วันพฤหัสบดีที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2554

พระราชญาณกวี...'ชีวิตเหมือนคอมพิวเตอร์ กิเลส คือ ไวรัส ก่อกวน'


หน้าที่หลักของพระสงฆ์ในพุทธศาสนา คือเผยแผ่พระธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธองค์เพื่อให้ศาสนิกชนมีความเข้าใจ ปฏิบัติเพื่อการพ้นทุกข์ แต่ที่เห็นโดยทั่วไปบางสำนักปักหลักมั่นอยู่ที่วัด ผู้จะศึกษาหาความรู้ต้องตั้งใจน้อมกายเข้าไปเอง แต่ก็มีหลายสำนักพยายามหาหนทางใหม่เพื่อให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย

พระราชญาณกวี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก เป็นรูปหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการเผยแผ่ ทำงานตามรอยพระยุคลบาทบวร (บ้าน วัด โรงเรียน) ดำเนินงานกองทุนปลูกรากแก้วศาสนทายาทวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก ให้ทุนการศึกษาต่อเนื่องแด่พระภิกษุ สามเณรทั้งในและต่างประเทศและเขียนหนังสือ “อุดมการณ์นักเผยแผ่”เป็นคู่มือของสงฆ์รุ่นใหม่ที่ตั้งใจใฝ่การสอนธรรมให้ กว้างไกล ให้มุมมองการเผยแผ่พระศาสนาว่ามีด้วยกัน 2 แนวทาง เปรียบกับสินค้าบางอย่าง ต้อง เอาไปเร่ขาย บางอย่างขายในห้างฯ ให้คนมาซื้อ บางทีก็ต้องออกให้บริการถึงพื้นที่ ไซต์งาน หมู่บ้าน ธรรมะก็เหมือนสินค้าชนิดหนึ่ง แต่เป็นสินค้าทางใจ บางทีต้องเข้าถึงจุดที่เขามีความจำเป็นจริงๆ พระธรรมทูตในถิ่นทุรกันดาร หรือในต่างประเทศ ก็ถือว่าเราเอาสินค้าไปส่ง พอถึงที่เขาก็เลือกซื้อ เลือกใช้ สอนเรื่องศีล สวดมนต์ ใส่บาตร ใครหยิบตรงไหนก็หยิบไป บางคนก็เอาแค่ใส่บาตรก่อน บางคนเอารักษาศีล บางคนเริ่มเข้ามาสมาธิ บางคนพิจารณาอนิจจา ทุกขัง อนัตตาได้ ปล่อยวางได้ สองวิธีนี้ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตรัสสอนอยู่ คือ 1. ปักหลักอยู่กับที่ให้คนมาหา มาเลือกมาดู มาพิจารณา 2. ออกไปหา ซึ่งส่วนใหญ่ พระพุทธเจ้าทรงเน้นการออกไปหาเป็นหลัก

ในฐานะของพระผู้เผยแผ่ ซึ่งมีโอกาสพบปะชาวบ้านเป็นประจำ พระราชญาณกวีมองปัญหาที่เกิดเทียบเคียงระหว่างประเทศไทยกับอังกฤษในฐานะที่ เคยศึกษาในประเทศนั้น พบว่าโรคเร่งรีบที่ไม่สามารถหยุดได้กำลังเกิดอยู่ในบ้านเรา แต่ที่ประเทศอังกฤษ วันเสาร์ อาทิตย์จะหยุด รถจอดนิ่ง ไม่ไปหาใคร พักผ่อนอยู่กับบ้าน ทำงานสัปดาห์ละห้าวัน หยุดสองวัน วันหนึ่งทำงานแปดชั่วโมง จัดเวลาเป็นสามช่วงคือทำงาน พักผ่อน และนอน คุณภาพของคนในชาติจึงเพียงพอ ส่วนเมืองไทย คนไทยมีอุปกรณ์สารพัดอย่าง เช่น อีเมล มือถือ กล้อง มีมากก็เครียดมาก ไม่มีเวลาหุงข้าว ต้องซื้อกินข้างถนน คนกรุงเทพฯจึงมีความเครียดสูง แผ่ลามถึงชนบทเพราะเราหลงเทคโนโลยีจนสมรรถนะด้อยลง เช่น คิดเลขไม่เป็น จำเบอร์โทรศัพท์ของตนเองไม่ได้ สมองที่เคยจำก็ไม่ได้ เมื่อมอง ถึงการอบรม เลี้ยงดู พบว่าที่ต่างประเทศจะไม่ให้มีโทรทัศน์ ในห้องนอนของเด็ก นักเรียนชั้นประถมฯ ต้องนอนสองทุ่ม มัธยมฯ ให้นอนสามทุ่ม อุดมศึกษาไม่เกินสี่ทุ่ม โทรทัศน์ก็อยู่ในห้องสำหรับโทรทัศน์หรือห้องอาหาร ของเราไม่มีสัดส่วน การฝึกอบรมคนในชาติ เรื่องระเบียบวินัยน่าเป็นห่วงเพราะ เสรีภาพทางสื่อ และการใช้ชีวิตสูงมาก ที่เห็นทารกวัดไผ่เงิน 2,002 ศพนั้น แค่เป็นข่าว ที่ไม่เป็นข่าว ไม่รู้ขนาดไหน การที่เด็กทำแท้ง เพราะขาดระบบวัคซีนใจ การจะพัฒนาประเทศโดยวิธีนี้จะแข่งประเทศอื่นคงไม่ได้ คุณภาพเด็กเราสู้เขาไม่ได้ ทั้งที่คนไทยยุคก่อนเก่งในการพัฒนาตนเอง แต่ปัจจุบันน่า ห่วงมาก

