วันเสาร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2553

ความโกรธเป็นศัตรูร้ายตัวหนึ่งของมนุษย์

ประจำวันที่ : 21 ก.พ. 53

ความโกรธ มาจากรากศัพท์ว่า โกธะ แปลว่า ความขุ่นเคือง มันจะเริ่มต้นมาจากอรติ – ความไม่พอใจ ถ้าระงับไว้ได้ก็จบแค่นั้น ถ้าระงับไม่ได้ก็จะไปถึงปฏิฆะ – ความหงุดหงิดรำคาญ ถ้าระงับไว้ได้แค่ปฏิฆะก็หายไป ถ้าระงับไม่ได้ก็จะกลายเป็นโกรธะ – ความขุ่น เหมือนน้ำที่เราต้มบนเตาไฟ ก็เริ่มขุ่น เริ่มหมุนเริ่มจะร้อน ถ้าระงับไว้ได้ก็ดีไป ระงับไม่ได้จะตามมาเป็นโทสะ – ความพลุ่งพล่าน ระงับไม่อยู่ก็พลุ่งพล่านออกมาทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ร้อนใจ ร้อนรน ถูกเผาให้ร้อนด้วยโทสะ อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในอาทิตตปริยายสูตร ทีว่าร้อนอยู่ด้วยไฟคือราคะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ในที่นี่ก็ร้อนอยู่ด้วยโทสะ แล้วพลุ่งพล่านออกมา ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง

โทสะ ตามตัวบางทีแปลว่า คิดประทุษร้าย ถ้าประทุษร้ายได้ก็จะประทุษร้ายด้วยกายบ้าง ด้วยวาจาบ้าง ถ้าประทุษร้ายไม่ได้ในเวลานั้นและระงับมันไว้ได้ก็แล้วไป แต่ถ้าปราบมันไม่ได้ ก็จะกลายเป็นพยาบาท ก็จะเป็นการเบียดเบียนกันให้เดือดร้อนต่อไป

นี่พูดถึง ความหมายของเรื่องโกธะ สายของโกธะ หรือที่เราแปลว่าความโกรธ มันมาอย่างนี้ก็จะประทุษร้ายด้วยกายบ้าง ด้วยวาจาบ้าง ถ้าประทุษร้ายไม่ได้ในเวลานั้นและระงับมันไว้ได้ก็แล้วไป แต่ถ้าปราบมันไม่ได้ ก็จะกลายเป็นพยาบาท ก็จะเป็นการเบียดเบียนกันให้เดือดร้อนต่อไป

ความโกรธเป็น ศัตรูร้ายตัวหนึ่งของมนุษย์และสัตว์โลกทั้งมวลน้อยคนนักที่จะเอาชนะมันได้ โดยเด็ดขาด ส่วนมากพ่ายแพ้ต่อมัน มันเป็นผู้ชนะที่ไม่ปรานีต่อผู้แพ้ เพราะทำผู้แพ้ให้ประสบภัยพิบัติต่างๆเหลือที่จะกล่าว แต่ถ้าใครชนะมันได้ มันก็จะให้รางวัลที่ประเสริฐสุดต่อบุคคลผู้นั้น คือความสงบสุขของดวงจิตซึ่งเป็นสิ่งที่ล้ำค่าของมนุษย์

ขอให้เรามาเป็นนักศึกษาเพื่อเข้าใจความโกรธ เข้าใจถึงโทษและทางออก ขอให้เรามาเป็นนักรบเพื่อชนะความโกรธแค้นกันบ้างเถิด จะเห็นว่ามีคุณค่าแก่ชีวิตของเรามากมายเหลือเกิน คือจิตใจจะสงบเย็นมากกว่าปกติ แม้จะยังไม่เป็นพระอริยะ แต่จิตใจจะสงบเยือกเย็นมากกว่าคนธรรมดา

ข้าพเจ้าก็ไม่ใช่ผู้ที่ปราศจากความโกรธแล้ว แต่เป็นเพียงนักศึกษาผู้ที่ฝึกฝนในเรื่องนี้เท่านั้น และรู้สึกว่าได้เห็นผลของการฝึกฝนพอสมควร จึงอยากจะชักชวนพุทธบริษัทให้สนใจในเรื่องนี้ ขอให้พยายามตั้งสัจจาธิษฐานว่า เราจะพยายามครอบงำความโกรธให้ได้มากที่สุด คราวใดที่แสดงความโกรธ ถึงจะชนะคนอื่น ถึงจะเถียงเขาชนะ คือโวหารหรือวาทะเหนือกว่าในการโต้ตอบ แต่ว่าเราแพ้ตัวเอง

