วันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

มองมุมใหม่ด้วยใจรัก:จิตวิญญาณในสังคมไทย

โดย ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์ 19 พฤศจิกายน 2552 12:57 น.
ท่านดาไลลามะ เคยกล่าวไว้ว่า ปัญหาของมนุษย์ทุกวันนี้คือความพร่องจิตวิญญาณ และการแก้ไขปัญหาของมนุษยชาติคือการปฏิวัติทางจิตวิญญาณ (Spiritual Revolution)

คำว่า 'จิตวิญญาณ' ใช้ทั่วไปในสังคมไทยมาก่อน หมายถึงสิ่งอะไรก็ตามที่มีคุณค่าสูงทางจิตใจ

เราจึงนำคำที่ใช้ในสังคมไทยมาใช้ เรียกว่า 'สุขภาวะทางจิตวิญญาณ' ต่อมาได้มีการได้ปรับเปลี่ยนมาใช้คำว่า 'สุขภาวะทางปัญญา' ทั้งนี้ คำว่า 'จิต' หมายถึง ความรู้สึกนึกคิด ในทางพุทธคือเบญจขันธ์ ประกอบด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จิตมีลักษณะสมมติ คือ มีความรู้สึกสุขทุกข์ได้ มีความจำได้ มีความคิดปรุงแต่งได้ มีการรับรู้ทางวิญญาณได้ ส่วนคำว่า 'วิญญาณ' ในทางพุทธศาสนา หมายถึง การรู้เวลามีผัสสะโดยมีอายตนะทั้ง 6 เป็นเครื่องรับ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ

คำว่า Spiritual หมายถึง มิติที่เหนือวัตถุ ในทางพุทธเรียก 'โลกุตตระ' หรือ เหนือโลก สมัยกรุงรัตนโกสินทร์จงใจไม่ใช้คำนี้จนกระทั่งท่านอาจารย์พุทธทาสมาฟื้นกลับมาใช้ ซึ่งโลกในที่นี้ หมายถึง เนื้อหนังมังสาในร่างกาย ทั้งนี้ ท่านอาจารย์พุทธทาสฝากปณิธาณไว้ 3 ข้อ คือขอให้ศาสนิกของศาสนาต่างๆเข้าถึงหัวใจของศาสนาของตน เพราะหัวใจของทุกศาสนาคือ Spiritual หรือ โลกุตตระ ซึ่งไม่รู้จะมีศาสนาไปทำไมถ้ามันเป็นเรื่องพื้นๆในระนาบเดียวกัน แต่ตรงนี้มันเหนือขึ้นไป ทุกศาสนาจะมีเรื่องที่ไม่ใช่หัวใจแล้วจะไปทะเลาะกันที่ตรงนั้น ประการที่สอง ท่านพุทธทาสขอให้มีความร่วมมือกันระหว่างศาสนา และประการสุดท้ายคือขอให้มนุษย์ถอนตัวออกจากวัตถุนิยม ซึ่งก็คือมุ่งไปสู่ระนาบของจิตวิญญาณ หรือ Spiritual หรือ โลกุตตระ นั่นเอง ท่านอาจารย์พุทธทาสใช้ตลอดชีวิตทำโลกุตรโอสถให้เป็นยาสามัญประจำบ้านคือทำให้เป็นเรื่องชีวิตประจำวันเพราะคนไทยพุทธมักถือว่าโลกุตตระเป็นเรื่องห่างไกล แต่จะบอกว่าทางพุทธไม่ได้คิดอย่างนี้ก็คงไม่ได้เพียงแต่อาจใช้คำอื่น เช่น ความดีงาม กุศล จิตสูง ความเป็นมนุษย์ฯลฯ

ทางพุทธศาสนา มีหลักที่เรียกว่า 'ไตรสิกขา' ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งคำว่า 'ปัญญา' ในทางพุทธมีความหมายพิเศษ เพราะพระพุทธเจ้าถือว่าความทุกข์ของมนุษย์เกิดจากอวิชชาหรือความไม่รู้ เพราะฉะนั้นปัญญาจะทำให้หมดทุกข์และเกิดสุขตามมา สุขภาวะจึงเกิดจากปัญญา และปัญญาในทางพุทธหมายถึงการลดความเห็นแก่ตัวลง ที่สุดแล้วเราจะถึง อนัตตา คือความไม่มีตัวตน ดังนั้น ปัญญาที่ใช้ในที่นี้ก็คือ 'สุขภาวะทางปัญญา'