จากสภาพปัญหาดังกล่าว คนไทยจะดูแลครอบครัว ลูกหลานอย่างไร พระราชญาณกวี ให้แนวทางว่าโรคเร่งรีบ ต้องการเงิน ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ แม้ชีวิตก็ผ่อนใช้ จึงไม่มีเวลาเลี้ยงลูก ก็ใช้เงินจ้างชาวพม่า อันนี้เป็นเพราะไม่เข้าใจว่า พ่อแม่ ต้องเลี้ยงดูแลเอง การอบรม บ่ม เพาะ ปลูกฝัง จริตนิสัย ใจคอ มารยาท ชาติตระกูล เกิดจากแม่เท่านั้น ไม่ได้เกิดจากคนอื่น การปล่อยให้คนอื่นเลี้ยง พอโตหน่อยเข้าโรงเรียนนานาชาติ แล้วต้องมาติวภาษาไทย ซึ่งเป็นรากเหง้าของเราแท้ ๆ แต่ไปเรียนภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ต่อจากพม่า รากจึงไม่มี เหมือนเป็นไม้ทาบกิ่ง เราอ้างว่าเป็นสากล ลองคิดดูว่า แผ่นดินนี้เป็นของสากล กฎหมายก็อ้างอิงสากล จะไม่มีอะไรเป็นของเราแท้จริง การจะเป็นสากลได้ ตู้เซฟต้องดี คนจะเปิดพิพิธภัณฑ์ ของทุกชิ้นต้องล็อกให้แน่นหนา ไม่งั้นของหาย หากเราปล่อยอย่างนี้วัฒนธรรมดี ๆ จะสูญหายในพริบตา

ถ้าอยากเป็นสากลด้วยวิธีนี้ ต่อไปเด็กญี่ปุ่นที่โตเมืองไทยก็เป็นนายกรัฐมนตรีได้

ฟังถึงตอนนี้ จึงได้นมัสการเรียนถามว่า จากปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดในสังคม ทางพระพุทธศาสนาจะแก้ไขได้อย่างไรคำตอบมีว่า พระพุทธศาสนาจะช่วยคนได้ 2 ส่วน คือคนโง่ต้องเป็นคนฉลาด คนฉลาดก็ต้องมีความสุข ถ้าคนชั่วเราช่วยให้เป็นคนดีไม่ได้ ก็แสดงว่าพระศาสนายังออกผลไม่ได้เต็มที่ ส่วนที่สอง คนที่ไม่ชั่ว เป็นคนดี แต่อยากมีความสุขที่ละเอียด พระพุทธศาสนาก็ช่วยได้ อาตมาจึงตั้งไว้เป็น 2 ประเด็น คือ 1. ระบบสังคมสงเคราะห์ ดูแล เกื้อกูล อุปถัมภ์บำรุง คนอ่อนแอกว่าให้เข้มแข็ง คนที่หนาวให้อุ่น คนหิวให้อิ่ม 2. มีศูนย์ปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 9 เราต้องการให้คนมาฟอร์แมต (จัดเรียงข้อมูล) จิต ดีลีต (ลบ) กรรมของตัวเอง กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมที่ไม่ดี มานั่งดูว่าเราเสียใจกับคำพูด การกระทำของเราเรื่องอะไรบ้าง ดีลีตออกไป เป็นโรงงานฟอร์แมตจิตจริงๆ เรียกธรรมสถาน

ถามว่าทำไมเราจึงคิดเช่นนี้ เพราะเราเชื่อมั่นว่า คนที่มาปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่ ไม่ใช่เพราะทำผิดทำชั่ว แล้วอยากเป็นคนดี อีกส่วนหนึ่ง เขาต้องการหาสุขที่ละเอียดเนื่องจากมีบ้าน มีรถ มีเงิน แล้วหาความสุขไม่เจอ ต้องการหาสุขที่ละเอียด ก็มาหาความสุขของใจ ความ สงบ ความร่มเย็น ถามว่าจะรู้เรื่องได้อย่างไร ... ก็ต้องมาปฏิบัติ เข้ากรรมฐาน มีหลักสูตร 7 คืน 8 วัน, 4 คืน 5 วัน, 2 คืน 3 วัน มีที่พักให้เรียบร้อย อาหารฟรีหมด จัดอบรม เป็นช่วง ๆ สมัครเข้ามาได้ครั้งละไม่เกิน 100 คนจะประกาศล่วงหน้า

