เดลินิวส์ วันพุธ ที่ 27 เมษายน 2554
ในปัจจุบันสภาพการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การเมือง และความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่าง ๆ ทางสังคมทำให้มนุษย์ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทั้งทางบวกและทางลบ ทางบวกก่อให้เกิดความสะดวกสบายและประหยัดเวลา ในทางลบทำให้มนุษย์มีรูปแบบวิถีชีวิตเอียงไปทางวัตถุ ทำให้ระบบครอบครัว ชุมชม สังคมและวัฒนธรรมอ่อนแอลง ขาดพลังความเข้มแข็งทางจิตใจ ต้องดิ้นรน แข่งขันและต่อสู้กันมากโดยหวังจะได้รับความพึงพอใจหรือเข้าถึงความสุขซึ่งใน ทางตรงกันข้ามกลับทำให้มนุษย์ต้องพบกับความทุกข์และมีปัญหาด้านสุขภาพจิตมาก ขึ้น
เหล่านี้เป็นเพราะมนุษย์ลืมไปว่าความเจริญก้าวหน้าในด้านวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีทางด้านสังคมเป็นการตอบสนองชีวิตเพียงด้านเดียวคือด้านสังคมในขณะ ที่มนุษย์ละเลยชีวิตอีกด้านหนึ่งคือด้านธรรมชาติ ดังนั้นการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขจะต้องเป็นการดำเนินชีวิตที่ตอบสนอง ชีวิตทั้งสองด้านคือด้านสังคมและธรรมชาติอย่างสมดุล
พระพุทธศาสนามองว่ามนุษย์มีชีวิตสองด้านคือด้านหนึ่งเป็นด้านธรรมชาติอีก ด้านหนึ่งเป็นด้านสังคม ในด้านธรรมชาติชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติ คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นต้น ส่วนในด้านที่เป็นสังคมมนุษย์จะต้องเป็นบุคคลที่อยู่ในสังคม เป็นส่วนประกอบของสังคม ถ้ามองในแง่นี้มนุษย์จะเป็นตัวเชื่อมกลางระหว่างธรรมชาติกับสังคม
พระพุทธศาสนายังเน้นย้ำอีกว่าถ้าหากว่ามนุษย์จะดำรงชีวิตให้มีความสุขจำเป็น ที่จะต้องดำรงชีวิตให้สอดคล้องหรือไม่ให้แปลกแยกจากธรรมชาติ ต้องเข้าถึงทั้งความจริงทั้งสองระดับ คือ ๑) ความจริงทางสังคม (สมมติบัญญัติ) ซึ่งเป็นความจริงที่ทางสังคมตกลงร่วมกันหรือยอมรับร่วมกันซึ่งพระพุทธศาสนา เรียกว่า “สมมติสัจ” ๒) ความจริงตามสภาวะ (สภาวะสัจ) คือความจริงตามสภาวะหรือตามธรรมชาติ ซึ่งความจริงชนิดนี้เป็นกฎธรรมชาติ เช่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นต้น เป็นความจริงที่มีอยู่ตามธรรมชาติเหนือการสมมติของมนุษย์
เบื้องหลังความจริงทางสังคม (สมมติบัญญัติ) มีความจริงทางธรรมชาติ (สภาวะสัจ) รองรับ สมมติบัญญัติเป็นตัวประสานความจริงเข้ากับสังคมหรือเป็นสิ่งที่นำเข้าสู่ ความจริงในระดับสภาวะ เป็นเสมือนเปลือกที่ห่อหุ้มความจริงในระดับสภาวะ สมมติบัญญัติเป็นที่มาของอารยธรรมของมนุษย์ ชีวิตและสังคมจะเป็นไปได้ด้วยดีต้องมีสมมติบัญญัติคือสมมติที่ออกมาในรูปของ บัญญัติเป็นฐาน ซึ่งสมมติที่ออกมาในรูปของบัญญัติ เช่นการบัญญัติชื่อคนแล้วยอมรับร่วมกันในสังคม การบัญญัติกฎกติกา (กฎหมาย) แล้วยอมรับร่วมกันในสังคม การให้มูลค่าของเงินทองแล้วตกลงร่วมกันในสังคม เป็นต้น
สมมติบัญญัติจึงเป็นเทคโนโลยีทางสังคมเพื่อให้มนุษย์เข้าถึงความจริงตาม ธรรมชาติ แต่ในขณะเดียวกันมนุษย์จะต้องใช้สมมติบัญญัติเพื่อเอาประโยชน์จากความจริง ธรรมชาติ ไม่ติดอยู่เพียงแค่สมมติบัญญัติเพราะชีวิตมนุษย์มีสองด้านดังที่กล่าวแล้ว
