็ตาม วาระสุดท้ายก็ใกล้เข้ามา ๆ, ท่านจึงไม่ควรประมาทเวลา.”
ว.วชิรเมธี
สถาบันวิมุตตยาลัย
Source: http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&contentId=133684&categoryID=671
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น