วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2554
พัฒนาการของการฝังเข็มในประเทศจีน
เวชกรรมฝังเข็มเป็นศาสตร์การรักษาโรคที่มีกำเนิดมาจากประเทศจีน จากหลักฐานทางโบราณ คดีียุคหินใหม่ มีการขุดค้นพบเข็มรูปร่างต่างๆที่ฝนทำมาจากเศษหิน กิ่งไม้, เศษกระดูก ,กระเบื้องดินเผา, โลหะสำริด,ทองแดง,เหล็ก,ทองคำและเงิน เป็นต้น สำหรับใช้ปักแทง กดนวด ร่างกาย และกรีดหนอง แสดงให้เห็นว่า บรรพบุรุษของชาวจีนในยุคโบราณ รู้จักใช้เข็ม รักษาโรค มาเป็นเวลายาวนาน อย่างน้อยก็ 4,000 ปีมาแล้ว
บรรดานักโบราณคดีและแพทย์จีน ได้เสนอข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับการกำเนิดของการฝังเข็มเอาไว้ดังนี้ว่า…
มนุษย์เราคงได้เรียนรู้และสังเกตพบว่า เมื่อมีความเจ็บปวด จากโรค ณ บริเวณหนึ่งๆ หากทำการกดนวดหรือแทงกระตุ้น “จุด” บางแห่งของร่างกายแล้ว จะสามารถบรรเทา ความเจ็บปวดหรืออาการ ไม่สบายต่างๆได้ผลดีกว่าจุดอื่นๆ เมื่อผ่านการสั่งสม ประสบการณ์ ถ่ายทอดต่อๆกันมาหลายชั่วอายุคน มนุษย์จึงเกิดจินตภาพของ “จุดกระตุ้นที่สามารถรักษาโรค” ขึ้นมาได้ในที่สุด
การฝังเข็มถือเป็นวิธีการรักษาโรคที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวจีน นอกเหนือไปจากการรักษา ด้วยยาสมุนไพรและการนวด ในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินเช่น หมดสติ เป็นลม ชักกระตุก และอาการเจ็บปวด ต่างๆ การฝังเข็มจะให้ผลการรักษาได้รวดเร็วกว่าการใช้ยาสมุนไพรเป็น อย่างมาก ดังนั้น ในแต่ละยุคสมัยหรือในแต่ละราชวงศ์ของจีน วิชาฝังเข็มมักจะได้รับการสนับสนุนส่งเสริมให้มีการค้นคว้าทฤษฎีและวิธีการใหม่ๆอยู่เสมอ
ในสมัยสงครามระหว่างแคว้นเมื่อประมาณ 2,000 กว่าปีก่อนนั้น บรรพบุรุษชาวจีนได้ร่วมกัน นิพนธ์ คัมภีร์อายุรเวทของกษัตริย์หวงตี้ (หวงตี้เน่ยจิง) อันเป็นตำราแพทย์ที่เป็นรากฐานทฤษฎีการแพทย์จีนและวิชาฝังเข็มเอาไว้แล้วอย่างสมบูรณ์ ซึ่งบรรพบุรุษชาวจีนก็ได้ใช้ความรู้เหล่านี้ มาต่อสู้กับโรคภัย ไข้เจ็บที่เบียดเบียนประชาชน และพัฒนาวิชาฝังเข็มให้เจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับ ดังเช่น
ในยุคสงครามระหว่างแคว้นเปี่ยนเช่ แพทย์ผู้มีชื่อเสียงและมีฝีมือสูงส่งได้นิพนธ์ คัมภีร์ หนานจิง หรือคัมภีร์ “ว่าด้วยปัญหา” อันเป็นการพัฒนา ความรู้ในคัมภีร์หวงตี้เน่ยจิงให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น
ยุคสมัยสามก๊ก ฮูโต๋ ซึ่งเป็นแพทย์ที่มีชื่อเสียงที่สุด ได้พัฒนาคิด สร้างวิธีการฝังเข็มแบบฮูโต๋ขึ้น ซึ่งมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคได้ผลที่ดี มากวิธีหนึ่งและยังเป็นที่นิยมใช้มากระทั่งในปัจจุบัน ฮูโต๋ยังได้เขียนตำรา วิชาแพทย์เอาไว้อีกมากมาย เสียดายว่าส่วนใหญ่ได้สูญหายไปเสียแล้ว
ตอนปลายสมัยสามก๊ก หวงฝู่มี่ ได้ค้นคว้าตำราแพทย์ที่มีอยู่กระจัดกระจายในขณะนั้น แล้วทำการรวบรวมให้เป็นระบบ เรียบเรียงเป็น “ตำราฝังเข็มเล่ม 1 และ 2” ทำให้วิชาฝังเข็มได้รับการถ่ายทอดต่อเนื่องมายัง ชนรุ่นหลัง ถือเป็นคุณูปการที่สำคัญมากของหวงฝู่มี่
ยุคสมัยราชวงศ์หนานเฉา แพทย์จีนได้มีการวาดรูปภาพกายวิภาค ร่างกายมนุษย์ มาแสดงเส้นทางเดินของลมปราณและตำแหน่งจุดฝังเข็ม ทำให้การเรียนวิชาฝังเข็มมีความสะดวกและเข้าใจได้ง่ายขึ้น ช่วยให้ วิชาฝังเข็มได้แพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวาง
ในสมัยราชวงศ์ถัง การแพทย์จีนได้เจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมาก การฝังเข็มถือว่าเป็นวิธีการรักษาโรคที่สำคัญ มีการจัดตั้งแผนกฝังเข็มใน ราชสำนักขึ้นมาโดยเฉพาะ นอกจากจะมีการบริการรักษาโรคแล้ว แผนกนี้ยังมีหน้าที่ในการสอนและ ฝึกอบรมวิชาฝังเข็มอีกด้วย