พุทธศาสนายังเน้นเรื่องความเมตตากรุณา (Compasstion) คือ ถ้ามีเมตตากรุณาก็ถือว่ามีปัญญา แต่ถ้าเห็นแก่ตัวก็ไม่ถือว่ามีปัญญาเพราะไม่ถือว่ามีคุณค่าทางจิตวิญญาณ การมีเมตตากรุณาถือว่าเริ่มต้นในทิศทางของจิตวิญญาณ ในพระไตรปิฎกก็บอกว่าถ้าเผื่อแผ่เมตตาไปทุกทิศทุกทางอย่างไม่มีที่สิ้นสุดก็สามารถบรรลุธรรมได้ ท่านอาจารย์พุทธทาสเองก็เคยกล่าวว่า ทุกคนเคยเจอนิพพานชิมลองมาแล้วทั้งสิ้น ยามใดเราไม่เห็นแก่ตัว เราจะมีความสุขลึกๆ นั่นคือนิพพาน แต่เป็นนิพานชั่วคราวหรือนิพพานชิมลอง ดังนั้นทำอย่างไรให้รู้ ให้มันเกิดบ่อยขึ้น ให้มันอยู่นานขึ้นนั่นเป็นภาคปฏิบัติ นั่นคือ 'สุขภาวะทางจิตวิญญาณ'

ทั้งนี้ หากหันมาดูการแพทย์แผนปัจจุบันกับการแพทย์แผนโบราณหรือแผนไทยไทยบ้าง เราจะเห็นชัดว่าการแพทย์แผนปัจจุบัน คือ การให้ยากับผ่าตัด หรือใช้อยู่ในระนาบของวัตถุ แต่การแพทย์แผนโบราณหรือแผนไทยจะใช้ร้อยแปด ทั้งความเชื่อ น้ำใจ เรื่องศักดิ์สิทธิ์ การช่วยเหลือกัน หรือความเป็นชุมชน เช่น ครั้งหนึ่งมีผู้ป่วยหนักใกล้เสียชีวิต หมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ถามว่าอยากให้ทำอะไร ผู้ป่วยบอกว่าอยากดูรำผีฟ้า หมอจึงไปจัดมาให้ แกก็ลุกขึ้นมานั่งได้เพราะแกเชื่อรำผีฟ้าทำให้มีสุขภาพดี

หรือในกรณีหมู่บ้านโรแซสโต้ เพนซีวาเนีย สหรัฐอเมริกา มีหมอคนหนึ่งสังเกตว่าทำไมคนจากหมู่บ้านนี้ไม่ค่อยเป็นโรคหัวใจหรือมะเร็งเหมือนที่อื่นและมักมีอายุยืน ทั้งที่เมื่อลงไปดูพื้นที่คนก็กินเหล้า สูบบุหรี่ เหมือนที่อื่น แต่สิ่งที่แตกต่างคือที่หมู่บ้านนี้อบอุ่นมาก คนเป็นกันเองและดูแลกัน นี่เป็นบ่อเกิดของสุขภาพที่สำคัญ เป็นหัวใจของความเข้มแข็ง เป็นเรื่องของความเป็นชุมชน และเป็นสุขภาวะทางจิตวิญญาณ

