อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ถือ ได้ว่าเป็นปราชญ์คนสำคัญยิ่งคนหนึ่งในวงการของพระพุทธศาสนาในยุครัตน โกสินทร์เท่าที่ชาวพุทธได้รู้จักมา และถือได้ว่าอาจารย์สุชีพเป็นแบบอย่างชาวพุทธที่ดีเยี่ยม เป็นผู้ที่ทำอุปการะคุณอันยิ่งใหญ่ต่อวงการของพระพุทธศาสนามากมายเหลือสุดจะ คณานับ ชีวิตของท่านเป็นอยู่เพื่อพระพุทธศาสนาโดยแท้ นับได้ว่าเป็นปูชนียบุคคลทางพระพุทธศาสนา อาจารย์สุชีพได้สรุปลักษณะเด่นๆ ของพระพุทธศาสนาไว้มี ๔๕ ข้อ เท่ากับจำนวนพรรษาที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนา ซึ่งมีเนื้อหาสาระสำคัญจะขอนำมากล่าวไว้ ณ ที่นี้ คือ
๑. แม้จะตัดความเชื่อในเรื่องฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ออก ก็ไม่ทำให้พระพุทธศาสนากระทบกระเทือนอะไรแม้แต่น้อย เพราะพระพุทธศาสนามิได้มีรากฐานอยู่บนฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ หากแต่อยู่ที่เหตุผลและคุณงามความดีที่พิจารณาเห็นได้จริงๆ
๒. พระพุทธศาสนาเป็นตัวอย่างลัทธิประชาธิปไตยที่เก่าแก่ที่สุดของโลก มีหลักการและวิธีการอันทันสมัยอยู่จนทุกวันนี้
๓. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแรกที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดยสอนให้เลิกระบบทาส ไม่เอามนุษย์มาเป็นสินค้าสำหรับซื้อขาย ห้ามมิให้ภิกษุมีทาสไว้รับใช้ กับทั้งสอนให้เลิกทาสภายใน คือไม่เป็นทาสของความโลภ ความโกรธ ความหลง
๔. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแรกที่สอนให้มนุษย์เลิกดูหมิ่นเหยียดหยามกัน เพราะเรื่องถือชั้นวรรณะ เพราะเหตุแห่งชาติและวงศ์สกุล โดยตั้งจุดนัดพบกันไว้ที่ศีลธรรม ใครจะเกิดในสกุลสูงต่ำยากดีมีจนอย่างไรไม่เป็นประมาณ ถ้าตั้งอยู่ในศีลธรรมแล้ว ก็ชื่อว่าเป็นคนดีที่ควรยกย่องสรรเสริญ ถ้าตรงกันข้ามคือล่วงละเมิดศีลธรรมแล้ว แม้จะเกิดในสกุลสูงก็นับได้ว่าเป็นคนพาลอันควรตำหนิ
๕. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแรกที่สอนปฏิวัติเรื่องการทำบุญ โดยงดเว้นวิธีฆ่าสัตว์หรือฆ่ามนุษย์บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือการทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน หากสอนให้ทำงานด้านสังคมสงเคราะห์แทนการเบียดเบียน และสอนให้หาทางชำระจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาดว่าเป็นบุญ