สมัยราชวงศ์เป่ยซ่ง หวังเหวยอี้ ได้รวบรวมตำราฝังเข็มที่มีอยู่กระจัดกระจายและมีเนื้อหา ที่ไม่ถูกต้อง ให้เป็นระบบ มีการสร้างหุ่นทองแดงรูปร่างเท่าคนจริง เป็นหุ่นจำลองสำหรับให้นักเรียนฝึกหัดฝังเข็ม ซึ่งช่วยกระตุ้นให้วิชาฝังเข็มได้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว
วิชาฝังเข็มได้พัฒนารุ่งเรืองมาจนถึงขีดสูงสุดในสมัยราชวงศ์หมิง ในยุคนี้มีการเรียบเรียงตำราฝังเข็มที่สำคัญออกมาหลายเล่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ตำราเจินจิวต้าเฉิง (Compendium of Acupuncture and Moxibustion) ของ หยางจี้โจว นอกจากนี้ ยังมีการคิดวิธีกระตุ้นเข็มแบบต่างๆเพิ่มเติมจากเดิม เป็นจำนวนมากถึง 20 กว่าวิธี มีการรวบรวมจุดฝังเข็มนอกเส้นลมปราณ ให้เป็นระบบและมีการพัฒนาการรมยาด้วยสมุนไพร เป็นต้น ซึ่งถือได้ว่า นี่คือ ยุคทองของวิชาฝังเข็มของจีน
ตอนปลายของราชวงศ์หมิง จักรพรรดิทรงอ่อนแอไร้ความสามารถในการปกครอง ทำให้บ้านเมืองเกิดความระส่ำระสาย เป็นเหตุให้มีการก่อกบฎเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ราชวงศ์หมิงจึงไปขอความช่วยเหลือจากชนเผ่าแมนจู ให้ยกกองทัพมาช่วยปราบกบฎ ฝ่ายแมนจูเห็นเป็นโอกาส จึงเข้ามายึดนครหลวงปักกิ่ง แล้วสถาปนาราชวงศ์ชิงขึ้นปกครองประเทศจีนในเวลาต่อมา
ชาวแมนจูนับถือคำสอนของลัทธิขงจื้อที่ถือว่า การเปลือยกายหรือเปิดเผยส่วนใด ส่วนหนึ่งของร่างกาย ถือเป็นเรื่องที่น่าอับอาย ร่างกายของคนเราเป็นสิ่งล้ำค่าที่บิดามารดาสร้างหรือมอบมาให้ การยินยอมให้ของมีคมหรือวัตถุแปลกปลอมล่วงล้ำทำร้ายต่อร่างกาย ถือเป็นบาปต่อบุพการี ทำให้ผู้คนไม่นิยมมารักษาด้วยวิธีฝังเข็ม เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่น่าละอายที่ต้องเปิดเผยร่างกายให้แพทย์ทำการปักเข็ม
กระทั่งถึงปีค.ศ.1822 ในรัชสมัยจักรพรรดิเต้ากวงแห่งราชวงศ์ชิง ทรงมีพระบรมราชโองการประกาศยกเลิกแผนกฝังเข็มรมยา ห้ามทำการรักษาโรคด้วยวิธีนี้ในราชสำนักตลอดไป การฝังเข็มจึงได้แต่เสื่อมความนิยมลงเป็นลำดับ
นับตั้งแต่ปีค.ศ.1840 ภายหลังจากที่จีนพ่ายแพ้สงครามฝิ่นให้แก่อังกฤษ บรรดามหาอำนาจต่างชาติได้เข้ามาแผ่ขยายอิทธิพลในประเทศจีน โดยได้นำเอาวิทยาการทางการแพทย์มาเผยแพร่ด้วย และเป็นที่ยอมรับในหมู่ชาวจีนได้ในเวลาอันรวดเร็ว ยิ่งทำให้การแพทย์แผนโบราณจีนเสื่อมความนิยมลงไปอีก
ภายหลังการสถาปนาระบอบสาธารณรัฐในปีค.ศ.1911 มาจนกระทั่งในสมัยที่พรรคก๊กมินตั๋งขึ้นปกครองประเทศจีน ประเทศจีนก็เปลี่ยนมายึดถือการแพทย์แผนตะวันตกเป็นระบบการแพทย์หลักของประเทศอย่างเต็มตัว การแพทย์แผนโบราณรวมทั้งการฝังเข็มจึงได้รับการดูถูกเหยียดหยามมากยิ่งขึ้น เสื่อมความนิยมลงไปเรื่อยๆ คงเหลือเป็น วิธีการรักษาโรคเล็กๆน้อยๆ ให้แก่ประชาชนผู้ยากจนในชนบทเท่านั้นเอง
ในปีค.ศ.1927 พรรคก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้เกิดความขัดแย้งกันขึ้นอย่างรุนแรง พรรคก๊กมินตั๋งยกกำลังเข้าปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์จีน ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนที่มีเหมาเจ๋อตงเป็นผู้นำ จำต้องหลบหนีไปตั้งฐานที่มั่นในชนบท เพื่อสู้รบกับพรรคก๊กมินตั๋ง
ท่ามกลางความยากลำบากและขาดแคลนวัตถุรวมทั้งเวชภัณฑ์ในเขตชนบท เหมาเจ๋อตงและพรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงเห็นความสำคัญของการแพทย์แผนโบราณของจีนเป็นอย่างมาก สนับสนุนให้มีการใช้ยาสมุนไพรและการฝังเข็มรักษาโรค วิชาฝังเข็มจึงสามารถดำรงอยู่ได้และมีการพัฒนา ในเวลาต่อมา
ปีค.ศ.1949 เมื่อได้รับชัยชนะในสงครามปลดปล่อยและสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังคงถือนโยบายสนับสนุนการแพทย์แผนโบราณจีนอยู่ต่อไป และเรียกร้องให้ประสานเข้ากับการแพทย์แผนตะวันตกอีกด้วย