ทางหนึ่งที่เราจะเอาชนะตนเองได้คือ ยอมแพ้ผู้อื่น เพราะว่าโดยปกติธรรมดา พวกเรามักมีนิสัยชอบเอาชนะผู้อื่น แต่ว่าพ่ายแพ้ตนเองโดนที่เราไม่รู้ตัวว่าเป็นผู้แพ้แล้ว เราโกรธ เราเกลียด เราริษยาด่าทอผู้อื่น เมื่อเขานิ่งไม่โต้ตอบ เราก็คิดว่าเราชนะแล้ว แต่ที่จริงเราพ่ายแพ้ตนเองไปก่อนแล้ว เขาผู้อดทนและนิ่งได้ นั่นแหละเป็นผู้ชนะ

ผู้ที่จะเอาชนะตนเองได้ ต้องเป็นคนผู้ฝึกฝนอยู่เสมอ ให้เข้าใจผู้อื่น เห็นใจผู้อื่น เดินออกไปเสียจากตัวเอง คือไม่มามุ่นอยู่แต่ความต้องการของตน นึกอยู่เสมอถึงความต้องการของผู้อื่น คือเป็นคนไม่เห็นแก่ตัว เห็นแก่ผู้อื่นอย่างน้อยก็เสมอกับตัวเอง

ในการยอมแพ้ผู้อื่นหรือพ่ายแพ้ตนเองก็ตาม ถ้าเรายอมแพ้โดยตั้งใจ เราจะไม่มีความขัดแย้งในใจ เราจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับความพ่ายแพ้ เราจะมีความสุขมีความพอใจในความพ่ายแพ้นั้นลักษณะนี้ก็จะทำให้เป็นผู้ชนะใน ความแพ้ คือเอาชนะตนเองได้ ไม่เป็นทุกข์ในความพ่ายแพ้

ฝึกตนให้เป็น คนยอมแพ้เพื่อชัยชนะ และให้เป็นผู้ชนะในความแพ้อยู่เสมอ ก็จะเป็นจ้าวแห่งความสุข ไม่มีอะไรมาทำลายได้

มีโคลงอยู่บทหนึ่ง จำเขามาแต่นึกไม่ออกว่าแหล่งที่มาเป็นที่ไหนบอกว่า

ฆ่าสัตว์เพื่อเสพเนื้อ อีกหวัง
กระดูกงาเขาหนัง เพื่อใช้
ได้สุขแต่ก็ยัง เป็นบาป กรรมเฮย
ฆ่าความโกรธนั้นไซร้ ประโยชน์แท้ บุญเหลือ

ความโกรธไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตตามความเข้าใจของคนส่วนมากที่มักหวงแหนความโกรธไว้ เป็นของตน คือเห็นเป็นสิ่งธรรมดาที่จะต้องมีความ โกรธ เหมือนกับเรากินข้าว อาบ น้ำ และขับถ่าย แต่ว่าความโกรธเป็นปัญหาชีวิต ทำให้เกิดปัญหาชีวิต ทำให้เสียสุขภาพกาย สุขภาพจิต เป็นเคราะห์ร้ายของคน เราควรจะละอายตัวเอง ละอายผู้อื่น ทุกครั้งที่เราโกรธจนต้องแสดงกิริยาอาการออกมาเหมือนเราเป็นโรคผิวหนังลอง ฟังเสียงตัวเราเองเวลาเราพูดด้วยความโกรธ จะเป็นเสียงที่ไม่น่าฟังเลย ไม่น่ารักเลย มันเป็นไปเอง โดยที่เราบังคับไม่ได้ สุ้มเสียงมันจะออกมาเอง จะบังคับไม่ได้ สุ้มเสียงมันจะออกมาเอง จะบังคับให้นุ่มนวลให้เรียบสักเท่าไหร่มันก็ไม่ได้ เพราะว่าเพลิงโทสะมันเผาอยู่ข้างใน มันเหมือนกับว่ามีไฟแล้วก็มีควันออกมา

