วันเสาร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ความว่าง ๓ ระดับ

สาระธรรมบรรยาย พระครูวินัยธรทรงศักดิ์ วิโนทโก (หลวงพ่อเอี้ยน)
เรื่อง “ความว่าง ๓ ระดับ”
วันอาทิตย์ที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓ ณ ห้องปฏิบัติธรรม ชั้น ๔ ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยฯ



เจริญพรญาติโยมท่านผู้ฟัง ท่านผู้ปฏิบัติธรรมทุกๆท่าน บัดนี้ถึงเวลาของการฟังธรรม ขอให้ทุกท่านตั้งอกตั้งใจฟัง เพื่อที่จะเก็บข้อมูลเอาไปปฏิบัติ แก้ปัญหาในชีวิตประจำวันต่อไป

อาตมาก็ให้หัวข้อมาว่า ความว่าง ๓ ระดับ ความว่าง ๓ ระดับเป็นยังไง ก็ขอให้ตั้งใจฟังต่อไป สิ่งที่จำเป็นที่สุดก็คือเราฟังกันมาก
เข้าคอร์สในการปฏิบัติ ก็ยิ่งฟังกันมากเป็นพิเศษ แต่ว่าที่สำคัญก็คือ ไม่ได้เอาไปปฏิบัติ ทำให้ธรรมะที่ฟังนั้นเป็นหมัน น่าเสียดายมาก แม้แต่เรารับพระรัตนตรัยไป พระรัตนตรัยก็ยังเป็นหมันเลย ในกลุ่มของพวกเราที่นั่งกันอยู่ที่ตรงนี้ มีใครสักกี่คนที่เข้าถึง
พระรัตนตรัยจริงๆ เพราะว่าพระรัตนตรัยที่เรารับไปนั้น เอาพระพุทธเจ้ามาเป็นที่พึ่ง เอาส่วนไหนของพระพุทธเจ้ามาเป็นที่พึ่ง
เช่นพระพุทธรูปเป็นต้น เป็นสัญลักษณ์อันหนึ่ง แล้วก็เอาพระพุทธเจ้า ที่เป็นตัวบุคคลมาเป็นที่พึ่ง ว่าด้วยเหตุผลเราจะเอาท่านมาเป็นที่พึ่งได้อย่างไร นี่เรียกว่าธรรมะคือพระรัตนตรัยที่รับไปนั้นเป็นหมัน

เรามาทำความเข้าใจกันใหม่ว่า พระรัตนตรัยคือพุทธังสะระณังคัจฉามิ ที่แปลว่าข้าพเจ้าขอเอาพระพุทธเจ้ามาเป็นที่พึ่ง พระพุทธเจ้าที่เป็นตัวบุคคล นั่นเป็นเปลือกของพระพุทธเจ้า อย่างมหายานเขาบอกว่า ถ้าไปเจอพระพุทธเจ้า ฆ่าพระพุทธเจ้าเสีย นี่เราอาจจะไม่เข้าใจก็ได้ หมายถึงว่าอย่าเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในองค์พระพุทธเจ้าที่เป็นตัวบุคคล พุท-โธ คำว่าพุท-โธๆๆ คือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
พุท-โธเมื่อก่อนก็เป็นเจ้าชายสิทธัตถะ แล้วพระองค์ก็ออกไปปฏิบัติ จนเป็น พุท-โธ จนพระองค์รู้เรื่องอริยสัจสี่ อริยสัจสี่ ข้อที่ ๑ คือทุกข์ ข้อที่ ๒ เหตุให้เกิดทุกข์ข้อที่ ๓ ความดับทุกข์ ข้อที่ ๔ หนทางให้ถึงความดับทุกข์

ข้อที่ ๑ ความทุกข์เกิดขึ้นมาเพราะอะไร เพราะเราไม่รู้เรื่องจิต ก็ไปเอาจิตมาเป็นตัวกู นี่เรื่องมันเป็นอย่างนั้น ไปเอาจิตนั้นมาเป็นตัวกู เกิดทุกข์ขึ้นมาแล้ว ถ้าจิตเป็นตัวกู ร่างกายก็เป็นของกู อะไรๆมันก็เป็นของกูหมด นั่นคือทุกข์ในอริยสัจ
เราเอาจิตมาเป็นตัวกู

ข้อที่ ๒ เหตุให้เกิดทุกข์ เพราะจิตตัวนั้นมันยังโง่ มันยังไม่ได้ฝึก มันยังเป็นสัตว์ที่ป่าเถื่อน เหมือนกับวัวควาย ที่ยังไม่ได้ฝึกและยังเอามาไถนาไม่ได้ มันเลยทำให้เกิดทุกข์ขึ้นมา ประการที่ ๑ คือความทุกข์ เราเอาจิตมาเป็นตัวกู ประการที่ ๒ เมื่อเอาจิตมาเป็นตัวกูแล้ว มันก็คิดว่าร่างกายนี้ก็เป็นของกู ตาหู ก็เป็นของกู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นกูเป็นของกูหมด นั่นเพราะไม่ได้ฝึก ไม่ได้อบรม เมื่อไม่ได้ฝึกไม่ได้อบรมมันก็มีแต่ความยึดมั่นถือมั่น นั่นคือเหตุให้เกิดทุกข์

ข้อที่ ๓ นิโรธ นิโรธก็คือความดับทุกข์ พุท-โธ เกิดที่ตรงนี้ พุท-โธ เกิดที่นิโรธ

ข้อที่ ๔ เมื่อเราปฏิบัติด้วยการเอาอริยมรรคมีองค์ ๘ มาขูดเกลาจิตตัวนี้ ให้จิตตัวนี้มันหายจากความป่าเถื่อน พอมันหายจากความป่าเถื่อนแล้ว มันก็เป็นจิตที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับธรรมชาติ มันก็เป็น พุท-โธ เป็นผู้รู้ขึ้นมาที่ตรงนี้

ฉะนั้นที่เราภาวนากำหนดลมหายใจเข้า-ออก ว่า พุท หายใจเข้า โธ หายใจออก มันก็ได้แค่สมถะ คือทำให้จิตสงบแค่นั้นเอง แต่ถ้าหากว่าพุท-โธ นั้นเป็นวิปัสสนา ต้องเห็นอริยสัจสี่ คือเห็นทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ดับทุกข์ หนทาง ให้ดับทุกข์ พุท-โธ เกิดที่ตรงนั้น ฉะนั้นคำว่าพุทธัง สะระณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าขอเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง พระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้

พระธรรม คือความว่างที่สงบเย็น ขอพูดเรื่องความว่างอีกหน่อย ความว่างไม่ใช่ว่าว่างไม่มีอะไร ทุกอย่างมีอยู่ทั้งนั้น แต่ว่ามันว่างจากตัวตน ความว่างก็หมายถึงว่างจากตัวตน เช่นร่างกายของเรานี้ มันก็ไหลเรื่อย ต้องให้เห็นอนิจจัง อย่าเป็นแต่นิจจัง ที่เราเห็นกันทุกวันนี่เห็นนิจจัง เห็นว่าเที่ยง ร่างกายนี้เป็นของเที่ยง จิตนี้ก็เป็นของเที่ยง สรรพสิ่งเป็นของเที่ยง ทุกๆคนที่เข้าไปยึดมั่นถือมั่น เพราะไม่เห็นว่าทุกอย่างมันไหลเรื่อยๆต้องเห็นว่าทุกอย่างมันไหลเรื่อย ไม่มีอะไรมันหยุดอยู่กับที่ เห็นมันไหลเรื่อยอยู่อย่างนั้น ก็เรียกว่าอนิจจัง

สิ่งที่เราปรารถนาคือตามใจ ตามใจตา ตามใจหู ตามใจจมูก ตามใจลิ้น ตามใจกาย ตามใจใจ นี่คือจิตที่ไม่ได้ฝึก จิตตัง ทันตัง สุขา วะหัง จิตที่ฝึกแล้วนำความสุขมาให้ จิตที่ไม่ได้ฝึกนำความทุกข์มาให้ มันก็เลยไม่ว่าง เพราะฉะนั้นว่างหมายถึงว่างจากตัวตน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ว่างจากสรรพสิ่งทุกอย่าง แม้แต่ขี้ฝุ่นสักเมล็ดหนึ่ง จักรวาลนี้ว่างทั้งนั้น อยู่ใต้อำนาจของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

เมื่อสมัยครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงแสดง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ขันธ์ ๕ ก็คือเรื่องของความไม่เที่ยงทั้งนั้น แต่เราไปยึดถือเป็นของเที่ยง เพราะมันเป็นสมบัติ ประจำตัว ของปุถุชน
๑.นิจจัง เห็นว่าร่างกายจิตใจนี่เป็นนิจจัง
๒.เห็นเป็นสุขขัง ไม่ใช่เห็นเป็นทุกขัง
๓.เห็นเป็นอัตตา

