วันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2554
อารมณ์พาไป 'ทางทุกข์'
มนุษย์คือสัตว์สังคมต้องอยู่รวมกันเป็นหมู่คณะ ต่างคนต่างความคิดต่างจิตใจ บุคลิกท่าทาง การพูดจา นิสัยใจคอพฤติกรรมการกินอยู่ของมนุษย์ปรากฏในสังคม อาจสร้างความพึงใจไม่พึงอารมณ์ให้กับบางคน ถึงขั้นไม่ชอบหน้าค่าตา จนนำไปสู่ความเกลียดชัง ลับหลังนินทา ทางธรรมอธิบายความรู้สึกนี้ไว้อย่างมีเหตุมีผล
พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญโญ ผู้ก่อตั้งสำนักปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ร่มอารามสถานคลอง 10 ปทุมธานี อธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า คนเรานี้มีร่างกายกับจิตใจ ร่างกายมันเกิดอารมณ์ไม่ได้หรอกเพราะร่างกายมันไม่มีส่วนที่จะไปคิดไปมีความ รู้สึก อารมณ์มันจะเกิดกับจิตใจ อารมณ์เกิดขึ้นได้อย่างไร ในประสาทสัมผัสของเราก็มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อตาเห็นสิ่งไหน ความรู้สึกที่มีต่อสิ่งนั้นเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นทางตาก็เป็นรูปหูได้ยิน เสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายในสิ่งที่มีวัตถุต้องกายทั้งใจคิดถึงเรื่องราวต่าง ๆ นั้นแหละเป็นอารมณ์
อารมณ์จะมีอยู่ในจิตใจ มนุษย์จะแยกกับอารมณ์ได้ไหม มันไม่ได้เพราะจิตใจมันเสวยอารมณ์ เห็นสิ่งไหนมันก็จะมีความรู้สึกต่อสิ่งนั้น กินอะไรไปมันก็มีความรู้สึกต่อสิ่งนั้น ความรู้สึกมันก็มีอยู่ 3 อย่าง ถ้ามันยินดีพอใจ มันชอบมันก็เป็นสุข ถ้ามันไม่ยินดี ไม่พอใจไม่ชอบ มันก็เป็นทุกข์ ถ้ามันเป็นกลาง ๆ มันก็ไม่สุขไม่ทุกข์ มันแยกกันไม่ได้
อารมณ์จะมีความรู้สึกมันเกิดขึ้นด้วยจิต มีทั้งที่เป็นคุณและเป็นโทษ อย่างเราเห็นสิ่งไหนเกิดความรู้สึกเลื่อมใส ศรัทธา หรือชอบในสิ่งที่ดี คือเป็นคุณอยากจะเอามาเป็นแบบอย่าง เอามาเป็นแรงบันดาลใจจะได้เป็นอย่างนั้นบ้าง เป็นตัวจูงใจ ถ้าฝ่ายดีมันก็เป็นกุศล แต่ถ้าเป็นความรู้สึกที่มันชักนำไปในทางกิเลสตัณหา มันก็จะเป็นฝ่ายอกุศล แต่ถ้ารู้สึกเห็นสิ่งไหน มันก็เป็นความรู้สึก กลาง ๆ กับสิ่งนั้น มันก็ไม่ดีไม่ชั่ว มันก็ไม่เป็นไร
อารมณ์ เกิดขึ้นได้เร็วมาก บางทีเราเห็นสิ่งใด บางอย่างเหมือนมันมีโปรแกรมเอาไว้ในจิตแล้ว เสียงคนนี้พูด ฉันไม่ชอบเลย เพราะมันมีพื้นฐานโปรแกรมว่าฉันไม่ชอบคน ๆ นี้ แต่ถ้าอีกคนหนึ่งพูดฉันฟังเขาได้ พูดอย่างเดียวเท่านั้นแหละเพราะความรู้สึกที่เราไม่ชอบเป็นพื้นฐาน มันก็อยู่ในจิต มันก็สร้างโปรแกรมของจิต หรือว่ารสชาติอาหารชนิดนี้ กินเข้าไปแล้วมันไม่ชอบ มีโปรแกรมเอาไว้แล้วถ้ารสตัวนี้กินแล้วชอบมากเลย