ใครทำให้เรา โกรธบ่อยๆ เราก็ควรหลีกเลี่ยงคนนั้นเสีย เพราะว่าความโกรธบ่อยๆ และถ้ารุนแรงด้วยจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตมาก มันทำให้หัวใจเต้นแรง เพราะอดรีนาลินมันหลั่งออกมาสารนี้ทำให้ร่างกายวิปริตไปหรือเปลี่ยนแปลงไป เป็นอันตรายมาก บางคนเป็นผู้ใหญ่ โกรธแล้วช็อกตายไปเลยก็มี เคยมีคนสูงอายุโกรธคนใช้มากเอาปืนจะยิงคนใช้ กลับล้มลงตายทั้งที่ยังไม่ทันได้ยิง ฉะนั้นความโกรธนี่มันฆ่าคนไปเยอะแล้ว ฆ่าคนทั้งโดยตรงบ้าง โดยอ้อมบ้าง โดยอ้อมก็คือเป็นเหตุให้คนอื่นมาฆ่าเรา เพราะความโกรธของเราไปประทุษร้ายเขา เขาก็โกรธตอบ บางทีก็มาฆ่า ซึ่งมีตัวอย่างมากมาย

นอกจากนี้ยัง เป็นการสะสมปฏิฆานุสัย คือ กิเลสสายโทสะส่วนละเอียด ซึ่งจะลงไปก่อตัวสะสมกันอยู่ในจิตส่วนลึก นานไปก็ทำให้เป็นคนมีนิสัยขี้โกรธ กระทบอะไรนิดหน่อยไม่ได้ เหมือนเนื้อส่วนที่เป็นแผลกระทบอะไรเข้าหน่อยก็เจ็บ และเจ็บมากกว่าเนื้อส่วนที่เป็นปกติ เนื้อปกติเอาไม้มาโดนเข้าเอาอะไรมาถูกเข้ามันก็ไม่เป็นอะไร แต่เนื้อที่เป็นแผลอยู่ แม้โดนไม้ธรรมดา ถูกเข้าไปมันก็เจ็บมาก บางทีอาจจะลืมตัวฟาดคนอื่นไป เพราะความเจ็บอันนั้น

ฉะนั้น เราไม่ควรสะสมสิ่งที่ทำให้จิตของเราเป็นแผล ถ้าเป็นแล้วก็ควรรีบรักษาให้หายโดยเร็ว มิฉะนั้นจะเรื้อรัง รักษายาก อาจไม่หายเลยก็ได้ ก่อให้เกิดทุกข์ทรมานแก่เราไปตลอดชีวิต เราควรยอมให้เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า

เราไม่ได้เกิดมาเพื่อจะทุกข์ ดังนั้นเราจึงควรกำหนดรู้ทุกข์ เรียนรู้ทุกข์ เพื่อจะได้ไม่ทุกข์ เหมือนเราเรียนเรื่องโรค เพื่อจะได้ไม่เป็นโรค เพื่อจะได้หาทางป้องกันโรค หาทางบำบัดโรค

ทุกครั้งที่เราโกรธ เราควรละอายตัวเองให้มาก โดย เฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ สำหรับผู้ที่มีจิตสำนึกที่ดี อาจรู้สึกว่าค่าของตนลดต่ำลง เป็นคนไร้ค่าเลยทีเดียว เพราะว่าบางทีด้วยอำนาจของความโกรธ มันทำให้แสดงพฤติกรรมที่น่ารังเกียจ ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ซึ่งเวลาปกติที่ไม่โกรธมันทำไม่ได้ มันพูดไม่ได้ แต่มันก็ทำได้พูด ได้เวลาโกรธ

ขอให้ท่อง สุภาษิตสั้นๆ เอาไว้ว่า “ถ้าเราไม่ ฆ่ามัน(ความโกรธ) มันก็ฆ่าเรา)” ความโกรธ ความวิตกกังวล ความหมกมุ่นครุ่นคิด ความปล่อยให้สังขารมันปรุงจิตของเราไปในทางที่ไม่ดี ถ้าเราไม่ฆ่ามัน มันฆ่าเราแน่ๆ

เรื่องเล็กน้อย แต่พอเวลาความโกรธเข้าครอบงำจิต ทำให้จิตมองเห็นเป็นเรื่องใหญ่เท่าภูเขา พอหายโกรธแล้ว จึงเห็นเท่าเม็ดทรายหรือเท่าขี้ผง จะเขี่ยทิ้งไปเมื่อไรก็ได้ ความรัก ความโลภ ก็เช่นเดียวกันเป็นสิ่งที่พรางตา พรางใจ เป็นสิ่งที่บิดเบือนให้เห็นผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง

ความโกรธอาจเกิดจากการที่เราต้องการจะควบคุมอะไรสักอย่างหนึ่งหรือใครสักคนหนึ่งให้เป็น ไปตามที่เราปรารถนา แต่เราควบคุมไม่ได้ เพราะเขาไม่ได้อยู่ในอำนาจของเรา สรรพสิ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัยเพียงพอ ถ้าเราคุมไม่ได้ ก็แสดงว่าเหตุปัจจัยไม่เพียงพอ เราจะไปโทษอะไรสักเท่าไรก็ไม่ได้ มันอยู่ที่เหตุปัจจัย

ยิ่งเป็นคนด้วยแล้ว ยิ่งควบคุมยาก ถ้าเราต้องการควบคุมใครเมื่อไร นั่นคือปัญหาและทุกข์อันยิ่งใหญ่ของเรา แม้ว่าจะควบคุมได้บ้างเป็นบางคราว ก็เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ฝืดฝืนแห้งแล้ง ไม่สละสลวยกลมกลืนนุ่มนวล ชุ่ม ฉ่ำ เหมือนเป็นไปตามธรรมชาติ

เขาจะรัก จะชัง จะเกลียด จะชอบ เบื่อ ฯลฯ ก็ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เราเป็นแต่เพียงผู้ที่รู้ตามความเป็นจริง เหมือนฝนตก แดดออก เช้า สาย เที่ยง บ่าย เย็น เราจะไปควบคุมมันได้อย่างไร เราอาจจะหาทางป้องกันตัวเองได้บ้าง เช่น กางร่ม สวมหมวก เพื่อกันแดดกันฝน หรือไม่ออกไปข้างนอกเสียก็ได้ เราก็ไม่ถูกแดด ไม่ถูกฝน เราทำได้เพียงเท่านี้ ส่วนฝนจะตก แดดจะออก ย่อมอยู่เหนือการควบคุมของเรา ก็คือหาวิธีที่พอจะป้องกันตัวเราเองได้เท่านั้น

ข้อมูลจากหนังสือ วิธีลดละความโกรธ โดย วศิน อินทสระ สนพ.ธรรมดา

Source:http://www.mannature.com/view.asp?ID=92

อัมพาตครึ่งใบหน้า


หากจะกล่าวถึงชื่อ “ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์” อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ผู้เคยผ่านการทำงานมาหลากรูปแบบ หลายแขนง จนภาพของหนุ่มใหญ่รายนี้ในสายตาประชาชนทั่วไป เป็นภาพของทั้งนักการเมือง นักการศึกษา นักบริหาร นักวางนโยบาย และอีกหลายๆ “นัก” ที่เกิดจากประสบการณ์อันมีคุณค่าที่เจ้าตัวได้สั่งสมมาตลอดเส้นทางสายชีวิต ทำให้หลายๆ คนมองว่าดร.อาทิตย์ เป็นคนทำงานกระฉับกระเฉง ทำงานฉับไว สุขภาพดี แต่ที่หลายคนอาจจะไม่ทราบก็คือ เมื่อเร็วๆ นี้ หนุ่มใหญ่รายนี้เพิ่งจะถึงขั้น “ล้มหมอนนอนเสื่อ” ด้วยโรคที่เราๆ ท่านๆ ไม่ค่อยจะคุ้นหูกันนัก

“ผม เพิ่งจะป่วยเป็นโรค Bell's Palsy ฟังดูชื่อไม่ค่อยจะคุ้นกันเท่าไหร่ มันมาจากชื่อของหมอที่ค้นพบ และศึกษาโรคนี้เป็นคนแรกที่ชื่อ หมอเบลล์ ตอนนี้ก็กำลังรักษาอยู่ นี่ก็ยังไม่หายดี แต่ก็ดีกว่าเดิมมากแล้ว รักษาทั้งยาและการทำกายภาพบำบัดครับ”

อธิการมหาวิทยาลัยรังสิต เริ่มต้นเปิดประสบการณ์ป่วยในครั้งนี้ ก่อนจะอธิบายว่า ก่อนหน้าที่จะเกิดอาการป่วยด้วยโรคนี้ ได้ไปนั่งรับประทานอาหารในร้านอาหารริมถนน ที่ฝุ่นค่อนข้างมาก หลังจากนั้น กลับมาถึงบ้านก็เริ่มรู้สึกผิดปกติ