๖. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนลัดตัดตรงเข้าหาความจริง ให้กล้าสู้หน้ากับความจริง เช่นในเรื่องความเกิดแก่เจ็บตาย ให้หาประโยชน์จากความจริงนั้นให้ได้ รวมทั้งสอนอย่างตรงไปตรงมาในเรื่องฤกษ์ยาม น้ำศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น และการสอนให้เป็นเทวดาได้ในชีวิตนี้ โดยไม่ต้องรอให้ตายเสียก่อน ด้วยการแสดงธรรมที่ประพฤติปฏิบัติตามแล้วจะเป็นเทวดาในปัจจุบันชาติ
๗. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนให้แก้ความเสื่อมทางศีลธรรม โดยไม่มองข้ามปัญหาด้านเศรษฐกิจ สอนให้แก้ความชั่วด้วยความดี และสอนให้แก้ที่ตัวเราเองก่อนโดยไม่คอยเกี่ยงให้คนทั้งโลกดีหมดแล้ว เราจึงจะดีเป็นคนสุดท้าย แม้ในการสอนให้มีเมตตาจิตก็หัดให้แผ่เมตตาในตนเองก่อนเพื่อจะได้เป็นพยานว่า เรารักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด คนอื่นก็มีความรักสุขเกลียดทุกข์ฉันนั้น
๘. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนให้ถือธรรม คือความถูกต้องตามเหตุผลเป็นประมาณ ที่เรียกว่าธรรมาธิปไตย ไม่สอนให้ถือตนเองเป็นใหญ่ หรือสอนให้ถือคนอื่นเป็นใหญ่ หลักคำสอนเรื่องผู้เห็นธรรมชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า ผู้ปฏิบัติธรรมชื่อว่าอยู่ใกล้พระพุทธเจ้า คำสอนเรื่องอามิสบูชาและปฏิบัติบูชา และการตั้งพระธรรมวินัยไว้เป็นพระศาสดาแทนพระองค์ของพระพุทธเจ้าก็เป็นการ สอนแบบธรรมาธิปไตยนี้
๙. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนเน้นหนักในเรื่องของสติปัญญาในการดำเนินชีวิต ให้รู้จักกำจัดความทุกข์ความเดือดร้อนด้วยการพิจารณาให้เห็นต้นเหตุของความ ทุกข์ แล้วแก้ไขให้ถูกทาง ไม่ให้เชื่อถืออย่างงมงายไร้เหตุผล
๑๐. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนให้พึ่งตนเอง ในการประกอบคุณงามความดี โดยการยกระดับแห่งชีวิตของตนให้สูงขึ้น ไม่สอนให้คิดแต่จะเอาดีด้วยการอ้อนวอนบวงสรวง คำสอนข้อนี้เป็นเหตุให้เกิดหลัก เรื่องทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว ที่เรียกว่ากฎแห่งกรรม อันทำให้ชาวต่างประเทศหันมานิยมนับถือมากขึ้น
๑๑. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาเดียวในโลกที่กล้าปฏิเสธหลักตรรกศาสตร์ ซึ่งชาวโลกถือว่าเป็นศาสตร์แห่งศาสตร์ทั้งหลาย โดยได้เสนอหลักการอย่างอื่นที่สูงกว่า แน่นอนกว่า พร้อมทั้งให้เหตุผลอย่างชัดแจ้ง
๑๒. พระพุทธศาสนามีหลักเกณฑ์และวิธีการในการสั่งสอน ตลอดจนตัวคำสอนอันเป็นวิทยาศาสตร์มาก่อนที่วิชาวิทยาศาสตร์ของโลกจะเกิดเป็น เนื้อเป็นตัวขึ้น
๑๓. พระพุทธศาสนาสอนให้พยายามพึ่งตนเอง ไม่ให้มัวคิดแต่พึ่งผู้อื่น
๑๔. พระพุทธศาสนาสอนให้ทำความดีเพราะเห็นแก่ความดี ไม่ใช่ทำความดีด้วยความโลภหรืออยากได้สิ่งตอบแทน หรือทำด้วยความหลงคือไม่รู้ความจริง บางครั้งนึกว่าดีแต่กลายเป็นชั่ว
