โดยพระมหาวุฒิชัย (ว.วชิรเมธี)
ใครต่อใครก็คงปรารถนาจะมี “ชีวิตที่ดี” แต่ อะไรคือความหมายของการมีชีวิตที่ดี บางทีก็เป็นเรื่องที่ยากจะนิยาม
ในพุทธศาสนา เรามีวิธีนิยามชีวิตที่ดีอยู่อย่างหนึ่ง นั่นก็คือ การกำหนด “เป้าหมายที่ดี” ให้กับชีวิต เมื่อชีวิตบรรลุถึงเป้าหมายที่ดีนั้นได้แล้ว ก็เท่ากับว่า คน ๆ หนึ่ง ได้บรรลุถึง “ชีวิตที่ดี” แล้ว
อะไรคือเป้าหมายของชีวิตที่ดีเพื่อที่จะมีชีวิตที่ดีตามแนวพุทธ
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ชีวิตที่ดีต้องมีเป้าหมาย อย่างน้อย ๓ ระดับด้วยกัน
(๑) เป้าหมายของชีวิตที่ดีในปัจจุบัน (ระดับที่เห็นได้ด้วยตา)
(๒) เป้าหมายของชีวิตที่ดีในอนาคต (ระดับเลยตาเห็น)
(๓) เป้าหมายของชีวิตที่ดีในขั้นสูงสุด (ระดับการมีชีวิตสมบูรณ์)
เป้าหมายของชีวิตที่ดีในปัจจุบัน
องค์ประกอบของการมีชีวิตที่ดีในปัจจุบัน หมายถึง การมีชีวิตที่ดีในระดับที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งเป็นเรื่องภายนอกทั่ว ๆ ไปในระดับชีวิตประจำวัน และการมีตัวตนอยู่ในสังคม มี ๔ มาตรฐาน คือ
๑) มีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง ไร้โรค อายุยืน
๒) มีงานมีเงิน มีอาชีพสุจริต พึ่งตนได้ในทางเศรษฐกิจ
๓) มีสถานภาพดี เป็นที่ยอมรับนับถือในสังคม
๔) มีครอบครัวผาสุก ทำวงศ์ตระกูลให้เป็นที่นับถือ
เป้าหมายของชีวิตที่ดีในอนาคต
องค์ประกอบของการมีชีวิตที่ดีในอนาคต หมายถึง การมีชีวิตที่ดีในระดับที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า หากแต่เป็นเรื่องความเจริญงอกงามภายในของจิตใจ ต้องใช้ปัญญาพิจารณาจึงจะรู้ว่ามีความเจริญพัฒนามากน้อยเพียงไร มี ๕ มาตรฐาน คือ
๑) มีความอบอุ่นซาบซึ้งใจ ไม่อ้างว้างเลื่อนลอย มีหลักยึดเหนี่ยวใจให้เข้มแข็งด้วยศรัทธา
๒) มีความภูมิใจในชีวิตสะอาด ที่ได้ประพฤติแต่การอันดีงามด้วยความสุจริต
๓) มีความอิ่มใจในชีวิตมีคุณค่า ที่ได้ทำประโยชน์ตลอดมาด้วยน้ำใจอันเสียสละ
๔) มีความแกล้วกล้ามั่นใจ ที่จะแก้ไขปัญหา นำชีวิตและภารกิจไปได้ด้วยปัญญา
๕) มีความโล่งจิตมั่นใจ มีทุนประกันภพใหม่ ด้วยได้ทำไว้แต่กรรมที่ดี
เป้าหมายของชีวิตที่ดีในขั้นสูงสุด
องค์ประกอบของ การมีชีวิตที่ดีในขั้นสูงสุด หมายถึง การมีชีวิตที่ดีในระดับที่สามารถอยู่ในโลกได้ อย่างมีความสุขทั้งทางกายและทางใจ มีภูมิคุ้มกันในการเผชิญชีวิตทั้งในยามปกติและในยามวิกฤติได้อย่างสงบและ เป็นฝ่ายได้กำไร อยู่เสมอ กระทั่งขั้นสูงสุด คือ การมีชีวิตที่เป็น อิสระจากความทุกข์ทั้งปวงสามารถดำเนินชีวิต ด้วยปัญญาบริสุทธิ์ มีชีวิตที่สงบสุขอย่างแท้จริง มี ๔ มาตรฐาน คือ
๑) ถึงถูกโลกธรรมกระทบ ถึงจะพบความผันผวนปรวนแปร ก็ไม่หวั่นไหว มีใจเกษมศานต์มั่นคง
๒) ไม่ถูกความยึดติดถือมั่นบีบคั้นจิต ให้ผิดหวังโศกเศร้า มีจิตโล่งโปร่งเบาเป็นอิสระ
๓) สดชื่น เบิกบานใจ ไม่ขุ่นมัวเศร้าหมอง ผ่องใส ไร้ทุกข์ มีความสุขที่แท้
๔) รู้เท่าทันและทำการตรงเหตุปัจจัย ชีวิตหมดจดสดใสเป็นอยู่ด้วยปัญญา
เป้าหมายของชีวิตที่ดีดังกล่าวมานี้ คือ ดัชนีชี้วัดการมีชีวิตที่ดีของปัจเจกบุคคล ใครปรารถนาจะมีชีวิตที่ดีงามล้ำเลิศ ก็ควรพัฒนาชีวิตตามแนวทางข้างต้นนี้ให้สมบูรณ์ไปทีละขั้น อย่างน้อยที่สุด แม้ยังไม่สามารถพัฒนาไปจนถึงขั้นสูงสุด ก็ควรยกระดับชีวิตให้มีชีวิตที่ดีงามระดับพื้นฐาน ๔ ประการเบื้องต้นให้สมบูรณ์เสียก่อน จากนั้น จึงค่อย ๆ พัฒนาต่อไปตามลำดับจนกว่าจะถึงขั้นสูงสุดที่สามารถอยู่ในโลกแต่ไม่ถูกโลก “กัด” ได้อย่างรื่นรมย์
ชีวิตที่ดีนั้น เป็น “ของขวัญ” ที่ไม่มีใครสามารถหยิบยื่นให้เราได้ มีก็แต่ตัวเราเท่านั้นจะที่ต้องหยิบยื่นให้แก่ตัวเองด้วยตัวเองและเพื่อตัว เอง.