“อาการของผมมันเริ่มด้วยความ รู้สึกปวดๆ ที่หลังหู ลักษณะอาการปวดมันจะปวดแบบแปล๊บๆ ปวดเหมือนไฟช็อต ตอนแรกคิดว่าไม่เป็นอะไร ก็ปล่อยไปจนเริ่มรู้สึกผิดปกติที่บริเวณใบหน้า”

ดร.อาทิตย์ กล่าวต่อว่า อาการเจ็บแปล๊บๆ ที่หลังหูนั้น มาทราบเอาภายหลังหลังจากเข้ารับการรักษา โดยได้รับคำอธิบายจากแพทย์เจ้าของไข้ ว่า เกิดจากอาการปลายประสาทคู่ที่ 7 ของสมองซึ่งมีหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าเกิดอักเสบ

“สิ่ง บ่งบอกให้ผมรู้ตัวว่ามันต้องมีบางอย่างผิดปกติก็คือ ผมล้างหน้าแล้วน้ำเข้าตา เ พราะดวงตามันปิดไม่สนิท ต่อมาอีกราวๆ 2-3 วัน มีต้องไปงาน เมื่อถ่ายรูปออกมาแล้วรู้สึกเลยว่าปากเบี้ยว ยิ้มไม่ได้ ก็โทรหาคุณหมอ คุณหมอก็บอกว่า ให้รีบมา อาการที่บอกน่าจะเกิดจากโรค Bell's Palsy เราก็ถามคุณหมอเหมือนกันว่ามันเกิดขึ้นได้ยังไง มาจากไหน คุณหมอก็บอกว่าอาจจะเป็นไวรัส”

ดร.อาทิตย์ กล่าวอีกด้วยว่า ระหว่างที่ป่วยไม่ได้มีอาการเจ็บปวด แต่จะรู้สึกอึดอัดทรมานกับภาวะที่ไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อใบหน้าตัวเองได้ “ยิ้มไม่ได้ กินข้าวก็ลำบากขึ้น แต่ที่ยากที่สุดคือการดื่มน้ำ เพราะมันคุมปากไม่ได้ มันจะรั่วออกมา” อ่านถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะสงสัยว่าโรคนี้มีโอกาสเกิดขึ้นกับใคร และกลุ่มเสี่ยงอยู่ในช่วงอายุเท่าไหร่ เพศไหน เกิดจากสาเหตุ ใด "นพ.เอกพจน์ นิ่มกุลรัตน์" แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน ประสาทวิทยา ให้ความกระจ่างในข้อสงสัยนี้ว่า โรค Bell's Palsy นี้ คือโรคที่ก่อให้เกิดภาวะอัมพาตบนใบหน้า

“Bell's Palsy เป็นการอักเสบของเส้นประสาทของสมองคู่ที่7 ที่ทำหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อบนใบหน้า เมื่อ จริงๆ ทั่วโลกก็มีคนป่วยเป็นโรคนี้ แต่ไม่ได้มีการเก็บสถิติว่ามีมากน้อยแค่ไหน แล้วจนปัจจุบันก็ยังไม่แน่ชัดว่าสาเหตุจริงๆ เกิดจากอะไรกันแน่ อาจจะเป็นไปได้ว่าเกิดจากเชื้อไวรัส โรค นี้เกิดกับคนได้ทุกเพศ ทุกวัย แต่ถ้าเป็นผู้ที่อายุมากๆ จะมีโอกาสป่วยเป็นโรคนี้มากกว่าวัยอื่น”

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทรายนี้ กล่าวต่ออีกว่า นับว่า ดร.อาทิตย์ เป็นผู้ป่วยที่โชคดีมาก ที่ทราบถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายเร็ว และมาพบแพทย์เร็ว เพราะหากรักษาทันในระยะที่เพิ่งจะเริ่มป่วย 2-3 วันแรก การรักษาจะง่ายกว่า และจะหายเร็วกว่า แต่หากปล่อยให้นานกว่านี้ คือ 4-5 วันนับแต่รู้สึกว่าเกิดความผิดปกติจะถือว่าค่อนข้างช้า และทำให้การรักษายากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้หายช้ากว่าเดิมหลายเดือนเลยทีเดียว

“โรค นี้ไม่ได้ทำให้ถึงกับเสียชีวิต มากที่สุดก็คือ ใบหน้าจะเป็นอัมพาตถาวร ซึ่งแม้มันจะไม่ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตก็จริง แต่มันก็เป็นเรื่องของรูปลักษณ์ เพราะเวลาไปไหนมาไหนคนเราก็ดูหน้าก่อนเป็นอย่างแรก หากเป็นอัมพาตไปครึ่งหน้า ควบคุมกล้ามเนื้อไม่ได้ ปากเบี้ยว ยิ้มแล้วปากไม่เท่ากัน มันก็ส่งผลต่อบุคลิกภาพพอสมควร”