พอเกิดพระพุทธเจ้าขึ้นมา พระองค์ก็เลยให้เอามาทาบกันว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา และเป็นสุญญตา ว่างจากตัวตน พระพุทธเจ้าผู้ค้นพบพระธรรม พระธรรมไม่ใช่ว่าพึ่งมี เป็นของมีอยู่ก่อนแล้ว พระธรรมคือความว่างที่สงบเย็น แล้วพระองค์ก็เอาความว่างที่สงบเย็นนั้น มาไว้ในจิตของพระองค์ พระองค์ก็เลยเป็นพุท-โธ เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา ตัวพระธรรมเองก็คือความสงบเย็น ตัวความสงบเย็นจะมีอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง จะมีอยู่ในวัตถุก็ได้ จะมีอยู่ในตัวบุคคลก็ได้ อยู่ในอะไรก็ได้ คือความสงบเย็น ตัวความสงบเย็น ทุกอย่างมาจากพระธรรม สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ สิ่งทั้งปวงใครๆไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวตนของตน ทำไม เพราะทุกอย่างมันไหลเรื่อย

เพราะฉะนั้นพระธรรมคือ ความว่าง ที่พระพุทธเจ้าค้นพบ แล้วเอามาไว้ที่จิตของพระองค์ นั่นแหละคือพระธรรม สัพเพ ธัมมา นาลัง นั่นแหละเป็นพระธรรมทั้งหมด อย่าเข้าไปยึดมั่นถือมั่น ทุกอย่างเป็นพระธรรม

พระอริยะสงฆ์ พระท่านก็ปฏิบัติดีแล้ว ปฏิบัติตรงแล้ว ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรม เป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว เมื่อท่านปฏิบัติเอาพระธรรมมาเป็นที่พึ่ง พระธรรม คือความสงบเย็นนั้น พระพุทธเจ้าก็เอาความว่างที่สงบเย็นนั้นมาไว้ที่จิตของพระองค์ พระอริยะสงฆ์ท่านก็เอาความว่างที่สงบเย็นนั้นมาไว้ที่จิตของท่าน

เราพูดง่ายๆว่า (ความว่าง ๓ ระดับ) พระพุทธเจ้าก็คือความว่าง พระธรรมว่าง พระสงฆ์ว่าง นั่นแหละคือตัวจริงของพระรัตนตรัย ให้เรารู้จักตัวจริงของพระรัตนตรัย ไม่ใช่ไปเอาตัวบุคคลมาเป็นพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ไปเอาใบลาน ไปเอาตัวหนังสือ ไปเอาคำพูด มาเป็นพระธรรม ไม่ใช่ไปเอาพระสงฆ์ซึ่งเป็นลูกชาวบ้านมาเป็นที่พึ่ง เราต้องเห็นว่าสิ่งทั้งหมดนั้นเป็นเปลือก พระพุทธเจ้าโดยรูปกายของพระองค์นั้นเป็นเปลือก

ฉะนั้นที่ศาสนาเซนเขาบอกว่าเมื่อเจอพระพุทธเจ้าขอให้ฆ่าพระพุทธเจ้าเสีย ก็หมายถึงว่าเปลือกนะให้ทิ้งเปลือกเสีย อย่าเอาเปลือกของพระพุทธเจ้า ต้องมองดูเนื้อในของพระพุทธเจ้า คือจิตที่สงบเย็น พระธรรมคือตัวความสงบเย็น พระอริยะสงฆ์คือท่านก็มีจิตสงบเย็น เหมือนกับพระพุทธเจ้า แต่ว่าท่านรู้ทีหลัง เราต้องเอาความสงบเย็นมาเป็นที่พึ่ง นั้นนะชื่อว่าถึงพระรัตนตรัย

หัวใจของพระพุทธศาสนาอยู่ที่สุญโญ อยู่ที่ความว่าง หัวใจของพระพุทธศาสนานั้น เมื่อเราเห็นทุกอย่างว่าง เราปฏิบัติธรรมๆ แล้วเราเห็นความว่าง เห็นจุดว่าง เห็นอะไรว่างนั่นนะเรียกว่าเริ่มที่จะถึง

ความว่าง ๔ ระดับ
ระดับที่ ๑ คือพระโสดาบัน ละสักกายทิฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ละสักกายทิฐิ คือ ความเห็นว่าตัวกูที่ร่างกาย พิจารณาเวลานั่งพอจิตเป็นสมาธิแล้ว แล้วก็ภาวนาว่าอ๋อ ร่างกายนี้มันก็มีแต่ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ถ้าดูอาการ ๓๒ ดูเกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ มังสัง ฯลฯ ให้ครบ ๓๒ พอดูแล้ว ไอ้ส่วนที่เป็นร่างกาย มันก็เป็นส่วนอนิจจัง มันเป็นทุกขัง เมื่อเราไปยึดมั่นถือมั่น มันเป็นอนัตตาไม่ใช่มันเป็นอัตตา ไอ้ที่เป็นอัตตามันเป็นตัวโง่ของเราเข้าไปยึดถือว่าเป็นอัตตา ว่ามันเป็นตัวกู
อันที่จริงไม่ได้เป็นอัตตา มันเป็นอนัตตา

ฉะนั้นพระโสดาบันเป็นผู้หนักแน่น พระที่ท่านเป็นพระโสดาบันแล้ว เป็นผู้หนักแน่นในพระพุทธเจ้า หนักแน่นในพระธรรม หนักแน่นในพระสงฆ์ หนักแน่นยังไง ท่านเคารพ ท่านศรัทธา ท่านเลื่อมใส ไม่ถอยหลังแล้ว โสดาบันนี่คือละสักกายทิฐิ วิจิกิจฉา ไม่มีความลังเลใจแล้ว ให้ว่างๆเข้าไว้ ว่างคำเดียวคือว่างจากตัวกู ว่างนี่คือว่างจากตัวกู ตัวกูนี้ก็ไม่ใช่ตัวกู จิตนี้ก็ไม่ใช่ตัวกู ความว่างระดับที่ ๑ พระโสดาบัน ละได้ ๓ อย่าง สักกายทิฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส นั่นก็ว่างแต่ว่าว่างไม่หมด นั่นคือระดับ ๑ พระโสดาบัน

ระดับที่ ๒ พระสกิทาคามี ยังละอะไรไม่ได้ ก็คล้ายๆกับพระโสดาบัน แต่สูงขึ้นไปหน่อยหนึ่ง คือท่านทำโลภะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางแค่นั้นเอง เช่นว่าเมื่อก่อนนี้เป็นคนขี้โกรธ ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็เป็นคนขี้โกรธเหมือนกัน แต่ว่าโกรธอยู่ภายใน ไม่โกรธอยู่ภายนอก เมื่อก่อนพอโกรธปากก็ลั่นออกไปเลย วาจาที่ไม่เหมะสม ก็พูดออกไปเลย หรือว่ามือก็ถึงเลย พระสกิทาคามี เก็บความโกรธเอาไว้
ยังมีความโกรธแต่ว่าเก็บเอาไว้ในใจ ไม่ให้มันออกมาอาละวาดภายนอก ฉะนั้นพระสกิทาคามีท่านก็มีความว่างเหมือนกัน แต่ยังว่างไม่หมด

ระดับที่ ๓ พระอนาคามี ท่านยังว่างไม่หมดอีก ท่านเพียงแต่ละกามราคะกับปฏิฆะ กามราคะก็คือความอยาก ก็คือจำเป็นนั่นแหละ ตัดไอ้จำเป็นไปเสียเลยนั่นเรียกกามราคะ กามราคะระหว่างเพศเรียกว่ากามราคะ ปฏิฆะคือความยินร้ายความไม่พอใจ
ความยินร้ายคือพูดแล้วไม่เพราะหู ก็ออกไปทันทีเลย ท่านบอกว่าห้ามไม่ให้ยินดี ไม่ให้ยินร้าย ฟังง่ายแต่ว่าเข้าใจยาก ปฏิบัติยาก
ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย สิ่งที่มาให้เรายินดีทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ โอ้มันเป็นอนิจจัง มันเป็นอนัตตา เป็นสุญญตา ว่างจากตัวตน นี่คือ ธรรมะชั้นสูง ให้เห็นเกิดเห็นดับ เห็นว่างจากตัวตน

อาตมาตอนที่ปฏิบัติใหม่ๆนะ ต้องปวารณาสักแต่ว่าธาตุว่างๆ เวลาฉันอาหารนี่ คำที่ ๑ สักแต่ว่าธาตุว่าง ใส่เข้าไปในปาก ก็ภาวนาเคี้ยวไป ธาตุว่างๆ พอรู้สึกว่าอร่อย ก็สักแต่ว่าธาตุว่าง พอรู้สึกว่ามันไม่อร่อยก็สักแต่ว่าธาตุว่าง ก็มันเกิดมันดับ มันว่างๆ อยู่อย่างนั้นแหละ นี่เรียกว่าวิธีกินอาหาร มันเกิดดับๆในปาก วินาทีหนึ่งมันเกิดดับไม่รู้กี่ครั้ง ที่มันเกิดดับๆ เพราะมันว่างจากตัวตน กายกับสัมผัส สิ่งที่มากระทบกายเขาเรียกว่าสัมผัส สิ่งมากระทบกายที่เรียกว่าสัมผัสนั้น จะเป็นความร้อน เย็น อ่อนหรือแข็งหรือว่าอะไร ก็เพียงแต่ว่ากระทบ ทางกายมันก็เกิดดับๆ ว่างจากตัวตน