ในเดือนกรกฎาคมปีค.ศ.1951 จีนก็ได้ก่อตั้งสถาบันวิจัยการฝังเข็มรมยาขึ้น เป็นการเริ่มต้นพัฒนาวิชาฝังเข็มอย่างจริงจัง จีนได้ส่งเสริมการค้นคว้าวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์และการแพทย์สมัยใหม่ที่เกี่ยวกับวิชาฝังเข็มเป็นอย่างมาก การวิจัยค้นคว้าได้ทำกันอย่างลึกซึ้งทั้งในสัตว์ทดลองและในมนุษย์ ครอบคลุมไปทุกแขนงของวิทยาศาสตร์การแพทย์
ผลงานการค้นคว้าวิจัยที่สำคัญทางด้านเวชกรรมฝังเข็มในช่วงเวลา 50 ปีที่ผ่านมา นับจากการปฏิวัติสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนได้แก่
1. การสำรวจ “ปรากฏการณ์เส้นลมปราณ” ในประชากรกลุ่ม ต่างๆทั่วทั้งประเทศจีน โดยมีประชากรเข้าร่วมการสำรวจเป็นจำนวน มากถึง 200,000 คน ซึ่งเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า “ปรากฏการณ์เส้น ลมปราณ” นั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงในภาววิสัยและเป็นคุณสมบัติทาง สรีรวิทยาอย่างหนึ่งของร่างกายมนุษย์เรา
2. การค้นคว้าเกี่ยวกับจุดลมปราณทั้งในแง่กายวิภาคและ สรีรวิทยา ทำให้เราเข้าใจโครงสร้างทางกายวิภาคและเข้าใจถึงคุณ-สมบัติต่างๆของจุดลมปราณว่า มันเป็นตำแหน่งบนผิวหนังของ ร่างกายที่มีความต้านทานไฟฟ้าต่ำและการนำไฟฟ้าสูง เมื่อกระตุ้นแล้ว สามารถปรับการทำงานของอวัยวะและระบบต่างๆในร่างกายได้
3.การนำเอาการฝังเข็มมาใช้ระงับความเจ็บปวดในการผ่าตัด แทนการใช้ยาชาหรือยาสลบได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งเป็นการบุกเบิก พัฒนาวิชาวิสัญญีวิทยาที่มีอยู่เดิม และเป็นพื้นฐานที่นำไปสู่ความ เข้าใจถึงกลไกในการระงับความเจ็บปวดและการรักษาโรคด้วย การฝังเข็มในเวลาต่อมา
4. การคิดค้นวิธีการฝังเข็มรูปแบบใหม่ๆที่นอกเหนือไปจากวิธีการแบบโบราณเช่น การฝังเข็มศีรษะ เข็มหู เข็มตา เข็มใบหน้า เข็มเท้ารวมทั้งการประดิษฐ์อุปกรณ์ใหม่ๆเช่น เข็มแม่เหล็ก เข็มไฟฟ้า เครื่องรมยาสมุนไพรไฟฟ้า เป็นต้น
5. การศึกษาวิจัยนำเอาการฝังเข็มมาใช้รักษาโรคต่างๆ ซึ่งใน ปัจจุบัน มีรายงานการศึกษาครอบคลุมทุกแผนก ไม่ว่าจะเป็นด้าน อายุรกรรม ศัลยกรรม กุมารเวช สูตินารีเวช วิสัญญีวิทยา จักษุวิทยา ออร์โธปิดิกส์ และหูคอจมูก เป็นต้น
ผลงานดังกล่าวนี้นับเป็นคุณูปการที่ชาวจีนได้สร้างให้แก่มวลมนุษยชาติ ทำให้วิชาฝังเข็มให้ก้าวไปสู่ความเป็นวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ และสามารถประสานเข้ากับการแพทย์แผนปัจจุบัน จนเป็นที่ยอมรับและแพร่หลายไปทั่วโลก
การเผยแพร่เวชกรรมฝังเข็มในทั่วทุกมุมโลก
ในยุคแรกวิชาฝังเข็มใช้ปฏิบัติกันในวงจำกัด อยู่แต่ในดินแดนของจีนเท่านั้น ครั้นต่อมาเมื่อจีนได้มีการติดต่อค้าขายและเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศอื่นๆ จึงได้มีการเผยแพร่ ศาสตร์แขนงนี้ออกไป
ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 6 วิชาฝังเข็มได้เริ่มเผยแพร่ไปยังประเทศ เพื่อนบ้านใกล้เคียงของจีนก่อนอันได้แก่ เกาหลีและญี่ปุ่น จากนั้นจึงแพร่หลายไปยังคาบสมุทรอินเดียและบรรดาประเทศทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังตัวอย่างเช่น
ในสมัยราชวงศ์ถังของจีน ได้มีการส่งแพทย์จีนไปเกาหลีและญี่ปุ่น เพื่อสอนวิชาการแพทย์แผนโบราณรวมทั้งวิชาฝังเข็ม ตลอดจนมีการจัดระบบสาธารณสุขและระบบองค์กรทางการแพทย์ที่เลียนแบบราชสำนักของจีน ทำให้วิชาฝังเข็มได้พัฒนาเป็นส่วนหนึ่งของการแพทย์แผนโบราณของเกาหลีและญี่ปุ่นไปด้วย
ในคริสต์ศตวรรษที่ 6 มี่หยูน จากมลฑลกานซูของจีนได้นำเอา วิธีการฝังเข็มตามแบบหมอฮูโต๋ไปเผยแพร่ในภาคเหนือของประเทศอินเดีย
ในคริสต์ศตวรรษที่14 มีแพทย์ฝังเข็มคนหนึ่งของจีนชื่อ โจวยิน เดินทางไปรักษาโรคให้แก่บรรดาเชื้อพระวงศ์ของประเทศเวียดนาม สร้างความดีความชอบเป็นอย่างมาก จนกระทั่งได้รับปูนบำเหน็จตำแหน่ง จากกษัตริย์เวียดนามเป็นการตอบแทน