๑๕. พระพุทธศาสนาสอนให้มีความขยันหมั่นเพียร ไม่เกียจคร้านยิ่งสำหรับคฤหัสถ์ การตั้งเนื้อตั้งตัวได้ดี ต้องมีความพอใจและความขยันหมั่นเพียรเป็นหลัก
๑๖. พระพุทธศาสนาสอนให้มีเมตตากรุณาต่อผู้อื่น ให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
๑๗. พระพุทธศาสนาสอนว่า การอยู่ในอำนาจผู้อื่นเป็นทุกข์ จึงสอนให้มีอิสรภาพทั้งภายนอกและภายใน อิสรภาพภายในคือไม่เป็นทาสของกิเลส ถ้ายังละกิเลสไม่ได้ ก็อย่าถึงกับปล่อยให้กิเลสบังคับมากเกินไป
๑๘. พระพุทธศาสนาสอนให้เอาชนะความชั่วด้วยความดี ให้ระงับเวรด้วยการไม่จองเวร และในขณะเดียวกันให้พยายามทำตนอย่าให้มีเรื่องทะเลาะวิวาทกับผู้อื่น ให้รู้จักผูกไมตรี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน
๑๙. พระพุทธศาสนาสอนให้ประกอบเหตุ คือลงมือทำเพื่อให้เกิดผลที่มุ่งหมาย ไม่ให้คิดได้ดีอย่างลอยๆ โดยคอยพึ่งโชคชะตาหรืออำนาจลึกลับใดๆ
๒๐. พระพุทธศาสนาสอนให้ลงมือปฏิบัติ เพื่อจะให้รู้แจ้งผลดีด้วยตนเอง ไม่ต้องเดาว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ตราบใดยังเดาอยู่ ตราบนั้นยังไม่ชื่อว่ารู้ความจริง
๒๑. พระพุทธศาสนาสอนให้มีความอดทน ต่อสู้กับความยากลำบากและอุปสรรคทั้งหลาย ไม่เป็นคนอ่อนแอพอพบอุปสรรคก็วางมือทิ้ง ถือว่าความอดทนจะนำประโยชน์และความสุขมาให้
๒๒. พระพุทธศาสนาสอนไม่ให้เชื่ออะไรอย่างงมงายไร้เหตุผล ให้ใช้ปัญญากำกับอยู่เสมอ นอกจากนั้น ยังสอนให้รู้จักพิสูจน์ความจริงด้วยการทดลอง การปฏิบัติและการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน
๒๓. พระพุทธศาสนาสอนกว้างกว่าเทศบาลและรัฐบาล คือเทศบาลปกครองท้องถิ่นรัฐบาลปกครองประเทศโดยสอนให้มีโลกบาลคือธรรมอัน ปกครองโลก ได้แก่ หิริ ความละอายแก่ใจ และโอตตัปปะ ความสะดุ้งกลัวต่อบาปทุจริต
๒๔. พระพุทธศาสนาสอนให้มีสติปัญญาคู่กัน คือให้มีเฉลียวคู่กับฉลาด ไม่ใช่เฉลียวหรือฉลาดเพียงอย่างเดียว จึงสอนให้มีสติสัมปชัญญะคู่กัน และถือว่าเป็นธรรมมีอุปการะมาก
๒๕. พระพุทธศาสนาสอนให้บุคคลมีความเจริญก้าวหน้าอยู่เสมอ เช่น สอนให้เคารพในการศึกษา ให้มีการสดับตรับฟังมาก ให้คบหาผู้รู้หรือคนดี และสนใจฟังคำแนะนำของท่าน โดยเฉพาะได้สอนว่าไม่ควรสรรเสริญการยึดอยู่ในคุณความดี สรรเสริญแต่ความเจริญก้าวหน้า
๒๖. พระพุทธศาสนาสอนให้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทั้งทางวัตถุและทางจิตใจ เพื่อจะได้อยู่เป็นผาสุกในสังคม