สโลแกนท่านพุทธทาส จงทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง ทำยังไงทำงานด้วยจิตว่าง ไม่ใช่จิตไม่มี จิตมีแต่จิตนั้นเป็นธรรมชาติ ทีประกอบด้วย สติปัญญา ทำงานก็ทำงานด้วยสติปัญญา ไม่ใช่ทำด้วยความโง่ เหมือนนั่งฟังธรรมอยู่อย่างนี้ ถ้านั่งฟังโง่ๆ แล้วมันก็ไม่ได้อะไร แต่ถ้านั่งฟังให้ดี ฟังแล้วมันก็จะได้ปัญญา ๓ ระดับ ปัญญาระดับที่ ๑ สุตตะมยปัญญา ปัญญาที่ ๒ เอาไอ้ที่ฟังแล้วไปคิด เอาไปคิดก็ทำให้เกิดจินตมยปัญญา เอาไปคิดแล้วก็ยังไม่พอ เอาไปภาวนา เอาที่ฟังนั่นแหละเป็นขั้นตอนเอาไปภาวนา เรียกว่าภาวนามยปัญญา เกิดปัญญาระดับที่ ๓ ขึ้นมา มันจะว่างได้

จิตกับธรรมารมณ์นี่สำคัญ จิตนี่ ไม่ใช่ใจนะ ใจคือมโน จิตก็คือจิต จิตก็คือจิตโง่ๆไปเรียนเซนอย่างนี้เรียกว่าจิตอวิชชา อวิชชาเกิดก็เพราะอะไร อวิชชาเกิดก็เพราะเอาจิตโง่ ไปเป็นตัวกู นี่เขาเรียกว่าจิต ทีนี้ใจเรียกว่ามโนสังขาร ใจมีหน้าที่คิด จิตมีหน้าที่รู้ จิตนะรู้ รู้ตามความเป็นจริง รู้แจ้งเห็นจริงที่เราทำวิปัสสนา ให้รู้แจ้งเห็นจริง เห็นอะไร ก็เห็นธรรมารมณ์ที่มันเกิด มันเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปๆ

อย่าเข้าไปยึดมั่นถือมั่นอารมณ์ที่มันเข้ามา อารมณ์ดีใจ-เสียใจก็ไม่เข้าไป ยึดมั่นถือมั่น อารมณ์ทั้งหลายทั้งปวง ที่มันเกิดขึ้น ใจที่มันเกิด จิตที่มันเกิดขึ้นเรียกว่าธรรมารมณ์ มันก็เป็นอนิจจัง อนัตตา เป็นสุญญตาว่างจากตัวตน นี่คือพระอนาคามี ท่านเห็นแล้วก็ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย กามราคะก็คือยินดี ปฏิฆะก็คือยินร้าย ท่านตัดโดยเด็ดขาด แม้แต่ในเรื่องของการเสพกาม ท่านก็ไม่ยินดี คนที่ไม่เป็นพระอนาคามี เสพกามแล้วก็พอใจ พอใจก็เสพ เสพแล้วก็เบื่อ คิดว่าไม่เอาอีกแล้ว ไม่นานก็เอาอีก นั่นไม่ใช่พระอนาคามี
พระอนาคามีเขาเห็นแล้ว มีแต่เรื่องสกปรก มีแต่ของน่าเกลียดน่าชัง ท่านเบื่อ ท่านเบื่อสิ่งเหล่านั้น เห็นตามความเป็นจริง ว่ามันไม่มีอะไรเลย มันเรื่องของประสาทที่มันทำให้เกิดดับๆ เป็นช่วงระยะที่ว่ามันถี่ๆถึงที่สุด เพราะฉะนั้นท่านจะไม่เอาแล้วกามราคะ ท่านก็ละกามราคะได้ นี่คือเรื่องที่สุดยอดของอนาคามี คือละกามราคะ

เรื่องที่สองของท่านคือปฏิฆะ ปฏิฆะ คือความไม่พอใจ ท่านละทิ้งทั้ง ๒ อย่าง ความพอใจ-ไม่พอใจท่านก็ไม่เอาทั้ง ๒ อย่าง เห็นว่า เป็นอนิจจัง เป็นอนัตตา เป็นสุญญตา ว่างจากตัวตน พระอนาคามีท่านก็ยังว่างไม่หมดอีก ว่างได้แค่ ๗๐% เอง

ขั้นที่๔ พระอรหันต์ ท่านละ๕ อย่าง ท่านตัดรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุจธัจจะ แล้วสุดท้ายก็คืออวิชชา รูปราคะ ท่านละรูปฌาน อรูปฌาน ก็อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ มานะภาษาบาลี
ไม่ใช่แปลว่าอดทนตามภาษาไทย ภาษาบาลี ภาษาธรรมะนี่ มานะหมายถึงความถือตัว กูเก่งกว่าคนนั้น คนนี้ กูเก่งกว่าเขา กูดีกว่าเขา กูเลวกว่าเขา กูเสมอเขา นั่นคือมานะ พระอรหันต์ท่านละรูปราคะ ท่านละมานะ อุทธัจจะ คือความทึ่ง ทึ่งทุกอย่าง อะไรก็ทึ่งทุกอย่าง มันจะมีประโยชน์อะไร อย่าไปทึ่ง อะไรๆก็ไม่ต้องไปทึ่งๆ แม้เด็กตกใจ ฟ้าผ่าเปรี้ยงตกใจไปทึ่ง ตกใจก็ไม่ใช่แล้ว
สติมาไม่ทัน เพราะฉะนั้นต้องใช้สติ ใช้สติในที่นี้ก็ต้องปฏิบัติสติปัฏฐานสี่

จะกล่าวให้ฟังถึงสติปัฎฐานสี่ ต้องเอาให้จบไม่ใช่ฟังครึ่งท่อน

สติปัฏฐานสี่ ข้อที่ ๑ มีสติเห็นว่ากายในกายนี้ไม่ใช่สัตว์ มิใช่บุคคลตัวตนเราเขา นั้นมันครึ่งท่อน มันต้องเห็นว่ากายนี้ เป็นอนิจจัง เป็นอนัตตา เป็นสุญญตา ว่างจากตัวตน นั่นเรียกว่าสติปัฏฐานสี่ที่เป็นวิปัสสนา ถ้าว่ากายนี้ไม่ใช่สัตว์ มิใช่บุคคลตัวตนเราเขา ยุบหนอ พองหนอ มันได้แค่สมถะเอง นั่งพุทโธๆ ได้แค่สงบ นิดเดียวดีใจแล้วมันได้สงบ เราต้องยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา ฉะนั้นสติปัฏฐานสี่ ต้องเป็นวิปัสสนาด้วย เป็นทั้งสมถะเป็นทั้งวิปัสสนา เป็นวิปัสสนา เห็นกายนี้เป็นอนิจจัง เห็นอนัตตา เห็นสุญญตา ว่างจากตัวตน นั่นคือสติ ต้องมีสติให้ไว สติต้องดึงปัญญามาให้ไว

สติปัฏฐานสี่ ข้อที่ ๒ มีสติเห็นเวทนาในเวทนา ว่าเวทนานี้ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เราเขา นั่งเมื่อย..เวทนาเกิดแล้ว เวทนาเกิดไม่ยุ่งไม่เปลี่ยนท่าเปลี่ยนทาง เป็นก็เป็นไป มันก็ต้องหายเอง ต้องอย่างนั้นนะ นั่นเรียกว่าเวทนา คนที่ทำสมาธิส่วนมาก เกิดเวทนาอย่างนั้นขึ้นมา เวทนาเกิดทั้งทางกาย เกิดทั้งทางใจ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราระวังไม่เข้าไปยินดี ยินร้าย มีสติเห็นเวทนาว่านี่ ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล ตัวตน เรา เขา

เวทนานี้เป็นอนิจจัง เป็นอนัตตา เป็นสุญญตา ว่างจากตัวตน เวทนานั้นว่างอีกแล้วเห็นไหม สมมุติว่าเราเจ็บไข้ได้ป่วย เขากำลังให้น้ำเกลืออยู่ กำลังให้ออกซิเจนอยู่ มันเกิดเวทนาขึ้นมา ก็เปลี่ยนเวทนานั้น ก็ภาวนาสักแต่ธาตุว่างๆ หรือไม่ใช่กูๆ ภาวนาว่าไม่ใช่กูมันจะเห็นชัดเจน ทีนี้พอไม่ใช่กูมันไม่ใช่กูจริงๆ เสร็จแล้วมันจะแยกจิตออกจากเวทนา จิตนั้นไม่ไปแบกเวทนาอยู่ ก็ทำให้คนเดียว แบ่งเป็น ๒ คน พอแบ่งออกเป็น ๒ คน อีกคนหนึ่งออกไปยืนยิ้มอยู่ เออมันไม่เห็นเจ็บปวดเลย มันเจ็บปวดอยู่ที่ร่างกายโน้น แต่ว่าร่างกายนี้มันไม่เจ็บปวดเลย การปฏิบัติมันต้องอย่างนี้ นี่เรียกว่าความว่าง ความว่างอย่างนั้น ว่างจากเวทนา ว่างจากกาย