นพ.เอกพจน์ กล่าวอีกว่า อาการเริ่มต้นของผู้ป่วยโรค Bell's Palsy ส่วนใหญ่จะคล้ายๆ กัน คือมีไข้ต่ำๆ และรู้สึกปวดเมื่อเนื้อตัวคล้ายๆ จะเริ่มเป็นหวัด หลังจากนั้น ก็จะมีอาการปวดแปล๊บๆ ที่เส้นประสาทสมองคู่ที่7 จากปลายประสาทอักเสบ ไปจนถึงภาวะอัมพาตครึ่งใบหน้าที่ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อใบหน้าของ ตัวเองได้

“วิธีการรักษาทั่วไปก็คือจะให้ยาเสตียรอยด์ควบคู่ไปกับการให้ยาบำรุงปลายประสาทที่อักเสบ และทำกายภาพบำบัด ส่วนการป้องกันนั้น เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงว่าโรค Bell's palsy นี้เกิดจากสาเหตุใดกันแน่ แต่ก็คาดกันว่าน่าจะเกิดจากไวรัสที่ขณะนี้ยังไม่ทราบชนิดที่แน่ชัด วิธีการป้องกันก็คือทำร่างกายให้แข็งแรงและพักผ่อนให้เพียงพอครับ โรคนี้ไม่ได้ไกลตัว สามารถเกิดขึ้นได้ และหากรู้สึกว่ามีอาการผิดปกติอย่างที่อธิบายมา ผู้ป่วยควรต้องรีบไปพบแพทย์ในทันที” นพ.เอกพจน์ ทิ้งท้าย