การแพทย์แผนปัจจุบันติดอยู่ในการกักขังให้ใช้แต่ทางวัตถุ แต่ขณะนี้เรื่องสุขภาพได้ขยายออกไปอย่างกว้างขวางทั้งทางกาย จิต สังคม และปัญญา เกิดการปฏิรูประบบสุขภาพที่เคลื่อนไหวในสังคมไทย นั่นคือ 'การปฏิรูปมโนทัศน์' การคิดว่า สุขภาพดีคือการไม่มีโรค นั่นคือ การติดมโนทัศทัศน์ เพราะจะมีแต่หมอเท่านั้นที่เข้าใจเรื่องโรคซึ่งไปจำกัดเรื่องสุขภาพเฉพาะเรื่องของหยูกยาหรือโรงพยาบาล มันจึงถูกกักขังไว้อยู่ในที่แคบ แต่เราได้เปิดทำนบแล้วว่า สุขภาพดีคือการไม่มีโรคนั้นไม่จริง การมีโรคก็สุขภาพดีได้ถ้ามีดุลยภาพ อย่างถ้าเป็นเบาหวานซึ่งมันก็ยังเป็นโรคอยู่ แต่ถ้าทำให้ได้ดุลยภาพก็สุขภาพดีได้ มะเร็งก็เช่นกัน สุขภาพดีคือดุลยภาพทั้งทางกาย จิต สังคม และปัญญา ซึ่งอะไรก็ตามที่ทำให้มีดุลยภาพก็เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นไทเก็ก ศิลปะ ดนตรี การสวดมนต์ หรือโยคะ เราเรียกว่าโอสถประยุกต์ซึ่งไม่ใช่เรื่องหมอ หรือหยูกยา อีกต่อไป นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

เราจะเห็นเรื่องการแพทย์ทางเลือก โยคะ ไทเก็ก หรือการเจริญสติที่กำลังเกิดขึ้นเรื่อยๆ ที่มหาวิทยาลัยเมสซาซูเซต เมื่อเปิดหลักสูตรการเจริญสติแบบพุทธก็มีคนมาสมัครถึง 87,000 คน เพราะเจริญสติแล้วทุกอย่างดีขึ้น สุขภาพดีขึ้น การเรียนรู้ดีขึ้น ความสัมพันธ์ก็ดีขึ้น ขณะนี้จึงกำลังแพร่หลายและโลกกำลังจะเปลี่ยน มนุษย์นั้นโหยหามิติทางจิตวิญญาณเพื่อทำให้เกิดความสมบูรณ์ในตัวเอง แต่เมื่อมนุษย์พัฒนาทางวัตถุเท่านั้นก็ขาดความสมบูรณ์ในตัวเอง เมื่อไปหาสิ่งที่มาเติมก็จะหา 3 อย่าง คือ ยาเสพติด ความฟุ่มเฟือย และความรุนแรง ซึ่งเป็นไปทั่วโลก

นักปราชญ์ฝรั่งบอกว่า Western Civilization ซึ่งเป็นวัตถุนิยม บริโภคนิยมไปต่อไม่ได้แล้วและทำให้เกิดวิกฤติ มีทางเดียวที่จะรอดได้ต้องปฏิวัติจิตสำนึก ท่านดาไลลามมะเรียกว่า การปฏิวัติทางจิตวิญญาณ หรือแม้แต่ไอน์สไตน์ก็พูดไว้ว่ามนุษย์จะต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่โดยสิ้นเชิงถ้ามนุษยชาติจะอยู่รอดได้

การพัฒนาจิตกับสุขภาพเป็นเรื่องที่กว้างใหญ่ไพศาลและเป็นการปฏิวัติ น่าดีใจที่กระแสปฏิวัติกำลังเกิดขึ้นแน่นอน ทั้งขยายใหญ่และแรงจูงใจสูงมาก แรงจูงใจนั่นคือความสุข เพราะถ้าทำอะไรแล้วสุขก็จะอยากทำสิ่งนั้นอีก ซึ่งสุขภาวะทางจิตวิญาณหรือการพัฒนาจิตเป็นสิ่งที่นุ่มและปราณีตมาก มันลึกซึ้งและเป็นความสุขที่ราคาถูก เป็นความสุขแท้จริง เป็นความสงบ มีอิสระ เห็นความงามทั้งหมด เกิดความรักอันไพศาลต่อเพื่อนมนุษยและธรรมชาติทั้งหลาย เพราะฉะนั้นนี่ก็คือการปฏิวัติแล้ว