สติปัฏฐานสี่ ข้อที่ ๓ สติเห็นจิตในจิต ว่าจิตนี้ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล ตัว ตน เรา เขา จิตนี้เป็นอนิจจัง เป็นอนัตตา เป็นสุญญตา ว่างจากตัวตน แม้แต่จิตยังเป็นธรรมชาติที่ว่าง มันไม่ใช่ตัวเราเลย เป็นธรรมชาติที่ว่างจากตัวตนทั้งนั้น เพราะฉะนั้นไม่มีอะไรที่มีตัวตน มีแต่ว่างจากตัวตน

เราปฏิบัติให้ดี ให้เข้มแข็ง ให้ต่อเนื่อง ไม่ใช่เอาลวกๆ ปฏิบัติไปเรื่อยๆ เช่น เดินอย่างนี้ไม่ใช่กู ไม่ใช่กู อาตมาสอนไม่เหมือนคนอื่นนะ สอนไม่ใช่กู เดินก็ไม่ใช่กู นั่งก็ไม่ใช่กู นอนก็ไม่ใช่กู หายใจเข้าก็ไม่ใช่กู หายใจออกก็ไม่ใช่กู ไม่ใช่กูมันกระเทือนไปหมด ทั้งเนื้อทั้งตัว ทั้งร่างกายและจิตใจ มันจะกระเทือนไปหมดแหละถ้าไม่ใช่กู นี่เรียกว่ามีสติเห็นจิตในจิต ว่างที่ ๓ ต้องมีสติ จิตก็ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย อาศัยสติ อาศัยสติยังไม่พอยังต้องอาศัยปัญญา สติดึงปัญญามา พระโมฆราชทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ทำยังไงคนถึงไม่ตาย พระพุทธเจ้าตรัสว่า ดูก่อนโมฆราช สุญตโต โลกํ อเวกฺ ขสฺสุ โมฆราช สทา สโต ฯลฯ ดูก่อนโมฆราช ท่านจงมีสติมองโลกด้วยความเป็นของว่าง ถอนอัตตานุทิฐิ อัตตาความเป็นตัวกู ความเห็นว่าตัวกูออกไปเสียแล้ว มัจจุราชจะมองท่านไม่พบหาท่านไม่พบ เรียกว่ามีสติ

เวลาเราจะตาย เวลาเราเจ็บ เมื่อมีสติอยู่กับความว่างแล้ว ความเจ็บก็อยู่ส่วนความเจ็บ ส่วนจิตก็อยู่กับจิตที่ว่าง นี่ถ้าใครทำได้อย่างนั้นก็วิเศษเลย เรียกว่ามีสติมองโลกด้วยความเป็นของว่าง ในจักรวาลนี้ไม่มีอะไรที่มีตัวตนหรอก มันว่างจากตัวตนทั้งนั้น ว่างจากตัวกู ถ้าจิตว่าง ทุกอย่างว่างหมด ถ้าจิตไม่ว่างทุกอย่างมีหมด ทุกอย่างก็เข้าไปยึดมั่นถือมั่น ก็ทุกข์หมดเหมือนกัน ฉะนั้นต้องทำจิตให้ว่างจากตัวกู เห็นจิตให้เอาอนิจจัง เอาอนัตตา เอาสูญญตาไปจับที่จิต ว่าจิตเองก็เป็นอนิจจัง จิตเองก็เป็นทุกขัง(ถ้าเข้าไปยึดมั่นถือมั่น) จิตเองก็เป็นอนัตตา จิตเองเป็นสูญญตา ว่างจากตัวตน ให้เห็นจิตว่าง หายใจเข้าก็อยู่แบบจิตว่าง หายใจออกก็อยู่แบบจิตว่าง ให้อยู่กับจิตว่างตลอดเวลา บางคนเห็นเกิดดับแล้วก็ยังไม่เห็นว่าง เลยสงสาร ก็เพราะมันว่างมันจึงเกิดดับ ถ้าไม่ว่างมันก็ไม่เกิดไม่ดับ ว่างจากตัวตน ว่างจากของตน

เรื่องจิตว่าง ให้ไปอ่าน “ฮวงโป” ของท่านอาจารย์พุทธทาส หนังสือนี้อ่านยาก จะมีธรรมะอยู่ในนั้นมาก แต่แก่นแท้ของพระพุทธศาสนาคือสุญญตา สุญญตาคือความว่าง ถ้าจิตว่าง อย่างอื่นมันก็ว่าง ร่างกายมันก็ว่าง มันก็ว่างหมด เรียกว่าเห็นจิตในจิต

ข้อสุดท้ายของสติปัฏฐาน ๔ มีสติเห็นธรรมในธรรม ว่าธรรมไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ธรรมนี้เป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา เป็นสุญญตา ว่างจากตัวตน เห็นธรรมในธรรมนี่คือ เห็น ๑.ในอริยสัจสี่ ๒.เห็นขันธ์ ๕ ๓.เห็นปฏิจจสมุปบาท เห็น ๓ อย่างนี้ สัมมาทิฐิในอริยมรรคมีองค์ ๘ มีความเห็นอันถูกต้อง การเห็นไม่ใช่เห็นกับตา ต้องเห็นกับปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาจะไม่เห็น เห็นกับตามีแต่ขี้ตา ไม่พอที่จะเห็น มันเกิดปัญญาขึ้นมาไม่ได้ ฉะนั้นเราต้องใคร่ครวญเราต้องพิจารณา เราต้องศึกษา เราต้องปฏิบัติ เราต้องภาวนา มันจึงเห็น ถ้าไม่อย่างนั้นเราจะไม่เห็น ไม่เห็นอริยสัจสี่ ไม่เห็นธรรมในธรรมนี่ เห็นอริยสัจสี่ ขันธ์๕ เห็นทุกข์ ก็ทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ ทุกข์ก็เอาจิตมาเป็นตัวกู เป็นอย่างนี้อย่างนี้ ทุกข์เป็นสิ่งที่เราควรกำหนดรู้
ทุกข์เรากำหนดรู้ได้แล้ว

พระองค์ทรงแสดงธรรมครั้งแรกแก่ปัญจวัคคีย์ เรียกว่าธรรมจักรกัปปวัตตนสูตร เรื่องอริยสัจสี่ ก็คือเรื่องเกิดดับ เรื่องเกิดดับก็คือว่าง เรื่องขันธ์ ๕ ก็คือเรื่องเกิดดับ ก็ว่าง เรื่องปฏิจจสมุปบาทก็คือเรื่องเกิดดับทั้งนั้น เมื่อเราปฏิบัติเห็นเกิดเห็นดับเห็นว่าง ต่อไป
ก็อยู่กับว่าง ขอให้มีสติให้ไว คือมีสติแล้วดึงปัญญามา เช่นตาเกิดดับ รูปเกิดดับ จักขุวิญญาณเกิดดับ ผัสสะเกิดดับ เวทนาเกิดดับ พอไปถึงเวทนาตัวนั้นต้องมีสติให้ทัน แล้วก็ดับทันทีตรงนั้น ถ้าไม่ดับเสียจะมีเหตุ ก็คือจะเกิดตัณหา เกิดอุปาทาน เกิดภพ ชาติ ทุกข์ขึ้นมา ครบวงจรของความทุกข์ ถ้าหากว่าเราดับที่เวทนาตัวนั้น มันก็จะดับเลย นี่ทางตานะ ถ้าทางหูก็เสียง โสตะวิญญาณ ผัสสะ เวทนา แล้วก็ดับเสียนี่ พอทางจมูกก็กลิ่น แล้วก็รส คานะวิญญาณ ผัสสะเวทนาแล้วก็ดับเสีย ให้มีสติให้ทันทุกๆเรื่อง

ถ้าทางใจก็ใจ ธรรมารมณ์ มโนวิญญาณ ผัสสะ เวทนา เหมือนกัน ทุกข้อเหมือนกัน ไปพิจารณาดูกันให้ดีๆ ไปดับที่
เวทนาตัวนั้น ถ้าไม่ดับที่เวทนามันจะกลายเป็นตัณหา กลายเป็นอุปาทาน เป็นภพ เป็นชาติ ลงที่ตัวทุกข์ นั่นเรียกว่าปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุปบาทก็คือการเกิดดับของสิ่งทั้งปวงนั้น มันทำงาน ตา, รูป, จักขุวิญญาณ ทั้ง ๓ อย่างทำงานร่วมกัน ทำให้เกิดผัสสะ ผัสสะเป็นปัจจัย ทำให้เกิดเวทนา พอเกิดเวทนาแล้วรีบมีสติ ดึงปัญญามาทันทีเลย ต้องฝึกสติปัฏฐาน ๔ เพื่อจะให้เกิดปัญญา ฉะนั้นถ้าเราปฏิบัติแนวสติปัฏฐาน ๔ แล้วเป็นสมถะอยู่ไม่สามารถเป็นปัญญาขึ้นมาได้ ก็ไม่สามารถที่จะดึงปัญญาขึ้นมาได้
ฉะนั้นสติปัฏฐาน ๔ เป็นทั้งสมถะ เป็นทั้งวิปัสสนา