ในคริสต์ศตวรรษที่10 การแพทย์ของจีนก็ได้แพร่หลายไปยัง ประเทศต่างๆทางแถบคาบสมุทรอาหรับตามการขยายตัวของเส้นทาง สายไหม ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมและการค้าสำคัญที่เชื่อมระหว่างซีกโลก ตะวันออกและซีกโลกตะวันตก
วิชาฝังเข็มเพิ่งเป็นที่รู้จักของชาวตะวันตกในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 นี้เอง อันเป็นยุคแห่งการล่าอาณานิคมที่ชาติมหา อำนาจตะวันตกได้เดินทางมายังโลกตะวันออก โดยบรรดาหมอสอนศาสนาและแพทย์ชาวยุโรปที่มารับจ้างทำงานในตะวันออกไกล ได้มีโอกาสเห็นวิธีการฝังเข็มรักษาโรคของหมอจีนและญี่ปุ่น เมื่อกลับไปประเทศตนเองก็นำเรื่องราวเหล่านี้ไปเผยแพร่ แพทย์บางคนยังได้ทดลองฝังเข็มรักษาผู้ป่วย และตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสารทางการแพทย์ที่มีชื่อเสียงในยุคนั้นอีกด้วย ทำให้การฝังเข็มเป็นที่รู้จักในหลายๆประเทศของยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน อังกฤษ และอิตาลี เป็นต้น
ในระหว่างปี ค.ศ.1816 – 1825 ลุยส์ แบร์ลิโอซ์ (Louise Berlioz) และ ซาร์ลองดิแอร์(Sarlandiere) แพทย์ชาวฝรั่งเศส ได้นำเอาการฝังเข็ม มาใช้รักษาผู้ป่วยในหลายๆโรค เขาทั้งสองพบว่า การฝังเข็มสามารถใช้รักษาได้ผลดีในกลุ่มโรคที่มีอาการเจ็บปวดเกี่ยวกับระบบกล้ามเนื้อกระดูกและ โรคปวดศีรษะไมเกรน
ซาร์ลองดิแอร์ยังได้ประยุกต์ต่อกระแสไฟฟ้าเข้ากับเข็ม เพื่อทดลอง รักษาให้กับผู้ป่วยอีกด้วย ซึ่งถือได้ว่าเป็นกำเนิดของ “การฝังเข็มกระตุ้นด้วย ไฟฟ้า” (Electroacupuncture) ครั้งแรกของโลก
ในเวลาต่อมา ข่าวสารการรักษาโรคด้วยการฝังเข็มในยุโรป ก็ค่อยๆแพร่ไปยังทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งได้สร้างความสนใจให้แก่วงการแพทย์ใน สหรัฐอเมริกาและแคนาดาเช่นเดียวกัน
เซอร์วิลเลียม ออสเลอร์ (Sir William Osler) ศาสตราจารย์ผู้มีชื่อเสียงแห่งโรงเรียนแพทย์จอห์นฮอบกินส์ ที่ได้รับการยกย่องเป็น ปรมาจารย์ทางการแพทย์แผนตะวันตกในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก็ยังเคยแนะนำให้ใช้การฝังเข็มรักษาอาการปวดเอวให้แก่ผู้ป่วยมาแล้วเช่นกัน
วิธีการฝังเข็มที่บรรดาแพทย์ในยุโรปและอเมริกาปฏิบัติกันในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17–19 นั้น ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการรักษาโรคที่มีอาการเกี่ยวกับความเจ็บปวดเกือบทั้งนั้น และที่ได้ผลดีก็มักจะเป็นอาการปวดกล้ามเนื้อและปวดข้อ
ความจริงแล้ว วิธีการฝังเข็มของแพทย์ในยุโรปและอเมริกาสมัยนั้นจะแตกต่างไปจากที่แพทย์จีนทำเป็นอย่างมาก เพราะว่าในการฝังเข็มตามวิธีการแพทย์แผนโบราณของจีน จะต้องมีการวินิจฉัยโรคโดยใช้ทฤษฎีการแพทยืจีนเพื่อกำหนดจุดฝังเข็มและแผนการรักษา และยังต้องมีการกระตุ้นเข็มด้วยวิธีการต่างๆอีกหลายแบบตามสภาพโรค ของผู้ป่วยแต่ละราย จึงทำให้ผลการรักษาโรคด้วยการฝังเข็มที่แพทย์ทางตะวันตกในยุคนั้นได้ทำไป ไม่ประสบผลเท่าที่ควร ประกอบกับในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 – 20 นั้นการแพทย์แผนปัจจุบันกำลังเจริญรุ่งเรือง
ดังนั้น ความนิยมในการรักษาโรคด้วยการฝังเข็มทั้งในจีนและประเทศซีกโลกตะวันตกจึงค่อยๆลดน้อยลง คงเหลือปฏิบัติในวงจำกัดอยู่แต่ในเขตชนบทของประเทศจีนเท่านั้นเอง
ในทศวรรษปี 1930 วิชาฝังเข็มกลับมาได้รับความสนใจจากชาวตะวันตกในทวีปยุโรปอีกครั้งจากการเผยแพร่ของ จอร์จ ซูลี เดอ โมรองท์ (George Soulie de Morant)
ซูลี เดอ โมรองท์ เป็นนักอักษรศาสตร์ด้านภาษาจีน เขาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่กงศุลฝรั่งเศสประจำประเทศจีนในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ในระหว่างที่อยู่ในประเทศจีนนั้น เขาได้สนใจศึกษาวิชาฝังเข็มไปด้วย