ที่มา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

Source: http://www.managerweekly.com/

วันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

กมลา สุโกศล อยู่ที่เรียนรู้ อยู่ที่ยอมรับ


นักธุรกิจหญิงแถวหน้า สาวสังคมชั้นนำ นักร้องเสียงเลิศ รวมถึงคุณแม่ที่แสนดี ทั้งหมดคือคุณสมบัติที่มีอยู่ในเธอคนเดียว กมลา สุโกศล เอ่ยด้วยรอยยิ้มว่า “เวลามีใครถามว่า ทำไมถึงไม่เครียด ทำไมไม่แก่ ทำไมถึงเก่ง ดิฉันอยากบอกเคล็ดลับเหมือนกัน แต่ตอบยาก เพราะเกิดมาก็เป็นคนแบบนี้ แต่ถ้าจะให้คิดจริงๆ คงจะแยกออกเป็นส่วนๆ ได้แบบนี้”...

ส่วนแรก : การใช้ชีวิต
ดิฉันยึดหลักใช้ชีวิตอย่างขวนขวายการขวนขวายเป็นสิ่งสำคัญ เพราะช่วยให้ชีวิตสนุก มีสีสัน มีคุณค่า ถ้าเรานิ่งๆ อยู่ ชีวิตก็จบแค่นั้น ฝรั่งเรียก richer ไม่ใช่ร่ำรวยเงินทอง?แต่หมายถึงใช้ชีวิตอย่างมีสีสัน??มีคุณค่าอย่างที่บอก

เริ่มตั้งแต่เล็กๆ คุณแม่ของดิฉันอยากให้ลูกเก่ง เห็นลูกมีพรสวรรค์ด้านดนตรีก็จับให้เรียนเปียโน พอเราเล่นได้ดีก็ให้เล่นให้คนโน้นคนนี้ฟัง แล้วคุณแม่ก็จะยิ้มกริ่มภูมิใจว่า "ลูกฉันเก่ง"

คุณแม่เห็นว่าสมัยก่อนบ้านเรายังไม่มีสิ่งส่งเสริมการเรียนรู้เหมือนสมัยนี้ และอยากให้ลูกพูดภาษาอังกฤษเก่ง จึงส่งดิฉันไปเมืองนอกตั้งแต่สิบขวบ ดิฉันเองเป็นนักผจญภัย ชอบขวนขวายหาความรู้ ชอบไปรู้ไปเห็นอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ อยู่แล้ว ดังนั้นถึงแม้การติดต่อระหว่างบ้านกับอังกฤษจะลำบาก ต้องช่วยเหลือตัวเองทุกอย่าง แต่ก็เป็นเด็กที่ไม่เคยเศร้า ไม่เคยมีปัญหา

อาจบอกได้ว่า ทุกสิ่งที่ทำมาในชีวิต ดิฉันไม่เคยวางแผนมาก่อนบางวันสมองสั่งบ้าง...หัวใจสั่งบ้าง ถึงได้เป็นคนไม่เครียด เครียดเป็นอย่างไรชีวิตนี้ไม่เคยรู้จัก ทำอะไรแม้จะไม่สำเร็จบ้างก็ไม่เป็นไร

ขอเพียงแต่ทุกวันต้องได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ?อย่างทุกวันนี้ถ้าวันไหนไม่ได้อ่าน?บางกอกโพสต์?กับ?เดอะเนชั่น?จะรู้สึกว่าตัวเองโง่เหลือเกิน?และอ่านแมกกาซีนเช่น?ไทม์?หรือ?นิวสวีค?เสริมบ้าง?เปิดทีวี?ดูข่าวและรายการต่างๆ?เช่น?บีบีซี?ซีเอ็นเอ็น?เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก?หรือฮิสทรี่แชนเนล?ฯลฯ?ได้ความรู้ดีๆ?ทั้งนั้นเกิดอะไรขึ้นก็รู้ก่อนคนอื่น