พระอรหันต์ท่านตัดรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุจธัจจะ แล้วสุดท้ายก็คืออวิชชา อวิชชามันอยู่ที่ตรงไหน มันอยู่ที่เอาจิตมาเป็นกูนั่นแหละ อวิชชามันอยู่ที่ตรงนั้น พอมีอะไรขึ้นมาก็เอาจิตมาเป็นกู อวิชชาเข้ามาทุกที อาตมาบอกว่า ไม่ใช่กูๆ ไม่ใช่กูคือ อวิชชามันจะดับ อวิชชามันเจ็บปวด พอเราว่าไปนานๆ ว่าไปจนเป็นนิสัย จนเห็นว่ามันไม่ใช่กูจริงๆ มันกระเทือนถึงอวิชชาตัวแม่มันเลย อวิชชาคือตัวกู

การที่เราจะปฏิบัติถอนตัวกูออกไปเสีย มันยาก แต่ถึงยากอย่างไร เอาชีวิตเข้าเป็นเดิมพันเลย ในชาตินี้ถ้าเข้าปฏิบัติ ตายเป็นตายถ้าไม่เป็นพระอรหันต์ หรือพระอริยบุคคล ชั้นใดชั้นหนึ่ง จะไม่หยุดเป็นอันขาด มันไปแล้วมันหยุดไม่ได้ เพียงแต่เห็นพระรัตนตรัย
เอาพระรัตนตรัยมาเป็นที่พึ่ง เห็นพระพุทธเจ้าว่าง เห็นพระธรรมว่าง เห็นพระอริยะสงฆ์ว่าง อย่างนี้ มันก็หนักแน่นแล้ว แค่นี้ก็หนักแน่นแล้ว

ฉะนั้นเราอย่าปฏิบัติหลวมๆ ปฏิบัติให้จริงๆจังๆ ปฏิบัติต้องต่อเนื่อง ไม่อย่างนั้นที่ฟังไปจะเป็นหมัน เราไม่เอาไปปฏิบัติ จับให้ได้สักตัวหนึ่งว่าจิตนี้ไม่ใช่กู ง่ายๆแต่ว่าปฏิบัติยาก เราไม่กลัวยาก ยากขนาดไหน ตายก็ตายเราไม่กลัว ปฏิบัติชนไปเลย ไม่ต้องกลัวเลย เช่นว่าคนกลัวผีอย่างนี้ คนกลัวผีก็ภาวนาว่าไม่ไช่กูๆ ไม่ใช่กูแล้วมันจะหลอกใคร ถ้าไม่ใช่กู ผีมันก็กลัว ใช้คำว่าไม่ใช่กู ถ้ามีกูก็ถูกผีหลอก ให้ภาวนาว่าไม่ใช่กูๆ มันผีอวิชชาๆ อวิชชามีกิเลสเวลาที่มันเกิดขึ้น รู้ทันทันที พอเกิดขึ้นมาที่จิต รู้ทันทันที ว่ามันไม่ใช่กูๆ ท่านให้เดินก็ไม่ใช่กูเดิน นั่งก็ไม่ใช่กูนั่ง นอนก็ไม่ใช่กูนอน ไม่ใช่กูทั้งนั้น กินก็ไม่ใช่กูกิน อาบก็ไม่ใช่กูอาบ ตายก็ไม่ใช่กูตาย ไม่ใช่กูทั้งนั้น ธรรมชาติมันทำหน้าที่มันเองอย่างนั้น นี่เรียกว่าไม่ใช่กู

ทำจิตนี้ให้มันว่าง ว่างจากกู พระโสดาบันก็ว่าง แต่ว่างไม่หมด พระสกิทาคามีก็ว่าง แต่ว่างไม่หมด พระอนาคามีว่างแต่ก็ว่างไม่หมด ต้องไปถึงชั้นพระอรหันต์ถึงจะว่างหมด ดับหมด เรียกว่าว่าง-ดับ ระดับที่ ๔ จึงจะว่างหมด ระดับที่ ๑-๓ ว่างไม่หมด

ญาติโยมทั้งหลายวันนี้ก็พูดเรื่องความว่าง ญาติโยมอาจจะหนักอกหนักใจมาก แต่ว่าไม่เป็นไรไปพิจารณาดู ทำให้เกิดภาวนามยปัญญาขึ้นมาให้ได้ พอเกิดภาวนามยปัญญาขึ้นมาแล้ว ก็ภาวนาว่าไม่ใช่กูๆ สักวันหนึ่งคำว่าไม่ใช่กูมันจะแจ้งมาที่จิตของเรา มันจะเห็นจริงเข้ามาอย่างนั้น นั่งว่าพุท-โธๆตั้งแต่หัวดำจนหัวหงอก ยังไม่เห็นอะไรเกิดขึ้นเลย เพราะว่าพุท-โธ เรารู้ว่าได้แค่สมถะ เอาไปไหนละ แต่ถ้าพุท-โธเป็นวิปัสสนา พุท-โธเป็นสุญญตา เป็นความว่าง นั่นต้องให้ยืดออกไปต้องให้ยาวออกไป ต้องให้แจ่มแจ้งออกไปมันจึงจะใช้ได้ มองเวลาก็เห็นว่าพอสมควรแล้ว ขอความสุขความเจริญในธรรมจงเกิดมีแก่ญาติโยมที่ปฏิบัติดี
ปฏิบัติชอบจงทุกๆท่านเทอญ.

Source:http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=33341&start=0&st=0&sk=t&sd=a

วันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต ) กล่าวว่า เคล็ดลับสู่ความสำเร็จสุดยอดในทางธรรม คือ จะต้องมีสัจจะอันแน่วแน่ และมีขันติธรรมอันมั่นคง จึงจะฝ่าฟันอุปสรรค บรรลุความสำเร็จได้ อาตมามีกฎอยู่ว่า เช้าตีห้าไม่ว่าฝนจะตก ฟ้าจะร้อง อากาศจะหนาว ต้องตื่นทันที ไม่มีการผัดเวลา แล้วเข้าสรงน้ำ ชำระกายให้สะอาด แล้วจึงได้สวดมนต์และปฏิบัติสมถกรรมฐานหนึ่งชั่วโมง พอหกโมงตรงก็ออกบิณฑบาต เพื่อปฏิบัติตามปฏิปทาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ฝึกจิตให้ได้ผลต้องตรงต่อเวลา

กลับจากบิณฑบาตแล้ว ก็เอาอาหารตั้งไว้ ตักน้ำใส่ตุ่ม เสร็จแล้วฉันอาหารเช้า โดยปกติอาตมาฉันมื้อเดียวเว้นไว้มีกิจนิมนต์ จึงฉันสองมื้อ สี่โมงเช้าถึงเที่ยง ถ้ามีรายการไปเทศน์ ก็ไปเทศน์ตามที่นัดไว้ วันไหนไม่ติดเทศน์ก็จะปิดประตูกุฏิทันที ไม่ให้ใครๆเข้าไป ในช่วงเวลานั้นเป็นเวลาศึกษาตำรา เวลาบ่ายโมงจึงออกรับแขก บ่ายสามโมงไม่ว่าใครจะมาอาตมาจะให้ออกจากกุฏิไปหมด เพราะถึงเวลาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ฉะนั้น จุดสำคัญจงจำไว้ เราจะปฏิบัติเพื่อหลุดพ้น ต้องมีสัจจะเพื่อตน โดยไม่เห็นแก่หน้าใคร ถึงเวลาทำสมาธิต้องทำ ไม่มีการผัดผ่อนใดๆ ทั้งสิน

หลักการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

1.จะต้องมีสัจจะต่อตนเอง
2.จะต้องไม่คล้อยตามอารมณ์ของมนุษย์
3.พยายาม ตัดงานในด้านสังคมออก และไม่นัดหมายใครในเวลาปฏิบัติกรรมฐาน ดังนั้นเมื่อจะเป็นนักปฏิบัติธรรมจำเป็นจะต้องมีกฎเกณฑ์ของเรา เพื่อฝึกจิตให้เข้มแข็ง

ทางแห่งความหลุดพ้น

เจ้าประคุณสมเด็จฯ มักจะกล่าวกับสานุศิษย์ทั้งหลายอยู่เสมอว่า ชีวิตมนุษย์อยู่ได้ไม่ถึงหนึ่งร้อยปีก็ต้องตายและถูกหามเข้าป่าช้า ดังนั้น จึงควรประพฤติปฏิบัติอยู่ใน ศีล สมาธิ และปัญญา เพื่อให้หลุดพ้นจากสังสารวัฏ ท่านเปรียบเทียบว่า มนุษย์อาบน้ำ ชำระกายวันละสองครั้ง เพื่อกำจัดเหงื่อไคลสิ่งโสโครกที่เกาะร่างกาย แต่ไม่เคยคิดจะชำระจิตให้สะอาดแม้เพียงนาที ด้วยเหตุนี้ ทำให้จิตใจของมนุษย์ ยุคปัจจุบันเศร้าหมองเคร่งเครียดและดุดัน ก่อให้เกิดปัญหาความพิการในสังคมความแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน จนกระทั่งเกิดความขัดแย้ง และกลายเป็นสงครามมนุษย์ฆ่ามนุษย์ด้วยกัน

แต่งใจ

ขอให้ท่านได้พิจารณาไตร่ตรองให้จงดีเถิดว่า ร่างกายของเรานี้ไฉนจึงต้องชำระทุกวันทั้งเช้าและเย็น จะขาดเสียไม่ได้ทั้งที่หมั่นทำความสะอาดอยู่เป็นนิจ แต่ยังมีกลิ่นไม่น่าอภิรมย์ออกมา แม้จะพยายามหาของหอมมาทาทับ ก็ปกปิดกลิ่นนั้นไม่ได้ใจของเราล่ะ ซึ่งเป็นใหญ่กว่าร่างกาย เป็นผู้สั่งบัญชางาน ให้กายแท้ๆ มีใครเอาใจใส่ชำระสิ่งสกปรกออกบ้าง ตั้งแต่เล็กจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มันสั่งสมสิ่งไม่ดีไว้มากเพียงใด หรือว่ามองไม่เห็นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้อง ทำความสะอาดหรือ?