ภายหลังเมื่อเดินทางกลับฝรั่งเศสในปีค.ศ.1928 ซูลี เดอ โมรองท์ ก็ได้นำเอาวิชาฝังเข็มไปเผยแพร่ กระตุ้นให้แพทย์บางส่วนในทวีปยุโรป หันมาสนใจค้นคว้าเรื่องการฝังเข็มอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม กระแสความสนใจของชาวตะวันตกต่อวิชาฝังเข็ม ในช่วงทศวรรษปี 1930 นี้ ก็ยังคงเป็นความสนใจในวงแคบๆอยู่นั่นเอง
หลังจากการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในปีค.ศ.1949 รัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ได้มีสัมพันธไมตรีกับสหภาพโซเวียตและประเทศกลุ่มสังคมนิยมแถบยุโรปตะวันออกอย่างใกล้ชิด ทำให้วิชาฝังเข็มที่ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ และแพร่หลายไปยังสหภาพโซเวียตและกลุ่มประเทศทางยุโรปตะวันออก
ส่วนในทางยุโรปตะวันตก ทวีปอเมริกาและส่วนอื่นๆของโลกนั้น วิชาฝังเข็มยังคงถูกถือว่า เป็นศาสตร์แผนโบราณที่เป็นการรักษานอกระบบ ซึ่งปฏิบัติกันแต่ในหมู่ชาวจีนโพ้นทะเลและวงการแพทย์บางส่วน ในวงแคบๆ เท่านั้นเอง
ต่อมาในต้นทศวรรษปี 1970 เมื่อจีนเริ่มดำเนินนโยบายเปิดประเทศ จีนก็ได้เปิดเผยความก้าวหน้าของวิชาฝังเข็มให้ชาวโลกได้รับรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ความสำเร็จเกี่ยวกับการระงับความเจ็บปวดในการผ่าตัดด้วยการฝังเข็มแทนการใช้ยาสลบหรือยาชา
เมื่อประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันแห่งสหรัฐอเมริกาเดินทางไป เยือนจีนในเดือนกุมภาพันธ์ปีค.ศ.1972 ข่าวสารเกี่ยวกับการฝังเข็มรักษาโรคของประเทศจีนก็ได้แพร่กระจายออกไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว บรรดาประเทศต่างๆจากทุกภาคพื้นทวีปทั่วโลก ต่างก็สนใจและส่งคณะ ผู้แทนมาเยี่ยมชม กระทั่งมาศึกษาและฝึกฝนวิชาฝังเข็มจากประเทศจีน แล้วนำกลับไปเผยแพร่ในประเทศของตน ปัจจุบันนี้การฝังเข็มรักษาโรค ได้เผยแพร่ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกถึง 120 กว่าประเทศแล้ว รวมทั้ง ประเทศไทยเราด้วย
ในปีค.ศ.1975 องค์การอนามัยโลกได้ขอความร่วมมือจากจีน จัดตั้งศูนย์อบรมวิชาฝังเข็มให้แก่บุคลากรด้านสาธารณสุขจากประเทศต่างๆทั่วโลก ที่กรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ และนครนานกิง รวม 3 แห่ง และยังได้ดำเนินการมาโดยตลอดแม้กระทั่งในปัจจุบันนี้
ในปีค.ศ.1979 องค์การอนามัยโลกได้จัดตั้งคณะกรรมการศึกษาข้อบ่งชี้ในการฝังเข็ม พบว่า การฝังเข็มสามารถใช้รักษาได้ผลในหลายๆโรค โดยได้ประกาศรายชื่อโรคและอาการผิดปกติต่างๆที่แนะนำให้ใช้การฝังเข็มรักษาได้เป็นจำนวนถึง 43 โรค
ในปีค.ศ.1996 องค์การอนามัยโลกได้จัดการประชุมที่ เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี เพื่อทบทวนข้อบ่งชี้ของการฝังเข็มในการรักษาโรคต่างๆอีกครั้ง และได้ประกาศรายชื่อโรคและอาการต่างๆที่ สามารถฝังเข็มรักษาได้ เพิ่มมากขึ้นจากเดิมมาเป็น 64 โรค
เพื่อให้บรรลุคำขวัญที่ว่า “สุขภาพดีถ้วนหน้าปี 2000” ตามคำประกาศอัลมา–อัลต้าในปีค.ศ.1991 องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้ เวชกรรมฝังเข็มเป็น 1 ใน 3 กิจกรรมสำคัญเกี่ยวกับการแพทย์พื้นบ้าน (Traditional medicine ) ที่องค์การอนามัยโลกให้ความสนใจเป็นพิเศษและได้สรุปรายงานกิจกรรมการฝังเข็มเอาไว้ดังนี้
วิธีการรักษาโรคแบบพื้นบ้านส่วนใหญ่แล้วมักจะจำกัดอยู่ ในขอบเขตพื้นที่ทางภูมิศาสตร์หนึ่งๆ แต่อย่างไรก็ตาม การฝังเข็ม กลับได้รับการนำเอาไปปฏิบัติทั่วโลก เนื่องจากมันปฏิบัติง่าย มีผล ข้างเคียงน้อยและประหยัด