ตัวอย่างที่ชัดเจนในการใช้สมมติบัญญัติทางสังคมเพื่อเข้าถึงความจริงทาง ธรรมชาติ เช่นการกระทำที่มีผลสองสถานะ คือสถานะหนึ่งได้แก่การกระทำเพื่อผลในระดับบัญญัติทางสังคม (สมมติบัญญัติ) เช่น ทำงานเพื่อเงินเดือน แต่มีอีกสถานะหนึ่งที่รองรับผลในระดับบัญญัติทางสังคมคือผลในระดับสภาวะ ได้แก่ ทำงานเพื่อผลสำเร็จของงานไม่ใช่เพียงแค่เงินเดือน เป็นต้น ซึ่งถ้าหากว่าเมื่อใดก็ตามมนุษย์ไม่ใช้สมมติบัญญัติเพื่อเข้าถึงธรรมชาติคือ ทำงานเพียงเพื่อเงินเดือนโดยไม่คำนึงถึงผลที่แท้จริงของงานที่อยู่เบื้อง หลังเงินเดือนเมื่อนั้นมนุษย์ก็จะเกิดการแปลกแยกจากธรรมชาติ ก็จะเกิดวิปริตขึ้นทั้งในจิตใจ ชีวิตและสังคม ดังนั้นสมมติบัญญัติจึงเป็นตัวประสานเพื่อให้มนุษย์เอาประโยชน์จากธรรมชาติ
การปฏิบัติต่อสมมติบัญญัติที่ถูกต้องคือมนุษย์ซึ่งเป็นปัจจัยตัวสำคัญใน กระบวนการของธรรมชาติเพราะเป็นตัวอยู่กลางระหว่างธรรมชาติและสังคมไม่ควร เห็นสมมติว่าเป็นเรื่องเหลวไหลแต่ขณะเดียวกันก็ไม่ควรหลงใหลในสมมติ ต้องใช้ปัญญาให้เข้าใจตามหลักทางพระพุทธศาสนาที่มองว่าสมมติบัญญัติก็คือ ความจริงแต่เป็นความจริงในระดับหนึ่งซึ่งยังมีความจริงที่เหนือขึ้นไปอีก ได้แก่ความจริงในระดับสภาวะที่เป็นแก่นแท้ที่เป็นเป้าหมายสำคัญของชีวิต ต้องใช้ปัญญาที่เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งในกฎธรรมชาติ และเจตนามีคุณสมบัติทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่วเป็นเครื่องมือในการเข้าใจ ธรรมชาติและสังคม
มนุษย์ที่เข้าใจธรรมชาติตรงนี้จึงสามารถดำรงตนให้สอดคล้องกับธรรมชาติเพื่อ ชีวิตที่เป็นสุข สามารถใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสนองเจตนาและปัญญาในการเข้าไปร่วมกระบวน การธรรมชาติให้เกิดผลที่ตนเองต้องการและสามารถดำรงอยู่โดยไม่ให้แปลกแยกทั้ง สองด้านคือธรรมชาติสังคม
กล่าวโดยสรุปในฐานะที่มนุษย์เป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของธรรมชาติ มนุษย์กับธรรมชาติมีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้นตั้งแต่มนุษย์ปรากฏขึ้นมา บนพื้นโลก ธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ที่ไม่อาจแยกตัวออกจากกันได้ แต่ในขณะเดียวกันมนุษย์เองก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของสังคมเช่นกัน ดังนั้นเพื่อความงอกงามแห่งจิตใจหมายถึงการที่จิตใจของบุคคลประกอบด้วย คุณธรรม จริยธรรม รวมทั้งมีความฉลาดในการกระทำที่เกื้อกูลแก่ชีวิตและจิตใจให้งดงามเพื่อให้ จิตเป็นอิสระจากทุกข์
มนุษย์จึงจำเป็นที่จะต้องเอาปัญญาและเจตนาที่ดีไปเป็นปัจจัยร่วมในกระบวนการ ของกฎธรรมชาติเพื่อให้เกิดผลดีแก่ชีวิตและสังคมพร้อมทั้งใช้เทคโนโลยีทาง สังคมและเทคโนโลยีทางด้านจิตใจเป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิตอย่างมีความ สุขตามหลักพระพุทธศาสนา ต้องรู้และเข้าใจความจริงทางธรรมชาติและความจริงทางสังคมอย่างถูกต้องและ จริงจังด้วยปัญญาโดยยึดหลักพระพุทธศาสนาที่สอนให้มนุษย์ดำเนินชีวิตให้ถูก ต้อง และมีดุลยภาพระหว่างสังคมและธรรมชาติเพื่อเข้าถึงความสุขที่แท้จริง.
ผศ.ดร.พระมหาทวี มหาปญฺโญ (ละลง)
Source: http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=671&contentID=135051
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น