กรรมลิขิต

เราทั้งหลายเกิดมาเป็นมนุษย์ชาติแล้ว ล้วนแต่มีกรรมผูกพันกันมาทั้งสิ้น ผูกพันในความเป็นมิตรบ้างเป็นศัตรูบ้าง แต่ละชีวิตก็ย่อมที่จะเดินไปตามกรรมวิบากของตนที่ได้กระทำไว้ ทุกชีวิตล้วนมีกรรมเป็นเครื่องลิขิต

อดีตกรรม ถ้ากรรมดี เสวยอยู่
ปัจจุบันกรรม สร้างกรรมชั่ว ย่อมลบล้าง
อดีตกรรม กรรมแห่งอกุศล วิบากตน
ปัจจุบัน สร้างกรรมดี ย่อมผดุง

เรื่องกฎแห่งกรรม ถ้าเป็นชาวพุทธแล้ว เขาถือว่าเป็นกฎแห่งปัจจังตัง ผู้ที่ต้องการรู้ ต้องทำเอง รู้เอง ถึงเอง แล้วจึงจะเข้าใจ

นักบุญ

การทำบุญก็ดี การทำสิ่งใดก็ดี ถ้าเป็นการทำตนให้ละทิฏฐิมานะ ทำเพื่อให้จิตเบิกบาน ย่อมเสวยบุญนั้นในปรภพ มนุษย์ทุกวันนี้ทำแบบมีกิเลส ดังนั้น บางคนนึกว่าเข้าสร้างโบสถ์เป็นหลังๆ แล้วเขาจะไปสวรรค์หรือเปล่า เขาตายไปอาจจะต้องตกนรก เพราะอะไรเล่า เพราะถ้าเขาสร้างด้วยเจตนาไม่บริสุทธิ์ เป็นการทำเพื่อเอาบุญบังหน้าในการเสวยความสุขส่วนตัวก็มี บางคนอาจเรียกได้ว่าหน้าเนื้อใจเสือ คือข้างหน้าเป็นนักบุญ ข้างหลังเป็นนักปล้น

ละความตระหนี่มีสุข

ดังนั้นบุญที่เขาทำนี้ถือว่า ไม่เป็นสุข หากมาจากการก่อกรรม บุญนั้น จึงมีกระแสคลื่นน้อยกว่าบาปที่เขาทำเอาไว้หากมีใครเข้าใจคำว่า บุญ นี้ดีแล้ว การทำบุญนี้จุดแรกในการทำก็เพื่อไม่ให้เรานี้เป็นคนตระหนี่ รู้จักเสียสละเพื่อความสุขของผู้อื่น ธรรมดาเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เมื่อมีทุกข์ก็ควรจะทุกข์ด้วย เมื่อมีความสุขก็ควรสุขด้วยกัน

อย่าเอาเปรียบเทวดา

ในการทำบุญ สิ่งที่จะได้ก็คือ ระหว่างเราผู้เป็นมนุษย์ เรารู้ว่าสิ่งที่เราทำนี้จะเป็นมงคล ทำให้จิตใจเบิกบานดี นี่คือการเสวยผลแห่งบุญในปัจจุบัน ทีนี้การทำบุญเพื่อจะเอาผลตอบแทนนั้น มนุษย์นี้ออกจะเอาเปรียบเทวดา ทำบุญครั้งใด ก็ปรารถนาเอาวิมานหนึ่งหลังสองหลัง การทำบุญแบบนี้เรียกว่า ทำเพราะหวังผลตอบแทนด้วยความโลภ บุญนั้นก็ย่อมจะไม่มีผล ท่านอย่าลืมว่า ในโลกวิญญาณเขามีกระแสทิพย์รับทราบในการทำของมนุษย์แต่ละคนเขามีห้องเก็บบุญ และบาปแห่งหนึ่งอันเป็นที่เก็บบุญและบาปของใครต่อใครและของเรื่องราวนั้นๆ กรรมของใครก็จะติดตามความเคลื่อนไหวของตนๆนั้น ไปตลอดระหว่างที่เขายังไม่สิ้นอายุขัย

บุญบริสุทธิ์

การที่สอนให้ทำบุญโดยไม่ปรารถนานั้น ก็เพื่อให้กระแสบุญนั้นบริสุทธิเป็นขั้นที่นึ่ง จะได้ตามให้ผลทันในปัจจุบันชาติ แต่ถ้าตามไม่ทันในปัจจุบันชาติ ก็ติดตามไปให้เสวยผลในปรภพ คือ เมื่อสิ้นอายุขัยจากโลกมนุษย์ไปแล้ว ฉะนั้น เขาจึงสอนไม่ให้ทำบุญเอาหน้า ทำบุญอย่าหวังผลตอบแทน สิ่งดีที่ท่านทำไปย่อมได้รับสนองดีแน่นอน

สั่งสมบารมี

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับนักปฏิบัติธรรมแล้ว การทำบุญทำทานย่อมเป็นการส่งเสริมการปฏิบัติจิตให้บรรลุธรรมได้เร็วขึ้น เป็นบารมีอย่างหนึ่ง ในบารมีสิบทัศที่ต้องสั่งสม เพื่อให้สำเร็จมรรคผลนิพพาน

เมตตาบารมี

การทำบุญให้ทานเพียงแต่เรียกว่า ทานบารมี หากบำเพ็ญสมาธิจิตจนได้ญาณบารมี และโดยเฉพาะการบำเพ็ญทุกอย่างนั้น ถ้าท่านให้โดยไม่มีเจตนาแห่งการให้ ให้สักแต่ว่าให้เขา ท่านก็ย่อมได้กุศลเรียกว่าไม่มากและทัศนคติของอาตมาว่าการบำเพ็ญเมตตาบารมี ในภาวนาบารมีนั้นได้กุศลกรรมกว่าการให้ทาน

แผ่เมตตาจิต

ทุกสิ่งทุกอย่างที่จะสัมฤทธิ์ผลนั้น เกิดจากกรรม 3 อย่าง คือ มโนกรรม เป็นใหญ่ แล้วค่อยแสดงออกมาทางวจีกรรม หรือกายกรรมที่เป็นรูป การบำเพ็ญสมาธิจิตเป็นกุศลดีกว่า เพราะว่า การแผ่เมตตา 1 ครั้ง ได้กุศลมากกว่าสร้างโบสถ์ 1 หลัง ขณะจิตที่แผ่เมตตานั้น จะเกิดอารมณ์แจ่มใส สรรพสัตว์ไม่มีโทษภัย ตัวท่านก็ไม่มีโทษภัย ฉะนั้น เขาจึงว่านามธรรมมีความสำคัญกว่า

อานิสงส์การแผ่เมตตา

ผู้ปฏิบัติธรรมนั้น ต้องรู้จักคำว่า แผ่เมตตา คือต้องเข้าใจว่า ความวิเวกวังเวงแห่งการคิดนึกของเราแต่ละบุคคลนั้น มีกระแสแห่งธาตุไฟผสมอยู่ในจิตและวิญญาณกระจายออกไป เมื่อจิตของเรามีเจตนาบริสุทธิ์ เมื่อจิตของเราเป็นมิตรกับทุกคน เมื่อนั้นเขาก็ย่อมเป็นมิตรกับเรา เสมือนหนึ่งเราให้เขากินอาหาร คนที่กินอาหารนั้นย่อมคิดถึงคุณของเรา หรืออีกนัยหนึ่งว่าเราผูกมิตรกับเขาๆก็ย่อมเป็นมิตรกับเรา แม้แต่คนอันธพาล เราแผ่เมตตาจิตให้ทุกๆวัน สักวันหนึ่งเขาก็ต้องเป็นมิตรกับเราจนได้ เมื่อจิตเรามีเจตนาดีต่อดวงวิญญาณทุกๆดวง ดวงวิญญาณทุกๆดวงย่อมรู้กระแสแห่งจิตของเรา เรียกว่ามนุษย์เรานี้มีกระแสธาตุไฟออกจากสังขาร เพราะเป็นพลังแห่งการนั่งสมาธิจิต วิญญาณจะสงบ ธาตุทั้ง 4 นั้น จะเสมอแล้วจะเปล่งเป็นพลังงานออกไป ฉะนั้น ผู้ที่นั่งสมาธิปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ จิตแน่วแน่แล้ว โรคที่เป็นอยู่มันจะหายไป ถ้าสังขารนั้นไม่ใช่จะพังเต็มทีแล้ว คือไม่ถึงวาระสิ้นอายุขัย หรือว่าสังขารนั้นร่วงโรยเกินไปแล้ว ก็จะรักษาให้มันกระชุ่มกระชวยได้หรือจะให้มันสบายหายเป็นปกติดั่งเดิมได้

