วันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2554

ดุลยภาพของชีวิต ในมุมมองของพระพุทธศาสนา


พระมหาทวี มหาปัญโญ (ละลง) ผอ.โครงการหลักสูตรพุทธ ศาสตรดุษฏีบัณฑิต (พธ.ด.)

เพราะสุขและทุกข์เป็นธรรมชาติของชีวิต ดังนั้นจึงจำเป็นที่มนุษย์จะต้องศึกษาพัฒนาทั้งสุขและทุกข์เพื่อให้มี ดุลยภาพในการดำเนินชีวิต ให้ชีวิตดำเนินไปในแนวทางที่สอดคล้องกับธรรมชาติ แต่ในยุคที่โลกเต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก มีวัตถุพรั่งพร้อม มนุษย์มีความเข้าใจผิดว่าวัตถุคือสิ่งที่จะตอบสนองความต้องการทั้งหมดของ ชีวิต ยิ่งมีวัตถุมาปรนเปรอมากเท่าใดก็ย่อมจะมีความสุขมากเท่านั้น มนุษย์จึงพยายามพัฒนาทางด้านวัตถุเพื่อตอบสนองความต้องการทางด้านร่างกาย แต่ในทางจิตใจหาได้พัฒนาไม่ ดังนั้นมนุษย์จึงเสีย ดุลยภาพของชีวิตไป ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของวัตถุ ทำให้มนุษย์มีใจเสาะ เปราะบาง อ่อนแอ ทุกข์ได้ง่าย สุขได้ยาก

ตามหลักพระพุทธศาสนานั้นมนุษย์เป็นผลผลิตจากธรรมชาติ เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เมื่อมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ จึงต้องตกอยู่ ภายใต้กฎเกณฑ์ธรรมชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และ เมื่อสุขและทุกข์เป็นธรรมชาติของชีวิตจึงนับว่าเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่จะ ต้องรู้เท่าทันและพัฒนาให้ชีวิตเกิดดุลยภาพอันจะทำให้มนุษย์อยู่กับธรรมชาติ ได้ อย่างเป็นปกติ ดังนั้นทั้งสุขและทุกข์เป็นคุณสมบัติชนิดหนึ่งที่มนุษย์จะต้องปฏิบัติให้ถูก ต้องกล่าวคือ สุขคือสิ่งที่มนุษย์จะต้องพัฒนาให้เกิดขึ้นในชีวิตส่วนทุกข์คือสิ่งที่ มนุษย์จะต้องกำหนดรู้และปฏิบัติให้ถูกต้อง หน้าที่ต่อทุกข์ของมนุษย์ได้แก่การรู้เท่าทัน ส่วนสุขนั้นมีหน้าที่พัฒนาให้เกิดขึ้น ซึ่งสาระสำคัญของหน้าที่ทั้งต่อสุขและทุกข์นั้นสามารถกล่าวโดยสรุปตามหลัก การของพระพุทธศาสนาได้ ๒ ประการ ดังนี้

๑. การรู้เท่าทันทุกข์ พระพุทธศาสนามองว่าชีวิตและสรรพสิ่งล้วนตกอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติทั้ง ๓ ประการคือ ๑) การเปลี่ยนแปลง (อนิจจัง) ๒) การตั้งอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ (ทุกขัง) ๓) การไม่มีตัวตนที่แท้จริงเพราะปรากฏรูปร่างขึ้นมาได้ด้วย เหตุปัจจัย (อนัตตา) ทั้ง ๓ ประการนี้พระพุทธศาสนาเรียกว่ากฎธรรมชาติ ซึ่งสรรพสิ่งทั้งโลกและชีวิตจะต้องตกอยู่ภายใต้กฎทั้ง ๓ ประการนี้ อาการทั้งสองเบื้องต้นคือการเปลี่ยนแปลง (อนิจจัง) และการตั้งอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ (ทุกขัง) แสดงอาการปรากฏให้เห็นได้ง่ายโดยรูปของการเปลี่ยนแปลง เช่นการเปลี่ยนแปลงของรูปร่าง เป็นต้น ส่วนประการสุดท้ายคือการไม่มีตัวตนที่แท้จริง (อนัตตา) เป็นสภาพที่จะต้องใช้ปัญญาในการสืบหาความจริงตามเหตุปัจจัย