๒๗. พระพุทธศาสนาสอนมิให้ปลูกศัตรูหรือมองเห็นใครต่อใครเป็นศัตรู โดยเฉพาะไม่สอนให้เกลียดชังคนนับถือศาสนาอื่น จึงนับว่าเป็นศาสนาที่มีใจกว้างขวาง
๒๘. พระพุทธศาสนาสอนมิให้วิธีอ้อนวอนบวงสรวงเพื่อให้สำเร็จผล แต่สอนให้ลงมือทำ เพื่อให้เกิดผลที่มุ่งหมายนั้นโดยถูกทาง
๒๙. พระพุทธศาสนาสอนให้มองโลก โดยรู้เท่าทันความจริงที่ว่า มีความไม่เที่ยงแท้ถาวร ทนอยู่ไม่ได้และไม่ใช่ตัวตนที่พึงยึดถือจะได้มีความปลอดโปร่งใจ ไม่ยึดมั่นจนเกินไปซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ได้โดยง่าย
๓๐. พระพุทธศาสนาสอนให้ถือธรรมคือความถูกต้องเป็นใหญ่ ไม่ให้ถือตนเป็นใหญ่หรือถือโลกเป็นใหญ่ พูดง่ายๆ คือไม่ถือบุคคลเป็นสำคัญ แต่ถือธรรมคือความถูกต้องเป็นสำคัญ
๓๑. พระพุทธศาสนาสอนปรมัตถ์ คือประโยชน์อย่างยิ่ง คือให้รู้จักความจริงที่เป็นแก่น ไม่หลงติดอยู่ในความสมมติต่างๆ เช่น ลาภ ยศ เป็นต้น แต่ในการเกี่ยวข้องทางสังคมก็สอนให้รู้จักรับรองสมมติทางกายและทางวาจาตาม ควร เช่น เมื่อเข้าประชุมชนก็ให้ทำตนให้เข้ากับประชุมชนนั้นๆ ให้ใช้ถ้อยคำให้ถูกต้องตามสมมติบัญญัติ ไม่ใช่ถือว่าเมื่อไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขาแล้ว ก็เลยเข้ากันไม่ได้ การที่พระพุทธศาสนายั่งยืนมาได้ ก็เพราะถึงคราวรับรองสมมติบัญญัติก็รับรองตามสมควร ถึงคราวสอนใจให้รู้เท่าสมมติบัญญัติ ก็สอนใจมิให้ติดให้หลงจนเป็นเหตุมัวเมางมงาย
๓๒. พระพุทธศาสนาสอนธรรมตั้งแต่ชั้นต่ำจนถึงชั้นสูง แต่ละประเภทเหมาะแก่จริต อัธยาศัยและความสามารถของแต่ละคน เหมือนให้อาหารแก่เด็กอ่อนแก่เด็กโต ตามความเหมาะสมฉะนั้น
๓๓. พระพุทธศาสนาสอนว่า ปัญญาเป็นเครื่องส่องทางแห่งชีวิตที่นับเป็นแสงสว่างในโลก และได้สอนต่อไปว่า ปัญญานั้นทำให้เกิดได้ ไม่ใช่ปัญญาเกิดตามบุญตามกรรม การทำให้เกิดปัญญาคือการคิด การศึกษาสดับตรับฟัง และลงมือปฏิบัติอบรมให้เกิดปัญญา
๓๔. พระพุทธศาสนาสอนเน้นหนักไปในเรื่องความกตัญญูรู้คุณผู้อื่น และกตเวทีตอบแทนคุณท่าน และสรรเสริญว่า ใครมีคุณข้อนี้ชื่อว่าเป็นคนดี และประพฤติสิ่งเป็นสวัสดิมงคล
๓๕. พระพุทธศาสนาสอนให้ดับทุกข์ โดยให้รู้จักว่าอะไรเป็นทุกข์ อะไรเป็นต้นเหตุและการดับความทุกข์ ได้แก่ ดับเหตุของทุกข์ รวมทั้งให้รู้จักข้อปฏิบัติที่จะให้ถึงความดับของทุกข์ด้วย จึงชื่อว่าสอนเรื่องดับทุกข์ได้อย่างมีเหตุผล ซึ่งควรจะได้ศึกษาและปฏิบัติตาม
๓๖. พระพุทธศาสนามิได้สอนย่ำยีหรือซ้ำเติมคนที่ทำอะไรผิดไปแล้ว ควรจะช่วยกันให้กำลังใจในการกลับตัวของเขา ไม่ควรดูหมิ่นเหยียดหยาม พระพุทธเจ้าเองก็เคยเล่าถึงเรื่องความผิดของพระองค์เองในสมัยเมื่อยังเวียน ว่ายตายเกิดอยู่ อันแสดงว่าตราบใดยังมีกิเลส ตราบนั้นก็อาจทำชั่วทำผิดได้ แต่ข้อสำคัญถ้ารู้ว่าอะไรผิด อะไรชอบแล้ว ต้องพยายามกลับตัวให้ดีขึ้นอยู่เสมอ