ประโยชน์จากการฝึกจิต

ผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จนมีสมาธิแน่วแน่ เมื่อจิตนิ่งก็รู้ตน เริ่มพิจารณาตน รู้ตนเองได้ ปัญญาก็เกิดขึ้น ปัญญานี้เรียกว่า ปัญญาภายในจากจิตวิญญาณ ซึ่งเราจะใช้ปัญญานี้ได้แน่นอน เมื่อเกิดมีปัญหาขึ้นในชีวิตตลอดระยะเวลาอันยาวนานข้างหน้า นี่คือประโยชน์ของการฝึกจิตแล้ว คุณของสมาธิยังเป็นพลังป้องกันไม่ให้เกิดโรคภัย เจ็บป่วยได้ กล่าวคือ การบำเพ็ญจิต จนจิตสงบนิ่งแล้ว ระบบต่างๆทางประสาทจะได้รับการพักผ่อน เป็นการปรับธาตุในกายให้เกิดพลังจิตเข้มแข็ง กายเนื้อก็จะแข็งแรงกระชุ่มกระชวยด้วย โลหิตในร่างกายจะหมุนเวียนสะดวกขึ้น ความตึงเครียดตามร่างกายและประสาทต่างๆ จะผ่อนคลายเป็นปกติ โรคต่างๆจะลดน้อยลงโดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง หายป่วยได้ด้วยการฝึกจิตและเดินจงกรม

คัดลอกจากหนังสือ เรียนธรรมะบูชาพระสุปฏิปันโน เล่มของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต พรหมรังสี )

วันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2553

มังสวิรัติ (กินเจ)เพื่อสุขภาพและอายุยืนยาว

โดย น.พ. โชติช่วง ชุตินธร 7 ตุลาคม 2553 00:30 น.

มีงานวิจัยที่เชื่อถือได้รายงานว่าคนที่รับประทานอาหารมังสวิรัติที่เป็น เพศชายจะมีอายุยืนยาวขึ้น 8 ปีกว่า และเพศหญิงจะมีอายุยืนยาวขึ้น 7 ปี กว่า เมื่อเทียบกับคนที่ไม่กินอาหารมังสวิรัติ (Seventh-day Adventist Dietetic Association)

คนทั่วไปมักเข้าใจว่า ถ้าไม่กินเนื้อสัตว์จะไม่แข็งแรง และเป็นโรคขาดอาหาร แต่ความเป็นจริงปรากฏว่า คนที่กินอาหารมังสวิรัติ มีสุขภาพสมบูรณ์กว่า และไม่เป็นโรคขาดอาหาร กลับจะเป็นโรคน้อยกว่าด้วย เช่น โรคหัวใจวาย โรคมะเร็ง โรคพยาธิ และโรคที่ติดเชื้อจากสัตว์

อาหารมังสวิรัติไม่ใช่มีไว้เฉพาะสำหรับกลุ่มคนที่ถือศีล หรือเคร่งครัดในเรื่องศาสนาเท่านั้น แต่ปัจจุบันคนทั่วโลกหลายล้านคนหันมากินอาหารมังสวิรัติ เพื่อสุขภาพเป็นหลักใหญ่

นักมังสวิรัติ จำแนกได้ 4 ประเภท

1. กินธัญพืช ( ข้าวหรือข้าวกล้อง) ถั่ว พืชผักและผลไม้ ( Vegan)

2. กินเหมือนข้อ 1 แต่ดื่มนมด้วย ( Lacto-vegetarian)

3. กินเหมือนข้อ 1 แต่ดื่มนมและกินไข่ด้วย ( Lacto-ova-vegetarian)

4.กินเจ กินเหมือนข้อ 1 แต่ งด กุยช่าย ต้นหอม ผักชี กระเทียม (Chinese vegetarian)

ประมาณ 500 ปีก่อน นักวิทยาศาสตร์และคนส่วนมาก คิดว่าโลกแบน มีเพียงคนกลุ่มน้อยที่เชื่อว่าโลกกลม เช่น โคลัมบัส ซึ่งกล้าเสี่ยงชีวิตเพื่อพิสูจน์ให้ชาวโลกได้รู้ว่าที่แท้โลกเรากลม โดยแล่นเรือจนค้นพบอเมริกาแต่กระนั้นต้องอาศัยเวลานานกว่าคนทั่วไปจะยอมรับ ในความจริงข้อนี้ ก็เช่นเดียวกันกับสมัยนี้ที่คนส่วนใหญ่ยังคิดว่า การกินอาหารมังสวิรัติ จะทำให้ร่างกายไม่แข็งแรงเท่ากับคนที่กินเนื้อสัตว์ ทั้งที่ในต่างประเทศ หรือแม้แต่ในเมืองไทยเองก็มีแพทย์ และนักโภชนาการหลายท่านยืนยันว่าคนกินอาหารมังสวิรัติไม่มีปัญหาด้านการ เจริญเติบโตหรือด้านสุขภาพเลย เพราะมีหลักฐานชัดเจนอยู่ใน 2 ข้อ ต่อไปนี้ คือ

1.หลักฐานทางโภชนาการ หรือทางวิทยาศาสตร์

2.หลักฐานจากชีวิตจริงของนักมังสวิรัติ

ข้อ 1 มีหลักฐานทางโภชนาการ พิสูจน์ แล้วว่า อาหารมังสวิรัติมีคุณค่าทางธาตุอาหารครบทุกหมู่ โปรตีนในถั่วเหลืองและถั่วต่างๆ ตลอดจนธัญพืช มีคุณภาพเท่าเทียมกับเนื้อสัตว์ จึงไม่ต้องห่วงว่า คนกินอาหารมังสวิรัติ จะได้โปรตีนไม่เพียงพอ โปรตีนบางชนิดที่ถั่วมีน้อยนั้น เราจะเสริมได้ง่ายๆโดยการกินอาหารประเภทข้าว ซึ่งมีโปรตีนที่สำคัญจำนวนมาก คือ เมไธโอนิน methionine การกล่าวอ้างที่ว่าโปรตีนจากถั่วเป็นโปรตีนที่ไม่สมบูรณ์ (incomplete protein) และเนื้อสัตว์เป็นโปรตีนที่สมบูรณ์ (complete protein) นั้นไม่ค่อยถูกต้องเพราะในทางปฏิบัติไม่มีใครไม่กินข้าว ดังนั้น การกินโปรตีนจากถั่วและข้าว ก็จะได้โปรตีนที่สมบูรณ์ทดแทนกันได้จึงไม่มีปัญหา

ในการประชุมนักโภชนาการนานาชาติครั้งที่ 6 ที่ประเทศอังกฤษมีรายงานตามหลักโภชนาการออกมาว่า การรวมตัวของโปรตีนจากพืชต่างชนิดกันจะทำให้ได้โปรตีนไม่ต่างจากโปรตีนที่ได้จากสัตว์เลย

ส่วนที่เด็กกินอาหารมังสวิรัติจะได้โปรตีน และสารอาหารต่างๆ เพียงพอหรือไม่นั้น คำตอบคือ “ไม่มีปัญหา” เพราะเด็กที่กินอาหารมังสวิรัติใช่ว่าจะกินพืชผักทันทีที่ลืมตาดูโลก เด็กจะดื่มนมแม่ก่อน (หรือไม่ก็นมผง) พอโตขึ้นมาหน่อยก็เริ่มกินข้าว พืชผัก และถั่วบด และผลไม้ เช่น ส้ม กล้วย แต่เด็กก็ยังดื่มนมต่อไปเรื่อยๆ เด็กหรือผู้ใหญ่ที่กินอาหารมังสวิรัติมักจะดื่มนมหรือนมถั่วเหลือง (น้ำเต้าหู้) ตลอดไป ในขณะที่บางคนก็กินไข่ด้วย ความกังวลที่ว่า เด็กจะขาดธาตุอาหารจึงเป็นอันตัดไป