คนเราส่วนใหญ่ที่มันหลงอารมณ์เพราะมันรู้อารมณ์ความเป็นจริงของสิ่งต่าง ๆ ที่มันได้สัมผัส อยู่ในธรรมชาติความเป็นจริงของสิ่งนั้น ๆ เช่น ถ้าชอบใครสักคนถ้าความชอบของเราสะสมมาก ๆ มันก็กลายเป็นหลงเขาแล้ว หลงอยากให้เขาเป็นไปตามที่เราต้องการ เขาชอบเรา ก็หลงว่าเขาต้องดีกับเรา ซื่อสัตย์กับเรา เขาจะต้องดีกับเราตลอดไป หรือรักเราเพิ่มขึ้น มันไม่เข้าใจความเป็นจริงของสิ่งต่าง ๆตามธรรมชาติ เพราะสิ่งต่าง ๆ ทั้งหลาย ไม่ว่าคน ทรัพย์ สิ่งของ ธรรมชาติของมันเปลี่ยนแปลงอยู่ จะให้มันเหมือนเดิมเป็นไปได้อย่างไร
ในทางกลับกันแต่ถ้าสิ่งไหนเราชอบเราพอใจ เราอยากให้มันเหมือนเดิม ถ้ามันไม่เหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนไปตามที่เราต้องการ เราก็ไปยึดมั่นก็จะทำให้เกิดความทุกข์ใจ จะต้องเหมือนเดิม เรียกว่า “หลงแล้ว” “หลงในอารมณ์ที่ยึดเอาไว้” เพราะไม่เข้าใจในความเป็นจริง ก็ยังทุกข์อยู่ เพราะไม่ยอมรับความเป็นจริง อยากจะให้กลับมาเหมือนเดิมคร่ำครวญหวนหา มันผ่านไปแล้วเป็นเดือน เป็นปี ก็ยังอยากจะให้เหมือนเดิม มันไปยึดอยู่ หรือคนที่เรารักคนที่เราพอใจตายจากไปแล้ว ก็ยังไม่ยอมรับความเป็นจริง ว่าธรรมชาติได้พลัดพรากจากเราแล้ว ไม่หวนกลับมาแล้ว ก็จะไปนึกถึงเรื่องราวเก่า ๆ ก็อยากให้เขากลับมา
“ชีวิตของแต่ละคนมีคุณค่ามาก แต่ละวัน แต่ละเดือน มีเรื่องราวต่าง ๆ มากมายที่เกิดกับชีวิตเรา แต่อารมณ์มันจมอยู่กับความเศร้าหมองที่เราไปยึดอยู่กับสิ่งนั้น นี่มันเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา ศักยภาพ เพื่อจะดูแลตัวเอง รักษาตัวเอง จะเสียเวลาไปเลย เพราะมัวไปจมปลักอยู่กับสิ่งเหล่านั้น เพราะเขาหลงอยู่” พระอาจารย์ถอดรหัสอารมณ์
พระอาจารย์ชาญชัยบอกว่า เพื่อจะขจัดอารมณ์ที่จมอยู่กับความปรารถนา ต้อง “ฝึกที่ใจ” ปกติเราเรียนสติปัญญาเรียนทางโลก มันช่วยปัญหาเรื่องใจไม่ได้เลยนะ เพราะปัญญาทางโลกมันจะช่วยการทำมาหาเลี้ยงชีพ ช่วยให้เรียนรู้เทคโนโลยีต่าง ๆ การบริหารจัดการต่าง ๆ มันเรียนรู้เพื่อจะทำมาหาเลี้ยงชีพ เรียนรู้เพื่อเข้าสังคม แต่ความรู้อีกอันหนึ่งที่เราจะเรียนรู้อย่างยิ่งเลย คือ “ความรู้ทางธรรม” ความรู้ทางธรรมมันไม่ใช่เรื่องใหญ่โต