ส่วนที่สอง : การงาน
ดิฉันยึดหลัก Put the right manin the right job. คือ บริหารพนักงานด้วยการเลือกสิ่งที่เขาชอบให้เขาทำ แล้วเขาจะทำได้ดี?ดิฉันบอกได้เลยว่า สาเหตที่ธุรกิจการงานเจริญมาได้อย่างทุกวันนี้ เพราะเรามีผู้จัดการและสต๊าฟที่ทั้งเก่งและดีเยอะมาก ดิฉันเชื่อว่า ไม่มีใครประสบความสำเร็จได้ถ้าไม่มีทีมเวิร์คที่ดี นอกจากนั้น ลูกสาวสองคน คือ มาริสากับดารณี(คุณมาริสา สุโกศล หนุนภักดี และคุณดารณี สุโกศล แคลปป์)ก็มาช่วยดูแลทั้งในส่วนของมาร์เก็ตติ้งและการเงิน ซึ่งถ้าเปรียบบริษัทเป็นเหมือนช้างหนึ่งเชือก มาร์เก็ตติ้งก็เปรียบได้กับเท้าคู่หน้าการเงินเปรียบได้กับเท้าคู่หลัง ถ้าจะให้ธุรกิจยืนอยู่ได้ ก็ต้องทำให้ทั้งสองส่วนนี้แข็งแกร่ง

ส่วนที่สาม : เลี้ยงดูลูก
ดิฉันใช้วิธีให้อิสระกับลูกปล่อยให้เขาเรียนรู้และยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น สมัยที่มาริสายังเล็กดิฉันเคยบังคับให้เรียนเปียโน ขี่ม้า ว่ายน้ำ และอีกสารพัด ซึ่งเขาทำได้ดีมากแต่การปล่อยให้ลูกๆ ทำอะไรก็ได้ที่อยากทำต่างหากที่ทำให้เขามีความสุขมากกว่า พอเลี้ยงคนที่สองดิฉันจึงเลิกบังคับ เวลาลูกคนไหนมาปรึกษาว่าอยากทำโน่นอยากทำนี่ ดิฉันจะบอกว่า "ทำได้ แต่ขอให้เรานับถือคุณได้จากสิ่งที่คุณทำ" จากนั้นก็ทั้งช่วยทั้งเชียร์เต็มที่อีกอย่าง ดิฉันจะหาเวลาทานข้าวกับลูกๆ อย่างน้อยวันละหนึ่งมื้อ เพื่อสร้างความอบอุ่นในครอบครัว

แต่การที่ลูกจะเป็นคนดีหรือเปล่าไม่ได้อยู่ที่พ่อแม่เท่านั้น เพื่อนฝูงก็สำคัญมาก สมัยก่อนบ้านดิฉันเหมือนสถานีหัวลำโพง ใครหาลูกไม่เจอก็มาหาที่นี่ บางวันมีเด็กอยู่ในบ้าน 30 – 40 คน เพราะลูกเรียนโรงเรียนนานาชาติ วัฒนธรรมของฝรั่งเขาจะชอบไปนอนค้างตามบ้านเพื่อน แล้วที่บ้านก็มีสระว่ายน้ำ มีที่ให้วิ่งเล่น สุกี้กับน้อย (คุณกมล สุโกศลและคุณกฤษดา สุโกศล แคลปป์) จะชอบพาเพื่อนมาค้างบ่อยๆ ซึ่งก็เป็นข้อดีที่ว่า เราจะได้รู้จักเพื่อนของลูกด้วย

สุกี้เป็นคนที่เด็กแล้วแก่เลย คือเขาจะมีแต่เพื่อนที่แก่กว่า ตอนเขาอายุ 14 ก็คบกับเพื่อนอายุ 17 – 18 บางคนเป็นเด็กเกเรบางคนครอบครัวมีปัญหา มีอยู่คนหนึ่งหน้าตาท่าทางดีมาก แต่เป็นเด็กซึมเศร้า พยายามฆ่าตัวตายหลายครั้ง เพื่อนเหล่านี้พอได้มารู้จักกับสุกี้ก็จะเห็นเขาเป็นที่พึ่ง มีเรื่องมาให้ช่วยสารพัด ดิฉันไม่เคยห้ามลูกเรื่องการคบเพื่อน เพราะจริงๆ แล้วเราห้ามเขาไม่ได้ และดิฉันไม่กลัวว่าเพื่อนจะพาเสีย เพราะเชื่อว่าไม่มีใครมีความสุขกับเรื่องไม่ดีเด็กส่วนใหญ่เกเรเพราะขาดความรักความอบอุ่น