“มีหลายคนถามว่าการปฏิบัติธรรมมีความสำคัญอย่างไร อาตมภาพก็ยึดหลักขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรื่องหลักไตรสิกขาว่า ชีวิตเหมือนคอมพิวเตอร์ ทำหน้าที่เก็บข้อมูล ปกป้องข้อมูล และดีลีตข้อมูล แล้วลงโปรแกรมใหม่ถ้ามันเสีย ชีวิตก็เหมือนกัน ร่างกายเหมือนฮาร์ดแวร์ จิตเหมือน ซอฟต์แวร์ มีขบวนการ ฟังก์ชั่นมากมาย หลัก ๆ มี 3 ระบบ คือ ระบบเก็บข้อมูล ผ่านสมาธิ จัดโฟลเดอร์ (กล่อง) ของอารมณ์ จัดไฟล์อารมณ์ไม่ให้มันปะปนกัน เดี๋ยวนอน ไม่หลับ กลุ้มใจ 2.ระบบโปรเทกซ์ (ปกป้อง) ข้อมูล ได้แก่ แอนตี้ไวรัส ภาษาพระเรียกว่า ศีล เรียกไวรัสว่ากิเลส 3 ระบบฟอร์แมตข้อมูล เรียกว่าปัญญา ซึ่งเป็นระบบที่ดีมาก ถ้าเราฟอร์แมตตรงนี้ได้ จิตของเราก็จะก้าวไปข้างหน้าได้ แต่ถ้าฟอร์แมตไม่ได้ ข้อมูลนั้นก็แฮงก์แล้วก็จะเสีย คนในปัจจุบัน โรคเร่งรีบทำให้แฮงก์บ่อย ๆ จิตจะแห้งผาก เพราะอาหารกายเยอะแต่อาหารใจไม่มี วัคซีนทางใจไม่พอ คนทำผิดศีลจึงเยอะมาก เพราะไม่เข้าใจกฎแห่งกรรม มัวแต่สนใจกฎหมาย จนจิตเข้าไม่ถึงกฎแห่งกรรม เรื่องชีวิตที่แท้จริง มัวแต่บำรุงกาย ลืมบำรุงใจ มัวแต่ทำอะไรที่ฉาบฉวย หยาบ ดูแลแต่ฮาร์ดแวร์ ไม่ดูแลซอฟต์แวร์ อัตราหย่าร้างสูงมาก คนทะเลาะกันก็สูงมาก เสรีภาพทางคำพูดสูงมาก ปลุกปั่นกันมาก ทีวีช่องหายนะก็เยอะมาก สามารถใช้สื่อปลุกปั่นกันได้ ใช้วาจาแทนระเบิดได้ อันตรายมาก ก็เลยมาคิดว่าทำอย่างไรให้คนมีสัมมาวาจา สัมมาสมาธิ สัมมาอาชีพ เดี๋ยวนี้คนมักคิดว่าถ้ากฎหมายไม่ระบุไว้ กฎหมายเข้าไม่ถึงทำได้หมด เมื่อก่อนคนกลัวบาป แม้กฎหมายจะไม่เขียนถึงก็กลัว หนุ่มสาวจะจับมือถือแขนก็ไม่ได้ ทุกวันนี้เป็นปกติ ต่อไปอาจจะกอดจูบกันกลางถนนอย่างฝรั่งก็เป็นไปได้”

เราถามว่า จำเป็นไหมที่ต้องเข้าวัดเพื่อศึกษาหลักพระศาสนา ในขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีเวลา ท่านตอบว่า ไม่จำเป็น ถ้ายังไม่พร้อมหรือความพร้อมไม่มี เนื่องจากว่า การเข้าวัด เพื่อวัดดูว่าสุขภาพจิตของเราเป็นยังไง อารมณ์ของเราเป็นยังไง นั่งในห้องพระที่บ้านนั่นแหละ ดูมันทุกวัน วันหนึ่งสวดมนต์ 30 นาทีก็วัดใจแล้ว วัดวิริยะ วัดขันติได้แล้วว่าอดทนได้ไหม ทำทุกที่ให้เป็นวัดก็ได้ แต่ถ้าทำไม่ได้ สิ่งแวดล้อมช่วยไม่ได้ ก็ต้องหาสิ่งแวดล้อมใหม่ เช่น ไปวัดป่า ไปวัดสวยๆ อาจจะได้อารมณ์อีกแบบหนึ่งก็ได้

วัดมีความจำเป็นต้องไปนะโยม เพราะยังไงเสียหมดลมก็ต้องไปวัด.


อุเปกขินทรีย์

Source: http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=671&contentID=114928

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น