Source: http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9530000037561

วันพุธที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2553

หลวงปู่ทวด วัดช้างให้ จ.ปัตตานี


ท่านเป็นพระมหาเถระที่รู้จักกันทั่วประเทศ ในนาม " หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด "
คาถาบูชาท่าน คือ นะโม โพธิสัตโต อาคันติมายะ อิติภะคะวา
ชาติกาล 3 มีนาคม พ.ศ. 2125
ชาติภูมิ บ้านเลียบ ต.ดีหลวง อ.สทิงพระ จ.สงขลา
บรรพชา เมื่ออายุได้ 15 ปี
อุปสมบท เมื่ออายุ 20 ปี
มรณภาพ 6 มีนาคม พ.ศ.2225
สิริรวมอายุได้ 99 ปี
คติธรรมคำสอน ของ หลวงปู่ทวด
ธรรมประจำใจ
พูดมาก เสียมาก พูดน้อย เสียน้อย ไม่พูด ไม่เสีย นิ่งเสีย โพธิสัตว์ ละได้ย่อมสงบ
ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ล้วนแต่เคลื่อนที่ไปสู่ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ทุกอย่างในโลกนี้ เคลื่อนไปสู่การสลายตัวทั้งสิ้น ไม่ยึด ไม่ทุกข์ ไม่สุข ละได้ย่อมสงบ
สันดาน
ภูเขาถูกมนุษย์ทำลายลงมาได้ แต่สันดานของคนเราที่นอนนิ่งอยู่ในก้นบึ้ง ซึ่งไม่เหมือนกันย่อมขัดเกลาให้ดีเหมือนกันได้ยาก
ชีวิตทุกข์
การเกิดมาเป็นมนุษย์ชาติหนึ่ง จะว่าประเสริฐก็ประเสริฐ จะว่าไม่ประเสริฐก็ไม่ประเสริฐ จะเห็นได้ว่า ตื่นเช้าก็มีความทุกข์เข้าครอบงำ
จะต้องล้างหน้า ล้างปาก ล้างฟัน ล้างมือ เสร็จแล้วจะต้องกินต้องถ่าย นี่คือความทุกข์แห่งกายเนื้อ เมื่อเราจะออกจากบ้าน
ก็จะประสบความทุกข์ในหมู่คณะ ในการงาน ในสัมมาอาชีวะ การเลี้ยงตนชอบ นี่คือ ความทุกข์ในการแสวงหาปัจจัย
บรรเทาทุกข์
การที่เราจะไม่ต้องทุกข์มากนั้น เราจะต้องรู้ว่า เรานี้จะต้องไม่เอาชีวิตไปฝากสังคม เราต้องเป็นตัวของเราเอง และเราจะต้องวินิจฉัยในเหตุการณ์ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับตัวเราว่า สิ่งใดเราควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ
ยากกว่าการเกิด
ในการที่เราเกิดมา ชีวิตแห่งการเกิดนั้นง่าย แต่ชีวิตแห่งการอยู่นั้นสิยาก เราจะทำอย่างไรให้อยู่ได้อย่างสุขสบาย
ไม่สิ้นสุด
แม่น้ำทะเล และมหาสมุทร ไม่มีที่สิ้นสุดของน้ำ ฉันใด กิเลสตัณหาของมนุษย์ก็ย่อมไม่มีที่สิ้นสุด ฉันนั้น
ยึดจึงเดือดร้อน
ทุกวันนี้ เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อน ก็เพราะมนุษย์ไปยึดโนน่ ยึดนี่ ยึดพวกยึดพ้อง ยึดหมู่ยึดคณะ ยึดประเทศเป็นสรณะ โดยไม่คำนึงถึงธรรมสากล จักรวาลโลกมนุษยนี้ ทุกคนมีกรรมจึงเกิดมาเป็นสัตว์โลก สัตว์โลกทุนคนต้องใช้กรรมตามวาระ ตามกรรม
ถ้าทุกคนยึดถือเป็นอารมณ์ ก็จะเกิดการเข่นฆ่ากัน เกิดการฆ่าฟันกัน เพราะอารมณ์แห่งการยึดถืออายตนะ ฉะนั้น ต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ว่าสิ่งใดทำแล้ว สัตว์โลกมีความสุข สิ่งนั้นควรทำ นี่คือ หลักความจริงของธรรมะ
อยู่ให้สบาย
ในภาวะแห่งการที่จะอยู่อย่างสบายนั้น เราต้องอยู่กันอย่างไม่ยึด อยู่กันอย่างไม่ยินดี อยู่กันอย่างไม่ยินร้าย อยู่กันอย่างพยายามให้จิตวิญญาณของนามธรรมนั้นเหนืออารมณ์ เหนือคำสรรเสริญ เหนือนินทา เหนือความผิดหวัง เหนือความสำเร็จ เหนือรัก เหนือชัง
ธรรมารมณ์
การอยู่อย่างมีธรรมารมณ์ คือ การอยู่เหนือความรู้สึกทั้งปวง อยู่อย่างรู้หน้าที่การเป็นคน และรู้หน้าที่ในการงาน คือ รู้ว่าสิ่งที่เราทำนั้น เป็นสิ่งที่เราต้องทำ ไม่ใช่ทำเพื่อหวังผลตอบแทน เพราะถ้าเราทำงานเพื่อหวังผลตอบแทนต่างๆ แล้วถ้าสิ่งต่างๆไม่สัมฤทธิ์ผลตามความหวังนั้น เราย่อมเกิดความโทมนัส เสียใจน้อยใจ เป็นทุกข์