ข้อ 2 หลักฐานจากชีวิตจริงของนักมังสวิรัติ เด็กหรือผู้ใหญ่ที่กินอาหารมังสวิรัติ ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด มีความเฉลียวฉลาดเหมือนคนที่กินเนื้อสัตว์ สมองเจริญเติบโตดีเหมือนกันและอาจจะดีกว่าเสียด้วย จะเห็นได้จาก ประวัติศาสตร์ที่มีคนเก่งๆ ของโลกเป็นนักมังสวิรัติ เช่น เลียวนาโด ดาวินซี, เซอร์ไอแซค นิวตัน, มหาตมะคานธี และนักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิก อีกหลายท่าน เช่น Carl Lewis นักวิ่ง 9 เหรียญทอง Murray Rose นักว่ายน้ำ 6 เหรียญทอง และ Paavo Nurmi นักวิ่ง 9 เหรียญทอง หรือดูกันง่ายๆคือ ชนชาติ ต่างๆ เช่นที่ อินเดีย มีซิกข์ ฮินดู แยนหรือที่ อเมริกามีคริสเตียนคณะเซเว่นเดย์แอ็ดเวนตีสซึ่งกินอาหารมังสวิรัติกันมาหลาย ชั่วอายุคนแล้ว เขาไม่มีปัญหา ถ้ามีปัญหาเขาก็คงสูญพันธ์ไปแล้วแต่ปรากฎว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีมากขึ้นด้วย ซ้ำ

ผักเป็นอาหารจำเป็นสำหรับทุกคนไม่ว่าจะเป็นนักมังสวิรัติหรือ ไม่ แต่ก็มีบางคนไม่ค่อยกินผักเสียเลย เขาก็จะขาดแร่ธาตุต่างๆตลอดจนกากใยที่มีอยู่ในผักซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้เกิด มะเร็งลำไส้ใหญ่ บางคนกลัวยาฆ่าแมลงตกค้างในผักก็เลยไม่ค่อยกล้ากินผัก ทางที่ถูกคือ ต้องล้างผักในน้ำที่ไหลริน หลายๆครั้ง เพื่อให้น้ำชะล้างยาฆ่าแมลงออกไป หรือถ้าทำได้ ก็ปลูกผักสวนครัวเองหรือเลือกซื้อผักปลอดสารพิษ
นักวิจัยในสหรัฐอเมริกา ได้ค้นพบว่าเนื้อสัตว์ต่างๆที่คนนำมาบริโภคมียาฆ่าแมลงมากกว่าพืชผัก บางทีมากกว่าถึง 13 เท่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะสัตว์ต่างๆ ก็กินพืชผัก หรือหญ้าที่มียาฆ่าแมลงเข้าไป ยิ่งอายุของสัตว์ยืนนานเท่าใด ก็ยิ่งสะสมไว้มากเท่านั้น

ดร. จี เอส ฮันติงตัน แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในสหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาระบบย่อยและฟันของมนุษย์ และยืนยันว่า มนุษย์เรามีระบบย่อยและฟัน ที่เหมาะสมที่จะย่อยหรือบดเคี้ยวพืชผักมากกว่าเนื้อสัตว์

ปัจจุบันเมืองไทยเรายังมีเด็กและผู้ใหญ่เป็นโรคขาดอาหาร และอาหารมีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆดังนั้นการกินอาหารมังสวิรัติจะเป็นวิธีหนึ่ง ที่แก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารและช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของครอบครัวเพราะอาหาร พืชผักและถั่วราคาถูกกว่าเนื้อสัตว์

โปรตีนในเนื้อสัตว์มีราคาเป็น 6 เท่าของโปรตีนในถั่วเหลือง เช่น เนื้อวัวหรือเนื้อหมู 1 กิโลกรัม ราคาประมาณ 90 บาท ส่วนถั่วเหลือง 1 กิโลกรัม ประมาณ 30 บาท แต่ให้โปรตีนเป็น 2 เท่าของเนื้อสัตว์ และมีคุณภาพทางโปรตีนเท่าเทียมกัน ( เมื่อกินข้าวด้วย)

ถ้าคนมีรายได้น้อยจะเลิกเห่อหรือหลงค่านิยมของการกินเนื้อสัตว์ ที่ต้องเอาเงินที่หามาได้ด้วยความยากลำบาก ไปซื้อเนื้อสัตว์ที่มีราคาแพงมากิน แต่หันมาพึ่งถั่วเหลืองหรือถั่วเมล็ดแห้งต่างๆหรือเต้าหู้ ก็จะได้อาหารที่มีประโยชน์ในราคาประหยัดกว่ามาก และเขาจะได้อาหารที่เพียงพอ และช่วยไม่ให้เป็นโรคขาดสารอาหารด้วย (ไข่เป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง ราคาถูก คุณค่าไม่แพ้เนื้อสัตว์ ส่วนน้ำนมถั่วเหลืองหรือที่เรียกว่าน้ำเต้าหู้มีคุณค่าทางโภชนาการสูงใช้ ดื่มแทนนมได้และมีราคาถูกกว่านมสดมาก)

ในต่างประเทศได้มีผู้เชี่ยวชาญคำนวณแล้วว่าคนกินเนื้อสัตว์ 1 คน ต้องใช้เนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ ที่จะผลิตอาหารให้เขากิน แต่ถ้าเขากินแต่พืชผัก จะใช้เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่เท่านั้น ดังนั้น เราจะมีที่ดินเหลือไปผลิตอาหารได้มากขึ้น


จะกินอาหารมังสวิรัติ (กินเจ) ได้อย่างไร....... ?


การกินอาหารมังสวิรัติง่ายมาก ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ หรือการศึกษาสูง และก็ไม่จำเป็นต้องรู้ว่า อาหารชนิดใดที่มีแคลอรี่หรือคุณค่าทางอาหารเท่าไร ขอให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้

1. กินอาหารหลายชนิด 4 ประเภทนี้หมุนเวียนกัน ก) ธัญพืชหรือข้าวกล้อง ข) พืชผัก ค) ผลไม้ ง) ถั่วเมล็ดแห้งและเมล็ดต่างๆเช่นงาและเมล็ดทานตะวัน ( กินนมหรือไข่ก็ได้แต่ถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็ดี ส่วนคนที่กินเจจะต้องงดนมและไข่) ( ส่วนไขมันไม่ต้องห่วงเพราะมีอยู่แล้วในอาหารกลุ่มต่างๆ หรือใช้นำมันพืช)

2. กินอาหารให้เพียงพอ ไม่มากไม่น้อยเกินไป (ไม่อ้วนและไม่ผอม)

3. กินอาหารธรรมชาติ ไม่ค่อยดัดแปลง (เช่น ข้าวกล้องหรือข้าวซ้อมมือดีกว่าข้าวที่ขัดสีจนขาว และผักผลไม้สด ดีกว่า ผักผลไม้ดอง) หลีกเลี่ยงอาหาร junk food ซึ่งมีแต่น้ำตาลและแป้งเช่น โดนัท ขนมเค็กและน้ำอัดลมหรือขนมขบเคี้ยวทอดกรอบต่างๆ

การกินอาหารมังสวิรัติง่ายมาก กินเหมือนที่คุณเคยกินทุกวันนั่นแหละ แต่เอาเนื้อสัตว์ทุกชนิดออก แล้วเอาถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ เช่น ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วเขียว หรือผลิตภัณฑ์จากถั่ว เช่นเต้าหู้ น้ำเต้าหู้ ( นมถั่วเหลือง) ฟองเต้าหู้ หรือ โปรตีนเกษตร( เนื้อเทียม) หมี่กึน (gluten) แทน และใช้เกลือหรือซีอิ๊วแทนน้ำปลาเท่านั้นเอง


สรุป การกินอาหารมังสวิรัติ ดีกว่าการกินเนื้อสัตว์เพราะ

1. ประหยัดกว่า อาหารพืชผัก ( มังสวิรัติ) ถูกกว่าเนื้อสัตว์ แต่มีคุณค่าทางอาหารเท่าเทียมกัน

2.มีสุขภาพแข็งแรงกว่า เนื้อสัตว์มีไขมันอิ่มตัวมาก (คอเรสเตอรอล)ซึ่งเป็นตัวทำให้เกิดโรคหัวใจวายง่ายขึ้น คนกินเนื้อสัตว์จะมีโอกาสเป็น โรคมะเร็ง โรคพยาธิ และโรคต่างๆ เช่น โรควัวบ้า โรคไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่หมู และโรคอื่นๆที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสที่ติดต่อได้จากสัตว์ มากกว่าคนที่กินมังสวิรัติ ส่วนคนที่ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า ออกกำลังกาย และรับประทานอาหารมังสวิรัติเป็นประจำจะมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งต่างๆ น้อยกว่าคน ที่รับประทานอาหารเนื้อสัตว์ และเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจวาย โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคเส้นเลือดในสมองตีบและแตก น้อยกว่า และจะมีชีวิตที่ยืนยาวกว่า 4 - 10 ปี
( National Geographic – Nov. 2005 pg. 25 ; Diet, Life Expectancy & Chronic Diseases by Dr Gary Fraser )

โปรดมั่นใจว่า การกินมังสวิรัติ จะทำให้มีสุขภาพดี และอายุยืนยาว ไม่เพียงแต่เท่านั้น ด้านสติปัญญาและจิตใจก็จะดีขึ้นด้วย

Source: http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9530000140815