สิ่งที่ดิฉันขอจากลูกมีอย่างเดียวคือ เรียนให้จบมหาวิทยาลัย แล้วจะหกคะเมนตีลังกาอย่างไรก็เชิญ มหาวิทยาลัยไม่ได้ทำให้เป็นคนเก่ง เป็นคนดี หรือทำงานเก่ง แต่ การเรียนทำให้มีความรู้ ซึ่งเป็นรากฐานที่ดีให้ต่อยอดไปได้

สิ่งที่ลูกทุกคนมีเหมือนกันคือ ความเฉลียวฉลาด พวกเขาไม่เคยก้าวร้าว และตัดสินใจเป็น คนตัดสินใจไม่เป็นจะไม่ก้าวหน้า เขาอาจจะตัดสินใจไม่เร็วเท่าดิฉัน แต่ในที่สุดเขาต้องกล้าที่จะตัดสินใจบางทีผิด บางทีถูก ก็ไม่เป็นไร

“เรามีเวลาเรียนรู้ชั่วชีวิต เพียงแต่ต้องรู้จักยอมรับผลของการกระทำด้วยเท่านั้นเอง”

*** เคล็ดลับสู่ความสุขและความสำเร็จแบบกมลา สุโกศล

สนุกกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดชีวิต
ใช้คนให้เหมาะกับงาน
สอนลูกให้เรียนรู้ชีวิต ให้อิสระในการคิดและทำสิ่งในที่ชอบพร้อมทั้งให้คำแนะนำและอยู่เคียงข้างเสมอ

Source: http://kbeautifullife.com/health_wellness/detail.php?id=12&type=impress
Live and Learn (Acoustic)
http://www.imeem.com/magotta/music/KEAuwZJP/live-and-learn-acoustic/

ชีวิตสองเส้นทางของ...กมลา สุโกศล


กมลา สุโกศล’ ผู้หญิงวัย 60 กว่า เจ้าของเสียงร้องที่มีเอกลักษณ์กับเพลงไทยสากลสุดฮิต ‘live and learn’ เธอบอกว่า ทุกวันนี้เธอมีสองอาชีพนั่นก็คือ ‘นักธุรกิจ’ และ ‘นักร้อง’ ซึ่งเป็นสองบทบาทที่รักและมีความสุขที่ได้ทำ สองบทบาทนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร สีสันของชีวิตสองเส้นทางนี้สร้างความสนุก...สร้างความสุข และทำให้ชีวิตสวยงามอย่างไร เรื่องราวเหล่านี้ ได้ถูกบันทึกไว้... เพื่อรอการเปิดอ่าน...

ทราบว่า คุณกมลาเกิดมาในครอบครัวที่ทำธุรกิจ
ค่ะ ทำมาตั้งแต่สมัยคุณพ่อ คุณพ่อทำหลายอย่างค่ะ ทำเครื่องไฟฟ้า ทำเครื่องเสียง...คุณพ่อจะชอบซื้อบริษัทซึ่งมันล้มเหลวมาไว้ ตอนท่านเสียก็มีอยู่สิบกว่าบริษัท ครึ่งหนึ่งทำเงินต่อได้ ที่เหลือไม่ได้เรื่อง พอคุณพ่อเสียชีวิตไปแล้วดิฉันก็ดูว่าตัวเองทำได้แค่ไหน ก็เอามาทำเฉพาะที่ทำได้แค่นั้น น้องสาวเอากิจการรถยนต์ไปทำ ดิฉันมาทำโรงแรม มี 3 โรงแรม ก็คือ โรงแรมสยามเบย์วิว โรงแรมสยามเบย์ชอว์ รีสอร์ท แอนด์ สปา ที่พัทยา แล้วก็โรงแรมสยามซิตี กรุงเทพฯ