กรรม
ถ้าเรามีชีวิตอยู่อย่างที่ว่า เกิดเพราะกรรม อยู่เพื่อกรรม ทำเพราะกรรม ตายเพราะกรรมแล้ว ชีวิตการเป็นมนุษย์ย่อมมีความภิรมย์ มีความรื่นเริง
มารยาทของผู้เป็นใหญ่
ผู้ใหญ่ไม่ใช่อยู่ที่เกิดก่อน ผู้ดีไม่ใช่อยู่ที่เรียนสูง มารยาทจรรยาของการเป็นผู้ใหญ่ ก็คือต้องสุขุมรอบคอบ และไม่ยึดติดเสียงเป็นหลัก คือ ต้องไม่หวั่นไหวกับคำนินทาและสรรเสริญ
โลกิยะ หรือ โลกุตระ
คนที่เดินทางโลกุตระ ย่อมไปดีทางโลกิยะไม่ได้
คนที่เดินทางโลกิยะ ย่อมสำเร็จทางโลกุตระได้ยาก เพราะอะไร ?
ถ้าคนหนึ่งสำเร็จได้ทั้งโลกิยะ และโลกุตระง่ายแล้ว
ทำไม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธโคดม ต้องสละราชบัลลังก์แห่งจักรพรรดิไปเป็นธรรมราชาเล่า ?
ถ้าเป็นไปได้ พระองค์เป็นมหาจักรพรรดิพร้อมทั้งธรรมราชา ไม่ดีหรือ?
แต่มันเป็นไปไม่ได้ เพราะโลกของโลกิยะและโลกุตระเดินคู่ขนานกัน เราต้องตัดสินใจ ต้องมีความเด็ดเดี่ยวและกล้าหาญในการที่จะเลือกทางใดทางหนึ่ง
ศิษย์แท้
พิจารณากายในกาย พิจารณาธรรมในธรรม พิจารณาวิญญาณ ในวิญญาณ นั่นแหละ คือ สานุศิษย์อันแท้จริงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
รู้ซึ้ง
ทุกอย่างจะต้องมีเหตุ เมื่อมีเหตุจึงจะมีผล ผลนั้นเกิดจากเหตุ เราได้วินิจฉัยข้อนี้แล้ว เราจึงรู้ซึ้งถึงพุทธศาสนา
ใจสำคัญ
การทำบุญนั้น จะต้องทำด้วยจิตใจบริสุทธิ์ จะต้องทำด้วยความศรัทธา ผลสะท้อนมันจะเกิดขึ้นเกินความคาดหมาย
หยุดพิจารณา
คนเรานี้ ถ้าไม่มีอะไรทำอยู่ในที่วิเวกคนเดียว จิตมันจะฟุ้งซ่าน และถ้าภาวะนั้น ตนไม่ปล่อยให้จิตฟุ้งซ่านไปเรื่อยๆ คือ หยุดพิจารณา
แล้วค้นสัจจะของ ศีล สมาธิ ปัญญา ย่อมที่จะค้นหาสัจจะในธรรมะได้
บริจาค
ทำบุญสังฆทานเป็นจาคะ จาคะเป็นการบริจาคโภคทรัพย์ภายนอก การสวดมนต์เป็นการภาวนา การภาวนาเป็นการบริจาคภายใน
เพราะฉะนั้น ถ้านับในด้านทิพย์อำนาจ การบริจาคภายในย่อมได้กุศล มากว่า การบริจาคภายนอก
นี่คือเรื่องของนามธรรม
ทำด้วยใจสงบ
เราจะทำบุญก็ดี เราจะทำอะไรก็ดี จงทำด้วยความสงบ อย่าทำด้วยอารมณ์แห่งความร้อน เพราะการทำด้วยอารมณ์ร้อนนั้น มันจะพาเราไปสู่หายนะ เมื่อเกิดอารมณ์ร้อน เราจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จงอย่าทำ นั่งให้จิตใจมันสบายเสียก่อน เมื่อจิตใจสบายแล้ว ปัญญาก็เกิด
เมื่อเกิดปัญญาแล้ว จะทำสิ่งใดก็เป็นไปโดยความสะดวก
มีสติพร้อม
จะทำสิ่งใดก็ตาม เราต้องมีสติพร้อม คือ อย่าให้มีโทสะ อย่าให้อารมณ์เข้ามาควบคุมสติ อย่าให้เรื่องส่วนตัวและขาดเหตุผล มาอยู่เหนือความจริง
เตือนมนุษย์
มนุษย์ผู้ใด เห็นแก่งานส่วนตัว มนุษย์ผู้นั้น จะไม่มีงานทำในไม่ช้า
มนุษย์ผู้ใด เห็นแก่ทรัพย์ส่วนตัว มนุษย์ผู้นั้น จะไม่มีทรัพย์ครองในไม่ช้า
มนุษย์ผู้ใด เห็นแก่นอนมาก มนุษย์ผู้นั้น จะไม่ได้นอนในไม่ช้า
พิจารณาตัวเอง
คืนหนึ่งก็ดี วันหนึ่งก็ดี ควรให้มีเวลาว่างสัก 5 นาที หรือ 10 นาที ไม่ติดต่อกับใคร ให้นั่งเฉยๆ คิดถึงเหตุการณ์ที่เราทำไปแต่ละวันๆ ว่า ที่เราทำไปนั้นเป็นอย่างไร คือให้ปลีกตัวมีเวลาเป็นของตัวเองบ้าง คิดเอาแต่เรื่องของตัว อย่าไปคิดเรื่องของคนอื่น เพราะมนุษย์เราส่วนมากทุกวันนี้ มักเอาแต่เรื่องของคนอื่นมาคิด ไม่ค่อยคิดเรื่องของตัวเอง

คัดลอกจากหนังสือ เรียนธรรมะบูชาพระสุปฏิปันโน เล่มของหลวงปู่ทวด