คือเข้าใจ “ความเป็นจริง” ของสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ สิ่งทั้งหลายในโลกนี้มันก็ไม่มีอะไรมากเลย มีแค่สิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต สิ่งที่มีชีวิตพระพุทธเจ้าท่านใช้คำว่า รูปงาม หรือ ขันธ์ 5 รูป ก็คือ ร่างกาย งาม ก็คือ จิตใจ สิ่งที่ไม่มีชีวิตมันมีแต่รูป ถ้าพูดถึงทางชีววิทยาก็เหมือนเรียนรู้สิ่งที่มีชีวิตและสิ่งที่ไม่มีชีวิต แล้วความเป็นจริงธรรมชาติของสิ่งเหล่านี้นะมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาไม่สามารถ เปลี่ยนแปลงในสภาวะเดิมได้ตลอดไป มันถูกบีบคั้น กดดัน แล้วมันไม่สามารถบังคับ อย่างที่เราปรารถนาได้
ความเปลี่ยนแปลงของมันคือความ อนิจจัง ความไม่สามารถคงทนอยู่ในสภาวะเดิมได้เพราะมันถูกปรุงแต่งขึ้นมาไม่สมบูรณ์ไป ในตัว ก็คือ ทุกข์ขัง ความไม่สามารถบังคับให้เราต้องการ คือ อนัตตา มันต้องเรียนรู้จัก อนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา พูดอย่างนี้มันก็เข้าใจได้ แต่มันไม่ยอมรับ ของคนอื่นเปลี่ยนแปลงไปในทางอนิจจัง ก็ช่างมัน เฉย แต่พอของเรา เปลี่ยนไปในทางที่ไม่เป็นประโยชน์ใจยอมรับไม่ได้ เพราะใจมันไม่ยอมรับความเป็นจริง แม้เกิดขึ้นแล้วก็ไม่ยอมรับความเป็นจริง เพราะเราไปยึดว่าของ ๆ เรามันต้องพิเศษหน่อย เหนือกว่าของคนอื่น เป็นอย่างที่เราต้องการ เพราะมันเป็นของ ๆ เรา แต่ที่จริงมันไม่ใช่ ของ ๆ เราจริง ๆ หรอก มันเป็นสิ่งที่ชาวโลกสมมุติ
เช่น โยมมีกระเป๋าใบนี้ เพราะโยมเอาเงินไปซื้อมา ชาวโลกก็สมมุติว่าเป็นของโยม มีสิทธิ ในการครอบครอง นี่มันเป็นสมมุติของชาวโลกเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่ของ ๆ โยมจริง ๆ เพราะมันเป็นสมบัติของโลก เพราะมันเอาจากวัตถุดิบของโลกมาสร้างขึ้นมา เพื่อให้เราได้ใช้ พึ่งพาอาศัย ในห้วงเวลาหนึ่งเท่านั้น เราไปบังคับจิตใจไม่ได้ จะเปื้อนก็ไม่ได้ เรามีหน้าที่ดูแลรักษาให้มันใหม่ ไม่ชำรุด ทรุดโทรม เพื่อเราจะได้ใช้งานได้นาน ๆ แต่ที่สุดแล้ว กระเป๋าก็ต้องผุพังไปตามกาลเวลา 20 ปี 50 ปี มันก็ใช้ไม่ได้แล้ว ถึงเราจะวางไว้เฉย ๆ มันก็ผุพังเพราะเนื้อหนังมังสามันก็ผุพังไป ตายไป สุดท้ายมันก็อยู่ในโลกเหมือนเดิม.
Source: http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=671&contentID=113582
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น