ตอนที่คุณกมลาอายุแค่สิบกว่าขวบก็ไปเรียนที่อังกฤษแล้ว
ค่ะ อยากไปอยู่ ดิ้นรนที่จะไป คิดว่ายังไงก็จะไปให้ได้ ดิฉันอยากเห็นโลกที่กว้างใหญ่ไพศาลเพราะรู้ว่าต้องมีอะไรให้เราเรียนรู้อีกเยอะ เมืองไทยเราสมัยก่อนทีวีก็ไม่มีดู ดิฉันชอบค้นคว้าค่ะ อยากรู้อยากเห็น เดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นอยู่

คุณใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศกี่ปีคะ
ยี่สิบกว่าปีค่ะ

อะไรทำให้คุณกมลากลับมาเมืองไทยคะ
ก็คุณพ่อไม่มีลูกชาย ไม่มีใครทำกิจการต่อ คุณพ่อก็ไปตื๊อ ๆ จนกลับมาจนได้ ...ตอนแรกคุณพ่อบอกให้ไปทำธุรกิจรถยนต์ ดิฉันก็ไม่รู้เรื่อง วันดีคืนดีคุณพ่อก็บอกไปสร้างโรงแรมให้ทีสิ ฉันไปซื้อที่ดินไว้ที่พัทยา ดิฉันก็ไปขวนขวายหาวิธีไปกู้เงินเอง ก็ไปสร้างโรงแรมสยามเบย์ชอว์ รีสอร์ท (ชื่อเดิม) เสร็จแล้วพ่อก็ไปซื้อที่บนชายหาดเดียวกันอีก ดิฉันก็สร้างโรงแรมสยามเบย์วิวขึ้นมา คุณพ่อก็ไปซื้อตึกด้านข้างโรงแรมสยามซิตีมาอีกตึกหนึ่ง คุณพ่อบอกแกไปทำให้ฉันทีสิ ปัจจุบันเป็นส่วนของโรงแรมของสยามซิตีอยู่ขณะนี้

มีโรงแรมที่ต้องดูแลถึง 3 โรงแรม คุณกมลาเรียนรู้งานได้จากไหนคะ
ทำแล้วก็จะรู้ไปเอง แรก ๆ ก็ถูลู่ถูกังไปก่อน ก็ live and learn นั่นแหละ แต่ก็เหนื่อย แต่พอทำไปแล้วประสบความสำเร็จก็มีความพอใจเกิดขึ้น จะสำเร็จได้ต้องมีลูกน้อง ดี ๆ มีฝ่ายบริหารเก่ง ๆ ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป งานโรงแรมต้องมีทีมเวิร์คที่ดี ...แต่งานโรงแรมมันไม่มีจุดจบ มันไม่สมบูรณ์ ไปทุกอย่าง คุณต้องชอบเหนื่อย ต้องครีเอทีฟตลอดเวลาถึงจะทำงานโรงแรมได้

ความสนใจเรื่องการร้องเพลงมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่คะ
ของแบบนี้มันเรียนไม่ได้นะ มันเป็นพรสวรรค์ที่ตัวเองมีมาตั้งแต่ยังเล็ก ๆ พอได้ยินเพลงก็จะร้องได้ทันที ได้ยินอะไรปั๊บก็เล่นเปียโนได้โดยที่ไม่เคยหัดเล่น พอคุณแม่เห็นว่ามีหัวดนตรีคุณแม่เลยจับไปเรียนเปียโนเพราะมัน ไม่มีอย่างอื่นเรียน ก็เรียนเพลงคลาสสิก แต่พอไปอังกฤษก็ไม่เล่นเพลงคลาสสิก เหนื่อย ขี้เกียจซ้อม เพราะเพลงคลาสสิกถ้าจะเล่นให้ดีต้องมีความพยายามจริง ๆ ก็เลยเล่น เพลงแจ๊สเพลงอะไรไป ตรงนี้เลยทำให้เราป๊อปปูล่าในโรงเรียนเพราะเราแต่งเพลงให้โรงเรียนด้วย