ในเดือนพฤศจิกายน ปีค.ศ.1987 โดยการสนับสนุนขององค์การอนามัยโลก บุคลากรและองค์กรต่างๆทางด้านการฝังเข็มทั่วโลกได้ร่วมกัน ก่อตั้ง สมาพันธ์การฝังเข็มรมยาแห่งโลก ( World Federation of Acupuncture–Moxibustion Societies หรือ WFAS ) ขึ้น โดยมีที่ทำการของสมาพันธ์ อยู่ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน
ในสหรัฐอเมริกานั้น ถึงแม้ว่าชาวอเมริกันจะรู้สึกตื่นเต้นและทึ่งต่อการรักษาโรคด้วยการฝังเข็มเป็นอย่างมาก แต่การฝังเข็มก็มิใช่จะได้รับการยอมรับอย่างง่ายๆ ในตอนแรกวงการแพทย์อเมริกันมองว่า การฝังเข็ม ยังเป็นแค่ “การทดลอง” ที่ต้องศึกษาวิจัยให้ชัดเจนเสียก่อน
อย่างไรก็ตาม เมื่อชาวอเมริกันได้ไปทดลองฝังเข็ม พวกเขาก็พบว่ามันสามารถแก้ไขปัญหาสุขภาพของพวกเขาได้จริงๆ ขณะที่แพทย์แผนตะวันตกไม่สามารถ แก้ไขปัญหาให้แก่พวกเขาได้ การฝังเข็มจึงค่อยๆได้รับความนิยมจาก ชาวอเมริกันมากขึ้นเรื่อยๆ
ด้วยเหตุนี้เอง ในปีค.ศ.1996 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาหรือ FDA ( Food and Drug Administration ) จึงได้ประกาศรับรองให้ถือว่า เข็มที่ใช้ในการฝังเข็มนั้นจัดเป็น “อุปกรณ์ทางการแพทย์” ไม่ใช่ “อุปกรณ์ทดลอง” อีกต่อไป สามารถนำเอามาใช้ได้ทั่วไปโดยแพทย์ทางเวชกรรมฝังเข็ม และถือเป็นการรักษาทางการแพทย์ที่เบิกค่าทดแทนจากบริษัท ประกันชีวิตและสุขภาพได้
เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีค.ศ.1997 สถาบันสุขภาพแห่งชาติของ สหรัฐอเมริกา หรือ NIH ( National Institutes of Health ) ได้จัดประชุมครั้งพิเศษ โดยมีผู้เชี่ยวชาญในการแพทย์สาขาต่างๆจำนวน 25 คน เสนอ รายงานต่อผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 1,200 คนเป็นเวลา 2 วันครึ่ง ซึ่งที่ประชุมได้สรุปรายงานการประชุมและยอมรับว่า " การฝังเข็มมีประโยชน์สามารถใช้รักษาโรคบางอย่างได้ผลจริง เช่น อาการคลื่นไส้อาเจียนจากยาเคมีบำบัดที่ใช้รักษาโรคมะเร็ง โรคอัมพาต โรคปวดกล้ามเนื้อ โรคปลอกเอ็นข้อมืออักเสบ ปวดหลัง ปวดศีรษะและ การติดยาเสพติด เป็นต้น"
จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันนี้ วิชาฝังเข็มมิใช่เป็นศาสตร์โบราณอีกต่อไปแล้ว หากเป็นวิทยาศาสตร์การแพทย์แขนงหนึ่งที่ได้เผยแพร่จนเป็นที่ยอมรับไปทั่วทุกมุมโลก ซึ่งทั้งนี้ก็เพราะว่า มันมีศักยภาพในการรักษาโรคที่แน่นอนนั่นเอง
พัฒนาการเวชกรรมฝังเข็มในประเทศไทย
ถึงแม้ไทยและจีนจะมีความสัมพันธ์ติดต่อกันมานาน หากนับตั้งแต่สมัยสุโขทัยก็เป็นเวลา 700 กว่าปีแล้ว แต่จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เท่าที่มีอยู่ในขณะนี้ เมื่อนับย้อนหลังจาก พ.ศ.2515 ขึ้นไปแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีการเผยแพร่วิชาฝังเข็มในประเทศไทยที่ “กว้างขวางและจริงจัง” มาก่อนเลย
จาก “ ตำราพระโอสถพระนารายณ์ ” และจดหมายเหตุของลาลูแบร์มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่า ในแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น ได้มีการแพทย์แผนโบราณจีนเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทยแล้วอย่างแน่นอน แต่ก็เป็นที่น่าแปลกใจว่า ไม่ปรากฏบันทึกที่กล่าวถึงการฝังเข็มรักษาโรคเลย
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้มีการเผยแพร่วัฒนธรรมจีนเข้ามาในประเทศไทยอย่างมาก กระทั่งในสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ไม่มีหลักฐานกล่าวถึงการฝังเข็มเช่นกัน
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้อาจเกิดจาก
ประการแรก การแพทย์แผนไทยได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียเป็น สำคัญมากกว่าที่จะมีรากฐานมาจากการแพทย์แผนจีน ดังนั้น แนวคิดทฤษฎี การวิเคราะห์และรักษาโรคจึงอิงไปตามอินเดีย โดยเฉพาะตามหลักของ ศาสนาพุทธ วิธีการรักษาโรคจึงประกอบด้วย การใช้ยาสมุนไพรและการ นวดดัดร่างกาย เป็นสำคัญ ต่างไปจากเกาหลีและญี่ปุ่น ซึ่งได้รับการเผย แพร่วิชาการแพทย์มาจากจีนโดยตรง การแพทย์ของเกาหลีและญี่ปุ่นจึงมี การฝังเข็มประกอบร่วมด้วยให้เห็นอย่างชัดเจน