ทุกข์คือกฎของธรรมชาติชนิดหนึ่ง เป็นสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติ มีอยู่ตามธรรมชาติ เมื่อทั้งโลก และชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติจึง ต้องตกอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นไปตามกฎธรรมชาติ คือเป็นไปตามเหตุ ปัจจัย จากกฎธรรมชาติคือสิ่งทั้งปวงมีการเปลี่ยนแปลงนี้จึงมีผลต่อมนุษย์ทั้งโดยตรง และโดยอ้อม โดยตรงคือชีวิตร่างกายมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปตาม กฎธรรมชาติโดยที่มนุษย์ไม่ต้องการให้เปลี่ยนแปลง โดยอ้อมคือการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาตินั้นทำให้มีผลต่อจิตใจมนุษย์โดยก่อให้ เกิดทุกข์เพราะการเปลี่ยนแปลงไม่เป็นไปตามที่มนุษย์ปรารถนาจะให้เป็น เมื่อว่าโดยหลักการของพระพุทธศาสนาที่มองว่าสรรพสิ่งที่รวมตัวกันด้วยเหตุ ปัจจัยล้วนตกอยู่ภายใต้อาการคือ การเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปซึ่งเป็นอาการของการเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น ดังนั้นพระพุทธศาสนาจึงมีหลักการว่า ทุกข์เป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องรู้ด้วยปัญญา การเปลี่ยนแปลงตามกฎธรรมชาติไม่ควรมีอิทธิพลเหนือจิตใจของมนุษย์ และไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์จะเอาชีวิตเราเข้าไปเป็นทุกข์อันเนื่องมาจากการ เปลี่ยนแปลง มนุษย์ต้องรู้เท่าทันทุกข์ที่มีตามธรรมชาติที่โยงมาหาชีวิต กล่าวโดยสรุปคือทุกข์มีไว้เพื่อรู้เท่าทัน (ทุกขัง ปริญเญญยัง) ไม่ใช่มีไว้เพื่อเป็นทุกข์

๒. การพัฒนาสุข พระพุทธศาสนามองว่าความสุขเป็นสิ่งพัฒนาได้ เพราะความสุขเมื่อเกิดขึ้นอย่างถูกต้องแล้วจะเป็นคุณสมบัติในใจของมนุษย์ โดยพระพุทธศาสนาให้เหตุผลว่าเมื่อมนุษย์เป็นสัตว์ที่สามารถพัฒนาได้ความสุข ซึ่งเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของชีวิตจึงเป็นสิ่งพัฒนาได้เช่นกัน เมื่อเราพัฒนาความ สุขให้ประณีตขึ้น สูงขึ้นก็จะทำให้ชีวิตดีขึ้นคือทำให้ชีวิตของเรามีคุณธรรมต่าง ๆ เพิ่มขึ้น และความสุขที่เราพัฒนาขึ้นนอกจากจะเกื้อกูลต่อตนเองแล้วยังทำให้เกื้อกูลต่อ ผู้อื่นหรือสังคมด้วย เพราะปกติถ้าการแสวงหาความสุขเพียงเพื่อตนเองโดยไม่มีการพัฒนาความสุขให้สูง ขึ้นจะทำให้มีการเบียดเบียนผู้อื่น เพื่อให้ตนเองได้รับความสุข แต่หากมีการพัฒนาความสุขให้สูงขึ้น ความสุขที่ได้รับการพัฒนาให้สูงขึ้นตามลำดับนั้นจะทำให้สังคมมีสันติมากขึ้น