๓๗. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนให้เห็นอกเห็นใจคนอื่น ผู้ที่ดูหมิ่นเหยียดหยามคนอื่น จะเพราะชาติตระกูล เพราะทรัพย์หรือเพราะเหตุอื่นใดก็ตาม ไม่เชื่อว่าปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนา
๓๘. พระพุทธศาสนาสอนว่า การคบเพื่อนที่ดีย่อมจะชวนกันไปในทางที่ดี พระอานนท์เสนอว่าเป็นกึ่งพรหมจรรย์ พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นตัวพรหมจรรย์เลยทีเดียว แสดงว่ายกย่องกัลยาณมิตรมาก
๓๙. พระพุทธศาสนาสอนให้รักษา กาย วาจา ให้เรียบร้อยด้วยศีล ให้รักษาจิตให้สงบไม่ฟุ้งซ่านด้วยสมาธิ และให้รักษาทิฏฐิคือความเห็นมิให้ผิด ให้ไปตรงทางด้วยปัญญา ฉะนั้น ศีล สมาธิ ปัญญา จึงเป็นข้อปฏิบัติเด่นที่สุดทางพระพุทธศาสนา
๔๐. พระพุทธศาสนาสอนว่า ถ้าไม่รู้จะปฏิบัติอย่างไรดี เพราะข้อปฏิบัติมีมากเหลือเกิน ก็สอนให้ปฏิบัติเพียงอย่างเดียว คือให้รักษาคุ้มครองจิตให้เป็นไปถูกทาง เสร็จแล้วจะเป็นอันคุ้มครองกาย วาจา และอื่นๆ ในตัวด้วย
๔๑. พระพุทธศาสนาสอนทางสายกลาง ระหว่างการทรมานตัวเองให้เดือดร้อนกับการปล่อยตัวให้เหลิงเกินไป และสอนสายกลางระหว่างที่เห็นว่าเที่ยงกับระหว่างที่เห็นว่าขาดสูญ การสอนทางสายกลางนี้ ย่อมเป็นประโยชน์ในที่ทุกสถาน
๔๒. พระพุทธศาสนาสอนให้รับฟังความคิดเห็นของคนอื่นบ้าง ไม่เป็นคนดื้อว่ายากสอนยาก คนที่ฟังความคิดเห็นของบุคคลอื่น ย่อมมีโอกาสแก้ไขความผิดพลาดบกพร่องของตนเองอยู่เสมอ
๔๓. พระพุทธศาสนาสอนให้รู้จักเสียสละเป็นชั้นๆ ให้สละสุขอันเล็กน้อยเพื่อสุขอันสมบูรณ์ ให้สละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ ให้สละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต และให้สละชีวิตเพื่อรักษาธรรม
๔๔. พระพุทธศาสนาสอนว่า เมื่อมีศีลย่อมเป็นอุปการะให้เกิดสมาธิได้เร็ว เมื่อมีสมาธิก็ช่วยให้เกิดปัญญาได้สะดวกขึ้น
๔๕. พระพุทธศาสนาสอนรวบยอดให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท คือสอนไม่ให้ลืมตน ทะนงตนหรือขาดความระมัดระวัง ท่านถือความประมาทเป็นทางแห่งความตาย จึงควรตั้งอยู่ในความไม่ประมาททั่วกัน เป็นต้น(๑)
.................................................................................
(๑) คุณลักษณะพิเศษแห่งพระพุทธศาสนา, สุชีพ บุญญานุภาพ, โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย พระนคร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น