ประการที่ 2 ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลางเป็นต้นมานั้น ตรงกับสมัยราชวงศ์ชิงของจีน อันเป็นยุคที่การฝังเข็มเริ่มเสื่อมความนิยม ลงมาแล้วโดยตลอด จนกระทั่งถูกยกเลิกไปในสมัยจักรพรรดิเต้ากวงเมื่อ ปีค.ศ.1822 ( ตรงกับปลายสมัยรัชกาลที่2 ) ดังนั้นโอกาสที่จะมีการนำเอา วิชาฝังเข็มมาเผยแพร่อย่างกว้างขวางนั้น จึงย่อมมีความเป็นไปได้น้อยลง
อย่างไรก็ตาม การนำเอาวิธีการฝังเข็มเข้ามาในประเทศไทยนั้น น่าจะมีมานานอย่างน้อยที่สุดก็ไม่ต่ำกว่า 50 ปีก่อน เพราะ ในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็พอเห็นมีแพทย์จีนแผนโบราณย่านเยาวราช ทำการฝังเข็มรักษาโรคให้แก่ผู้ป่วยอยู่ประปรายบ้างแล้ว
การฝังเข็มที่เผยแพร่สู่ประเทศไทยในยุคแรกนั้น จึงเป็นไปในลักษณะส่วนตัว โดยแพทย์แผนโบราณจีนที่อพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ได้นำเอาเข็มติดตัวมาด้วย การฝังเข็มรักษาโรคจึงเป็นที่รู้จักกันแต่ในวงแคบๆเฉพาะหมู่ชาวจีนโพ้นทะเล และยังมีกลิ่นไอของการแพทย์แผนโบราณอย่างเต็มตัว ซึ่งคงมีคนไทยน้อยรายที่จะ ยินยอมเข้าไปรักษาด้วย
ในระหว่างปีพ.ศ.2508-2522 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือพคท.ได้ทำสงครามต่อสู้กับรัฐบาล พลพรรคของพคท.ได้นำเอาวิชาฝังเข็มมาใช้รักษาโรคต่างๆ ให้แก่ทหารและประชาชนที่อยู่ในเขตสู้รบและบริเวณใกล้เคียง ทำให้การฝังเข็มเป็นที่รู้จักของประชาชนไทยบางส่วนที่อยู่ในชนบทห่างไกล แต่ก็เป็นการเผยแพร่ที่จำกัดในวงแคบๆอยู่เช่นกัน
เมื่อจีนดำเนินนโยบายเปิดประเทศในช่วงทศวรรษปี 1970 และ เมื่อประธานาธิบดีนิกสันแห่งสหรัฐอเมริกาได้เดินทางไปเยือนประเทศจีน เพื่อเปิดสัมพันธไมตรีทางการทูตในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2515 ข่าวสาร เกี่ยวกับประเทศจีนก็ได้เผยแพร่ออกไปทั่วโลก เป็นกระแสที่ประเทศไทยเองก็ได้รับเข้ามาโดยปริยาย เรื่องราวเกี่ยวกับการฝังเข็มจึงเริ่มเป็นที่รู้จักของประชาชนไทยอย่างกว้างขวางในระดับทั่วประเทศเป็นครั้งแรก
หลังจากนั้น มีคณะตัวแทนต่างๆจากประเทศไทยทะยอยกัน เดินทางไปเยือนประเทศจีนเป็นระยะๆ อาทิเช่น คณะนักกีฬาปิงปองไทย แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย เป็นต้น เมื่อคณะตัวแทนเหล่านี้ได้เดินทาง กลับมา ก็นำเอาเรื่องราวเกี่ยวกับการฝังเข็มมาเผยแพร่ให้สาธารณชนได้ รับทราบกันมากยิ่งขึ้น
ศาตราจารย์นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา อาจารย์แพทย์อาวุโสแห่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เขียนบทความเล่าใน “จุฬาลงกรณ์เวชสาร” ฉบับเดือนเมษายน พ.ศ.2516 เรื่อง “การรักษาโรคด้วยวิธีฝังเข็ม” หลังจาก ที่ได้ไปเยือนประเทศจีนเอาไว้ว่า
“ ไม่น่าเชื่อเลยว่า เข็มที่ปักที่ขาจะทำให้คนไข้ไม่รู้สึกเจ็บจน ผ่าตัดต่อมไทรอยด์ที่คอได้ หรือเข็มที่ปักที่ขานั้นทำให้อาการปวด ท้องหายไปหรือทำให้ตับทำงานดีขึ้น ”
ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการบุกเบิกวิชาฝังเข็มในประเทศไทยในระยะนี้ได้แก่ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงคุณหญิง สลาด ทัพวงศ์ ซึ่งท่านได้เดินทางไปเรียนวิชาฝังเข็มจากประเทศจีน แล้วกลับมาตั้งแผนกฝังเข็มและระงับความเจ็บปวดขึ้นที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อพ.ศ.2517 โดยมี รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงลัดดาวัลย์ สุวรรณกิตติ เป็นหัวหน้าแผนก นับเป็นการนำเอาวิชาฝังเข็มเข้ามาสู่ระบบการแพทย์แผนปัจจุบันเป็น ครั้งแรกของประเทศไทย
