พระมหาวุฒิชัย (ว.วชิรเมธี)
ในโลกนี้มีวิธีคิดอยู่หลายแบบ วิธีคิดแต่ละแบบก็มีจุดดี จุดด้อย แตกต่างกันไป วิธีคิดที่คนส่วนใหญ่รู้จักก็มีอยู่ 3 แบบ ได้แก่ 1. วิธีคิดแบบมองโลกในแง่ดี 2. วิธีคิดแบบมองโลกในแง่ร้าย 3. วิธีคิดแบบมองโลกตามความเป็นจริง
วิธีคิดแบบมองโลกในแง่ดี ก็คือ การรู้จักมองหาคุณค่า หรือแง่ดี แง่งาม ท่ามกลางสภาวะที่ไม่พึงประสงค์ เช่น เมื่อตกอยู่ท่ามกลางวิกฤติ ก็ให้รู้จักมองหาโอกาส หรือเมื่อต้องทำงานหนัก ก็ให้มองว่า งานหนักจะมาพร้อมกับความเชี่ยวชาญ หรือเมื่อต้องพบกับอุปสรรคมากมายในชีวิตก็ให้มองว่า นั่นคือการทดสอบจากพระเจ้า เมื่อสอบผ่านก็จะได้รับรางวัลก้อนใหญ่ หรือเมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์ก็ให้คิดเสียว่า นั่นเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของคำแนะนำ หรือเมื่อต้องพบกับความผิดหวัง ก็ให้คิดเสียว่า เป็นวิธีที่ธรรมชาติกำลังมอบภูมิต้านทานในการดำรงชีวิต
การมองโลกในแง่ดี มีข้อดีก็คือ ทำให้เรารู้จักหาประโยชน์จากสิ่งที่ไร้ประโยชน์ หาสุขจากทุกข์ หาข้อดีท่ามกลางข้อเสีย การมองเช่นนี้ จะส่งผลให้มีกำลังใจในการสู้ชีวิตเหมือนที่มหาตมะ คานธี ถูกจับโยนลงจากรถไฟในแอฟริกาใต้ ในเวลาต่อมาท่านเล่าว่า เหตุการณ์เลวร้ายคราวนั้น ทำให้ท่าน “รู้จักคิด” จนท่านกล่าวว่า “ประสบการณ์ที่สร้างสรรค์ที่สุด มักเกิดจากบทเรียนที่เจ็บปวดที่สุด” การรู้จักมองโลกในแง่ดี จึงทำให้มีแรงบันดาลใจในการเผชิญหน้ากับความยุ่งยากของชีวิตได้เป็นอย่างดี
ท่านพุทธทาสภิกขุ เขียนกวีเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า
“เขามีส่วนเลวบ้างช่างหัวเขา
จงเลือกเอาส่วนที่ดีเขามีอยู่
เป็นประโยชน์โลกบ้างยังน่าดู
ส่วนที่ชั่วอย่าไปรู้ของเขาเลย
จะหาคนมีดีโดยส่วนเดียว
อย่ามัวเที่ยวค้นหาสหายเอ๋ย
เหมือนเที่ยวหาหนวดเต่าตายเปล่าเลย
ฝึกให้เคยมองแต่ดีมีคุณจริง”
วิธีคิดแบบมองโลกในแง่ร้าย ก็คือ การมองเห็นแต่จุดด้อยของสิ่งต่าง ๆ ซึ่งมักเกิดขึ้นจากความกังวลจนเกินเหตุ แต่วิธีคิดแบบนี้มีจุดแข็งก็คือ ทำให้เกิดการเฝ้าระวังในสิ่งที่กำลังคิดหรือทำอยู่ แต่จุดอ่อนก็คือ หากวิตกมากเกินไปก็ทำให้ไม่มีโอกาสได้ชื่นชมสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่ในคน หรือสิ่งต่าง ๆ ในแง่จิตใจก็ทำให้จิตใจหดหู่ ท้อแท้หรือจิตตก ไม่มีกำลังใจในการลุกขึ้นมาทำอะไร หรือบางกรณีทำให้เป็นคนที่ยอมจำนนต่อปัญหา ยอมแพ้ต่ออุปสรรคทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ใช้ความเพียรพยายามอย่างถึงที่สุด
วิธีคิดแบบมองโลกตามความเป็นจริง ก็คือ การมองเห็นสิ่งต่าง ๆ อย่างตรงไปตรงมา ไม่สุดโต่งไปด้านดี หรือด้านร้ายตามความรู้สึกที่ตนคิดเอาเอง แต่เป็นการมองลงไปตรง ๆ ยังตัวปัญหาที่อยู่ตรงหน้าด้วยปัญญาที่เป็นกลาง แล้วใช้ปัญญาที่เป็นกลางนั้น แสวงหาวิธีแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผล ซึ่งวิธีคิดเช่นนี้มีอยู่ในหมู่นักวิทยาศาสตร์ หรือปัญญาชนที่รักการใช้เหตุผลอย่างบริสุทธิ์ใจ ผลของวิธีการ มองโลกตามความเป็นจริงก็คือ สามารถแก้ปัญหาชีวิตได้จริงอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่อยู่กับความหวังมากเกินไปเหมือนการมองโลกในแง่ดี ไม่วิตกมากเกินไปจนไม่กล้าทำอะไรเหมือนการมองโลกในแง่ลบ แต่เป็นการอยู่กับความจริงที่เป็นจริงด้วยปัญญาแท้ ๆ และแก้ปัญหาชีวิตไปบนพื้นฐานข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา
วิธีคิดแบบมองโลกตามความเป็นจริง เป็นวิธีคิดหลักอย่างหนึ่งของพุทธศาสนา ซึ่งเรามักจะได้ยินผ่านวลีที่ว่า “จงมองโลกอย่างที่มันเป็น ไม่ใช่อย่างที่เราอยากให้เป็น” ในวิธีคิดสามแบบนี้ วิธีคิดแบบที่สามนับว่ามีประโยชน์มากที่สุด เพราะเป็นวิธีคิดที่มุ่งแก้ปัญหาโดยไม่ก่อ ให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง พูดอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นวิธีดับทุกข์ ไม่ใช่แค่กลบทุกข์
ถ้าความทุกข์ที่เกิดกับชีวิตเป็นของจริง วิธีที่จะดับทุกข์ ก็ต้องเป็นวิธีคิดแบบมองโลกตามความเป็นจริง ทุกข์จึงจะ ถูกดับหรือถูกกำจัดอย่างถอนรากถอนโคน เคยถามตัวเองบ้างไหมว่า เรากำลังใช้วิธีไหนในการดับทุกข์?.
Source: http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=671&contentID=113582
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น