ระดับของความสุขตามนัยของพระพุทธศาสนานั้นมีขอบเขตที่กว้างขวาง แต่ในที่นี้สามารถสรุปได้ ๕ ระดับ คือ ความสุขขั้นที่ ๑ ได้แก่ความสุขที่เกิดจากวัตถุ (สามิสสุข) ความสุขชนิดเป็นความสุขที่เกิดจากการเสพวัตถุทางตา หู จมูก ลิ้น กายของมนุษย์ ความสุขชนิดนี้เป็นความสุขที่อิงอาศัยวัตถุภายนอก มนุษย์ต้องแสวงหาวัตถุภายนอกเพื่อเสพความสุขชนิดนี้ ข้อเสียของความสุขชนิดนี้คือเมื่อจำต้องอาศัยวัตถุภายนอกมนุษย์จึงจำต้อง แสวงหาให้ได้มากที่สุดเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเองจึงมีการเบียดเบียน กันเพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุอันจะตอบสนองความต้องการของตนเอง หากมนุษย์ยึดติดกับความสุขชนิดนี้โดยไม่พัฒนาให้ถึงความสุขขั้นสูงขึ้นก็ก่อ ให้เกิดการเบียดเบียนกันเพราะต่างก็ต้องแสวงหาวัตถุให้ได้มากที่สุดตามความ ต้องการ สำหรับการเสพความสุขชนิดนี้พระพุทธศาสนาได้ให้หลักการคือศีล ๕ เพื่อไม่ให้มีการเบียดเบียนกันหรือเพื่อให้มีการเบียดเบียนกันน้อยที่สุดคือ (๑) ให้เสพความสุขโดยไม่ให้เบียดเบียนผู้อื่น (๒) ไม่ให้ละเมิดสิทธิทรัพย์สมบัติของผู้อื่น (๓) ไม่ให้ละเมิดคู่ครองของผู้อื่น (๔) ไม่ให้ทำลายผลประโยชน์ ผู้อื่นด้วยถ้อยคำ (๕) ไม่ให้สร้างความไม่ปลอดภัยผู้อื่นด้วยการเสพสิ่งเสพติด และความสุขชนิด ดี มีข้อบกพร่องคือด้านตนเองมีความบกพร่องเพราะต้องแสดงว่าอยู่เป็นประจำเพื่อ ให้ได้ความสุข ด้านสังคมก็มีการเบียดเบียนกันเพราะต่างก็แสวงหากัน

ความสุขขั้นที่ ๒ ได้แก่ความสุขที่เกิดจากการให้ ความสุขชนิดนี้เป็นความสุขร่วมกันเพราะผู้ให้ก็เป็นสุขผู้รับก็เป็นสุข เป็นความสุขที่ไม่เบียดเบียนกัน เปลี่ยนจากการเอาหรือการได้เป็นการให้ ดังปรากฏคำสอนเรื่องทานเป็นหลักปฏิบัติที่สำคัญสำหรับคฤหัสถ์ ความสุขขั้นที่ ๓ ได้แก่ความสุขที่ใช้ชีวิตให้ถูกต้องตามธรรมชาติไม่ให้หลงในโลกสมมุติ ความสุขขั้นที่ ๔ ได้แก่ความสุขที่เกิดจากการปรุงแต่งในจิตใจ เป็นความสุขที่ไม่ต้องอิงอาศัยวัตถุภายนอกแต่ทำให้เกิดมีได้ด้วยการปรุงแต่ ให้เกิดมีขึ้นในจิตใจโดยวิธีการ ๕ อย่างคือ (๑) ความเบิกบานใจ (ปราโมทย์) (๒) ความอิ่มใจ (ปีติ) (๓) ความสงบใจ (ปัสสัทธิ) (๔) ความสุขใจ (สุข) และ (๕) ความมีจิตตั้งมั่น (สมาธิ) ความสุขขั้นที่ ๕ ได้แก่ความสุขเหนือการปรุงแต่งที่เกิดจากปัญญาที่รู้เท่าทันความเป็นจริงของ กฎธรรมชาติ พระพุทธศาสนายืนยันถึงระดับของความสุขทั้ง ๕ ระดับเหล่านี้และเห็นว่าความสุขทั้ง ๕ ระดับนี้เป็นธรรมชาติที่มนุษย์สามารถพัฒนาให้สูงขึ้นได้ตามลำดับ

กล่าวโดยสรุปคือเมื่อเราผ่านโลกผ่านชีวิตมาได้ระดับหนึ่ง เราก็คงเข้าใจคำว่า ชีวิตมีขึ้นมีลงได้อย่างชัดเจน นั่นก็หมายความว่าไม่มีใครโชคร้ายไปตลอดและไม่มีใครโชคดีไปตลอด ชีวิตมีสุขและมีทุกข์ปนกันไปแต่ ประเด็นที่สำคัญที่เราจะต้องไม่ลืมก็คือทำอย่างไรเราจะใช้ชีวิตให้มีดุลยภาพ ระหว่างสุขและทุกข์ โดยรู้ให้เท่าทันทุกข์และพัฒนาสุขอย่างมีหลักการ โดยในยาม ที่มีสุขเราก็ไม่หลงระเริงลืมตนจนกลายเป็นการสร้างทุกข์ให้คนอื่นหรือยึดติด เพียงความสุขในระดับต้น ๆ ไม่พัฒนาความสุขให้สูงขึ้น และทำอย่างไรในยามที่เรามีทุกข์ก็ไม่ใช่จมดิ่งอยู่กับทุกข์อย่างไม่รู้วัน รู้คืนแต่รู้จักสร้างปัญญาให้รู้เท่าทันทุกข์.

Source: http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=671&contentID=116211

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น