ตอนกลับมาเมืองไทยแล้ว ทราบว่าคุณเริ่มร้องเพลงจริง ๆ จัง ๆ ก็ตอนอายุได้ 40 ปีแล้ว
ใช่ค่ะ เรียกว่าเป็นการร้องที่เป็นเรื่องเป็นราว เพราะแหม่มอเมริกันชื่อ Caroline Queener บอกให้ช่วยเด็กโรคหัวใจหน่อย ยูช่วยทำประชาสัมพันธ์ให้ที ให้คนรู้จักมูลนิธิฯของเรา เขาบอกให้ทำอย่างตอนที่ดิฉันทำที่โรงเรียน ISB ของลูกน่ะ เป็นการแสดงของพ่อแม่ เขาบอกยูเก่งจะตาย ทำอย่างนั้นละ ทำคอนเสิร์ต คนจะได้รู้ว่ามูลนิธิเด็ก โรคหัวใจคืออะไร ก็เลยเริ่มต้นจากงานนั้น แล้วก็ไม่รู้ว่าเราเก่งแค่ไหน รู้แต่ว่าคนฟังบอกว่าเราเก่ง ก็เลยรู้สึกว่าเก่งกระมัง

คอนเสิร์ตทุกครั้งของคุณจะเพื่อการกุศลหมดเลย เป็นความตั้งใจส่วนตัวด้วยใช่ไหมคะ
ค่ะ อยากทำ ...ดิฉันมีความรู้สึกว่า เรามาได้ถึงแค่นี้ ลูกเต้า 4 คนก็ดีหมด หลาน ๆ ก็น่ารักน่าเอ็นดูหมด เราก็ต้องปันไปให้คนอื่นเขาบ้าง ถ้าดิฉันไม่ได้ให้กลุ้มใจตาย เงินนี่ตายไปเอาไปไม่ได้นะ เงินเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกสบายก็จริง ใคร ๆ ก็ชอบ แต่มันก็ชั่วคราว ดิฉันรู้สึกว่าเรามีโชคมาถึงขนาดนี้ เราก็น่าจะแบ่งปันให้คนอื่นบ้าง ยิ่งคนที่ประสบภัยโดยไม่รู้ตัว ยิ่งควรจะช่วยเหลือ
รายได้จากเทป ซีดี ทุกอันที่ ขายได้ก็ให้หมดนะ อะไรที่ออกมาจากการร้องเพลงเป็นส่วนตัวดิฉันจะให้หมด ไม่เคยไว้เลย

คุณกมลาในฐานะเป็นแม่ มีวิธีเลี้ยงลูกอย่างไรให้ประสบความสำเร็จคะ
คนถามบ่อยนะ ก็ไม่รู้เหมือนกัน คิดว่าเขารู้ว่าเรารักเขานะ ไม่ว่าจะอะไรก็ตามแต่ เราจะยืนหยัดอยู่ตรงนั้นเพื่อเขา เขาต้องการเราเขาก็จะมาหาเรา ดิฉันจะเลี้ยงลูกแบบให้เขาเรียนรู้ด้วยตัวเอง จะปล่อย แต่ต้องให้เขารู้นะว่าเวลาเขาต้องการเราเราจะอยู่ตรงนั้น ไม่ใช่เขาเกิดต้องการเราแล้วเราหายไป...ดิฉันไม่มีการเรียกร้องว่าลูกต้องมาอยู่กับแม่อาทิตย์ละครั้งนะ ไม่มี เขาจะอิสระ ความรักตัวเดียวเลย ให้เขารู้ว่าเรารักเขา

คุณกมลามองชีวิตตัวเองอย่างไรคะ
มีวันนี้ กับก้าวไปข้างหน้าให้ดีที่สุด มองสิ่งที่ผ่านไปให้เป็นประสบการณ์ อย่ามัวแต่ไปพูด ถึงว่า “รู้อย่างนี้ ทำอย่างนั้นดีกว่า” คิดไปให้เสียใจเปล่า ๆ โลกนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบหรอก


ชีวิตไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบอย่างที่เธอว่า ทิ้งอดีตที่ผ่านมาให้เป็นประสบการณ์...ทำวันนี้และวันพรุ่งนี้ให้ดีที่สุดเพื่อที่วันหนึ่งคุณอาจจะได้พบความสุขอย่างกมลา สุโกศล... กับชีวิตสองเส้นทางที่เธอเลือกทำ

Source: http://women.sanook.com/work/worklife/life_09260.php