ภายหลังที่มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการฑูตระหว่างไทยและจีนเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2518 ในสมัยหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชเป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมตลอดจนความร่วมมือในด้านต่างๆระหว่างประเทศทั้งสองก็มากขึ้นเป็นลำดับ
ต่อมาจึงได้มีแพทย์ไทยโดยเฉพาะวิสัญญีแพทย์ เดินทางไปฝึกอบรมวิชาฝังเข็มจากประเทศจีน และได้กลับมาเปิดบริการรักษาโรคให้แก่ ผู้ป่วยในโรงพยาบาลต่างๆหลายแห่ง รวมทั้งมีการรักษาตามคลินิกหมอจีนที่มีอยู่ ประปรายในย่านชุมชนชาวจีน การฝังเข็มจึงค่อยๆแพร่หลายออกไปในหมู่ ประชาชนชาวไทย
กระทรวงสาธารณสุขของไทยก็เล็งเห็นประโยชน์ของวิชาฝังเข็มที่จะเอามาใช้รักษาโรคให้แก่ผู้ป่วย โดยได้มีการจัดอบรมให้แก่บุคลากร ทางสาธารณสุขอยู่เป็นระยะๆเช่น การจัดอบรมวิชาฝังเข็มโดยกรมการแพทย์ เมื่อปี พ.ศ. 2534 และ พ.ศ. 2535
ตั้งแต่พ.ศ.2540 เป็นต้นมา การฝังเข็มได้รับความนิยมเอามาใช้เป็นวิธีการลดน้ำหนักจนกลายเป็นธุรกิจด้านเสริมความงามอย่างหนึ่ง ก่อให้เกิดปัญหาการให้บริการที่ไม่ได้มาตรฐานและยังเก็บค่ารักษาบริการที่สูงเกิน กระทรวงสาธารณสุขโดยความร่วมมือจากรัฐบาลจีน โดยมีนายแพทย์ชวลิตสันติกิจรุ่งเรือง และศาสตราจารย์เฉิงจื่อเฉิง เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญยิ่ง ได้จัดอบรมแพทย์ฝังเข็มขึ้น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเองก็ได้ประกาศปรัชญาในการ ฝึกอบรมแพทย์วิชาฝังเข็มเอาไว้ว่า
“ เพื่อพัฒนาแพทย์ให้สามารถใช้และพัฒนาวิชาฝังเข็มมา เป็นการแพทย์ทางเลือกที่ได้มาตรฐาน ปลอดภัย สะดวกและประหยัด สำหรับประชาชนชาวไทยและร่วมเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการพัฒนา คุณภาพชีวิตประชาชนไทยสู่เป้าหมายสุขภาพดีถ้วนหน้า ”
พัฒนาการของวิชาฝังเข็มในประเทศไทยขณะนี้ยังถือว่าช้ามาก เมื่อเทียบกับประเทศทางตะวันตก ทั้งๆที่มีบุคลากรไปศึกษาจากจีนในช่วง ระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน เรายังขาดแคลนบุคลากรด้านเวชกรรมฝังเข็ม ที่มีคุณวุฒิ งานการวิจัยวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเวชกรรมฝังเข็มยังมีน้อยและ ยังไม่เป็นที่ยอมรับของวงการแพทย์แผนปัจจุบันเท่าที่ควร นอกจากนี้ยังมี ปัญหาในด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ตลอดจนความขัดแย้งระหว่างองค์กรต่างๆ และปัญหาประชาชนผู้บริโภคไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง มีมาตรฐาน เป็นต้น
เพื่อเป็นหลักประกันให้ประชาชนได้รับการรักษาด้วยการฝังเข็มที่ถูกต้องตามมาตรฐานหลักวิชาทางการแพทย์ ปัจจุบันนี้ ประเทศไทยเราจึงได้มีกฎหมายกำหนดให้ ผู้ที่จะประกอบวิชาชีพเวชกรรมฝังเข็มได้นั้น จะต้องเป็นแพทย์ที่ได้ผ่านการขึ้นทะเบียนรับรองจากกระทรวงสาธารณสุขของไทยเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันนี้มีจำนวนประมาณ 800 กว่าคนในทั่วทั้งประเทศ โดยได้มีการก่อตั้งเป็นสมาคมแพทย์ฝังเข็มและสมุนไพรแห่งประเทศไทย ซึ่งได้รับการรับรองเข้าเป็นสมาชิกของสมาพันธ์การฝังเข็มรมยาแห่งโลกด้วย และได้มีการดำเนินกิจกรรมทั้งทางบริการและวิชาการอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ทำให้การฝังเข็มได้เป็นที่ยอมรับและแพร่หลายต่อประชาชนและวงการแพทย์ไทยเราอย่างกว้างขวาง อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
ซึ่งคาดได้ว่า แนวโน้มในอนาคตข้างหน้านั้น การฝังเข็มในประเทศไทยคงจะพัฒนาและแพร่หลายออกไปมากขึ้นกว่านี้อย่างแน่นอน
Source:http://www.yanhee.co.th/yhh/th/altn/thaiacupuncture/history.htm
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น