-----------------------------
สิ่งสำคัญไม่อาจเห็นด้วยตา
ตามรูปศัพท์ “ปาฏิหาริย์” แปลได้ว่า “ความหมายพิเศษ” ในพุทธธรรมท่านกล่าวถึงปาฏิหาริย์ ไว้ 3 ประเภทด้วยกัน คือ
1. อิทธิปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์คือการแสดงฤทธิ์ได้ เช่น ล่องหน หายตัว เนรมิตคนเดียวเป็นหลายคน เดินผ่านฝาผนังหรือกำแพงได้ ฯลฯ
2. อาเทศนาปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์คือการรู้ใจคนหรือการทายใจคนออกว่าคิดอะไร มีความต้องการอย่างไรเป็นต้น
3. อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์คือการสอนคนให้รู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรม นำผู้ฟังให้ ละความชั่ว ทำความดี มีชีวิตที่ประเสริฐได้จริงในชีวิตนี้
ปาฏิหาริย์อย่างหนึ่งและอย่างที่สอนนั้น พระพุทธเจ้าทรงรับรอง ว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้จริง แต่ไม่มีผลข้างเคียงก็คือ ถ้านำไปใช้ในทางที่ดีซึ่งจะเป็นผลดี แต่ถ้าหากมีเจตนาร้ายนำไปใช้ในทางหลอกลวงคนก็จะก่อผลเสียอย่างมหาศาล เช่นกรณีพระเทวทัตแสดงปาฏิหาริย์ แห่งแคว้นมคธหลงศรัทธายกให้เป็นพระอาจารย์ จากนั้นพระเทวทัตจึงยุให้พระเจ้าอชาตศัตรูทำปิตุฆาต คือ ปลงพระชนม์พระบิดา ผลที่ตามมาไม่เพียงแต่ พระบิดาเท่านั้นที่สิ้นพระชนม์ พระมารดาก็ตรอมพระทัยสิ้นตามไปด้วยอีกองค์ ต่อมาเท้าเธอเองก็ถูกพระนัดดาปฏิวัติยึดอำนาจ และจากนั้นราชวงศ์นี้ ก็ทำปิตุฆาต (ลูกฆ่าพ่อ) ต่อกันมากกว่า 5 ชั่วคน จนในที่สุดอำมาตย์และประชาชนทนไม่ได้ ลุกขึ้นมาล้มล้างราชวงศ์ แล้วสถาปนาราชวงศ์ใหม่ขึ้นมาแทน
ส่วนพระเทวทัตเมื่อ “เริงในฤทธิ์” มากขึ้น ๆ ก็ถึงกลับตั้งตัวตนเองขึ้นเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่สอง แต่แล้วเมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูทรงรู้ความจริง ก็ทรง ถอนการอุปถัมภ์ จากนั้นพระเทวทัตจึงล้มป่วย และมรณภาพอย่างสังเวช เพราะถูกแผ่นดินสูบ (ความหมายในการตีความคือ ถูกประชาทัณฑ์จนมรณภาพอย่างน่าสมเพชท่ามกลางฝูงชนที่คั่งแค้น)
ทั้ง อิทธิปาฏิหาริย์ และอาเทศนาปาฏิหาริย์นั้น จะเก่งแค่ไหน ก็ยังตกอยู่ในอำนาจ ของกิเลส เก่งแสนเก่ง ก็ไม่เก่งไปกว่ากิเลสที่ครอบงำอยู่ดี
ส่วนปาฏิหาริย์ประการที่สามนั้น พระพุทธเจ้าทรงยกย่องมากกว่าปาฏิหาริย์ที่แท้ เพราะทำให้คนพ้นทุกข์ได้
ปาฏิหาริย์ชนิดที่สาม ทุกคนสามารถพัฒนาให้เกิดแก่ตนเองในชีวิตนี้ เพียงแค่พาตนเองสู่ธรรมที่เรียกว่าการ “เจริญ สติ”
ในโลกนี้จะมีปาฏิหาริย์ใดยิ่งไปกว่าการที่คนธรรมดา ๆ สามารถก้าวขึ้นมาเป็นคนที่พ้นทุกข์ได้เป็นไม่มีอีกแล้ว เพราะฉะนั้น ที่สุดแห่งปาฏิหาริย์คือ การมีชีวิตพิชิตความทุกข์ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
ปัญหาของการศึกษาพุทธประวัติไม่ใช่ว่ามีปาฏิหาริย์มากหรือน้อยเกินไปหรอก ปัญหาอยู่ที่ว่า เรามีปัญญามากพอที่จะ “ถอดรหัส” ปาฏิหาริย์เหล่านั้นหรือไม่ต่างหาก.
เรียบเรียงจากหนังสือ "โมงยามแห่งความสุข" ว.วชิรเมธี สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ กรุงเทพมหานคร
Source: http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=671&contentID=116211
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น